เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในไทยต่างเปิดให้สั่งจองโทรศัพท์มือถือ iPhone X ล่วงหน้า โดยแต่ละค่ายตั้งราคาเครื่อง ‘ติดโปร’ ไว้แตกต่างเล็กน้อย ขณะที่เครื่องเปล่าจะมีราคาเท่ากัน ทั้งนี้ หากสั่งซื้อเครื่องเปล่าจากแอปเปิ้ลสโตร์แล้ว ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 40,500 บาท ซึ่งนับว่าสูงกว่าราคาเครื่องเปล่าในสหรัฐอเมริกาพอสมควร เนื่องจากราคาเครื่องเปล่าในสหรัฐฯ นั้นเริ่มต้นที่ 999 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33,000 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่วางขาย iPhone X ก่อนหน้า ราคาจะใกล้เคียงกับราคาในไทยมากขึ้น เช่น ราคาในฮ่องกงเริ่มต้นที่ประมาณ 36,000 บาท และราคาในไต้หวันเริ่มต้นที่ประมาณ 39,500 บาท ขณะที่ราคา iPhone X ในสิงคโปร์นั้นเริ่มต้นที่ประมาณ 40,500 บาท ซึ่งเท่ากับราคาเริ่มต้นในไทย

อาจดูเหมือนใกล้เคียงกัน แต่จริงๆ แล้วราคาไอโฟนในไทยแพงกว่า ‘ป้ายราคา’ ที่เห็น

Big Mac Index

การเปรียบเทียบราคาสินค้าแบบเดียวกันที่วางขายในที่ต่างๆ กันทั่วโลกที่โด่งดังที่สุดคือ ดัชนีบิ๊กแมค (Big Mac Index)  นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) เริ่มต้นจัดทำดัชนีนี้เป็นครั้งแรกในปี 1986 เพื่อเปรียบเทียบราคาบิ๊กแม็คของร้านแม็คโดนัลด์ในประเทศต่างๆ โดยใช้ราคาในสหรัฐฯ เป็นฐาน ตามทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) กล่าวคือ สินค้าแบบเดียวกันควรจะมีราคาเท่ากันในทุกประเทศ ดังนั้น หากประเทศใดมีราคาบิ๊กแม็คสูงกว่าสหรัฐฯ ค่าเงินของประเทศนั้นก็แข็งกว่าที่ควรจะเป็น (Overvalue) ในทางตรงกันข้าม หากประเทศใดมีราคาบิ๊กแม็คต่ำกว่าสหรัฐฯ ค่าเงินของประเทศนั้นก็มีค่าอ่อนกว่าที่ควรจะเป็น (Undervalue)

อย่างไรก็ตาม นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ชี้แจงว่า มิได้มุ่งหวังให้ใช้ดัชนีดังกล่าวเพื่อวัดค่าเงินสกุลต่างๆ อย่างละเอียด หากแต่จัดทำขึ้นเพื่อให้ทฤษฎีเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ‘ย่อยง่ายขึ้น’ เท่านั้น

นอกจากดัชนีบิ๊กแม็คแล้ว ยังมีผู้จัดทำดัชนีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันตามมาอีกไม่น้อย เช่น ดัชนี ‘ทอลล์ลาเต้’ ของสตาร์บัคส์ หรือดัชนี ‘ชั้นหนังสือบิลลี่’ ของอิเกีย

คำถามสำคัญที่ตามมาจากดัชนีเหล่านี้คือ ผู้คนในประเทศต่างๆ ต้องใช้เวลาเท่าใดในการทำงานเพื่อซื้อสินค้าแบบเดียวกัน?

ราคากับรายได้

ในปี 2015 บริษัท UBS ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินในสวิตเซอร์แลนด์จัดทำรายงานขึ้นฉบับหนึ่งชื่อ “Prices and Earnings 2015” นอกจากรายงานฉบับนี้จะเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกแล้ว ยังเปรียบเทียบรายได้ของผู้คนในแต่ละเมืองด้วย  การเปรียบเทียบทั้งราคาและรายได้ช่วยทำให้เห็นภาพอำนาจการซื้อได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ตามรายงานฉบับนี้ คนในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรต้องทำงานประมาณ 37 นาทีเพื่อซื้อบิ๊กแม็คหนึ่งชิ้น ขณะที่คนในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วทำงานไม่ถึง 20 นาทีก็สามารถจะซื้ออาหารชนิดเดียวกันนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในเบอร์ลิน เจนีวา ลอนดอน ซิดนีย์ โตเกียว และอื่นๆ โดยคนในฮ่องกงนั้นทำงานเพียง 9 นาทีก็จะมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อบิ๊กแม็คหนึ่งชิ้น ต่างจากคนในไนโรบี เมืองหลวงของเคนยาที่ต้องทำงานราว 3 ชั่วโมง

คนในกรุงเทพฯ ต้องทำงานประมาณ 37 นาทีเพื่อซื้อบิ๊กแม็คหนึ่งชิ้น ขณะที่คนในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วทำงานไม่ถึง 20 นาทีก็สามารถจะซื้ออาหารชนิดเดียวกันนี้ได้

ไอโฟนเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่รายงานฉบับนี้ใช้เปรียบเทียบ และผลลัพธ์ก็ไม่แตกต่างจากบิ๊กแม็คมากนัก กล่าวคือ คนในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วทำงานประมาณ 50 ชั่วโมง (หรือต่ำกว่านั้น) ก็สามารถจะซื้อ iPhone 6 ได้ เช่น ในบรัสเซลล์ โคเปนเฮเกน โรม เวียนนา และอื่นๆ รวมถึงฮ่องกง ขณะที่คนในเมืองหลวงของไทยต้องทำงานนานกว่านั้นราวสามเท่าแม้ว่าราคาไอโฟนจะใกล้เคียงกับในฮ่องกงก็ตาม ส่วนที่ต้องเหนื่อยนานกว่าชาวกรุงเทพฯ เช่น คนในปักกิ่งที่ต้องทำงาน 218 ชั่วโมง คนในจาการ์ตาที่ต้องทำงาน 468 ชั่วโมง และคนในเคียฟที่ต้องทำงานเกินกว่า 600 ชั่วโมงเพื่อซื้อ iPhone 6 หนึ่งเครื่อง

ค่าครองชีพและรายได้

ในภาพที่กว้างขึ้นนั้น รายงานฉบับดังกล่าวทำดัชนีเพื่อเปรียบเทียบระดับราคาโดยรวมซึ่งสะท้อนค่าครองชีพโดยใช้มหานครนิวยอร์กเป็นฐาน เมืองที่ระดับราคาสินค้าสูงกว่านิวยอร์ก ได้แก่ เจนีวาและซูริค ส่วนเมืองที่ระดับราคาต่ำในกลุ่มล่างๆ ได้แก่ บูคาเรสต์ โซเฟีย และเคียฟ  ขณะที่กรุงเทพฯ นั้นอยู่ระดับกลางๆ ใกล้เคียงกับริโอเดอจาเนโรและลิสบอน  ทั้งนี้ หากระดับราคาสินค้าในนิวยอร์กเท่ากับ 100 บาท ราคาสินค้าในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ประมาณ 58 บาท

อย่างไรก็ตาม ถ้านำรายได้มาเปรียบเทียบด้วยจะพบว่า รายได้ของคนในกรุงเทพฯ นั้นแตกต่างจากผู้คนในเมืองใหญ่ๆ มาก หากระดับรายได้ของชาวนิวยอร์กเท่ากับ 100 บาท คนในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็จะมีระดับรายได้ประมาณ 70 บาทขึ้นไป  แต่คนในกรุงเทพฯ นั้นมีรายได้เพียงประมาณ 17 บาทเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า คนบางกอกมีรายได้น้อยกว่านิวยอร์กเกอร์เกือบหกเท่า แต่ค่าครองชีพต่ำกว่าไม่ถึงสองเท่า

กับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ข้อมูลตามรายงานของบริษัท UBS นั้นมิใช่เรื่องน่าแปลกในนัก เพราะเมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) แล้ว ไทยอยู่อันดับที่ประมาณ 70-80 ของโลก ไม่ว่าจะวัดด้วยตัวเงิน (Nominal GDP per capita) หรือวัดด้วยอำนาจซื้อ (GDP at PPP per capita) ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า รายได้ของคนไทย อยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น

ที่ผ่านมา การยกระดับรายได้ของประเทศกำลังพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วมักเผชิญกับปัญหาที่เรียกกันว่า กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap) ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์ที่ประเทศหนึ่งๆ สามารถยกระดับจากประเทศยากจนเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้น กลับไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม  ทั้งนี้ ตามการจัดกลุ่มประเทศตามรายได้ของธนาคารโลกนั้น ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางกลุ่มบน โดยมี GDP ต่อหัวประมาณหกพันดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ตามเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้ขั้นสูงเท่านั้น รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ในกรณีที่ดีที่สุด (Best scenario) ประเทศไทยจะพ้นกับดักดังกล่าวภายในปี 2031 หรืออีกประมาณ 14 ปีข้างหน้า

ในกรณีที่ดีที่สุด (Best scenario) ประเทศไทยจะพ้นกับดักดังกล่าวภายในปี 2031 หรืออีกประมาณ 14 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าย่อมมีกรณีอื่นๆ อีกมากที่ไม่ใช่กรณีที่ดีที่สุด  ไทยยังต้องเผชิญปัญหาอื่นๆ นอกเหนือจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต  คำถามสำคัญคือ ไทยจะพัฒนาประเทศอย่างไรเพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม และปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ดังเช่นที่ผ่านมา

เพราะในกรณีที่แย่ที่สุด ไทยอาจไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงเลยก็เป็นได้

Tags: , , , , , ,