คนสั่งซื้อทุเรียน 80,000 ลูกภายใน 1 นาทีผ่าน ‘อาลีบาบา’ กลายเป็นชนวนให้คนเถียงกันเรื่องการค้าออนไลน์และสินค้าเกษตรอย่างไม่เคยมีมาก่อน เกษตรกรผู้ส่งออกดีใจที่ขายของได้ราคาดี ส่วน ‘ล้ง’ หรือผู้ซื้อทุเรียนเหมาสวนบอกว่า ตัวเลขนี้ผิดปกติ จนหลังจากนั้นก็ไม่มีการสั่งแบบนี้อีก ขณะที่รองนายกฯ ท่านหนึ่งโวยว่า สื่ออย่าไปฟังพวกพ่อค้าคนกลางที่สร้างข่าวเพื่อกระเป๋าเงินตัวเอง
มองในภาพกว้างขึ้นไป ท่าทีที่แตกต่างต่อเรื่องทุเรียนเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาที่คนแต่ละกลุ่มมีต่อข่าวอาลีบาบา ซึ่งมองต่างกันหลายแง่มุม สถาบันการเงินภาคเอกชนชื่นชมเรื่องนี้แน่ๆ สายโลจิสติกส์หวั่นว่าผู้นำเข้าสินค้าถึงกาลหายนะ ผู้ประกอบการโวยว่า งานนี้อีคอมเมิร์ซไทยเละ ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยคุยว่า หม่าช่วยให้คนไทยหายจน
อย่างไรก็ดี โจทย์เรื่องอาลีบาบามาไทยมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่าธุรกิจไหนรอดหรือร่วง เช่นเดียวกับเรื่องประเทศจีนจะผูกขาดสินค้าไทยอย่างที่พูดๆ กัน
ไม่มีปัญหาว่า การที่ แจ็ก หม่า หอบเงินมาลงทุนนั้นส่งผลดีด้านการลงทุนจริงๆ เพราะเม็ดเงินในการตั้ง ‘ศูนย์กระจายสินค้า’ ของอาลีบาบา เทียบเท่ากับ 3.5 เปอร์เซ็นต์ของเม็ดเงินลงทุนที่ต่างประเทศลงทุนโดยตรงทั้งหมดในปีที่แล้ว มิหนำซ้ำ ยังมากกว่าเงินลงทุนโดยตรงทั้งหมดจากจีนตลอดปีเดียวกัน
เงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่เงินในกระเป๋าไม่เพิ่มด้วย
ในปี 2560 ต่างประเทศขนเงินมาลงทุนโดยตรงในไทยรวมทั้งสิ้น 308,220 ล้านบาท ขณะที่หม่าประกาศใช้เงินทำศูนย์ดังกล่าว 11,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินมูลค่าสูงกว่าการลงทุนจากจีนตลอดปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 8,360.59 ล้านบาท รวมทั้งมากกว่าการลงทุนโดยตรงจากอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 6,953 ล้านบาทในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การลงทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้แปลว่าประชากรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะในปี 2560 ที่ยอดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงขึ้นราว 300 เปอร์เซ็นต์จากยอดของปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 111,699 ล้านบาท แต่การบริโภคภายในของปี 2560 กลับขยับขึ้นเล็กน้อย จาก 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559 เป็น 3.2 เปอร์เซ็นต์ในปีถัดมา
การลงทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้แปลว่าประชากรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การบริโภคภายในที่เติบโตต่ำกว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหลายร้อยเท่าแบบนี้ สะท้อนว่าคนไทยได้อะไรจากการลงทุนน้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้น รายได้เฉลี่ยครัวเรือนซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 0.21 เปอร์เซ็นต์จากเดือนละ 26,915 ในปี 2558 เป็น 26,973 ในปี 2560 ก็สะท้อนว่า เงินลงทุนไม่ได้เพิ่มพูนเม็ดเงินในกระเป๋าประชาชน
ถ้าลำพังต่างชาติหอบเงินเข้ามาจะทำให้คนไทยรวยขึ้น เม็ดเงินลงทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้นมหาศาลก็ควรทำให้การบริโภคภายในและรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของคนไทยโตขึ้นกว่านี้ แต่เพราะเม็ดเงินที่ไหลเข้านั้นกระจุกมากกว่ากระจายสู่ประชากรส่วนใหญ่ การขยายตัวของการลงทุนจึงไม่ใช่ผลประโยชน์ประชาชนโดยปริยาย
อภิมหาเศรษฐีหม่าอาจรักอาหารไทยและคนไทย แต่ภายใต้โครงสร้างการลงทุนจากต่างประเทศแบบนี้ หม่าจะกินผัดไทพร้อมใช้ต้มยำกุ้งอาบน้ำกี่ร้อยหม้อก็ไม่มีทางส่งผลให้คนไทยจนๆ มีชีวิตสุขสบายขึ้นอย่างที่พูดๆ กัน
จริงแค่ไหน ทุนหม่าจะเพิ่มการจ้างงาน ยกระดับรายได้?
กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว หากไม่มีกลไกเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ รวมทั้งเพิ่มค่าแรงของประชากรในชาติ เงินทุนไหลเข้า 11,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็อาจเป็นแค่รายจ่ายสำหรับสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต หรือไอทีสำหรับธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้าตามที่ตัวหม่าเองก็ประกาศออกมาตรงๆ
แม้กลไกตลาดจะเป็นตัวกำหนดรายได้และค่าแรงของคนที่อาลีบาบาว่าจ้าง แต่การที่รัฐบาลแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่เขต 300 บาท ส่วนเงินเดือนคนจบปริญญาตรีคือ 15,000 บาทตามอัตราที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งไว้ในปี 2554 ก็ส่งผลให้ฐานค่าจ้างและเงินเดือนทั้งระบบขยับน้อยจนการจ้างงานแทบไม่ช่วยเพิ่มรายได้ที่แท้จริง
หากอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชนไทยที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรมระหว่างปี 2557-2560 ขยับจากเดือนละ 12,481 เป็น 12,883 บาท ซึ่งเท่ากับสี่ปีเพิ่มขึ้นเพียง 402 บาท คิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นแค่ปีละ 0.8 เปอร์เซ็นต์หรือรวมทั้งสิ้นแล้วปรับตัวสูงขึ้นเพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาสี่ปี
ถ้าใช้ข้อมูลของภาคเอกชน อย่างสมาคมการจัดหางานบุคคลเป็นตัวตั้ง บัณฑิตปริญญาตรีสาขาที่เงินเดือนสูงสุดอย่างวิศวกรรมนั้น ได้เงินเพิ่มจากเดือนละ 17,000 เป็น 18,000 บาท ส่วนสาขารองลงมาอย่างคอมพิวเตอร์ขยับจากเดือนละ 15,000 เป็น 16,500 บาท ในปี 2557-2559 หรือสามปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวหนึ่งพันบาทเท่านั้นเอง
ตราบใดที่รัฐบาลดำเนินนโยบายกดค่าจ้างและเงินเดือนเพื่อชี้นำตลาดการจ้างแรงงานแบบนี้ จะอีกกี่ร้อยกี่พันหม่าก็ไม่มีทางที่คนเดินดินจะได้อานิสงส์จากเงินอาลีบาบาอย่างที่พลเอกประยุทธ์คุย
นอกจากการสดุดีทุนเจ้าสัวหม่าเรื่องยกระดับรายได้ ซึ่งไร้หลักฐานว่าจะเป็นจริง รัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้และรัฐบาลก่อนชี้ว่า ทุนอาลีบาบามีดีอีกข้อ ตรงที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น และแม้แต่นายกฯ ที่จริงๆ คือนายพลเกษียณอายุ ก็คงคิดแบบนี้เวลาที่ท่านบอกว่า หม่ามาช่วยคนที่มีรายได้น้อยด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอยู่ว่า เจ้าสัวอาลีบาบาไม่เคยพูดเรื่องการลงทุนกับปริมาณการจ้างแรงงานในไทย บันทึกความเข้าใจระหว่างอาลีบาบากับรัฐบาลไทยเท่าที่เปิดเผยทั้งสี่ฉบับ ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้ และแม้แต่คำชี้แจงของหน่วยราชการต่อปัญหาที่ประชาชนกังวลใน MOU ก็ไม่พูดเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
คนไทยมีสิทธิเต็มที่ที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมคนที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลถึงคิดเรื่องนี้ได้น้อยอย่างที่เห็นกัน
ในโลกที่ทุกอย่างเดินหน้าสู่ Automation แบบปัจจุบัน การที่อภิมหาทุนจีนข้ามชาติของเจ้าสัวระดับโลกจะไม่พูดอะไรเรื่องการจ้างงานนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่รัฐบาลของประเทศไทยจะเอาใจเจ้าสัวจนไม่พูดอะไรเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะหน้าที่ของรัฐคือการทำให้เงินที่เจ้าสัวหอบมา แปรสภาพเป็นการมีงานทำของคนไทย
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอยู่ว่า เจ้าสัวอาลีบาบาไม่เคยพูดเรื่องการลงทุนกับปริมาณการจ้างแรงงานในไทย
ผู้สนับสนุนรัฐบาลอาจโต้แย้งว่า รัฐไม่มีหน้าที่ทำให้เจ้าพ่ออาลีบาบาพูดเรื่องการจ้างงาน แต่อย่าลืมว่า หม่าเป็นคนประเภทที่พูดเรื่องการเพิ่มการจ้างงานในประเทศที่ไปลงทุนในบางกรณีมาแล้ว การหอบเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยรัฐบาลไทยและหม่าไม่เอ่ยเรื่องการจ้างงานจึงไม่ใช่เรื่องที่คนไทยควรพึงพอใจ
เช่น ในการเดินทางไปพบประธานาธิบดีทรัมป์ที่นิวยอร์กในวันที่ 9 มกราคม 2560 หม่าระบุว่า การค้าขายผ่านอาลีบาบาจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กในอเมริกาขายของให้ลูกค้าจีนและอุษาคเนย์ได้มหาศาล จากนั้นเศรษฐกิจอเมริกาจะโตขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นหนึ่งล้านตำแหน่ง โดยไม่มีใครต้องเป็นลูกจ้างทุนจีนอย่างอาลีบาบา
ในการแถลงเรื่องศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับหม่าในวันที่ 24 มีนาคม 2560 ทางการมาเลเซียระบุว่า การลงทุนของหม่าจะสร้างงานเพิ่มขึ้น 60,000 ตำแหน่งในปี 2568 ขณะที่หม่าเองก็แถลงต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นปี 2559 ว่า อาลีบาบาจะสร้างงานทั่วโลก 100 ล้านตำแหน่งในเวลา 20 ปี
ถ้าอภิมหาเศรษฐีหม่าไม่ใช่พ่อค้าที่ปั้นเรื่องการจ้างงานไว้ยั่วยวนผู้นำรัฐบาลในประเทศที่อาลีบาบาเข้าไปลงทุนด้วย สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือ ทำอย่างไรให้การจ้างงานซึ่งเจ้าพ่ออาลีบาบาคุยโวว่าจะเกิดขึ้นในอีกนับแสนนับล้านตำแหน่ง เกลี่ยมาเป็นการเพิ่มจำนวนคนมีงานทำในประเทศไทย
‘Smart Digital Hub’ รัฐบาลไทยกับแจ็ก หม่า มองภาพตรงกันไหม?
ประเด็นเรื่องการจ้างงานเชื่อมโยงกับปัญหายุทธศาสตร์ของรัฐบาลด้านการลงทุน หรือแม้แต่ประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัลกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างไทยกับอาลีบาบา งานใหญ่ที่รัฐบาลพูดถึงมากที่สุดคือการสร้างศูนย์สมาร์ตดิจิทัลในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาลีบาบาลงทุนตรงกับความต้องการของรัฐบาลไทยเรื่องนี้ และการที่หม่าหอบเงินหลักหมื่นล้านเข้ามา ก็ช่วยให้อภิมหาโครงการนี้ดูดีขึ้นเยอะจริงๆ
ภาพหม่าเดินเข้าทำเนียบพร้อมหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแล้วถูกนายกรัฐมนตรีของไทยโอบกอดอย่างสนิทสนมนั้นเป็นเรื่องดีต่อ คสช.ที่รัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ขณะที่ฝ่ายไทยระบุว่า โครงการนี้คือ Smart Digital Hub เจ้าพ่ออาลีบาบากลับพูดชัดว่า งานหลักของศูนย์คือทำเรื่องโลจิสติกส์ระหว่างไทย จีน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
จริงอยู่ว่าโลจิสติกส์สำคัญต่อการค้าออนไลน์ แต่ก็ไม่มีทางที่การตั้งศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้าจะมีความหมายเท่ากับ Smart Digital Hub ที่รัฐบาลกำลังโฆษณา
แน่นอนว่ามีบันทึกความเข้าใจฉบับอื่นที่พูดถึงความร่วมมือระหว่างอาลีบาบากับสามหน่วยงานรัฐของไทยเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน SMEs ทักษะการค้าออนไลน์ รวมทั้งการใช้ Big Data เพื่อการท่องเที่ยว แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปลีกย่อยที่ทำเล็กจนห่างไกลจาก Smart Digital Hub ตามความหมายที่แท้จริง
เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เมื่อทิศทางการจ้างงานกำลังหด
ไม่เพียงเนื้อในของการลงทุนโดยอาลีบาบาจะเป็นเรื่องโลจิสติกส์มากกว่า Smart Digital Hub ที่รัฐประชาสัมพันธ์ แต่อุตสาหกรรมนี้ยังเผชิญ ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก’ หรือ Disruptive Technologies จนเข้าข่ายมีแนวโน้มจะใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์มากที่สุด หรืออีกนัยคือเป็นอุตสาหกรรมที่ทิศทางการจ้างงานหดตัวยิ่งกว่าขยายตัว
ในรายงานของ Mckinsey Global Institute ซึ่งออกมาต้นปี 2560 หุ่นยนต์หรือ AI อาจแย่งงานคนในทุกอุตสาหกรรมทั้งโลกรวมกันถึง 800 ล้านคนในปี 2030 และในส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์นั้น รายงานของที่ปรึกษาการลงทุนแห่งหนึ่งระบุว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานจากแรงงานกลุ่มไร้ฝีมือในยุโรปไปราว 40 เปอร์เซ็นต์
เพื่อให้เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้ยิ่งขึ้น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดชิ้นหนึ่งระบุไว้ตั้งแต่ปี 2013 ว่า โลจิสติกส์คือหนึ่งในสามของกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงเรื่องถูกหุ่นยนต์แย่งงานสูงสุด การจัดตั้งศูนย์ขนส่งสินค้าของอาลีบาบาในไทยจึงไม่มีทางทำให้คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับผู้ที่อาจแย้งว่า อาลีบาบาอาจใช้ไทยเป็นศูนย์โลจิสติกส์โดยจ้างงานคนไทยมากกว่าจะใช้เครื่องจักร แต่อาลีบาบาเพิ่งประกาศใช้เงิน 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ ห้าแสนล้านบาทเพื่อเป็นงบพัฒนาหุ่นยนต์ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งระดับโลกในระยะเวลาห้าปี
ศูนย์โลจิสติกส์ไม่นำพาการจ้างงาน
ในคำแถลงของอาลีบาบาช่วงปลายปี 2560 งบก้อนนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบที่จะส่งสินค้าถึงลูกค้าในจีนใน 24 ชั่วโมง และในโลกภายใน 72 ชั่วโมง เงินจึงเป็นหลักฐานของการใช้จักรกลและปัญญาประดิษฐ์ผสมอัลกอริธึมเพื่อเก็บและส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพในหมู่ผู้ส่งในเครือข่ายอาลีบาบาทั้งโลกสองล้านราย
ไม่มีทางที่อาลีบาบาจะตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทยโดยไม่เชื่อมโยงกับศูนย์ลักษณะเดียวกันทั่วโลก ทิศทางของศูนย์โลจิสติกส์ ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจึงไม่เพียงไม่ใช่ศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่รัฐบาลคุย หากยังเป็นศูนย์ที่ไม่มีทางจะนำไปสู่การขยายตัวของการจ้างงานและยกระดับค่าจ้างแรงงาน
เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การหลอกลวงว่า การลงทุนของเอกชนนำไปสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศและรายได้ที่ดีของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงทั้งของประเทศนี้ รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็คือ สามเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เว้นเสียแต่จะมีกลไกทำให้ทุนสร้างงานจนเงินกระจายสู่ประเทศและประชาชน
ในการดำเนินการเพื่อดึงเงินของอภิมหาเจ้าส้วโลก รัฐบาลไม่ดำเนินการอะไรเพื่อเชื่อมโยงเงินกับงานและรายได้ในกระเป๋าประชาชน ดีลทั้งหมดทำให้หม่าได้ประโยชน์ด้านการลงทุนเช่นเดียวกับรัฐบาลได้โฆษณาชวนเชื่อตัวเองและโครงการของรัฐ ส่วนเรื่องเดียวที่ประชาชนได้คือความกังวลว่า ผลไม้แพงขึ้น กับความขบขันที่เห็นคุณประยุทธ์กอดคนหน้าเหมือนอดีตนายกฯ ที่ตัวเองแสนชิงชังอยู่ข้างเดียว
Tags: Alibaba, เศรษฐกิจไทย, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อาลีบาบา, แจ็ก หม่า