1.
         เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาเจมส์ เบลค (James Blake) ปล่อยซิงเกิ้ลล่าสุด ‘Don’t Miss It’ ที่ทำร่วมกับดอมินิก เมเกอร์ (Dominic Maker) จากคณะ Mount Kimbie ผ่านช่องทางยูทูบและซาวด์คลาวด์

         เจมส์เป็นเจ้าของผลงานดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุเพียง 22 ปี เขาเคยได้รับรางวัลใหญ่อย่าง Grammy และ Mercury Prize เคยทำงานร่วมกับศิลปินชั้นนำอย่าง Bon Iver, Kendrick Lamar, Vince Staples, Frank Ocean และ Beyoncé

         เพลง ‘Don’t Miss It’ ขึ้นต้นด้วยเสียงเปียโนเศร้าสร้อย ก่อนที่เจมส์จะค่อยๆ เล่าถึงเรื่องราวของคนๆ หนึ่งที่เคยเผชิญสภาวะจิตใจที่ดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ ดั่งเรือใบจำลองจิ๋วที่สละตัวเอง จมตัวลงหมุนวนอย่างไม่รู้จบกลางทะเลสาบ สถานที่ที่ทั้งมืด เงียบ และเยือกเย็น ด้วยน้ำเสียงร้องที่ถูกสั่นสะเทือนด้วยอะไรบางอย่าง

         The world has shut me out / If I give everything I’ll lose everything / Everything is about me / I am the most important thing / And you really haven’t thought all those cyclical thoughts for a while?

         เมื่อเวลาผ่านไป จิตใจค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นมา อีกใจหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงช่วงเวลาแห่งมืดมนอนธการเหล่านั้น สิ่งที่เคยประทับบนความคิด ประหนึ่งเพื่อนสนิทที่เคยอยู่ไม่ห่างกาย ประหนึ่งรอยแผลเป็นบนแขน ที่แม้เมื่อยามรอยเหล่านั้นจางไปแล้วตามกาลเวลา แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะเอามือคลำรอยนูนนั้นในความมืด

         คนๆ นั้นขอให้ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อย่าได้กลับไป ณ จุดที่เคยเป็น อย่างที่เขาหวนนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้น และปล่อยให้ตัวเองกลับลงไปที่ก้นทะเลสาบอีกครั้ง…

         And as it keeps on going / I could avoid real time / I could ignore my busy mind / I could avoid contact with eyes / I could avoid going outside / I could avoid wasting my life / But I’d miss it / Don’t miss it / Don’t miss it like I did.

         2.
         วันต่อมา Pitchfork เว็บไซต์ดนตรีชื่อดังของอเมริกาซึ่งเขียนถึงและสัมภาษณ์ เจมส์ เบลค หลายต่อหลายครั้ง พวกเขาได้ลงบทความที่เขียนถึงซิงเกิ้ลล่าสุด และเป็นอีกครั้งที่ Pitchfork ติดฉลากให้กับเจมส์ว่า ‘sad boy’

         ‘Don’t Miss it’ เป็นอีกเพลงโหดเหี้ยมทว่าสวยงาม บรรจุเข้าไปในแคตตาล็อกดนตรี ‘ชายหนุ่มผู้โศกเศร้า’ อันหรูหราขนาดใหญ่ของเจมส์เบลคอีกครั้ง—พวกเขาว่า

         หากเป็นก่อนหน้านี้ เขาคงจะนิ่งเฉยและก้มหน้าก้มตาทำงานของเขาต่อไป ผิดแต่ในครั้งนี้เขาได้ออกมาโพสต์ข้อความยืดยาวลงทวิตเตอร์ ว่าการติดฉลาก ‘ชายหนุ่มผู้โศกเศร้า’ ให้กับเขาในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก  

         –

         ผมได้รับผลตอบรับแสนดีเกี่ยวกับซิงเกิ้ล Don’t Miss It อย่างล้นหลามในวันนี้

         แต่ก็อดไม่ได้ที่จะสังเกตว่า ไม่ว่าครั้งใดก็ตามที่ผมพูดถึงความรู้สึกของตัวเองในเพลง มักจะมีการใช้คำว่า ชายหนุ่มผู้โศกเศร้า เพื่ออธิบายถึงเพลงเหล่านั้น

         ผมมักพบว่าการใช้ถ้อยคำแบบนั้นไม่โอเค (unhealthy) และก่อให้เกิดปัญหา เมื่อคำๆ นั้นใช้บรรยายถึงผู้ชายที่แค่ออกมาพูดถึงความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่เราไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้หญิงถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเธอกำลังเผชิญ การติดฉลากให้กับผู้ชายที่เปิดเผยว่าพวกเขามีความอ่อนไหวทางอารมณ์ ก่อให้เกิดมลทินทางประวัติศาสตร์ร้ายแรงเท่าที่เคยเกิดขึ้น

         เรากำลังเผชิญโรคระบาด ผู้ชายกระทำการอัตวินิบาตกรรมและเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น เราไม่ต้องการข้อพิสูจน์ใดๆ เพิ่มเติมอีก ว่าเราได้ทำร้ายผู้ชายด้วยคำถามว่าทำไมพวกเขาถึงต้องการเป็นมนุษย์ที่เปราะบางและเปิดเผย

         มันเป็นสิ่งดีงามเพียงสิ่งเดียวที่จะได้พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในจิตใจของคุณ

         โปรดอย่าปล่อยให้คนอื่นที่หวาดกลัวความรู้สึกของตัวเอง ทำให้คุณรู้สึกอับอายในระดับจิตใต้สำนึก กับการที่คุณได้ยกอะไรสักอย่างออกจากอก หรือการเข้าถึงดนตรีที่มีส่วนช่วยเหลือคุณ ความเป็นลูกผู้ชายหรือการอวดท่าใหญ่โตไม่ได้ก่อให้เกิดชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในตอนท้าย หนทางสู่การมีสุขภาพจิตและความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมหลงใหลมาตลอด ได้ถูกแผ้วถางไว้แล้วด้วยความซื่อสัตย์

         ต้องขอโทษด้วยสำหรับจดหมาย ชายหนุ่มผู้โศกเศร้า ฉบับนี้ แต่ผมเห็นเพื่อนหลายคนตกอยู่ในความทุกข์ และแม้กระทั่งตัวผมเองก็เกือบจะจมดิ่งไปพร้อมกัน เพราะเก็บกดความรู้สึกทุกอย่างไว้ หวั่นเกรงจะถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอและอ่อนไหว ตอนนี้ผมได้เห็นพลังยิ่งใหญ่แล้ว และผลประโยชน์ต่อผู้คนรอบข้างตัวคุณ เมื่อคุณเปิดเผยความรู้สึกออกมาอย่างแท้จริง

         ด้วยเคารพ

         James X

         –

         สิ่งที่ เจมส์ เบลค ออกมาพูด สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งแรงขับเคลื่อนสนับสนุนศิลปินคนอื่น ๆ รวมทั้งบุคคลในสังคมทั่วไป ที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับปัญหาทางสุขภาพจิต ข้อมูลจาก Help UK Musician หน่วยงานที่ดูแลบุคคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีอังกฤษ เปิดเผยว่า เมื่อปลายปี 2560 หลังจากที่เปิดให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต พวกเขาพบว่ามีจำนวนคนที่ติดต่อเข้ามาที่สายด่วนนี้สูงถึงร้อยละ 22 ในขณะที่ฝั่งอเมริกา ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDCP) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันจำนวนผู้กระทำการอัตวินิบาตกรรมได้เพิ่มขึ้นในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกาอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะในรัฐดาโกต้าทางตอนเหนือ ไวโอมิง มอนตานา และมินิโซตา

         เมื่อเรามองย้อนกลับไปข่าวการกระทำอัตวินิบาตกรรมของศิลปินแถวแนวหน้าหรือบุคคลมีชื่อเสียงในสังคมจากช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันขยายตัวออกไปเหมือนลางร้ายที่ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำจากคณะ Linking Park ที่เสียชีวิตในบ้านของเขาใกล้กรุงลอส แอนเจลิสเมื่อกลางปี 2560 หรือ เอวีซี (Avicii) ดีเจชาวสวีดิช ได้พรากชีวิตตัวเองไป เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วยวัยเพียง 28 ปี ครอบครัวออกมากล่าวถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของเขาว่า “ทนต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว”

         สก็อตต์ ฮัตชิซัน (Scott Hutchison) นักร้องนำคณะ Frightened Rabbit ถูกพบว่าเป็นศพในน้ำใกล้สะพาน Firth the Forth ที่สก็อตแลนด์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2561 หลังจากที่สมาชิกในวงพยายามตามหาตัวเขาอย่างสิ้นหวัง สก็อตต์เขียนข้อความไว้ในทวิตเตอร์ก่อนหายตัวไป กระตุ้นเตือนถึงความจำเป็นในการให้กำลังใจกับคนใกล้ตัวที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้า “มันไม่ได้กำหนดมาสักหน่อยว่าต้องทำตัวดีๆ กับทุกคนที่คุณรัก น่ารำคาญชะมัด ผมไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยมาตรฐานนั้น และมันฆ่าผมทั้งเป็น ได้โปรด โอบกอดคนที่คุณรักไว้”

         สก็อตต์เป็นอีกศิลปินที่ทุ่มเทให้กับการพูดถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ เขาพูดถึงความแปลกแยกและความอ้างว้างลงไปในแต่ละเพลงอย่างเคยไม่ย่อท้อ ประโยคแรกที่เราได้ยินจากอัลบัมแรกของคณะ Frightened Rabbit นั่นคือ ‘Sing the Greys’ ในปี 2549 คือประโยคที่ว่า “Oh, What’s the blues when you’ve got the gray – โอ้ อะไรหนอคือความเศร้า ในเมื่อคุณมี (หัวใจ) สีทึมเทาอยู่แล้ว” จากนั้นเรื่องราวของสก็อตต์ก็พรั่งพรูออกมาเป็นตัวหนังสือผ่านอัลบัมของ Frightened Rabbit  ตั้งแต่ ‘Midnight Organ Fight’ (2551) ‘The Winter of Mixed Drinks’ (2553) ‘Pedestrian Verse’ (2556) ไปจนถึงอัลบัมล่าสุด ‘Painting of a Panic Attack’ (2559)

         ก่อนการเสียชีวิตสก็อตต์ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่กำลังทำในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ว่าคณะ Frightened Rabbit กำลังทำเดโมสำหรับอัลบัมใหม่ ส่วนตัวเขาเองก็เพิ่งออกอัลบัมสำหรับโปรเจ็คต์ใหม่ในนาม Mastersystem ที่ทำกับน้องชาย และเพื่อนๆ จากคณะ Editors และคณะ Minor Victories รวมทั้งคอนเสิร์ตอีกหลายแห่งที่มีรายชื่อของคณะของพวกเขาปรากฏในฐานะศิลปินแนวหน้าขึ้นเวที

         แต่แล้ว เราก็สูญเสียเขาไป…

         ไม่นานมานี้เราสูญเสียนักออกแบบชื่อดังเคด สเปด (Kade Spade) ในวัย 55 ปี ไล่เลี่ยกับแอนโทนี บัวร์เดน (Anthony Bourdain) ผู้ที่เป็นทั้งเชฟ นักเขียน และผู้ดำเนินรายการ ในวัย 61 โดยแอนดี้ สเปด (Andy Spade) สามีและหุ้นส่วนทางธุรกิจ กล่าวว่าเคดป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมาหลายปี ระหว่างนั้นเธอพบหมอและทานยาเพื่อรักษาอาการอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่บัวร์เดนเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่าเขากำลังเผชิญความท้าทายทางสุขภาพจิตครั้งใหญ่ระหว่างถ่ายทำรายการ Parts Unknown เขาจำเป็นต้องอยู่ห่างจากภรรยาคนที่สอง และคิดถึงลูกสาวเมื่อยามต้องอยู่ไกลกัน

         “เขาจะเป็นที่จดจำในใจของพวกเราตลอดไป สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้เบื้องหลังคือตำนานแห่งความหวัง ความอ่อนโยน และสีสันซึ่งจะเป็นที่จดจำและแบ่งปันระหว่างเราตลอดไป” สมาชิกในคณะ Frightened Rabbit กล่าวถึง สก็อตต์ด้วยหัวใจสลาย เช่นเดียวกันกับศิลปินคนอื่นๆ สิ่งที่พวกเขาได้เริ่มต้นไว้ จะเป็นประกายไฟให้กับเรา และคนรุ่นต่อไปในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อความเชื่อ เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง และเพื่อคนอื่นต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด


  1. ที่ผ่านมาเจมส์ เบลค ไม่ได้ปกปิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของตัวเอง เขาเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งถึงมุมมองเกี่ยวกับความเศร้า เขาเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าหลายครั้ง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสื่อสารที่ถูกต้องกับคนอื่นๆ เวลาที่เขาไม่มีความสุข และรู้จักขอโทษ เวลาที่เขารู้สึกว่าเขาได้ทำผิดต่อคนอื่น                                                                                                         

         เพลง ‘The Colour In Anything’ จากอัลบัมล่าสุดในปี 2016 เขาอธิบายว่ามันเป็นเพลงเกี่ยวกับการพยายามสื่อสารกับใครหนึ่งหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้า

         “How I told you what I’d do / If one day I woke and couldn’t find the colour in anything / You must not be looking / You must not be trying like I’m trying / I can’t always help you / But I can listen for the sounds you’re making / And how I loved your story / How I wanted to follow you and paint it.”

         ใครคนหนึ่งที่เขารู้จักป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เพื่อนคนนั้นพูด ใครคนนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพจิตใจที่จะสื่อสารกับคนอื่นอย่างเป็นปกติ ตรงไปตรงมา เพราะในขณะเดียวกันตัวของเขาเองก็มีปัญหาในการสื่อสารเช่นกัน เจมส์คิดว่าเพลง The Sound of Silence ของคณะ the Simon & Garfunkel พูดถึงสิ่งเดียวกันนั่นคือการขาดการสื่อสารระหว่างผู้ชายด้วยกัน มันเป็นตัวบ่อนทำลายที่ฝังลึกอยู่ข้างใน นำไปสู่การสื่อสารที่ล้มเหลว

         และก็เป็น เจมส์ เบลค ที่ยืนกรานว่าอาการซึมเศร้าและความเศร้าไม่ได้ปัจจัยช่วยเขาสร้างผลงานขึ้นมาได้ สภาพจิตใจที่มั่นคงต่างหากที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำดนตรี เขาเคยหยิบยกคำพูดของเดวิด ลินช์ (David Lynch) ผู้กำกับชาวอเมริกันที่เคยกล่าวไว้ในหนังสือ Catching the Big Fish: Meditation, Consciousness, and Creativity ว่าความซึมเศร้าไม่ได้ช่วยให้ศิลปินทำงานสักชิ้นขึ้นมา “ความโกรธ ความโทมนัส และความเศร้าเป็นสิ่งสวยงามสำหรับงานศิลปะ  แต่กลับเป็นยาพิษสำหรับผู้กำกับและศิลปิน เป็นตัวถ่วงในการสร้างสรรค์ผลงาน ยามใดที่ความเศร้าฉุดรั้งคุณไว้ คุณจะลุกออกมาจากเตียงไม่ได้ คุณจะไม่รู้สึกถึงพลังงานสร้างสรรค์ และความคิดไหลเวียนในตัว คุณจะต้องมีหัวที่ปลอดโปร่ง คุณจะต้องมีแรงพอที่จะจับฉวยความคิดนั้นไว้ได้”

      5.
         มันอาจจะเป็นการต่อสู้ประหนึ่งสงครามกลางเมืองที่ไม่รู้จบ ฝั่งหนึ่งเป็นผู้ชนะตลอดกาล อย่างอุดมคติและสังคมชายเป็นใหญ่ที่หล่อหลอมสอนให้ผู้ชายต้อง ‘เข้มแข็ง’ ‘พึ่งพาได้’ หรือ ‘เป็นช้างเท้าหน้า’ บวกผสมกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน การถูกบีบบังคับภายใต้สภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปัญหาสุขภาพจิตผู้คน ในขณะที่อีกฝั่งเป็นผู้ท้าชิง โดยมีศิลปินอย่างเจมส์ เบลค หรือสก็อตต์ ฮัทชิซัน ที่ออกมาพูดถึงความรู้สึกของผู้ชายอย่างตรงไปตรงมาด้วยความกล้าหาญ พวกเขาพูดจากประสบการณ์ตัวเองว่าการเปิดเผยถึงความรู้สึกของตัวเองไม่ได้หมายความว่าพวกเขากำลังอ่อนแอ แต่การพูดถึงความรู้สึกของตัวเองผ่านดนตรีเป็นขั้นตอนที่ใช้ความพยายาม มุมานะ และฝ่าฝันอุปสรรคอย่างยิ่งยวด  พวกเขาตั้งใจจะให้ดนตรีเป็นดั่งสถานที่ที่ปราศจากสายตาแห่งอคติและการตัดสิน สำหรับทุกคนที่กำลังประสบเรื่องยุ่งเหยิงภายในจิตใจ สถานที่ที่สามารถสื่อสารระหว่างกันเพื่อแบ่งปันเรื่องราวที่เจ็บปวด คับแค้น อ้างว้าง และเศร้าสร้อย

         ณ จุดๆ หนึ่งที่เราพบว่าเราสามารถเชื่อมโยงถึงกัน  
         ณ จุดนั้นย่อมเกิดความหวังว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญ จะผ่านพ้นไปในที่สุด  

         เราต่างไม่รู้ว่าสงครามครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร แต่อย่างน้อย สำหรับฝ่ายหลังอย่างเจมส์ เบลค การติดฉลากหรือกำหนดคำบางคำอย่าง ‘ชายหนุ่มผู้โศกเศร้า’ ให้กับผู้ชายบางคนที่ออกมาพูดเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเอง  ไม่ได้ทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นเท่าไหร่เลย.

 

ที่มา :

  1. James Blake “Don’t Miss It” https://pitchfork.com/reviews/tracks/james-blake-dont-miss-it/
  2. James Blake’s twitter on 26 May 2018 https://twitter.com/jamesblake/status/1000228403998425088
  3. James Blake Not Writing Hits On Demand https://groove.de/2016/06/23/james-blake-the-colour-in-anything-exclusive-interview/
  4. James Blake on growing up and just doing what makes you happy https://www.timeout.com/newyork/music/james-blake-on-growing-up-and-just-doing-what-makes-you-happy
  5. James Blake and the Pursuit of Happiness https://pitchfork.com/features/interview/9889-james-blake-and-the-pursuit-of-happiness/
  6. “The Brutal, Graceful Optimism of Frightened Rabbit’s Scott Hutchison” https://noisey.vice.com/en_us/article/kzkqja/scott-hutchison-frightened-rabbit-in-memoriam
  7. “Why suicide is more than a mental health issue” www.cbc.ca/news/health/suicide-rates-cdc-1.4698005
  8. “Anthony Bourdain’s death is one in a growing public health tragedy” https://www.vox.com/science-and-health/2018/6/8/17441330/anthony-bourdain-suicide-rates-us-cdc

Fact Box

หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านปัญหาสุขภาพจิต  หน่วยงานไทยเหล่านี้สามารถให้ความช่วยเหลือแก่คุณได้:

สายด่วน

  1. สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต โทร. 1323 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
  2. สายด่วนสุขภาพจิต โรงพยาบาลราชวิถี โทร. 0-2354-8152
  3. สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย โทร. 0-2713-6793 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00 - 22.00 น.

ให้คำปรึกษาทาง Social Media  

  1. Facebook  สายด่วนสุขภาพจิต 1323 กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่เวลา 06.30 - 22.30 น. ทุกวัน
  2. Facebook  The Samaritans of Thailand สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 12.00 - 22.00 น. ทุกวัน

โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์

  1. รายชื่อโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีจิตแพทย์ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  2. รายชื่อโรงพยาบาลเอกชนที่มีจิตแพทย์ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  3. รายชื่อโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ทั่วไปในต่างจังหวัด (ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน
  4. รายชื่อคลินิกจิตเวช ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  5. รายชื่อคลินิกจิตเวชในต่างจังหวัด
Tags: , , ,