ความสัมพันธ์ระหว่างโตเกียวกับโซลดิ่งวูบหลังจากญี่ปุ่นประกาศเข้าควบคุมการส่งออกวัตถุดิบที่เกาหลีใต้ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าข้อพิพาทนี้แก้ไม่ตกในเร็ววัน สมาร์ตโฟน ทีวี หน้าจอแบบโค้งงอได้ อาจมีราคาแพงขึ้น
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลโตเกียวกับรัฐบาลโซลเปิดศึกพิพาทด้านการค้า ว่าด้วยเรื่องการส่งออกสารเคมีจากญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีจำเป็นต้องใช้ในการผลิตชิปและจอคอมพิวเตอร์ จอทีวี
การเข้าควบคุมการส่งออกวัตถุดิบของญี่ปุ่นอาจทำให้อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่หลายยี่ห้อ เช่น ซัมซุง ไอโฟน หัวเว่ย มีราคาสูงขึ้น และอาจส่งผลเป็นลูกโซ่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
เชื่อกันว่า ข้อพิพาทครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ยังคงถูกหลอกหลอนด้วยเรื่องพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวเกาหลีในช่วงสงครามโลก และเรื่องการเยียวยาบาดแผลที่ยังไม่สมาน แม้เวลาล่วงเลยมานานกว่า 70 ปีแล้ว
ด้วยเหตุที่ประเทศทั้งสองต่างเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกา อีกทั้งข้อพิพาทนี้อาจส่งผลสะเทือนถึงบริษัทอเมริกัน สหรัฐฯ อาจยื่นมือเข้าเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายหาทางรอมชอม
ยกเลิกสิทธิพิเศษ
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ญี่ปุ่นประกาศถอดสารเคมี 3 ชนิดออกจากบัญชีที่เคยอนุญาตให้ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องผ่านมาตรการควบคุม เพราะถือว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องการจัดการสารเคมีจำพวกที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในกิจการพลเรือนและกิจการทหาร
สารเคมี 3 ชนิดที่ว่านี้ ประกอบด้วย สารที่ใช้ในการผลิตจอ สารที่ใช้ในการผลิตชิป และสารที่ใช้ในการทำความสะอาดชิป นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นต้นมา บริษัทญี่ปุ่นที่จะส่งออกวัตถุดิบดังกล่าวไปยังเกาหลีใต้จะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตเป็นคราวๆ ไป ซึ่งกระบวนการพิจารณาจะใช้เวลา 90 วัน
ตามปกติ ผู้ผลิตมีวัตถุดิบเหล่านี้เก็บสำรองสำหรับใช้ได้ 3 เดือน เมื่อญี่ปุ่นคุมเข้มจึงวิตกกันว่า หากวัตถุดิบขาดแคลน ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้าได้น้อยลง ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้น
ยิ่งกว่านั้น หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ก็อาจส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยี 5 จี และการขยายตลาดของหน้าจอชนิดโค้งงอได้ต้องล่าช้าออกไป
บริษัทเกาหลีใต้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ คือ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ กับเอสเค ไฮนิกซ์ ซึ่งผลิตชิปป้อนให้กับบริษัทแอปเปิล และหัวเว่ย เทคโนโลยี
ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตสารเคมีที่ใช้ในการทำจอ ฟลูออริเนตโพลีไมด์ รายใหญ่ที่สุด ครองสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตของโลก และยังเป็นผู้ผลิตสารสำหรับทำชิปหน่วยความจำรายใหญ่ด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่เกาหลีใต้จะหาแหล่งผลิตอื่นทดแทน
ไม่เพียงควบคุมการส่งออกวัตถุดิบเท่านั้น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ยังบอกด้วยว่า กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นว่า ญี่ปุ่นควรถอดเกาหลีใต้ออกจากบัญชี ‘ประเทศสีขาว’ หรือไม่ ซึ่งประเทศที่อยู่ในบัญชีนี้สามารถรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ในทางการทหารได้ โดยมีการควบคุมแบบหลวมๆ
บาดแผลตามหลอน
นักวิเคราะห์มองว่า เหตุที่ญี่ปุ่นงัดมาตรการควบคุมดังกล่าวขึ้นมาใช้ เพราะต้องการตอบโต้เกาหลีใต้ที่ยังคงฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเรื่องในอดีตยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
ชนวนของการตอบโต้จากญี่ปุ่น ก็คือ กรณีศาลของเกาหลีใต้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สั่งให้บริษัทนิปปอน สตีล คอร์ป ของญี่ปุ่น จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชาวเกาหลีใต้ที่ถูกเกณฑ์แรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมระหว่างปี 1910-1945 รวมทั้งกรณีคนเกาหลียังคงเรียกร้องการชดเชยที่ทหารญี่ปุ่นบังคับให้สตรีชาวเกาหลีทำงานบำเรอกาม ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นได้ชดเชยผ่านกองทุนที่จัดตั้งขึ้นไปแล้ว
ถึงแม้ญี่ปุ่นบอกปัดว่า มาตรการนี้ไม่ใช่การตอบโต้ในเรื่องการบังคับใช้แรงงาน แต่รัฐมนตรีการค้า ฮิโรชิเกะ เซโกะ เอ่ยถึงเรื่องนี้ตอนประกาศนโยบายดังกล่าว โดยบอกว่า การที่เกาหลีใต้ไม่ดำเนินการอะไรในเรื่องการฟ้องร้องของอดีตแรงงานเกณฑ์ ส่งผลเป็นการบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศทั้งสอง
หนทางเยียวยา
เมื่อวันศุกร์ (12 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายพบปะพูดจากันที่กรุงโตเกียว แต่ไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ สื่อมวลชนรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความมึนตึงเย็นชา ไม่มีการจับมือยิ้มแย้มทักทาย ผู้แทน 2 คนของแต่ละฝ่ายนั่งเผชิญหน้ากันด้วยสีหน้านิ่งขรึมภายในห้องเล็กๆ แคบๆ
ภายหลังการหารือ ฝ่ายญี่ปุ่นแถลงว่า ได้ชี้แจงกับผู้แทนของเกาหลีใต้ว่า มาตรการนี้ไม่ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก เพียงแต่ยกเลิกการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ เปลี่ยนมาใช้ขั้นตอนปกติของการส่งออก ขณะที่ฝ่ายเกาหลีใต้บอกว่า ได้เสนอให้ญี่ปุ่นกลับมาคุยกันอีกครั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม แต่ยังไม่มีการตอบรับจากฝ่ายญี่ปุ่น
ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่น ให้ข่าวว่า สาเหตุที่ญี่ปุ่นควบคุมการส่งออกนั้น เป็นเพราะเกาหลีใต้นำสารเคมีที่ซื้อจากญี่ปุ่นไปขายต่อให้เกาหลีเหนือ ซึ่งสารไฮโดรเจนฟลูออไรด์ที่ใช้ผลิตชิปนี้ใช้ทำอาวุธเคมีได้
ต่อข้อกล่าวหานี้ เกาหลีใต้เสนอให้ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาตรวจพิสูจน์ ว่า เกาหลีใต้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรเปียงยางจริงหรือไม่ พร้อมกับร้องขอให้สหรัฐฯ ช่วยพูดจากับญี่ปุ่น
ในเรื่องการเยียวยาบาดแผลในประวัติศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ หลังจากศาลเกาหลีใต้มีคำสั่งดังกล่าว ญี่ปุ่นประกาศไม่ยอมรับ โดยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายใช้กลไกอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงที่เคยลงนามเมื่อครั้งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1965 ทว่าเกาหลีใต้เสนอให้บริษัทญี่ปุ่นกับเกาหลีลงขันจัดตั้งกองทุนชดเชยตามความสมัครใจ ซึ่งโตเกียวปฏิเสธทันทีว่าไม่เอา
ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดวิด สติลเวล มีกำหนดเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม คอยดูกันว่า ในสภาพการณ์ที่ห่วงโซ่การผลิตของโลกทวีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศยิ่งขึ้นทุกทีเช่นนี้ อเมริกาจะเดินเกมอย่างไรในข้อพิพาทระหว่างพันธมิตร.
อ้างอิง:
AFP via Channal NewsAsia, 1 July 2019
AFP via Manila Standard, 11 July 2019
ภาพ: JUNG Yeon-Je / AFP
Tags: ข้อพิพาท, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สงครามโลกครั้งที่ 2, การค้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์