เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทหารอเมริกันรื้อทำลายรูปปั้นของอดีตผู้นำอิรักในกรุงแบกแดด และวันนี้ เราได้รับรู้ความจริงว่า สงครามอิรักในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายตามมาอีกมากมายในตะวันออกกลาง และทั้งหมดเกิดขึ้นจากความเท็จ

สงครามกินเวลาร่วมสามสัปดาห์ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาเริ่มรุกรานเข้าไปในกรุงแบกแดดของอิรัก กระทั่งถึงภาพการรื้อทำลายรูปปั้นซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ที่แพร่กระจายให้คนนับล้านทั่วโลกได้เห็น ภาพของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2003 ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 15 ปีแล้วก็ตาม ทว่าก็ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่มีคนเฝ้ารอคำตอบ

อย่างเช่น มีคนเสียชีวิตในสงครามอิรักจำนวนเท่าไร และสงครามสร้างความเสียหาย ความวุ่นวายให้กับพลเมืองชาวอิรักแค่ไหน มีการคาดเดาจำนวนผู้เสียชีวิตที่ตัวเลขระหว่าง 150,000 ถึง 500,000 คน บางหน่วยงานที่ทำการสำรวจอย่างจริงจังอ้างถึงตัวเลขที่สูงกว่านั้น อย่างเช่น วารสารทางการแพทย์ Lancet ระบุในปี 2006 ว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามสูงกว่า 650,000 คน ซึ่งนับรวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบ การใช้ความรุนแรง การลอบวางระเบิด อันเป็นผลกระทบตามมาจากสงคราม

แต่สิ่งที่ผู้คนรับรู้ได้อย่างแน่ชัดก็คือ เหตุผลของการก่อสงครามครั้งนั้นมาจากเรื่องโกหก ซึ่งเป็นอีกภาพในความทรงจำของผู้คนอีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับสงครามอิรัก นั่นคือ ครั้งที่คอลิน พอเวลล์ (Colin Powell) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ปราศรัยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2003 หรือหกสัปดาห์ก่อนสงครามจะปะทุขึ้น โดยใช้เวลา 76 นาทีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกาศความเห็นชอบให้มีการทำสงคราม ด้วยเหตุผลว่า ซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธชีวภาพและเคมีไว้ในครอบครองจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลของเขายังให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายสากลและแอบซุ่มประดิษฐ์อาวุธนิวเคลียร์

มีการนำเสนอภาพประกอบคำกล่าวอ้าง เป็นภาพจากฝ่ายตรวจสอบอาวุธแสดงถึงการดัดแปลงขบวนรถบรรทุกของอิรักที่แล่นเข้า-ออกห้องทดลองอาวุธเคมีและชีวภาพ คำปราศรัยของพอเวลล์กลายเป็นที่จดจำ นั่นเพราะสิ่งที่เขากล่าวทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริง แม้แต่ตัวเขาเองยังเคยสารภาพในปี 2005 ว่า การปราศรัยครั้งนั้นคือมลทินในประวัติการทำงานของตน

คำปราศรัยของพอเวลล์กลายเป็นที่จดจำ นั่นเพราะสิ่งที่เขากล่าวทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริง แม้แต่ตัวเขาเองยังเคยสารภาพ

เรย์ แม็คโกเวิร์น (Ray McGovern) เป็นทหารผ่านศึกในกิจการข่าวกรอง เคยทำงานให้กับซีไอเอมานานถึง 27 ปี รวมถึงในตำแหน่งที่โดดเด่น ปี 2003 เขากับเพื่อนร่วมงานหน่วยสืบราชการลับอื่นๆ ชักชวนกันก่อตั้ง VIPS (Veteran Intelligence Professionals for Sanity) ซึ่งเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐฯ ปัจจุบันวัย 78 ปี แม็คโกเวิร์นให้ความเห็นเกี่ยวกับการข่าวว่า ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองไม่ใช่แค่เพียงผิดพลาด แต่ยังมีการปลอมแปลงอีกด้วย และข้อมูลความลับที่นำเสนอถึงคอลิน พอเวลล์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากเยอรมนี

ปี 1999 นักเคมีชื่อ ราเฟด อาห์เหม็ด อัลวาน (Rafed Ahmed Alwan) เดินทางเข้าเยอรมนีในฐานะผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของเยอรมนีเฝ้าจับตาและสอบสวนเขา เพื่อล้วงเอาข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธร้ายแรงเพื่อการสังหารหมู่ของซัดดัม ฮุสเซน อัลวานถูกควบคุมตัวภายใต้ชื่อ ‘เคิร์ฟบอลล์’ (Curveball) ยิ่งเขายอมเปิดเผยข้อมูลมากเท่าไร ก็เท่ากับช่วยพยุงสถานภาพของเขา – นอกจากเขาจะได้รับหนังสือเดินทางเยอรมันแล้ว เขายังได้รับเงินและอพาร์ตเมนต์เป็นของตนเองด้วย

การสืบข้อมูลดำเนินอยู่นาน จนกระทั่งหน่วยข่าวกรองของเยอรมนีเริ่มได้กลิ่นข้อมูลเท็จ และแจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวต่อไปยังหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ แต่แล้วเหตุการณ์ร้ายวันที่ 9 กันยายน 2001 ทำให้ทุกคนพุ่งความสนใจมาที่ ‘เคิร์ฟบอลล์’ อีกครั้ง

หนังสือพิมพ์ Die Welt ของเยอรมนีรายงานข่าวในเดือนสิงหาคม 2011 สิบปีถัดมา อ้างถึง เอากุสต์ ฮันนิง (August Hanning) อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของเยอรมนี ซึ่งเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า อเมริกาเรียกร้องให้มีการลงนามรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรว่าข้อมูลที่ได้จาก ‘เคิร์ฟบอลล์’ ถูกต้อง ฮันนิงปฏิเสธ และรายงานถึงจอร์จ เทอเน็ต (George Tenet) หัวหน้าซีไอเอว่า “จวบจนขณะนี้ยังไม่มีบุคคลที่สามให้ข้อมูลที่คล้ายกันกับแหล่งข่าวของเรา ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการสอบสวนเหล่านี้จึงไม่ถือว่าได้รับการรับรอง”

แม้จะมีคำเตือนที่ชัดเจนเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลจาก ‘เคิร์ฟบอลล์’ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็กลายเป็นหัวใจสำคัญที่พอเวลล์ใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ทำสงคราม เรย์ แม็คโกเวิร์นมั่นใจว่า พวกเขาไม่สนใจว่า ‘เคิร์ฟบอลล์’ จะรู้ในสิ่งที่พูดหรือไม่ แต่พวกเขามีอะไรบางอย่างที่สามารถนำออกแสดงต่อสาธารณชนได้ บางอย่างที่สามารถใช้มืออาชีพหัวสร้างสรรค์ในแผนกกราฟิกของซีไอเอจำลองภาพห้องทดลองอาวุธเคมีเคลื่อนที่ซึ่งไม่มีอยู่จริง ให้พอเวลล์ใช้เป็นเอกสารประกอบในการนำเสนอได้

พวกเขาไม่สนใจว่า ‘เคิร์ฟบอลล์’ จะรู้ในสิ่งที่พูดหรือไม่ แต่พวกเขามีอะไรบางอย่างที่สามารถนำออกแสดงต่อสาธารณชนได้

ไทเลอร์ ดรัมเฮลเลอร์ (Tyler Drumheller) อดีตหัวหน้าซีไอเอประจำภูมิภาคยุโรป เคยให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ เขายืนยันว่าเคยได้รับคำเตือนจากหน่วยข่าวกรองของเยอรมนีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนปี 2003 ว่าข้อมูลจาก ‘เคิร์ฟบอลล์’ เชื่อถือไม่ได้ และส่งคำเตือนนี้ไปยังหัวหน้าซีไอเอ-จอร์จ เทอเน็ตหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งในคืนก่อนหน้าที่พอเวลล์จะกล่าวปราศรัยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ทว่าคำเตือนของเขาถูกเพิกเฉย

ฝ่ายบริหารของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีคนที่ 43 ของสหรัฐอเมริกา ต้องการทำสงคราม แผนการบุกรุกของสหรัฐฯ ถูกวางและกำหนดไว้นานก่อนวันที่ 11 กันยายน 2001 ด้วยซ้ำ เรื่องนี้ ฮาเวียร์ โซลานา (Javier Solana) อดีตหัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป และอดีตเลขาธิการนาโต้ ได้ให้ความเห็น และกล่าวกับสื่อว่า จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยหยิบยกอิรักเป็นหนึ่งในสองประเด็นสำคัญในนโยบายความมั่นคง หลังจากที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2000

ในช่วงต้นๆ ประเทศพันธมิตรอย่างอังกฤษก็ได้รับการชักชวนเข้าร่วม ในเดือนพฤษภาคม 2005 หนังสือพิมพ์ Sunday Times of London รายงานข่าวเกี่ยวกับเนื้อหาของบันทึกลับสุดยอด เป็นรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2002 หัวข้ออิรักของโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ร่วมกับคนอื่นๆ เช่น แจ็ค สตรอว์ (Jack Straw) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เจฟฟ์ ฮูน (Geoff Hoon) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ลอร์ด โกลด์สมิธ (Lord Goldsmith) และเซอร์ ริชาร์ด เดียร์เลิฟ (Sir Richard Dearlove) หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับฝ่ายต่างประเทศ MI6 ในบันทึกลับนั้นมีเครื่องหมาย ‘C’ กำกับไว้

เดียร์เลิฟรายงานเรื่องการพบปะกับหัวหน้าซีไอเอ-จอร์จ เทอเน็ต ที่กรุงวอชิงตันเมื่อไม่นานก่อนหน้านั้นว่า การแทรกแซงทางทหารยามนี้ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บุชต้องการกำจัดซัดดัมด้วยการโจมตีทางการทหาร ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการทำลายล้างการก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง  

สตรอว์-รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงข้อเท็จจริงเสริมว่า หลักฐานอ่อนเกินไป ซัดดัมไม่ได้ข่มขู่เพื่อนบ้าน และอาวุธทำลายล้างก็ดูเหมือนจะน้อยกว่าลิเบีย เกาหลีเหนือ หรืออิหร่าน

ส่วนโกลด์สมิธ-อัยการสูงสุด กล่าวว่า ความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไม่ใช่พื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการปฏิบัติการทางทหาร

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ทำให้โทนี แบลร์ เปลี่ยนใจจากการคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดี ในการเข้าสู่สงครามร่วมกับสหรัฐอเมริกา

 

อ้างอิง:

Fact Box

ปฏิกิริยาของชาวอเมริกันต่อการรุกรานอิรักปี 2003

  • ในปี 2003 ชาวอเมริกันจำนวน 71 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง จำนวน 22 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด
  • ในปี 2013 ชาวอเมริกันจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด จำนวน 38 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
  • ในปี 2018 ชาวอเมริกันจำนวน 48 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด จำนวน 43 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

(ข้อมูลจาก: www.pewresearch.org)

Tags: , , , , , , ,