วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในทำเนียบขาว สถานที่ทำงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

​ ในวันนั้น หัวหน้าคนใหม่ของผู้คนเรือนร้อยในทำเนียบขาว คือนายพลสี่ดาวจากเหล่านาวิกโยธินวัย 67 ปี

พลเอก จอห์น เคลลี (John Kelly) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ คือ ‘แม่บ้านคนใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ’ แทนที่ไรน์ซ พรีบัส (Reince Priebus) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้ 189 วัน

​ หลังจากเกือบ 200 วันอันเต็มไปด้วยปัญหาสำหรับผู้คนในทำเนียบขาว การมาของเคลลีไม่เพียงเป็นความหวังของการซ่อมแซมระบบอันผุกร่อนของสหรัฐอเมริกา แต่คนจำนวนหนึ่งยังหวังว่าเขาจะช่วยประคับประคองให้สถานการณ์ของโลกใบนี้ไม่เลวร้ายไปมากกว่าเดิม

​ จอห์น ฟรานซิส เคลลี เกิดที่เมืองบอสตันเมื่อปี 1950 ในครอบครัวของชายชาติทหาร

​ “ในครอบครัวของผม ผู้ชายทุกคนคือทหารผ่านศึก”

​ และธรรมเนียมนี้ก็ถูกส่งต่อมาถึงลูกๆ ของเขาเช่นกัน
​ ลูกชายสองคนของเขาคือส่วนหนึ่งของเหล่านาวิกโยธินเหมือนกับพ่อ ขณะที่ลูกสาวอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI)

เคลลีในวัยเด็กชื่นชอบการผจญภัย เขาโบกรถออกเดินทางไปทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และขึ้นรถไฟบรรทุกสัมภาระออกเดินทางไปยังฝั่งตะวันออกของประเทศตั้งแต่ก่อนจะมีอายุครบ 16 ปี จากนั้นก็ก้าวขึ้นเรือเดินทะเลเพื่อออกไปดูโลก ซึ่งทริปแรกของเขาคือการขนเบียร์ 10,000 ตันไปที่เวียดนาม

​ เคลลีสมัครเป็นทหารในปี 1970 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตส์ในปี 1976 ก่อนจะเริ่มต้นเส้นทางที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน

“ในครอบครัวของผม ผู้ชายทุกคนคือทหารผ่านศึก”

เราคงพอคาดเดาได้ว่า ทรัมป์คงไม่ใช่คนที่จะคล้อยตามใครง่ายๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทรัมป์แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขารับฟังและเคารพความคิดเห็นของบุคลากรจากกองทัพ

ไม่รู้ว่าเพราะเขาเป็นศิษย์เก่า New York Military Academy หรือเพราะเขาคิดว่าบรรดานายทหารจะปฏิบัติตามทุกคำสั่งของเขา หรือเพราะเขาชื่นชอบความแข็งแรงและความเด็ดขาดของทหารหาญ แต่ที่แน่นอนคือทรัมป์ชื่นชอบนายพลจากกองทัพ

ที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่ทหารจากกองทัพสหรัฐฯ ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศพร้อมกันหลายคน แต่ ณ วันนี้ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งสามคนคือนายพลและนายพลวัยเกษียณ

ที่สำคัญ ทั้งสามคนไม่ได้เป็นเพียงแค่เพื่อน แต่คือมิตรสหายที่รู้จักกันมายาวนาน

​ สองในสามคนคืออดีตนาวิกโยธิน และหากนับรวม พลเอก โจเซฟ ดันฟอร์ด (Joseph Dunford) ประธานคณะเสนาธิการร่วม (ซึ่งมีเจ้านายคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเช่นเดียวกับเคลลี) ก็อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่บุคลากรจากเหล่านาวิกโยธินมีบทบาทในสายการบังคับบัญชามากขนาดนี้

​ บรรดานายทหารกำลังใช้สายสัมพันธ์อันลึกซึ้งและความรู้ของพวกเขาในการบริหารจัดการประเทศ และในระหว่างที่เกาหลีเหนือส่งสัญญาณคุกคามและความสับสนวุ่นวายในทำเนียบขาว บรรดานายทหารก็ร่วมกันปฏิบัติภารกิจแบบลับๆ

พลเอก เจมส์ แมตทิส (James Mattis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลโท เฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แมคมาสเตอร์ (Herbert Raymond McMaster) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และพลเอก โจเซฟ ดันฟอร์ด (เช่นเดียวกับ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ต่างก็วิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ และทั้งหมดก็เห็นพ้องว่าสมควรให้จอห์น เคลลี มาทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว

พวกเขาเห็นร่วมกันว่าหากเป็นคนอื่น ทำเนียบขาวจะรับมือกับวิกฤตไม่ได้

พลเอก เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ภาพ: REUTERS/Aaron P. Bernstein)

​ระยะเวลาอย่างน้อย 45 ปีกับ 29 ตำแหน่งในกองทัพ จอห์น เคลลี ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของนาวิกโยธินในตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ Southern Command ซึ่งดูแลพื้นที่อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแคริบเบียน

เขาเกษียณจากกองทัพในปี 2016 และได้รับงานรายได้งามที่ DynCorp บริษัทผู้รับจ้างผลิตยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ

​ เช้าวันเสาร์ของเดือนพฤศจิกายน เคลลีกำลังดูอเมริกันฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัย ตอนที่ไรน์ซ พรีบัส โทร.มาคุยกับเขาเรื่องตำแหน่งงานในรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ เขาถามภรรยาว่าคิดเห็นอย่างไร เธอตอบเขาว่า ​“ถ้าพวกเขาคิดว่าพวกเขาต้องการคุณ คุณก็ไม่อาจปฏิเสธพวกเขาได้ อีกอย่างคือฉันเบื่อแล้วกับชีวิตวัยเกษียณที่มีคุณภาพซึ่งเราใช้ร่วมกัน”

​ เคลลีไม่เคยพบกับทรัมป์มาก่อน และประหลาดใจไม่น้อยที่ทรัมป์เสนอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิให้กับเขาหลังจาก ‘การสัมภาษณ์’ ผ่านไปเพียง 5 นาที

ทำเนียบขาวภายใต้การดูแลของเคลลีนั้น “มีสภาพแวดล้อมที่เป็นปกติมากขึ้น”

‘เคลลีเอฟเฟกต์’ ส่งผลทันทีทันใดต่อทำเนียบขาว เขาบอกกับทุกคนในอาคารเวสต์วิง (อาคารที่ทำงานของฝ่ายบริหาร) ว่าให้ส่งรายงานถึงเขา ไม่ใช่ทรัมป์ (รวมถึงจาเร็ด คุชเนอร์ และอิวานกา ทรัมป์) เพื่อป้องกันความคิดเห็นที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของประธานาธิบดี

เคลลีอยู่ในวงพูดคุยระหว่างทรัมป์กับรัฐมนตรีในรัฐบาล

​ ในวงประชุม เขาตัดบทคนที่พูดเรื่อยเปื่อย และบอกให้คนที่เห็นต่างกันหาข้อสรุปให้ได้ก่อนเข้าประชุม

เขาบอกให้เจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แทนที่จะจับกลุ่มคุยกันอยู่ที่ด้านนอกห้องทำงานของประธานาธิบดี เพื่อหวังว่าจะมีโอกาสได้อยู่ในสายตาของทรัมป์

​ และเขาหนุนหลังแมคมาสเตอร์ในการปลดเครือข่ายผู้สนับสนุน สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ทำเนียบขาวที่เพิ่งประกาศลาออกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม

​ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในอาคารเวสต์วิงบอกว่าทำเนียบขาวภายใต้การดูแลของเคลลีนั้น “มีสภาพแวดล้อมที่เป็นปกติมากขึ้น”


พลโท เฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แมคมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ (ภาพ: REUTERS/Kevin Lamarque)

 

​อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจอห์น เคลลี จะช่วยทรัมป์และสหรัฐอเมริกาได้มากแค่ไหน (หลังจากเคลลีรับตำแหน่ง ทรัมป์ยังคงไม่หยุดเรียกหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากข้อความในทวิตเตอร์) แต่สำหรับคนจำนวนหนึ่ง พลเอก จอห์น เคลลี คือความหวังของพวกเขา

อย่างน้อยพวกเขาก็หวังว่าประสบการณ์และความรู้ทางด้านการทหารของเคลลี จะทำให้ทรัมป์หยุดทวีตข้อความได้

ภาพ: REUTERS/Kevin Lamarque

Tags: , , , , , , , , , , , , ,