ไทกา ไวติติ (Taika Waititi) เป็นคนมีของ มีลายเซ็น มีอารมณ์ขันที่สื่อสารกับคนดูยุคใหม่ ผมยังไม่ได้ดูทั้ง Boy (2010) กับ What We Do in the Shadows (2014) ที่สร้างชื่อจนเจ้าตัวถูกจิ้มเลือกไปกำกับ Thor: Ragnarok (2017, ไม่ได้ดูเพราะ leave group จักรวาลมาร์เวลไปตั้งแต่จบกัปตันอเมริกาภาคแรก) ก็ยังพอเห็นแววตามที่คนเขาเลื่องลือกัน ทั้งจากหนังที่ยังไม่ค่อยเข้าที่ Eagle vs Shark (2007) และเรื่องที่เข้าฝักเหลือเกินอย่าง Hunt for the Wilderpeople (2016)
แต่ผมก็ยังเคลือบแคลงสงสัยและปรามาส Jojo Rabbit เอาไว้เยอะ โดยเฉพาะเมื่อมันเริ่มเป็นที่พูดถึงในช่วงฤดูล่ารางวัลฝั่งอเมริกัน หลังคว้าตำแหน่งขวัญใจผู้ชม (People’s Choice Award) จากเทศกาลหนังโตรอนโตปี 2019 มาแบบเซอร์ไพรส์ (อันดับ 2 และ 3 คือ Marriage Story กับ Parasite)
ไม่นับเรื่องผู้กำกับกลายเป็นคนดังเพราะทำหนังมาร์เวล และการที่ช่วงทศวรรษหลังรางวัลของโตรอนโตถูกใช้เป็นมาตรวัดทำนายผลออสการ์ (เพราะคนโหวตจำนวนมากคือชาวฮอลลีวูดซึ่งมีรสนิยมไปทางหนึ่งอย่างชัดเจน) ส่วนที่ทำให้สงสัยที่สุดคือกระแสรอบตัวหนัง เมื่อคนดูทั่วไปชื่นชอบแต่นักวิจารณ์กลุ่มใหญ่มีปัญหา (เพราะ “เอาเรื่องนาซีมาทำตลก”) ก็ไปซ้อนทับกับเส้นทางของหนังนาซีเปื้อนยิ้ม Life Is Beautiful (Roberto Benigni, 1997) ที่เป็นขวัญใจคนดูทั่วโลกจนทุกวันนี้ ซึ่งว่ากันตามตรง ยังคงเป็นปริศนาส่วนตัวว่าคนอื่นๆ เขาปลาบปลื้มอะไรกันขนาดนั้น
อาจตีความได้ก็จริงว่าหนังอิตาเลียนเรื่องนั้นตั้งใจเสียดสีภาวะอิกนอแรนท์ในฝ่ายผู้ถูกกระทำ (พ่อจอมเปิ่นอาจสะท้อนภาพชาวยิวกลุ่มที่มองโลกในแง่ดี คิดว่านาซีคงไม่ชั่วร้ายถึงขั้นมีค่ายรมแก๊สอย่างที่เขาลือกัน) แต่หนังก็ไปเน้นสร้างอารมณ์เศร้าซึ้งไร้เดียงสาผ่านความรักพ่อลูกจนเลี่ยน คงน่าผิดหวังมากถ้าคนทำหนังที่มีลายเซ็นเฉพาะตัวดันเลือกปรุงรสเลี่ยนสูตรเดียวกัน แล้วเป็นที่ชื่นชอบของมวลชน
กว่าจะได้ดูให้คลายสงสัยก็ปาเข้าไปวันอาทิตย์สุดท้ายของหนัง สามวันก่อนโรงหนังในไทยต้องปิดหนีโคโรน่าไวรัสกันทั้งประเทศ ว่ากันเรื่องความครบถ้วนสมบูรณ์ในด้านภาพยนตร์แล้ว Jojo Rabbit ยังตามหลัง Hunt for the Wilderpeople อยู่หลายขุม (และสการ์เล็ต โจแฮนสันไม่ต้องชิงออสการ์จากเรื่องนี้ก็ได้) แต่หนังกลับดึงผมไปอยู่ฝั่งคนดูทั่วไปที่ชื่นชอบได้สำเร็จ แม้จะด้วยเหตุผลความประทับใจที่อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง เหมือนที่คนอีกมากคงชอบ Spotlight (2015, ทอม แม็คคาร์ธี) เพราะตามรอยเท้าหนังเชิดชูนักข่าวรุ่นพ่อ มากกว่ารายละเอียดของกระบวนการข่าวและความเป็นนักข่าวกับสังคม หรือชอบ 12 Years a Slave (2013, สตีฟ แม็คควีน) เพราะมันเหมือนหนังทาสฮึกเหิมเรียกร้องสิทธิ์ มากกว่าแนวคิดเรื่องเสรีภาพและสถานะความเป็นทาส
คนส่วนใหญ่อาจชอบหนังด้วยความรู้สึกเดียวกับที่เคยเสียน้ำตาให้ Life Is Beautiful (เพราะห้วงอารมณ์หลักของหนังคืออาการผีเสื้อบินวนในท้องของเจ้าต่ายน้อยโจโจ้ และการจบที่ขีดเส้นเน้นย้ำคุณค่าของชีวิตกับเสรีภาพ) ส่วนผมชอบที่โลกนาซีขำขันของ Jojo Rabbit เป็นน้ำเสียงบทสนทนาร่วมสมัยต่อโลกที่กำลังเลี้ยวขวาในปัจจุบัน ไม่ว่าหนังสือต้นฉบับ (Caging Skies ของคริสทีน เลอเนินส์ (Christine Leunens), ซึ่งถึงจะยังมีอารมณ์ขันแต่ก็มืดหม่นกว่า) จะมีจุดประสงค์อย่างไร
สมกับคำโฆษณาที่เรียกตัวเองว่าเป็นหนัง Anti-hate satire (หนังเสียดสีเพื่อต่อต้านความเกลียดชัง) ถึงศูนย์กลางของเรื่องจะเป็นเด็กน้อยยุวชนฮิตเลอร์ แต่ก็เพราะความรักของแม่ที่สวมหมวกอีกใบเป็นแนวร่วมฝ่ายต่อต้านนาซี และความรู้สึกวูบวาบที่เกิดขึ้นกับโจโจ้เมื่อได้พบเอลซ่า สาวยิวที่แม่ซ่อนไว้ในกำแพงบ้าน ก็ทำให้เจ้าตัวไม่ได้ลงมือปฏิบัติการชั่วร้ายใดๆ ให้คนดูเห็นเลยตลอดเรื่อง (ใจอ่อนไม่กล้าฆ่ากระต่ายจนถูกล้อว่าไอ้ต่ายน้อยตามชื่อเรื่อง และพอจะพิสูจน์ความกล้าด้วยระเบิดมือก็ไฟลวกซะจนต้องมากักตัวอยู่บ้านแทนที่จะได้ฝึก เวลาที่เหลือคือนั่งสับสนว่าตกลงตัวเองเป็นอะไรกันแน่) นอกจากความเชื่อเรื่องชาวยิวในรูปตำนานปีศาจสัตว์มหัศจรรย์ และการมีเพื่อนในจินตนาการเป็นท่านผู้นำที่ทำนิสัยตัวการ์ตูนไปวันๆ แต่ก็ยังอารยันสุดชีวิต
Jojo Rabbit ไม่ได้เอาความจริงกระแทกหน้าเราในทำนองเดียวกับ BlacKkKlansman (Spike Lee, 2018, ที่หักอารมณ์สะใจหลังฝ่ายคนดำได้ตอกหน้าพวก KKK ตอนจบ ด้วยภาพการชุมนุมฝ่ายขวาคลั่งชาติคลั่งขาวยุคใหม่ในอเมริกา) แต่ความจริงอย่างเดียวกับที่โลกกำลังรู้สึก หลังเกิดผู้นำที่สำแดงตนไปทางเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์ในหลายประเทศ ได้อยู่ในเสียงหัวเราะที่เรามอบให้เหล่านาซีไร้สติในเรื่องแล้วเรียบร้อย เมื่ออำนาจกดขี่ยังดำรงอยู่ได้ไม่ว่าจะน่าเย้ยหยันเพียงใด (และอาจไม่ต้องใช้โฆษณาชวนเชื่อระดับเลนี รีเฟนสตาล (Leni Riefenstahl) อีกแล้ว) ต่อให้ฮิตเลอร์ในจินตภาพของต่ายน้อยโจโจ้จะกินยูนิคอร์นเป็นอาหารเย็น หรือทหารนาซีจะเป็นอีแอบชอบชุดกรุยกรายกับเจ๊อ้วนสมองกลวงเสียสติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เอาคนมาแขวนคอประจานกลางเมือง – แม้แต่กับโจโจ้ที่อ่อนจนไม่ได้ทำอะไรแบบนาซีเขาทำกัน ก็ยังยึดมั่นในอคติทางเชื้อชาติ เชิดชูผู้นำ มีความคิดเผยแพร่ผลิตซ้ำ ขนาดเจ้าหน้าที่ SS เห็นผลงานยังชื่นชมไม่หยุดปาก
สงครามข้างนอกโน่นคือเกมชิงธง การถูกรัฐเลือกไปรบคือเข็มยศของนาซีวัยรุ่นที่คอยเที่ยวตีตราว่าใครเป็นไอ้กาก ส่วนเครื่องแบบยุวชนกับการเข้าค่ายให้รุ่นพี่ชี้หน้าคือความเจ๋งและการถูกยอมรับเป็นพวกสำหรับเหล่านาซีเด็กน้อย (เมื่อกองทัพอเมริกันเข้าปลดปล่อยเบอร์ลิน เพื่อนของโจโจ้ก็พูดออกมาดื้อๆ ว่าสงสัยตอนนี้การเป็นนาซีมันไม่เท่แล้ว) หนังสงครามโลกส่วนใหญ่ที่เราเห็นอาจเป็นสายซีเรียสจริงจัง แต่ก็มีไม่น้อยที่ตลกร้ายเสียดสีความตกต่ำของมนุษย์ในสังคมที่เชิดชูเกียรติประวัติอันบิดเบี้ยว Jojo Rabbit เลือกเฉไฉไปอีกทาง อารมณ์ขันในเรื่องไม่ใช่ตลกเพื่อตลบหลังให้สะเทือนใจเป็นหลัก (แม้จะมีฉากสำคัญที่ทำหน้าที่นั้นอยู่) แต่เป็นตลกแบบซึ่งหน้าที่เราจะขำในความหน้าไม่อายของมัน เหมือนที่โจโจ้และเพื่อนก็เห็นความเพี้ยนพิลึกของลุงป้ากับนาซีวัยรุ่นแบบเดียวที่คนดูเห็น แต่ก็เป็นการรับรู้ว่า เออ ตลกดี
สารัตถะของอารมณ์ขันที่ Jojo Rabbit เลือกใช้ คือจริตและใจความสำคัญของเสียงหัวเราะในยุคที่มีมกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง นักวิชาการฝ่ายซ้ายแบบสลาวอย ชิเช็ก (Slavoj Zizek) หรือต้นธารคอมมิวนิสต์อย่างคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) กลายเป็นตัวละครยอดฮิตของนักสร้างมีมการเมือง พร้อมๆ กับที่อิทธิพลของมีมเคยทำให้นักวาดตัดสินใจฆ่า Pepe the Frog หลังถูกฉวยใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม alt-right ในอเมริกา ความขวาสุดโต่งของนักการเมืองตั้งแต่หัวหน้ายันลูกกระจ๊อกคือวัตถุดิบชั้นเลิศของนักโควตนักแคป แต่ต่อให้การโควตการแคปจะเป็นไปเพื่อเย้ยหยันความผิดเพี้ยนสุดโต่ง คนเชื่อคนคล้อยตามก็ยังอยู่ อำนาจก็ยังอยู่ เพราะทั้งหมดถูกรับรู้เพียงว่า เออ ตลกดี
หากมองโลกในแง่ดี ปลายทางอาจดูมีหวังอย่างทฤษฎีที่กล่าวว่าเสียงหัวเราะคือเครื่องมือบ่อนเซาะท้าทายอำนาจที่กดขี่สร้างความกลัว แต่สำหรับช่วงเวลาที่สังคมเลือกเชิดชูเกียรติประวัติอันบิดเบี้ยว ความเพี้ยนซึ่งหน้าอาจคือเครื่องมือค้ำจุนอำนาจ เหมือนที่การเย้ยหยันวาทกรรมตกยุคของทรัมป์ไม่ได้หยุดเส้นทางสู่ทำเนียบขาวเมื่อสี่ปีก่อน และอารมณ์ขัน (ไม่ว่าจะฉลาดล้ำหรือโง่บรม) ก็ทำงานอย่างอิสระในตัวเอง ด้านหนึ่งคนขำว่าทำไมถึงกล้าพูดอะไรโง่ๆ แบบนี้ออกมา แต่อีกด้านก็มีคนหัวเราะคล้อยตามคำพูดโง่ๆ เหล่านั้นอย่างบริสุทธิ์ใจ
ความเกลียดชังในเสียงหัวเราะที่ไทกา ไวติติพยายามทำให้เราเห็น เป็นคนละอาการกับเสียงหัวเราะเย้ยหยันผู้ถูกกระทำ (แบบเด็กชายใต้ต้นมะขามในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ) เส้นแบ่งมันเบลอกว่านั้น และหลายครั้งก็บางจนทำให้การตั้งคำถามหรือต่อต้านกลายเป็นความเรื่องมากหรือคิดเล็กคิดน้อย มันจึงยืนอยู่ได้เต็มสองเท้าบนสองแคมเรือที่ไม่มีความซีเรียสจริงจังเป็นศูนย์ถ่วงเลยสักลำ – ช่วงท้ายหนังฉลาดล้อเล่นกับฉากประเภทที่ถูกใช้จนเกร่อ เมื่อหนึ่งหน่วยของฝ่ายผู้กระทำกลับใจทำอะไรมีมนุษยธรรมกับตัวเอกเป็นการส่งท้ายให้ซาบซึ้ง ทหารนาซีที่เพลี่ยงพล้ำและเอ็นดูโจโจ้มาตลอด สละชีวิตตัวเองหลอกทหารอเมริกันให้โจโจพ้นโทษทัณฑ์ของการเป็นยุวชนนาซี แต่คนดูยังจำได้ว่าไม่กี่ฉากก่อนหน้านั้น เขาเย็นชาแค่ไหนกับเด็กชายที่แม่ถูกอำนาจเอาไปแขวนคอประจานกลางเมือง
น่าเสียดายอยู่หน่อยที่การแทนค่าสังคมเลี้ยวขวาในยุคมีมด้วยกรุงเบอร์ลินในสมัยนาซี อาจทำให้บทสนทนาต่อยอดประเด็นสะดุดไปบ้าง ทั้งจากความชอบของผู้ชมส่วนใหญ่ที่อาจท่วมท้นด้วยอารมณ์ซาบซึ้งประทับใจจนประเด็นจมหาย และการแทนภาพฝ่ายขวาในโลกปัจจุบันด้วยนาซีก็ถูกตั้งคำถามแย้งอยู่เรื่อยๆ เพราะหลายครั้งชาวไม่ขวาก็แปะป้ายให้สิ่งที่เบี่ยงจากมาตรฐานตนเองเพียงเล็กน้อยว่าเป็นแนวคิดสุดโต่ง ฟาสซิสต์ หรือนาซี จนกลายเป็นอาวุธหรืออัตลักษณ์ของอีกฝ่ายโดยไม่ได้ตั้งใจ คล้ายกับความเพี้ยนที่พวกเขาหัวเราะคล้อยตามจนถูกผลิตซ้ำและมีอิทธิพลบิดๆ เบี้ยวๆ ในแบบของมันเอง
ว่าแต่วันนี้เราหัวเราะเยาะล้าบานแป้งมันฟาร์มไก่ที่ไม่เห็นหัวเปียวชนกันไปหรือยังนะ?
Tags: Jojo Rabbit, film, นาซี