ปี ค.ศ. 1969 มนุษย์ 500 ล้านคนทั่วโลกเฝ้าหน้าจอทีวีเพื่อดู นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน กระโดดลงแตะพื้นผิวดวงจันทร์จากยาน Apollo 11 นั่นเป็นครั้งแรกที่มนุษย์โลกได้ไปเยือนดวงจันทร์​ เป็นก้าวที่ใหญ่ยิ่งของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการเฉลิมฉลองยินดีของคนทั้งโลก มีน้อยคนนักที่รู้ว่าเบื้องหลังการเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ของนักบินอวกาศทั้งสอง คือห้องแล็บหัวขบถที่เต็มไปด้วยกลุ่มวิศวกรในเสื้อฮาวาย ใส่ขาสั้น หนวดเฟิ้ม ผมหางม้า ที่เป็นคนสร้างหุ่นยนต์นับสิบไปแตะพื้นผิวดวงจันทร์ล่วงหน้าเพื่อสำรวจให้แน่นอนว่านักบินอวกาศจะสามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้ปลอดภัยจริง

ห้องแล็บนั้นก็คือ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ที่พาซาดีน่า (Pasadena) รัฐแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในห้องทดลองของนาซ่าที่สร้างหุ่นยนต์สำรวจอวกาศชื่อดังอย่าง Spirit, Opportunity, Curiosity และโครงการ Mars 2020 ที่นาซ่าจะส่งไปดาวอังคารในปีหน้า ในโอกาสที่ผู้เขียนได้เข้าเยี่ยมชม JPL จึงชวนคนไทยสองคนที่ทำงานที่นั่นมาพูดคุยกัน ตั้งแต่เรื่องคำถามยอดฮิตอย่าง รู้สึกอย่างไรกับการเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนในแล็บของนาซ่า เข้าไปทำงานที่นั่นได้อย่างไร จนถึงเรื่องที่ว่าทำไมคนเราต้องไปอวกาศ

 และคนที่จะมาให้คำตอบกับเราได้แก่ ป๋อม—ศุทธินี สุจิตโตสกุล และ เต็นท์—ปุณณทัศน์ บดีนิธิเกษม ส่วนบทบาทหน้าที่ใน JPL ขอยกให้เขาและเธอเป็นคนเล่าเอง

ป๋อม: ป๋อมค่ะ ตอนนี้ก็ทำงานเป็นวิศวกร ดูเรื่องกระบวนการ การผลิตโลหะผสมที่เอาไปใช้พวกกำเนิดไฟฟ้าให้เครื่องกล และดาวเทียมที่สำรวจจักรวาลที่ไกลเกินระยะแสงอาทิตย์

เต็นท์: เต็นท์ครับ เป็นนักวิจัยหลังจบปริญญาเอกหรือ postdoc ทำวิจัยเรื่องวัสดุ และกระบวนการผลิตใหม่ๆ สำหรับยานอวกาศครับ

คนส่วนมากน่าจะรู้จักว่านาซ่าคืออะไร คราวนี้อยากให้คุณอธิบายถึง JPL สักหน่อย

เต็นท์: นาซ่ามีศูนย์ปฎิบัติการและศูนย์วิจัยรวมกันทั้งหมดสิบกว่าที่ คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับศูนย์ที่ ฮูสตัน รัฐเท็กซัส หรือศูนย์เคนเนดี ที่ฟลอริดา ซึ่ง JPL ก็เป็นศูนย์วิจัยหนึ่งของนาซ่าในแคลิฟอร์เนีย มีหน้าที่หลักคือค้นคว้าวิจัยและสร้างหุ่นยนต์และอุปกรณ์ไร้คนขับเพื่อสำรวจอวกาศ

ป๋อม: JPL รับผิดชอบภารกิจที่ไปอวกาศโดยไม่มีมนุษย์อยู่บนยาน อะไรก็ตามที่เป็นเครื่องมือข้างในหรืออยู่บนจรวดส่วนใหญ่เป็นงานของ JPL ถึงชื่อของที่นี่จะแปลตรงตัวคือ Jet Propulsion Laboratory หรือ ‘ห้องทดลองการขับเคลี่อนด้วยเครื่องยนต์เจ็ต’ มาจากสมัยก่อนที่เขาเคยออกแบบจรวด ซึ่งตอนนี้ไม่ทำแล้ว แต่จะเน้นพวกหุ่นยนต์สำรวจและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การค้นคว้าของแต่ละภารกิจเต็นท์: หน้าที่หลักๆ ของพวกเราก็คือการส่งหุ่นยนต์ออกไปไกลกว่าวงโคจรรอบโลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสอะไรพวกนี้ แต่จริงๆ เราเองก็มีพวกภารกิจที่ดูโลก พวกดาวเทียมอะไรแบบนั้นด้วย

ป๋อม: ออกไปสำรวจห้วงลึกในอวกาศ

เต็นท์: หรือว่าไปดูลมสุริยะ อะไรที่ไปไกลๆ ก็ต้องเป็นหุ่นยนต์ไป  

แต่ละคนทำหน้าที่อะไรใน JPL 

เต็นท์: เราเป็นนักวิจัยสำหรับโรงกลึง ถ้าเขาต้องการผลิตอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็จะทดลองว่าใช้วิธีนี้ดีมั้ย ลองใช้วัสดุนี้ดูมั้ย ก็มีวิธีใหม่ๆ ที่เราเอาเข้ามาใช้เช่นการพิมพ์สามมิติอะไรแบบนี้ 

ป๋อม: ของป๋อมก็คล้ายๆ กัน จะดูพวกวิจัยโลหะ ผสมโลหะตัวใหม่ แล้วก็คิดค้นกระบวนการเพื่อจะเอาไปใช้ในการกำเนิดกระแสไฟฟ้า คิดวิธีเราบรรจุพวกพลังงานที่เกิดขึ้นมาเพื่อไปใช้กับเครื่องกลบนยานอวกาศ อะไรแบบนั้น

เต็นท์: พวกเราจะออกแนว R&D หมายถึงเป็นงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ก็หวังว่าสิ่งที่เราทำจะได้ไปอยู่บนยานสักลำในอนาคต เขาก็จะให้โจทย์มาว่า เราต้องการเครื่องมือแบบนี้ หน้าที่แบบนี้ เพราะว่านักวิทยาศาสตร์อยากได้ข้อมูลเรื่องนี้ เรามีหน้าที่ทำให้มันเกิดขึ้น ซึ่งในด้านงานวิจัยของเราก็ทำเกี่ยวกับพวกโลหะผสมเป็นการขึ้นรูป และพัฒนาวัสดุให้เครื่องมือ กล้อง ตัวยาน ตัวล้อ แบตเตอรี่ เป็นต้น

แล้วทำไมถึงเลือกมาทำงานที่ JPL

ป๋อม: เราเรียนจบวิศวกรรมเคมีมา ตอนแรกเลยอยากเข้าโรงงานอาหาร โรงงานน้ำมัน เราก็สมัครไป ได้งานตอบรับมา แต่เราก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากแค่อยากได้งาน เก็บเงิน แม่จะได้ไม่ดุ (หัวเราะ) วันหนึ่งก็ลองไปสมัครอะไรที่มันเว่อร์ๆ ที่ไม่ค่อยได้อยู่ในสายงานของเรา แล้วอยู่ดีๆ เขาก็เรียกเราสัมภาษณ์ ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ยังรู้สึกว่า โอเค… เราจะรอดมั้ยเนี่ย นี่เป็นองค์กรที่ทำเรื่องอนาคตมนุษย์ เรื่องใหญ่เหมือนกันนะ

เต็นท์: เราเองจริงๆ ก็ไม่ได้คิดตั้งแต่ต้นว่าจะมาทำงานที่นี่เหมือนกัน เรามาเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา แล้วหลังจากมีผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรก ก็ขออาจารย์ไปนำเสนอผลงานที่งานสัมมนา ตอนนั้นเรียนปริญญาเอกประมาณปีที่สอง แล้วเรารู้ว่าจะหางานต้องสร้างคอนเนคชั่นก็เลยไปสัมมนา ไปรู้จักคนนู้นคนนี้ แล้วอาจารย์ก็บอกว่า เขามีเพื่อนอยู่คนที่ JPL เดี๋ยวแนะนำให้รู้จัก แต่พอถึงเวลาจริงๆ เขาไม่ได้แนะนำนะ แต่เรารู้ชื่อของเพื่อนอาจารย์ เราก็ไปเปิดในโปรแกรมว่าเขาพรีเซนต์ห้องไหน แล้วเราก็ไปนั่งอยู่หลังห้องรอเขาพูดเสร็จ แล้วก็ไปจับมือ (หัวเราะ) แต่เขาไม่ได้มาคนเดียว เขามาทั้งกลุ่ม พอคนหลักเขาแยกตัวไปแล้วเราก็นั่งคุยกับเพื่อนเขา จะได้รู้จักกัน เขาก็บอกว่า เออ น่าสนใจนะ งานคุณกับงานเราอาจจะมีส่วนรวมกันได้อยู่ ก็แลกคอนแทคต์กันไว้ ตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่ไปงานสัมมนาส่วนใหญ่ก็จะได้เจอกันบ่อยๆ ก็เริ่มคุยกัน ครั้งท้ายๆ เราก็เริ่มถามว่าถ้าเรียนจบจะมาฝึกงานหรือทำงานที่ JPL ได้ไหม ก็เลยได้มาอยู่ตรงนี้

ป๋อม: อีกอย่างคือ ตอนเด็กเราฝันไว้แค่อยากไปอเมริกา อยากไปต่างประเทศ แต่พอเรามาอยู่อเมริกา ได้งานที่นาซ่าแล้ว เรารู้สึกถึงความฝันขั้นกว่า รู้สึกว่าเราต้องผลักดันตัวเอง เป็นเด็กไทยไปอวกาศดีมั้ย ไหนๆ ก็มาแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสีย 

เต็นท์: อันนี้เห็นด้วย ตอนแรกที่เรามาเรียนปริญญาเอก เราแค่อยากมาเรียนเมืองนอก แต่ว่าที่บ้านไม่ได้มีเงินสนับสนุนขนาดนั้น ปริญญาเอกมีทุนเรียนฟรี ก็เลยสมัครเอง แค่นั้นเลย อยากใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกแต่ไม่อยากลำบากครอบครัว ซึ่งพอเรามาไกลถึงนาซ่าแล้ว เราเลยรู้สึกว่าจะพลาดไม่ได้ ต้องไปต่อ 

ความเป็นคนไทย มีส่วนทำให้คุณมองโปรเจคต์ต่างจากคนอื่นๆ บ้างไหม

ป๋อม: การโตมาในไทยทำให้เราชินเรื่องการเคารพผู้ใหญ่ เรารู้สึกว่าคนที่นี่บางทีเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่องกาลเทศะเท่าที่ควร แต่เราเองทำงานกับผู้ใหญ่เราก็พยายามจะเคารพ ต้องยอมรับเลย ป๋อมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันช่วยเรื่องการเจริญเติบโตในอาชีพได้เยอะ เหมือนหลายๆ คนเขาเลือกจะทำงานกับเราเพราะเรารู้วิธีการวางตัวที่ดี

เต็นท์: เรื่องนี้สำคัญนะ เรื่องกาลเทศะ เรื่องเคารพผู้ใหญ่ มันช่วยเราเยอะเลยนะ มันทำให้เราดูมีเสน่ห์กับเขา เขามองว่าเด็กคนนี้น่ารัก บางทีคนเก่งมากๆ แต่นิสัยไม่ค่อยดีก็มี 

แต่บางทีการไม่กล้าข้ามหัวผู้ใหญ่ก็จะทำให้เรากลัวมากไป ไม่กล้าขายงานเหมือนกัน 

ป๋อม: จริง นี่ก็ยังเป็นอยู่เลยบางที

เต็นท์: คนอเมริกันเขาจะขายเก่ง มั่นใจ ซึ่งถ้าเราสู้เขาไม่ได้ตรงนั้นมันก็จะลำบาก  เพราะทั้งหมดนี้มันไม่ใช่แค่ว่าได้หน้า แต่บางทีบางโปรเจกต์ต้องหาเงินทุนมาทำ ก็ต้องขายชนะคนอื่นให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ที่ JPL บริษัทอเมริกันเป็นแบบนี้ทุกที่เลย


แต่การเป็นคนไทยก็มีดีอีกอย่างคือความสามารถในเอาตัวรอดของพวกเรา เราเคยทำแล็บที่เมืองไทยมาก่อน แล้วอุปกรณ์ที่เมืองไทยมันสู้ที่นี่ไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยความที่อุปกรณ์มันไม่ได้ดีมาก ทำให้เราต้องพึ่งฝีมือตัวเองมากๆ เพื่อทำให้งานสำเร็จ ซึ่งพอเรามาที่อเมริกา มีอุปกรณ์เพียบพร้อม เราเลยพุ่งไปอย่างเร็วเลย เพราะเราทำได้ด้วยเครื่องมือที่ห่วยกว่านี้มาแล้ว เหมือนไปซ้อมอยู่ในสนามที่ไม่ค่อยพร้อมมา พอถึงสนามจริงเราก็ไปได้เร็วกว่าคนอื่นเขา

บรรยากาศการทำงานในแล็บของนาซ่าเป็นอย่างไร

เต็นท์: สำหรับเราเหมือนได้อยู่ดิสนีย์แลนด์สำหรับเนิร์ดอะ (ป๋อมหัวเราะ)

มันแฮปปี้มาก ส่วนใหญ่เราจะเห็นของที่เราชอบจากในทีวี ในบทความ ทีนี้พอมาทำงานวันแรก เขาเอาตัวหุ่นทดลองด้านวิศวกรรมของยาน Curiosity (ยานสำรวจดาวอังคารเมื่อปี 2011) ขับลงมาบนถนนอะ เราแบบ โอโห มันเรียลมาก ซึ่งตอนพ.ศ. 2560 มันยังเป็นช่วงที่เขาเริ่มสร้างยาน Mars Rover 2020 พอดี ห้องโล่งเลย มีแต่อะลูมิเนียมวางของ สองสามเดือนไปดูอีกทีนึง มันก็เริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันเริ่มจริงขึ้นเรื่อยๆ มันอยู่ในนั้นจริงๆ

ป๋อม: บางวันยังเรียบเรียงในหัวตัวเองไม่ถูกเลยว่าเราได้มาทำงานที่นี้แล้วนะ อย่างที่พี่เต็นท์ว่า เราเห็นในข่าว เราเห็นในทีวี แล้วเราเดินออกมานอกตึก เออ เราเดินอยู่ในตึกที่ออกข่าวจริงๆ ว่ะ แล้วก็ยืนยิ้ม

เต็นท์: หรือเวลาเห็นสัมภาษณ์คนที่นี่ในทีวี เราก็แบบ เฮ้ย คนนั้นเรารู้จัก เราเคยเจอที่โรงอาหารนี่

ป๋อม: ถ้าถามว่าตื่นเต้นมั้ย ยังตื่นเต้นอยู่ทุกวัน 

เต็นท์: อย่างยาน Spirit ยานรุ่นก่อน Curiosity ที่ส่งไปสำรวจดาวอังคารเมื่อปี 2003 วันก่อนก็มีอีเมลวนมาในแล็บว่าเรามีตัวหุ่นทดลองอยู่นะ กำลังจะส่งให้พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ที่วอชิงตัน ดีซี มาถ่ายรูปมั้ย เราก็ลงไปดู

ป๋อม: ใช่ บางวันเหนื่อยๆ แต่ได้เห็นอะไรเจ๋งๆ ก็มีแรงทำงานต่อ

แปลว่าลึกๆ แล้วทั้งสองคนอินเรื่องอวกาศอยู่แล้ว?

ป๋อม: ปกติเราแค่ดูข่าวทั่วไป ไม่ได้ค้นคว้าส่วนตัวอะไรมากมาย แต่หลังจากได้มาทำงานที่ JPL แล้ว เราก็รู้ว่าแรงกายแรงใจที่คนที่นี่ทุ่มเทให้กับโครงการต่างๆ มันเยอะมาก ทำให้เราเห็นค่ามันมากขึ้น ก็เริ่มติดตามข่าวใกล้ชิด อาจจะฟังดูคลิเช่ๆ แต่ก็ต้องบอกว่า การไปอวกาศมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ แต่เราก็ไม่เคยรู้ว่ามันยากขนาดไหนจนเราได้มาเริ่มทำงานสายนี้จริงๆ

เต็นท์: ส่วนตัวเราชอบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กแล้ว แต่จริงๆ ก็ไม่ได้อินกับอวกาศตั้งแต่ต้น แต่อย่างที่บอก มาอยู่ที่นี่แล้วมันก็ค่อนข้าง… เหมือนติดเชื้อน่ะ คนที่นี่เขาอินมากๆ เลยนะ แล้วทุกอย่างมันจะถูกออกแบบมาละเอียดมากๆ ขนาดตอนมันเจ๊ง ยังต้องมีขั้นตอนบันทึกเลยว่ามันเจ๊งยังไง เช่น เราเคยส่งยานแบบนี้ไปตอนยุค 70s แล้วมันเจ๊ง ฉะนั้นอย่าทำซ้ำนะ มันจะมีรายการไว้เช็คยาวๆ เลย

ในฐานะคนที่พัฒนา เราหวังว่าสักวันของที่เราทำจะได้อยู่บนยานอวกาศสักที่หนึ่ง เราก็เข้าใจว่าแต่ละภารกิจเขามีความต้องการอะไร ตามสภาพแวดล้อมของที่ๆ เราจะไป ทำไมเราถึงเลือกวัสดุนี้ ทำไมเราถึงทำแบบนี้ แล้วเวลาเริ่มคิดแบบนี้ทุกวันๆ มันก็อินไปเองแหละ

ป๋อม: สื่อใน JPL นี่บิลด์ซะจนอิน เราติดเชื้อจริงๆ คนที่นี่กลายเป็นเนิร์ดอวกาศกันทุกคน

เต็นท์: บางคนทำงานกับบางโปรเจ็คต์มาทั้งชีวิต ตอนจบบางภารกิจบางคนร้องไห้ เหมือนเสียลูกไปคนนึง คือเขาผูกพันมากเลยนะ บางทีเราทำเรื่องนี้มา 30 ปี แล้วโครงการมันหมดหน้าที่แล้ว ต้องทำลายมัน อย่างโครงการ Cassini ที่ผ่านมา ถ้าไปดูจะเห็นนักวิทยาศาสตร์ร้องไห้กันเต็มไปหมด เพราะ Cassini ไปเจอดวงจันทร์ดวงหนึ่ง มีน้ำอยู่ ถ้าปล่อยให้ยานหมดสภาพไปเอง มันมีโอกาสที่ตัวยานจะกระเด็นลงไปในชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์นี้ แล้วอาจจะเอาแบคทีเรียจากโลกไปเจือปนสิ่งที่อาจจะมีชีวิตอยู่ที่นั่นได้ เขาเลยตัดสินใจเอายานยิงเข้าไปในดาวเสาร์ เผามันทิ้ง เพราะในดาวเสาร์มีแต่แก๊ส ไม่มีสิ่งมีชีวิตแน่นอน 

ป๋อม: คิดดูว่า ถ้าเป็นโปรเจคต์ที่เราทำมา 20-30 ปี แล้วอยู่ดีๆ สัญญาณก็หายไป เหมือนดึงเครื่องช่วยหัวใจ มันก็เศร้าเหมือนกันนะ

เต็นท์: คืองานอวกาศมันดูเป็นเรื่องไกลตัวทั้งๆ ที่มันมีผลกระทบกับชีวิตของพวกเราหลายอย่าง แต่คนทั่วไปมักจะรู้สึกว่ามันดูเข้าใจยาก จับต้องไม่ได้ โดยเฉพาะ JPL ที่เหมือนเป็นห้องแล็บที่อยู่ในนาซ่าอีกที คนเลยไม่ค่อยรู้จัก ที่นี่เลยจะมีแกลเลอรีที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ทำเรื่องเข้าใจยากมาทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะพวกเราอยากทำให้คนเห็นว่าผลงานของพวกเราไม่ใช่แค่ตัวหุ่นเหล็กที่พวกเราสร้าง แต่ยังมีเรื่องราวของคนที่อยู่เบื้องหลังแต่ละภารกิจ และอารมณ์ความรู้สึก ความอินของพวกเรา ที่อยากให้ทุกคนรู้ว่าเรากำลังทำเพื่อทุกคนอยู่

เห็นด้วยว่าบางคนอาจยังรู้สึกว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับพวกคุณการสำรวจอวกาศมีความสำคัญอย่างไรบ้าง

ป๋อม: ตลกดี เราเพิ่งคุยเรื่องนี้กับเพื่อนเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว เพื่อนป๋อมเป็นนางพยาบาล ซึ่งงานของเขามันคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตรงๆ เลย แล้วเราก็ถามตัวเองว่าที่ส่งของออกไปในอวกาศล่ะ ช่วยใครยังไง 

หรือเรื่องที่ว่าจะไปทำไมในอวกาศ ป๋อมว่าคำถามนี้มันก็ตอบตัวเองอยู่แล้ว ก็เพราะเราไม่รู้เราถึงต้องไป ส่งยานอวกาศไปหาคำตอบว่ามีอะไรอยู่บ้าง ถ้าเกิดว่าเราเจออะไรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในประวัตินาซ่าก็เจออยู่แล้วล่ะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องเหล่านั้นอาจจะมีผลกระทบใหญ่ๆ ได้ อย่างเมื่อก่อนคนคิดว่าโลกแบน พอรู้ว่าโลกกลม มันเปลี่ยนมุมมองอะไรหลายอย่าง ถ้าในอนาคตอีกหลายปี เราสามารถคอนเฟิร์มได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ในจักรวาล ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหนทำงานอะไรก็แล้วแต่ มุมมองบนโลกจะเปลี่ยนไปหมดเลย 

อีกอย่างก็คือ อวกาศมันคือฉากหน้าของงานวิทยาศาสตร์ เราต้องประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั้งฟิสิกส์ เคมี กระบวนการวิศวกรรมต่างๆ เพื่อจะสร้างยานอวกาศขึ้นมาสักลำให้สำเร็จ แล้วสิ่งนี้มันบังคับเราให้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้โลกใบนี้ ผลพลอยได้ในเรื่องวิวัฒนกรรมก็จะช่วยคนบนโลกในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย 

เต็นท์: ถ้าพูดแบบคลิเช่หน่อย ก็ต้องถามว่าคนเราจะปีนภูเขาเอเวอเรสต์กันไปทำไม จะลงไปจุดลึกสุดของมหาสมุทรทำไม หรือจะเดินทางรอบโลกไปทำไม คำตอบเดิมๆ ก็คือ หนึ่ง กลไกทางจิตของมนุษย์ทำให้เราอยากสำรวจอยากค้นพบสิ่งใหม่ๆ คือยังไงธรรมชาติของคนเราก็ผลักดันให้เราค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้ให้ได้

อย่างที่สองก็คือเราทำเพื่อการก้าวหน้าของเทคโนโลยี อะไรที่เราสร้างเพื่ออนาคต สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีพวกนี้ก็จะกลายเป็นของสังคมทั่วไปในที่สุด ทุกเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเวอร์ชั่นแรกๆ ณ เวลานั้นไม่มีใครซื้อได้หรอก แต่ว่าเมื่อเราเห็นแล้วว่าวิธีการสร้างของมันเป็นยังไง มีบันทึกที่ค้นคว้าวิจัยไว้แล้ว คนรุ่นต่อมาก็นำเอาเทคโนโลยีนั้นไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ยกตัวอย่างคลาสสิคเลยคือ memory foam ตอนโครงการ Apollo โฟมนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อห่อก้นนักบินอวกาศเวลาโดนยิงออกจากจรวด เพื่อไม่ทำให้กระดูกสันหลังพัง แล้วตอนนี้เป็นไง เอามาทำหมอน นอนสบายเลย 

ป๋อม: หรือแบบ velcro (ตีนตุ๊กแก) แคว่กๆ

เต็นท์: แม้แต่ aluminized fabric ผ้าอะลูมิเนียมกักเก็บความร้อนที่เอาไว้ทำ Space Blanket ผ้าห่มสีเงินๆ ห่อคนที่โดนหิมะ หรือทอเข้าไปในเสื้อกันหนาว หรือเสื้อกันไฟ นั่นก็เทคโนโลยีของนาซ่า 

ถ้าเด็กมัธยมสักคนหนึ่งที่เมืองไทย อยากทำงานในนาซ่าต้องทำอย่างไร

เต็นท์: อย่างแรกคือมาเรียนปริญญาที่นี่ ปริญญาโท หรือว่าปริญญาตรีก็ได้ ถ้าเรามาอยู่ที่นี่ โอกาสที่จะได้ทำงานกับนาซ่าก็เพิ่มขึ้น

เข้าใจว่าอาจจะฟังดูไกลตัว เข้าใจว่าเรียนเมืองนอกมันไม่ได้ถูก แล้วทุกคนไม่ได้มีโอกาส แต่ว่าทุนการศึกษาต่างๆ มันก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน ก็ต้องวางแผน อย่างถ้ามาเรียนปริญญาเอกในอเมริกา ส่วนใหญ่เขาให้เรียนฟรี เขาจ้างเราด้วย มีเงินค่ากินอยู่ให้ส่วนหนึ่ง แล้วพอเราขยันสร้างผลงาน สร้างความรู้จักกับคน แล้วมันก็จะไปของมันเอง

ป๋อม: แล้วเราก็ต้องดันตัวเองไปงานสัมมนาต่างๆ เราต้องดันตัวเองไปพูด สมัครฝึกงาน เพื่อรู้จักคนในวงการ

เต็นท์: ถ้าเราอยากเข้าองค์กรใหญ่ๆ อย่างนาซ่า เราจะมีโอกาสเยอะกว่าถ้าเราเคยฝึกงานกับเขาแล้ว เขารับคนที่สมัครมาจากข้างนอกน้อยจริงๆ เพราะเขาไม่รู้จักเรา ตอนเขาหาคนเขาก็ไปตามมหาวิทยาลัยในอเมริกา ถ้าเราไม่ได้มาเรียนที่นี่เราก็จะพลาดโอกาสนั้นไป ก็ต้องส่ง resume เปล่าจากไทยมา ซึ่งโอกาสได้มันก็ยาก 

ป๋อม: นอกจากเรื่องการศึกษาก็มีเรื่องความสามารถและทัศนคติด้วย เรารู้สึกคนที่นี่ส่วนใหญ่เขาบูรณาการทุกวิชามารวมกันเก่ง รู้นั่นรู้นี่อย่างละนิด แต่เขาเอาทุกอย่างมารวมกันแล้วคิดเครื่องมือออกมาได้ เรารู้สึกว่าคนนาซ่าต้องการคือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเอาหลายๆ วิชามารวมกันได้ ต้องรอบรู้

เต็นท์: ต้องรอบรู้ และต้องสร้างสรรค์ ยกเว้นถ้าคุณรู้เรื่องหนึ่งลึกมากๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเราเป็นคนที่สามารถคิดกระบวนการคำนวณที่พิเศษที่สุดในโลก เราทำได้คนเดียว โอเค เขาอาจจะจ้างเราเพราะอย่างนั้น แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว เราว่าความสามารถในการคุยกับคนในหลายๆ วงการ และเอาไอเดียของหลายๆ ศาสตร์มารวมกัน อันนั้นเป็นความสามารถที่เขาต้องการ เห็นชัดเจนที่สุดเลย

ป๋อม: เพราะเวลาทำงาน โจทย์ที่เราจะได้ก็คือ อยากขุดพื้นดินดาวอังคาร ทำยังไงดี โจทย์มันมาแค่นี้ มันไม่ได้มาเหมือนในหนังสือเรียนที่โจทย์มาให้ตายตัว คำตอบของเราเยอะมาก เป็นอะไรก็ได้

เต็นท์: ถามว่าเรารู้มั้ยว่าดาวอังคารดินมันเป็นยังไง ไม่รู้ มีรูปถ่าย 2-3 รูป เราก็ต้องหาสมมติฐานเอาว่า สิ่งที่เราทำมาเนี่ยสามารถขุดดินได้ตั้งแต่ชั้นนี้ถึงชั้นนี้ อะไรก็ว่าไป แค่การขุดเนี่ยต้องใช้ความรู้ทั้งด้านวัสดุ เครื่องกล ไฟฟ้า แล้วยิ่งเรารู้เยอะ อาจจะไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่ว่าพอเข้าใจระบบมันเป็นยังไง แค่นั้นก็ทำให้เราทำงานได้ดีกว่าคนอื่นมากแล้ว

หากอยากทำงานด้านอวกาศ ควรต้องเรียนสายไหนมาบ้าง

เต็นท์: คืออวกาศมันมีหลายด้านมาก คุณจะเป็นนักดาราศาสตร์ นักธรณีวิทยา หรือทำวัสดุอย่างเรา หรือว่าเครื่องกล มันมีทางไปได้หมด แม้แต่คนทำโฟโต้ช็อป ช่างกล้องไฮ-สปีด เหล่านี้ก็มีงานทางด้านอวกาศเหมือนกัน 

แล้วมันไม่ได้มีแค่นาซ่าแล้วสมัยนี้ อินเดียก็มีองค์กรอวกาศของตัวเอง จีนก็มี อิสราเอลก็มี มันอยู่ในความต้องการของมนุษย์ทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งประเทศไทยจริงๆ ก็ทำได้ อย่างสมัยนี้มันมี CubeSat หรือดาวเทียมขนาดเล็กอันเท่ามือ ที่หลายๆ ประเทศแชร์จรวดลำเดียวกันปล่อย ของอวกาศมันเริ่มถูกลง ไทยอาจจะไปแชร์กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ดาวเทียมหนึ่งดวงอาจจะแบ่งกันใช้ก็ได้ ขอแค่ให้เป็นเครื่องมือของไทยบางส่วน ซึ่งเท่าที่รู้ก็มีอยู่นะ มันไม่ได้ไกลเกินเอื้อมขนาดนั้นเลย 

ตอนนี้นอกจากภาครัฐก็มีบริษัทเอกชนด้านอวกาศเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างถูกลง เทคโนโลยีทุกอย่างย่อส่วนลง บางทีเริ่มจากเอาคอมพิวเตอร์เล็กๆ ผูกใส่ลูกโป่งลอยออกไปนอกชั้นบรรยากาศโลกมันก็เป็นภารกิจได้แล้ว 

ซึ่งถ้าถามว่าทำไปทำไม อันนี้ก็แล้วแต่คน อย่างสิ่งที่เราวิจัยอยู่ตอนนี้ ถ้าโชคดี เราแค่อยากเห็นมันอยู่ที่ดาวอื่นก่อนเราตาย

เป้าหมายที่คุณตั้งไว้สำหรับการทำงานใน JPL คืออะไร

ป๋อม: แค่อยากเห็นยาน Mars 2020 ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ เครื่องมือทุกอย่างทำงาน ตอนนี้แค่นั้นจริงๆ ไม่ไหวแล้ว ตื่นเต้น

เต็นท์: ตอบแบบตื่นเต้นเลย คืออยากได้งานถาวรแล้ว (หัวเราะ)

 

ปล. ในบทความชิ้นต่อไป เราจะพาไปสำรวจภายในแล็บ JPL เพื่อไปชมยานหรือหุ่นยนต์อวกาศตัวจริงเสียงจริง แนวคิดเบื้องหลังโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงประวัติศาสตร์ฉบับขบถของแล็บสุดแหวกแนวแห่งนี้