หลังจากโอลิมปิก 2020 ประสบชะตากรรมอื้อฉาวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดญี่ปุ่นก็ต้องพบกับความอื้อฉาวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ สึเนะกะซุ ทะเกะดะ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น (the Japanese Olympic Committee หรือ JOC) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าติดสินบนลูกชายของอดีตคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพื่อเอาชนะการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 แข่งกับมาดริดและอิสตันบูล โดยเขาได้ออกมาปฏิเสธพร้อมเตรียมลาออกจากตำแหน่ง
หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตดังกล่าวในปี 2016 จนถึงตอนนี้ทะเกะดะยังอยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสในข้อหาติดสินบนดังกล่าว ซึ่งเขาปฏิเสธความเกี่ยวข้องและยืนยันว่าการจ่ายเงินนั้นเป็นค่าชดเชยที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับบริการให้คำปรึกษา ในขณะที่อัยการฝรั่งเศสกำหนดการสอบสวนอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนธันวาคนที่จะถึงนี้
โดยประธานคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นจะลาออกจากตำแหน่งของเขา เมื่อวาระการทำงานสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ โดยเผยว่า “ผมต้องการหลีกทางให้เด็กรุ่นใหม่นำอนาคตของ JOC เพื่อมุ่งไปสู่โอลิมปิกโตเกียว 2020”
ด้านการสอบสวนในฝรั่งเศสเกี่ยวกับการรับสินบนราว 1.5 ล้านยูโรมีผู้เกี่ยวข้องหลักคือ Papa Massata Diack ลูกชายของ Lamine Diack พ่อและอดีตผู้ทรงอิทธิพลของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในเวลานั้น แต่ทั้งสองปฏิเสธข้อกล่าวหา และคณะกรรมการไต่สวนพบกับปัญหาในการสืบสวน เมื่อเอกสารในการเสนอประมูลดึงงานถูกทำลายไปแล้วหลังจากการตัดสิน
ถึงอย่างนั้นการสอบสวนที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างเงาทะมึนเหนือการเตรียมการสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวซึ่งจะเริ่มต้นในอีกไม่ถึง 500 วัน โดยสำนักข่าวเกียวโตรายงายว่า แหล่งข่าวจาก IOC กังวลว่าเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของโอลิมปิก 2020 ดูไม่ดี พร้อมกระตุ้นให้คณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบนเพื่อซื้อเสียงเป็นเพียงเรื่องร้ายแรงที่สุด ในบรรดาหลายเรื่องที่โตเกียวประสบกับความยากลำบากในระหว่างความพยายามจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 หลังจากเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบหกสิบปีก่อน
โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ญี่ปุ่นเผชิญกับทั้งข้อครหาในการยกเลิกการออกแบบสนามกีฬาหลักของ ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกชาวอังกฤษ-อิรัก หลังจากราคาก่อสร้างสูงขึ้นเกือบสองเท่าจากตอนประมาณเบื้องต้น โดยฮาดิดที่เสียชีวิตในปี 2017 กล่าวโทษการยกเลิกว่าเกิดจากการคัดค้านของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นในการมีสนามกีฬาแห่งชาติที่ออกแบบโดยชาวต่างชาติ นอกจากนั้น คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่นยังถูกบังคับให้เลิกใช้โลโก้อย่างเป็นทางการของการแข่งขัน หลังโดนกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงานของนักออกแบบเคนจิโร ซาโน
ทั้งที่จริงแล้วนั้น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ควรจะแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของญี่ปุ่นจากภัยพิบัติ 3 ครั้ง บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2011 รวมถึงการล่มสลายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับฟุกุชิมะหลายครั้ง ทั้งการพัฒนาสนามกีฬา การทำความสะอาดเมือง แต่ความพยายามที่จะให้พลเมืองกลับเข้าที่อยู่อาศัยและชุมชนใกล้โรงไฟฟ้าเดิมถูกครหาว่าเป็นการทำเพื่อโอลิมปิกโดยการมองข้ามชีวิตของพลเมือง
ที่มา
Tags: โอลิมปิก, โอลิมปิก 2020