“ดนตรีคือศิลปะอันยิ่งใหญ่ ผมเคยเถียงกับเพื่อนที่เป็นกวีว่าวรรณกรรมนั้นสำคัญ แต่ศิลปะแรกคือดนตรี มันมาก่อนการเขียนหนังสือ การเขียนไม่ใช่กิจกรรมที่เป็นธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมความสามารถนี้ เราเรียนรู้เอา แต่เราเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการผิวปาก ในการเอากระดูกมาทำเป็นขลุ่ย”
จอห์น คลูลีย์ (John Clewley) นักเขียน ช่างภาพ และคอลัมนิสต์สายดนตรีบอกกับเรา ก่อนที่จะเล่าให้เราฟังถึงเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดลำดับแรกอย่างขลุ่ยที่ทำจากกระดูกสัตว์ และลำดับที่สองของโลกอย่างระนาดหิน โชว์ภาพที่เขาถ่ายในงานแสดงดนตรีของ Nusrat Fateh Ali Khan นักดนตรีชาวปากีสถาน ซึ่งทรงพลังจนทำให้คนดูบางคนเป็นลม และเล่าให้เราฟังถึงคอนเสิร์ตที่บอร์เนียวที่ทำให้เขาได้หนังสือเกี่ยวกับดนตรีซาราวักของมาเลเซียกลับบ้าน
จอห์นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีแบบนี้มาเป็นเวลา 25 ปีแล้วผ่านคอลัมน์ ‘World Beat’ ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post หากใครเคยอ่านคอลัมน์ของเขาก็คงไม่แปลกใจที่หากสัปดาห์หนึ่ง เขาจะพาผู้อ่านไปฟังดนตรีฟาโดที่รัฐกัวเหนือ ของอินเดีย (North Goa) แวะไป เคป เวิร์ด (Cape Verde) ประเทศแถบแอฟริกา เพื่อแนะนำดนตรีมอร์นา ขณะที่อีกสองสัปดาห์ถัดมา จอห์นจะพาเราไปฟังเพลงมินโยประยุกต์ที่ญี่ปุ่น แล้ววกกลับมาที่อีสาน โดยเปลี่ยนแนวมาแนะนำเพลงหมอลำและลูกทุ่ง
จอห์นยังเป็นนักเขียนให้นิตยสารดนตรี Songlines ของอังกฤษ เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสืออ้างอิง The Rough Guide to World Music ในหัวข้อดนตรีไทย กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น เคยเขียนคอลัมน์ดนตรีให้นิตยสารบันเทิงคดี และเป็นดีเจรับเชิญในบางโอกาสที่ Studio Lam ย่านสุขุมวิท
ในวันอาทิตย์หนึ่ง เราชวนจอห์นมานั่งคุยกันถึงงานเขียนด้านดนตรีและความรักในดนตรีหลากหลายแนวของเขา จอห์นในวัย 63 ปีสวมเสื้อเชิ้ตฮาวาย สะพายเป้ใบหนัก ใส่รองเท้าแตะมาคุยกับเรา บทสนทนาดำเนินไปเป็นภาษาอังกฤษ และคำพูดของจอห์นต่อไปนี้เป็นการแปลของผู้เขียน
จอห์นมาจากเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ จับพลัดจับผลูมาอยู่เมืองไทยเพราะเชื่อคำบอกเล่าของเพื่อน เขามาเมืองไทยครั้งแรกในปี 1983 สอนภาษาอังกฤษได้เงินชั่วโมงละ 20 บาท ก่อนจะได้มาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาภาษาและวรรณคดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อยู่เมืองไทยได้ไม่นาน เขาก็ได้งานทำที่สถานีโทรทัศน์ในญี่ปุ่น ได้เรียนรู้การถ่ายภาพและการเป็นนักข่าวจากการทำงานกับนิตยสารในโตเกียว และที่ญี่ปุ่นนี่เองที่งานเขียนเกี่ยวกับดนตรีของเขาเริ่มเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
“ตอนอยู่ที่นั่นผมรำคาญนักข่าวสายดนตรีคนหนึ่งที่เขียนเรื่องดนตรีให้ The Japan Times ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นการทำข่าวแบบขี้เกียจ ไม่มีการค้นคว้าอะไรเลย ผมเลยเขียนไปหาหนังสือพิมพ์ว่าผมเขียนได้ดีกว่านี้ แล้วก็แนบตัวอย่างงานที่เคยเขียนเกี่ยวกับดนตรีไปให้ พวกเขาตกลงตีพิมพ์งานชิ้นนั้น จนต่อมาผมเสนอเขียนคอลัมน์ที่ชื่อ Polyrhythms ซึ่งเป็นคอลัมน์เกี่ยวกับ world music คอลัมน์แรกในเอเชีย หนังสือพิมพ์ชอบเนื้อหาและวิธีการเขียน เพราะผมค้นข้อมูลมาเยอะ นั่นเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุดในชีวิตผม ช่วงนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่น ตอนที่ผมจากญี่ปุ่นไปเศรษฐกิจญี่ปุ่นล้มพอดี”
จอห์นกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง และเสนอไอเดียคอลัมน์ดนตรีที่แนะนำดนตรีจากประเทศต่างๆ
“ผมก็เสนอ Bangkok Post ไปว่าผมเคยทำคอลัมน์นี้ในญี่ปุ่นซึ่งได้รับความนิยมมาก จน Bangkok Post ให้พื้นที่กับผม นั่นทำให้นักข่าวต่างชาติบางคนไม่พอใจเพราะไปแย่งพื้นที่ คนเหล่านี้เขียนสิ่งที่ผมเรียกว่าการรีวิวแบบขี้เกียจ ไปคอนเสิร์ตอะไรสักอย่างแล้วก็เขียนอะไรนิดๆ หน่อยๆ ออกมา ไม่มีการค้นคว้า ไม่มีการอ่านหนังสือเพิ่ม จากนั้นก็รับเงินกลับบ้าน ส่วนคอลัมน์ของผมพยายามเล่าแบ็กกราวด์ ประวัติศาสตร์ และบริบทที่แวดล้อมดนตรีให้กับผู้อ่าน”
จอห์นบอกว่า การเลี่ยงการเขียนเกี่ยวกับดนตรีแบบ ‘ขี้เกียจ’ นั้นทำได้ด้วยการค้นคว้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหนังสือ เพราะสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับงานเขียนเกี่ยวกับดนตรีก็คือบริบท และการที่นักเขียนจะเข้าใจบริบทที่สร้างดนตรีแบบต่างๆ ขึ้นมาได้ พวกเขาต้องอ่านอย่างลึกซึ้ง
https://youtu.be/Z1flzcaKM_8
เพลงของศิลปินจาก Cape Verde ซึ่งจอห์นเขียนถึงในคอลัมน์ World Beat
“ถ้าเราวิเคราะห์ดนตรีในบริบทได้ เราจะเข้าใจว่าดนตรีนั้นเกิดขึ้นทำไม มีความสำคัญในทางสังคมอย่างไร ไม่ใช่แค่แบบ โอ้ ผมชอบเพลงนี้นะ แต่รวมถึงการเข้าใจว่าทำไมดนตรีนี้ถึงสำคัญกับคนกลุ่มหนึ่ง เข้าใจว่าทำไมโธมัส มัปฟูโม (Thomas Mapfumo) ต้องหนีออกจากซิมบับเว เพราะเขาแต่งเพลงชื่อ Curruption ซึ่งเป็นเพลงเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเพลงเดียวที่เคยมีในซิมบับเว เนื้อเพลงเกี่ยวกับคนที่อยู่รายล้อมประธานาธิบดีมูกาเบ คนเหล่านี้ข่มขู่เขา เขาก็เลยต้องไปอยู่ในสหรัฐฯ”
“เวลาไปต่างประเทศ นอกจากจะแวะร้านขายแผ่นเสียงแล้ว ผมจะแวะร้านหนังสือด้วย น่าเสียดายที่การเกิดขึ้นของเว็บไซต์ทำให้หนังสืออ้างอิงหลายเล่มตายไป คนไม่อยากอ่านหนังสืออ้างอิงอีกต่อไปแล้วเพราะถ้าอยากรู้อะไรก็ไปหาข้อมูลออนไลน์ หลายคนอ่านแต่เพียงผิวๆ อ่านแค่คำบรรยายภาพ สิ่งที่หายไปคือการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก นักเขียนหรือกวีที่ประสบความสำเร็จที่ผมรู้จักล้วนเป็นนักอ่าน พวกเขาอ่านทั้งในแนวกว้างและลึก การเขียนหนังสือโดยไม่แบ่งเวลาไว้อ่านหนังสือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
หากใครเคยแวะไปงานลูกทุ่งสแควร์ ซึ่งจัดขึ้นเดือนละครั้งที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็คงเคยเห็นฝรั่งผมสีดอกเลา สะพายกล้อง มีผ้าซับเหงื่อคล้องคอ เดินถ่ายรูปนักร้องและผู้ร่วมงานอยู่แถวเวที จอห์นเป็นแฟนคลับเวทีนี้ เขาเล่าให้เราฟังว่าทำไม ดนตรีลูกทุ่งและหมอลำจึงดึงดูดเขา
“ตอนที่ผมสอนอยู่ที่จุฬาฯ อาจารย์บางคนมาถามผมว่า ‘จอห์น ได้ยินมาว่าคุณชอบดนตรีพื้นบ้าน (folk music)’ ผมก็ตอบไปว่า ดนตรีพื้นบ้านที่คุณพูดถึงคืออะไร ลูกทุ่งไม่ใช่ดนตรีพื้นบ้าน แต่ลำตัดเป็นดนตรีพื้นบ้าน ในดนตรีวิทยา (Musicology) เราเรียกเพลงลูกทุ่งว่าเป็น ‘syncretic sound’ หรือเสียงที่เกิดจากผสมผสานเสียงหลากหลายรูปแบบ ลูกทุ่งไม่ใช่ดนตรีจากชนบท แต่ถูกผลิตขึ้นในสตูดิโอ ในกระบวนการอุตสาหกรรมที่มีการบันทึกเสียง ทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ ถูกนำมาทำการตลาด จัดจำหน่าย และเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชน แต่พวกคนไฮโซสามารถแบ่งศิลปะในโลกได้เป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือศิลปะชั้นสูงและชั้นต่ำ ซึ่งศิลปะชั้นต่ำคือดนตรีที่สร้างมาให้คนรับใช้หรือคนขับแท็กซี่ฟัง”
“สิ่งที่คนเหล่านี้ไม่รู้ก็คือ ดนตรีประเภทหลังนี้แหละที่ไปไหนต่อไหน ดนตรีคลาสสิกถูกแช่แข็ง ติดอยู่ในกล่องเล็กๆ อาจารย์คนเดิมบอกผมว่า ทำไมไม่ไปฟังดนตรีที่คณะศิลปกรรมศาสตร์จัดล่ะ อยู่ตึกข้างๆ นี่เอง มีเพลงไทยเดิม สำหรับผม ดนตรีเหล่านั้นไพเราะดี การจัดเวทีและจัดการแสดงน่าประทับใจ แต่ไม่มีอะไรเหมือนการไปงานดนตรีหมอลำ คอนเสิร์ตหมอลำมีทุกอย่าง ทั้งการแสดงน่าตื่นตาบนเวที มีความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับผู้ชม หรืออย่างงานคอนเสิร์ตลูกทุ่งสแควร์ที่อนุเสาวรีย์ชัยฯ วันอาทิตย์ เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างนักดนตรีและกลุ่มผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมแถวหน้า ผมจำผู้หญิงคนหนึ่งได้ เธอมาเวทีนี้ประจำ ผมมักถ่ายรูปเธอ แล้วเธอก็ชอบจ่อพัดลมเล็กๆ ใส่ผม มีคนดูที่ทำกระเป๋าให้ศิลปิน ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มนี้น่าประทับใจ ต่างจากการไปชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก สถานที่ดูดี ทุกอย่างดูสมบูรณ์แบบ แต่โดยรวมแล้ว มันไม่กระตุ้นความรู้สึกของผม”
พวกคนไฮโซสามารถแบ่งศิลปะในโลกได้เป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือศิลปะชั้นสูงและชั้นต่ำ ซึ่งศิลปะชั้นต่ำคือดนตรีที่สร้างมาให้คนรับใช้หรือคนขับแท็กซี่ฟัง สิ่งที่คนเหล่านี้ไม่รู้ก็คือ ดนตรีประเภทหลังนี้แหละที่ไปไหนต่อไหน
จอห์นกล่าวว่า อีกสิ่งสำคัญของเพลงลูกทุ่งและหมอลำก็คือ มันวางอยู่บนประสบการณ์ชีวิตจริง
“อย่างเพลงที่พูดว่าฉันมาอยู่ในเมืองหลวง ทิ้งแฟนสาวให้อยู่บ้านนอก ป่านนี้เธอจะมีแฟนใหม่หรือยัง หรือฉันจะทำอย่างไร คนที่นี่ดูถูกฉันเพราะสีผิวของฉัน ถ้าคุณไปที่ญี่ปุ่น คุณจะพบว่าดนตรีแองกะ (enka) ของญี่ปุ่นมีเนื้อหาทำนองเดียวกัน หรือดนตรีรัมก์บาก (ramkbach) ของกัมพูชาก็มีเนื้อหาแบบเดียวกันนี้”
เพลงมินโยประยุกต์ของวง Minyo Crusader ซึ่งได้อิทธิพลจากดนตรีลาติน
เราถามจอห์นว่า ความสนใจเรื่องดนตรีที่หลากหลายจนนำพาให้เขามาอยู่บนเส้นทางสายดนตรีนี้เริ่มขึ้นมาได้อย่างไร “มันเริ่มมาจากแจ๊ซ” เขาตอบ
“ผมมักบอกใครต่อใครว่าผมโตมากับเสียงดนตรีแจ๊ซแบบนิวออร์ลีนส์ (New Orleans jazz) ซึ่งเป็นดนตรีแอฟริกัน-อเมริกัน ทั้งเพลงของหลุยส์ อาร์มสตรอง (Luise Armstrong) ที่ออกมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง และเสียงเพลงที่พ่อเล่นเพลงของ จอร์จ เกอร์ชวิน (George Gershwin), เจอโรม เคิร์น (Jerome Kern) และเพลงที่เราได้ยินในหนังฮอลลีวูด พ่อของผมเป็นนักเปียโนแจ๊ซ ในช่วงทศวรรษ 1950 พ่อมีวงแจ๊ซในเมืองเชฟฟิลด์ ในวงมีเปียโน ทรัมเปต และเบส เขาเป็นเปียโนแจ๊ซที่เก่งมาก ปู่ของพ่อก็เป็นนักดนตรีและมักเล่นดนตรีที่ Sheffield City Hall บ่อยๆ”
“ผมสนใจเสียงของจังหวะขัด (syncopation) ในแจ๊ซ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของดนตรีแอฟริกัน แจ๊ซซึ่งมีที่มาจากแอฟริกัน-อเมริกันนี้เองที่เป็นประตูเปิดประตูสู่ดนตรีแนวอื่นๆ หลังจากนั้นผมก็ได้ค้นพบดนตรีจากหลากหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าในหลุยเซียน่ามีดนตรีแนวไซเดโก (zydeco) และเคจุน (cajun) เท็กซัสมีดนตรีเท็กซ์-เม็กซ์ (tex-mex) ส่วนในลอสแอนเจลิสมีละตินซับคัลเจอร์”
นอกจากนี้ อีกสถานที่สำคัญที่ทำให้เขาได้รู้จักดนตรีจากวัฒนธรรมอื่นๆ ทั่วโลก ก็คือห้องสมุดแถวบ้านและร้านหนังสือ
“ห้องสมุดเมืองเชฟฟิลด์มีโซนที่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีแผ่นเสียงให้ยืม ทั้งดนตรีจาก South Sea Islands ดนตรีที่ถูกบันทึกภาคสนามจากอินโดนีเซีย เพลงบลูส์ เพลงคลาสสิก รวมทั้งแผ่นบันทึกเสียงละครเชคสเปียร์และคอเมดี้ที่ผมชอบ พ่อมักจะยืมแผ่นเสียงของบีโธเฟน ส่วนผมก็จะไปเดินดูแผ่นเสียงดนตรีแนวอื่นๆ แล้วยืมกลับมาเปิดฟังในห้องนอน”
“แม่ผมยังมีร้านขายเสื้อผ้าร้านเล็กๆ ใจกลางเมืองเชฟฟิลด์ หลังเลิกเรียนผมก็จะไปหาแม่ที่ร้านเพื่อรอกลับบ้าน หลังร้านมีร้านขายหนังสือชื่อ Rare and Racy ซึ่งสำคัญต่อพัฒนาการความสนใจเรื่องดนตรีของผม เพราะผมได้พบวรรณกรรมและบทกวีของกวีกลุ่มบีต (Beat poets) ทั้ง แจ็ค เคอรูแอค (Jack Kerouac), เกรกอรี คอร์โซ (Gregory Corso) และ อัลเลน กินส์เบิร์ก (Allen Ginsberg) แล้วขณะที่ผมกำลังเปิดดูหนังสือวรรณกรรมและบทกวีอยู่ ร้านก็เปิดแผ่นเสียงของ ซอนนี่ โรลลินส์ (Sonny Rollins) และ ชาร์ลี ปาร์กเกอร์ (Charlie Parker) คลอไปด้วย เพราะที่ร้านมีโซนขายแผ่นเสียง นั่นทำให้ผมได้แอบฟังเพลงแจ๊ซแบบที่พ่อไม่ชอบ ได้เรียนรู้เรื่องแจ๊ซ ผมว่าการที่คนเราได้สัมผัสอะไรกับสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบบ้างเป็นเรื่องดีนะ”
นอกจากการซึมซาบดนตรีต่างวัฒนธรรมที่บ้าน ห้องสมุด และร้านหนังสือแล้ว ความสนใจในดนตรีเหล่านี้ยังได้รับอิทธิพลจากการเดินทาง ซึ่งทำให้เขาพบผู้คนมากมายที่มา ‘เปิดขุมทรัพย์’ ให้เขา
“ผมไปลอนดอนครั้งแรกตอนอายุ 23 ปี ไปทำงานเป็นคนเก็บเงินบนรถเมล์อยู่พักหนึ่ง ทีนี้คนขับรถเป็นคนปากีสถาน เขาก็เปิดเพลงปากีสถานให้ฟัง ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องดนตรีและอาหารจากปากีสถาน นอกจากนี้การเดินทางยังทำให้ผมได้รู้จักดนตรีที่น่าสนใจอีกมาก ตอนเป็นนักศึกษาผมเดินทางไปสเปน กรีซ และโมร็อกโก ผมถูกดึงดูดโดยดนตรีเร็มเบติกา (rembetika) ของกรีซ กลายมาเป็นแฟนดนตรีฟลาเมงโก้และดนตรีจากแคว้นแอนดาลูเซีย ตอนนั้นแฟนผมทำวิจัยด้านภาษาศาสตร์อยู่ที่กรานาดาในสเปน ผมก็เลยหนีบเครื่องบันทึกเสียงของเธอไปด้วยเวลาไปดูการแสดงฟลาเมงโก้ตอนกลางคืน เมืองกรานาดาทำให้ผมสนใจดนตรีอาราบิก ความสนใจนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อผมได้เดินทางไปโมร็อกโกและได้รู้จักดนตรีมักกราบี (maghrebi)”
จอห์นบอกว่า สำหรับเขาแล้ว หนึ่งในความพิเศษของดนตรีคือความสามารถในการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน และทำให้วัฒนธรรมแน่นแฟ้น
“ถ้าคุณไปคอนเสิร์ตลูกทุ่งที่ต่างจังหวัด คุณจะเห็นย่า แม่ หลานๆ ปูเสื่อนั่งฟังนักร้องคนโปรดร้องเพลง หรือในญี่ปุ่น ผมเคยไปเทศกาลดนตรีในโอกินาวา คนทุกวัยและชุมชนทั้งชุมชนมีส่วนร่วม เราจะเห็นเด็กอายุสองสามขวบเต้นรำกับย่า นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่นี่ถึงมีอายุยืนที่สุดในโลก นอกจากอาหารและพันธุกรรมแล้ว พวกเขายังมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมดนตรีที่ทุกคนมีส่วนร่วม”
“ส่วนคนไอริช เวลาไปผับไอริช ถ้าเกิดมีคนหนึ่งเริ่มสีไวโอลิน อีกคนก็จะเริ่มเคาะช้อน แล้วอีกคนก็เริ่มร้องเพลง แล้วคุณก็จะแบบ…ว้าว คือดนตรีทำให้คนเข้าหากัน คนเวลส์เป็นแบบนี้ในผับ เพราะปกติแล้วพวกเขาเป็นคนเงียบๆ”
จอห์นฟังดนตรีและเขียนถึงดนตรีหลากหลายแนวจากทั่วโลก พาคนอ่านไปยังทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย แต่จอห์นบอกเราว่า ดนตรีชนิดหนึ่งที่เขาหลงใหลและโปรดปรานที่สุด ก็คือดนตรีจากทวีปแอฟริกา
“ดนตรีแอฟริกันกลุ่มแรกที่ผมชอบเป็นพิเศษคือดนตรีแอฟริกันตะวันตก ซึ่งมาจากมาลี, เซเนกัล, แกมเบีย, ไอวอรีโคสต์ ดนตรีแถบนี้ได้รับอิทธิพลจากมุสลิม โดยเฉพาะการ “call and response” ที่มาจากเสียงเรียกละหมาด เสียงที่ว่าส่งผลต่อวิธีการร้อง”
“ผมยังชอบเพลงจากแอฟริกากลาง จากคองโก, เบนิน และบางพื้นที่ในไนจีเรีย ดนตรีจากคองโกเป็นดนตรีเต้นรำที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก คนมักพูดกันว่าดนตรีลัมบาดา (lambada) ซัลซ่า (salsa) และดนตรีจากคาริบบเบียนนั้นเซ็กซี่ แต่ดนตรีจากคองโก้นั้นเซ็กซี่กว่ากันเยอะ Franco จากคองโกเป็นนักดนตรีซูเปอร์สตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทวีปแอฟริกาเคยมี เขาเป็นนักดนตรีที่มีอิทธิพลที่สุดในแอฟริกา”
เพลงของ Franco ซูเปอร์สตาร์ชาวคองโก
“พัฒนาการของดนตรีแอฟริกาก็คือ เมื่อประเทศต่างๆ ในแอฟริกาได้รับเอกราช ดนตรีจากคิวบาและดนตรีจากแคริบเบียนอย่างดนตรีคาลิปโซ (calypso) ก็เข้ามามีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกาน่า ไนจีเรีย พวกเขาได้ยินดนตรีจากคิวบา ความพยายามแรกของพวกเขาในการทำให้ดนตรีดั้งเดิมของตนเป็นดนตรีป็อปปูลาร์ก็คือการนำความเป็นดนตรีคิวบาเข้ามา กระทั่งร้องเพลงในภาษาสเปน แต่ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ พวกเขาก็เปลี่ยนมาใช้ภาษาถิ่นแทน เช่น ในคองโกที่ร้องเพลงด้วยภาษาลิงกาลา”
เพลงของวง Verckys & L’Orchestre Vévé จากคองโก
จอห์นบอกว่า พัฒนาการของดนตรีแอฟริกันนั้นคล้ายคลึงกับพัฒนาการของเพลงลูกทุ่งบ้านเรา
“ดนตรีแอฟริกันส่วนใหญ่มาจากการนำดนตรีแบบดั้งเดิม (traditional music) มาทำให้เป็นสมัยใหม่ แบบเดียวกับการพัฒนาเพลงลูกทุ่งภาคกลางที่มีดนตรีราก (roots music) อย่างลำตัดและอีแซว และนำเพลงพื้นบ้านเหล่านี้มาบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสมัยใหม่ของตะวันตก โดยมีองค์ประกอบของดนตรีละติน เช่น มัมโบ้ (mambo) หรือสามช่า (cha cha cha)”
ความสนใจในดนตรีลูกทุ่งของเขานำไปสู่อีกโปรเจกต์หนึ่งที่เขากำลังทำอยู่ นั่นคือการค้นคว้าและเขียนหนังสือว่าด้วยดนตรีลูกทุ่ง หมอลำ และกันตรึมที่ชื่อ Tears of the Truck Driver หรือ ‘น้ำตาสิบล้อ’ ซึ่งนอกจากจะพูดถึงหมอลำและกันตรึมแล้ว ยังพูดถึงเพลงพื้นบ้านภาคกลาง อย่างเพลงอีแซว รำวง ลิเก จอห์นบอกว่า ข้อดีของหนังสือเล่มนี้ก็คือทำให้คนต่างชาติรู้ว่า ดนตรีไทยไม่ได้มีแค่หมอลำ คุยกันถึงตรงนี้ จอห์นนึกได้และเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาประทับใจที่เขาได้ยินเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นครั้งแรก
“ผมกำลังเดินอยู่แถวประตูน้ำ กำลังจะไปตลาด แล้วก็ได้ยินเสียงเพลงลอยมาจากแผงขายเทปคาสเซ็ต ผมหยุดทันที ขนลุก ‘นั่นเพลงอะไรน่ะ’ ผมคิด แล้วก็เดินไปหาคนขาย ถามเขาด้วยภาษาไทยกระท่อนกระแท่นว่านี่เพลงอะไร เขาหยิบตลับเทปมาให้ดู มันเป็นเพลงยุคแรกๆ ของพุ่มพวง ผมก็กลับไปหานักเรียนทุนที่จุฬาฯ เพราะนักเรียนทุนเหล่านั้นมาจากอีสาน บอกพวกเขาว่า ถ้าช่วยแปลเนื้อเพลง ผมจะช่วยติวการเขียนภาษาอังกฤษให้ พวกเขาบอกโอเค นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเพลงของพุ่มพวง มันเปลี่ยนชีวิตผม”
“ผมไปสัมภาษณ์พุ่มพวง 3 เดือนก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เขียนบทความเกี่ยวกับเธอออกมา และส่งให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง นั่นทำให้ผมรู้ว่าคนไทยบางคนไม่ค่อยชอบเวลาที่คนต่างชาติเขียนเรื่องดนตรีไทย ผมโทรไปบอกหนังสือพิมพ์ว่านักร้องคนนี้เพิ่งเสียชีวิต ผมมีบทสัมภาษณ์เธอ ผู้หญิงที่รับสายบอกว่า ไม่ คุณไม่ได้ไปสัมภาษณ์เธอหรอก และบทสัมภาษณ์นั้นไม่จำเป็น เรามีบทความเรื่องนี้พร้อมแล้ว แต่คุณรู้ไหม บทความที่ออกมานั้นเต็มไปด้วยเรื่องซุบซิบ เรื่องมนต์ดำ ขณะที่บทความของผมเขียนอุทิศให้ดนตรีของเธอ ลงเอยด้วยการที่บทความเรื่องนั้นของผมไปตีพิมพ์กับ The Japan Times แทน หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอีกเลย”
“มีคนพูดว่า คนต่างชาติจะเขียนเกี่ยวกับดนตรีไทยได้ยังไง ส่วนใหญ่คนที่พูดแบบนี้กับผมเป็นคนญี่ปุ่นและเกาหลี ผมมักตอบกลับไปว่า แล้วทำไมคุณถึงเขียนเกี่ยวกับฮิปฮอปหรือแจ๊ซได้ล่ะ ถ้าคิดแบบนี้ คนที่มีสิทธิเขียนถึงดนตรีแจ๊ซก็มีแต่คนในอเมริกาเท่านั้น”
“ผมไม่ได้อยากเล่าเรื่องดนตรีลูกทุ่งให้คนไทยฟัง เพราะมีหนังสือเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งมากมายในภาษาไทย อดีตภรรยาของผมรู้จักเพลงลูกทุ่งมากกว่าผมเสียอีก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมไม่สามารถพยายามทำความเข้าใจมัน สนุกกับมัน และเขียนเกี่ยวกับดนตรีประเภทนี้ให้คนต่างชาติรู้ น่าแปลกใจที่ความเป็นชาตินิยมโผล่มาอีกแล้ว”
มีคนพูดว่า คนต่างชาติจะเขียนเกี่ยวกับดนตรีไทยได้ยังไง ส่วนใหญ่คนที่พูดแบบนี้กับผมเป็นคนญี่ปุ่นและเกาหลี ผมมักตอบกลับไปว่า แล้วทำไมคุณถึงเขียนเกี่ยวกับฮิปฮอปหรือแจ๊ซได้ล่ะ ถ้าคิดแบบนี้ คนที่มีสิทธิเขียนถึงดนตรีแจ๊ซก็มีแต่คนในอเมริกาเท่านั้น
จอห์นบอกว่าสิ่งหนึ่งในดนตรีไทยที่ดึงดูดเขาก็คือ ‘ลูกคอ’ แต่น่าเสียดายที่นักร้องรุ่นหลังไม่มีลูกคอแบบนักร้องรุ่นก่อนอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หรือ ชาย เมืองสิงห์ เราถามจอห์นว่า แล้วอะไรทำให้ลูกคอแบบเก่าหายไป
“เรื่องนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตอบ แต่ที่ผมเข้าใจก็คือ ผมเคยคุยกับ สุรชัย สมบัติเจริญ เขาบอกว่าเมื่อเขาเริ่มร้องเพลงช่วงแรกๆ เขารู้สึกเสียเปรียบนักร้องรุ่นพ่อ ทั้ง ไวพจน์, สุรพล (สมบัติเจริญ) หรือขวัญจิต (ศรีประจันต์) เพราะนักร้องรุ่นนี้มีพื้นเพในดนตรีพื้นบ้านอย่างรำวงและลิเก การร้องเพลงพื้นบ้านเหล่านั้นทำให้พวกเขามีเสียงร้องที่มี ornamentation (การประดับ), tone (เสียง), timbre (ลักษณะของเสียง) ที่ดีกว่า”
“นักร้องเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่บางคนร้องเพลงสตริงมาก่อน จึงไม่มีพื้นเพแบบเดียวกัน ลูกคอของนักร้องเหล่านี้จึงไม่มีเหมือนลูกคอแบบไวพจน์ หมอลำก็เช่นกัน คุณไม่อาจเรียนสิ่งเหล่านี้ได้ในวิทยาลัยดนตรี ผมเคยไปเวิร์กช็อปเทศกาลดนตรีแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการร้องเพลงแบบ ‘throat singing’ ของชาวทูวา (Tuva) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า overtone singing โดยนักร้องชาวทูวาจากวง Hun-Huur-Tu ผู้ร่วมเวิร์กช็อปคนหนึ่งถามนักร้องว่าเขาใช้เวลาเรียนร้องเพลงแบบนี้นานเท่าไหร่ คือคงคิดว่าตัวเองจะเรียนร้องเพลงแบบนี้ได้ในคลาส เหมือนเรียนโยคะหรือไทชิ นักร้องจ้องเขากลับไปและตอบว่า ‘ตลอดชีวิต คุณเรียนสิ่งนี้ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ด้วย ผมเรียนบนหลังม้า’ ซึ่งมันเจ๋งมาก”
ตัวอย่างการร้องเพลงแบบ “throat singing” ของชาวทูวา
“กลับมาที่เมืองไทย พุ่มพวงอ่านหนังสือไม่ออก ถ้าคุณฟังงานดนตรีแรกๆ ของพุ่มพวง คุณจะได้ยินสำเนียงลิเก รำวง อีแซว ซึ่งเธอได้มาจากไวพจน์ซึ่งสอนเธอ ซึ่งปัจจุบัน เสียงและสำเนียงที่มีรากเหง้าเหล่านี้เริ่มกลับมา แม้ว่ารัฐจะพยายามกดมันไว้ แม้ว่ารัฐจะพยายามทำให้ทุกคนเป็นคนไทยแบบเดียวกัน ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีภาษามากกว่า 70 ภาษานะครับ”
“คือตอนนี้คุณจะเห็นคนอีสานบางกลุ่มจัดคอนเสิร์ต โดยร้องเพลงด้วยภาษาลาว ซึ่งไม่ใช่ภาษาถิ่นของอีสานเสียด้วย กลับกันกับตอนที่ผมมาเมืองไทยใหม่ๆ ที่ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ เช่น ช่วงทศวรรษ 1980 คนไม่นิยมใช้พิณในดนตรีหมอลำ แต่ใช้กีตาร์แทน ทั้งที่จริงแล้ว การเล่นเพลงหมอลำด้วยพิณนั้นง่ายกว่า เพราะคอของพิณถูกออกแบบมาเพื่อสเกลของเพลงหมอลำ ดังนั้น กระแสการกลับมาของ ‘Isan pride’ หรือความภูมิใจในความเป็นอีสาน ทั้งการเล่นพิณ การใช้ผ้ามัดหมี่ ทำให้คนเริ่มกลับไปเล่นพิณ แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ตอนนี้ทุกคนอยากเป็นพิณฮีโร่ ไม่มีใครอยากเล่นแคน เพราะการเล่นแคนยากกว่ามาก”
จอห์นบอกว่า ในความเห็นของเขา สิ่งที่ทำให้ความเป็นท้องถิ่นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งก็คือความตื่นตัวทางการเมือง
“มันมาจากความตระหนัก การตื่นขึ้นทางการเมือง ความเข้าใจที่ว่าวัฒนธรรมของคุณเองก็ดีไม่แพ้วัฒนธรรมของคนอื่น ประเทศไทยควรเชิดชูความหลากหลาย ไม่ใช่บังคับให้ประเทศมีภาษาเดียว ทำอะไรแบบเดียว”
“พลเอกเปรมเคยบอกว่าไม่อนุญาตให้เด็กในภาคใต้ใช้ตัวอักษรยาวีในการเรียนการสอนระดับประถม บอกว่าเด็กเหล่านั้นต้องใช้ภาษาไทยกลาง แต่รู้ไหม ในฐานะครู เรารู้ดีว่ามีคนที่พูดได้สองภาษา คือภาษากลางและภาษาถิ่น และถ้าคุณปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยใช้ภาษาของตัวเองในโรงเรียนอนุบาลไปจนถึงแปดเก้าขวบแล้วค่อยเริ่มเรียนภาษากลาง ผลการเรียนของเด็กเหล่านี้จะดีกว่า แต่คุณบังคับคนเหล่านี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ให้ใช้ภาษาประจำชาติภาษาเดียว พวกเขาจะมีผลการเรียนต่ำกว่า เพราะตัวอักษรไทยไม่เหมาะกับการเขียนภาษาถิ่นอีสาน”
นอกจากจะเขียนและถ่ายภาพแล้ว จอห์นยังเป็นดีเจในบางโอกาส โดยใช้ชื่อเรียกร่างทรงนี้ว่า ‘ดีเจพ่อใหญ่’
“มันเป็นคำที่คนอีสานเรียกผม ตอนที่ผมกำลังเดินอยู่ในซอยสุขุมวิท 21 พ่อค้าแม่ค้ารถเข็นทั้งหลายที่ส่วนมากมาจากยโสธรตะโกนเรียกผมว่า ‘ไปไสพ่อใหญ่’”
งานดีเจล่าสุดของเขาคืองาน Basa Bongo ที่ Studio Lam เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จอห์นกำกับแดนซ์ฟลอร์ด้วยดนตรีนูเบียนอย่างเพลง Mambo El Soudani ของวง Salamat, เพลง Oriza ของ Cortijo Y Su Combo และ Ismael Rivera จากเปอร์โตริโก ไล่ไปถึงเพลง เต้ยดิสโก้ ของสุนทร ชัยรุ่งเรือง, เพลง ฝนตกฟ้าร้อง ของศรคีรี ศรีประจวบ และเพลงกันตรึมที่ใช้ชื่อของศิลปินชื่อดังอย่างดาร์กี้
“ผมชอบที่ได้ทำให้คนเต้น” จอห์นบอกสั้นๆ ถึงสิ่งที่เขาชอบเกี่ยวกับการเป็นไลฟ์ดีเจ
ในช่วงพ.ศ. 2555- 2558 จอห์นจัดรายการวิทยุที่ชื่อ World Beat ซึ่งแนะนำเพลงต่างๆ จากทั่วโลกบนเว็บไซต์ของสุดแรงม้า เรคคอร์ด จอห์นบอกว่า การเป็นดีเจในรายการวิทยุนั้นต่างออกไป เพราะรายการวิทยุเปิดโอกาสให้เขาเล่าบริบทเกี่ยวกับเพลงที่เปิดให้คนฟังได้ด้วย
เพลงจากวง Salamat ที่จอห์นเปิดในคืนดีเจ
ก่อนจะจากกัน เราถามจอห์นว่า เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่เขาเขียนเกี่ยวกับดนตรี ถ่ายภาพนักดนตรีและการแสดงดนตรีตามคอนเสิร์ตต่างๆ อะไรกัน ที่เป็นแรงผลักดันให้เขาสรรค์สร้างงานเหล่านี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมก็คือดนตรี อย่างเสียงเซเบน (seben) ในดนตรีรุมบ้าของคองโก ท่อนเปิดของเปียโนในดนตรีซัลซ่า เสียงร้องเศร้าๆ ในดนตรีฟาโด, มอร์นา, แองกะ และเพลงลูกทุ่ง รวมทั้งโทนเสียงแบบบาริโทนทุ้มลึกของนักร้องชาวแอฟริกาใต้ที่ชื่อ Mahlathini”
“ดนตรีก็เหมือนสารอาหาร เราต้องการดนตรีเพื่อการดำรงอยู่อย่างมีสมดุล ผมเติบโตมากับดนตรี มันจึงสำคัญกับผม ดังที่ผมเขียนในคอลัมน์หลายครั้งหลายหนว่าผมชอบดนตรีที่ ‘สัมผัส’ ถูกที่ ทั้งที่สมอง ที่หัวใจ และที่ขา อ้อ แล้วก็ที่สะโพกด้วย”
ติดตามคอลัมน์ World Beat ได้ที่นี่
Tags: John clewley, world music, Interview, Music