อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) ผู้กำกับภาพยนตร์อะนิเมชั่น “สุสานหิ่งห้อย” (Grave of the Fireflies)  ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (Ghibli Studio) เสียชีวิตแล้วเมื่อ 6 เมษายน 2018 ขณะอายุ 82 ปี หลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยจากโรคหัวใจ

ทาคาฮาตะเริ่มอาชีพในวงการอะนิเมชั่นเมื่อปี 1959 กับสตูดิโอโทอิ (Toei) ที่ทำให้ได้พบกับ ฮายาโอ มิยาซากิ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิเมื่อปี 1985 สื่อมักจะกล่าวถึงทาคาฮาตะและมิยาซากิว่าเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งในเวลาเดียวกัน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี เขาสร้างหนังประมาณ 20 เรื่อง รวมทั้งเรื่อง Only Yesterday (1991) และ Pom Poko (1994) ผลงานล่าสุดของทาคาฮาตะคือ “The Tale of the Princess Kaguya” ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์เมื่อปี 2014 ด้วย

เขายังเป็นโปรดิวเซอร์ในภาพยนตร์ที่มิยาซากิกำกับเมื่อปี 1984 The Valley of the Wind ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซีที่บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์

นอกจากนี้ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขายังรวมถึงซีรีส์อะนิเมชั่นเรื่อง Heidi, Girl of the Alps และ Lupin the Third

ประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้เขาร่วมลงชื่อร่วมกับผู้มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์เพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคงของรัฐเมื่อปี 2013

ทาคาฮาตะเกิดในเมืองอูจิยามาดะ (อิเสะ ในปัจจุบัน) เมื่อปี 1935 เป็นลูกชายคนสุดท้องของพี่น้อง 7 คน

ตอนที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในบ้านเกิด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1945 เขาอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น เขาเดินทางกลับบ้านในช่วงที่มีการโจมตีทางอากาศ วิ่งด้วยเท้าเปล่าในชุดนอนกับพี่สาวคนหนึ่ง เขาเคยบอกว่า โชคดีมากที่มีชีวิตรอดมาได้

ทาคาฮาตะยังจำภาพศพที่เรียงรายอยู่ตามท้องถนนระหว่างทางกลับบ้าน เพื่อไปพบกับสมาชิกที่เหลือของครอบครัวรอดจากระเบิด เพราะอยู่ในหลุมหลบภัยในสวนที่บ้าน

ประสบการณ์ในช่วงการโจมตีทางอากาศในเมืองโอกายามะของทาคาฮาตะปรากฏอยู่ในภาพยนตร์อะนิเมชั่นเรื่อง สุสานหิ่งห้อย มีฉากที่ระเบิดทำลายเมืองที่เด็กชายวัย 14 ปีและน้องสาวอายุ 4  ขวบอาศัยอยู่ โดยเฉพาะเสียงระเบิด

“รายการทีวีและภาพยนตร์หลายเรื่องนำเสนอเสียงระเบิดที่ไม่ตรง มันไม่มีประกายไฟหรือการระเบิด ผมอยู่ในสถานการณ์นั้น และมีประสบการณ์ ดังนั้นผมรู้ว่าเสียงมันเป็นยังไง”

ทาคาฮาตะบอกว่า สุสานหิ่งห้อยซึ่งฉายภาพให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มักถูกจัดเป็นภาพยนตร์ต่อต้านสงคราม ซึ่งหมายความว่าภาพยนตร์ต้องป้องกันและหยุดสงครามได้ แต่มันก็ไม่สามารถเติมเต็มหน้าที่นั้นได้จริง

“ไม่ว่าจะพูดถึงช่วงเวลาอันเลวร้ายบ่อยแค่ไหนก็หยุดสงครามไม่ได้ ทำไมน่ะหรือ เพราะรัฐบอกว่าเราต้องสู้เพื่อจะไม่อยู่ในภาวะแบบนั้น เป็นสงครามป้องกันตัวเอง เขาจะฉุดความรู้สึกให้เกิดความคิดฉับพลันว่า เราไม่ต้องการให้โศกนาฏกรรมซ้ำรอย” อิซาโอะ ทาคาฮาตะ กล่าว

 

ที่มา:

ภาพถ่ายโดย Mario Anzuoni/Reuters เมื่อปี 2015

Tags: , , ,