ทางการเบลเยียมเริ่มตระเตรียมไอโอดีนเม็ดสำหรับให้พลเมืองจำนวน 11 ล้านคนมาขอฟรี ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับโรงงานนิวเคลียร์เก่าแก่ในประเทศ แต่ก็กล่าวว่า ยังไม่ได้พบ “ความเสี่ยงที่เจาะจงใดๆ”

ประเทศเบลเยียมพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มากถึง 39% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ปัจจุบัน เบลเยียมมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ทั้งหมดเจ็ดเครื่อง มีสี่เครื่องในโดล (Doel) ใกล้กับท่าเรือแอนต์เวิร์ป ทางตอนเหนือ และสามเครื่องในลีแยฌ (Leige)

แต่เมื่อปี 2017 มีการตรวจพบรอยแตกขนาดเล็กๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 70 จุดในหม้อไอน้ำความดันสูงของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Tihange 2 ในลีแยฌ และยังพบรอยแตกนี้ก็พบในเครื่อง Doel 3 เช่นกัน โรงงานนิวเคลียร์ในลีแยฌนี้มีอายุมากกว่า 40 ปี เกินกว่าอายุการใช้งานของโรงงานที่กำหนดไว้เดิมอยู่ที่ 30 ปี

เมื่อสองปีก่อน รัฐบาลเปิดตัวเว็บไซต์ในภาษาทางการหลายภาษา ได้แก่ ฝรั่งเศส ดัตช์ และเยอรมัน เพื่อแนะนำประชาชนทราบสิ่งที่ควรทำในกรณีฉุกเฉิน

ยาน ยัมบง (Jan Jambon) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเบลเยียม กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งจะ “ให้ข้อมูลอย่างเหมาะสม” กับสาธารณชน และแผนการเหล่านี้เป็นเพียงการป้องกันไว้ก่อนเท่านั้น

“ยังไม่มีความเสี่ยงที่เจาะจงใดๆ กับโรงงานนิวเคลียร์” ยัมบงกล่าวกับสื่อของเบลเยียม

ส่วนร้านขายยาต่างๆ ได้ให้ข้อมูลว่า พวกเขาเริ่มได้รับกล่องเม็ดยาไอโอดีนซึ่งรัฐบาลสั่งซื้อ จำนวนรวมๆ ราว 4.5 ล้านกล่อง ภายในบรรจุกล่องละ 10 เม็ด ซึ่งเป็นตัวยาที่จะช่วยลดการรับเข้าและสะสมของกัมมันตรังสีในต่อมไทรอยด์

“พลเมืองก็ควรเตรียมตัวสำหรับการช่วยเหลือตัวเอง ถ้าหากวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นมา” เบนวา (Benoit Ramacker) โฆษกของศูนย์วิกฤตแห่งชาติ กล่าว

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำได้ก็คือ ชาวเบลเยียมสามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์เพื่อขอรับการแจ้งเตือนทางข้อความโทรศัพท์มือถือ หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

ประเด็นเรื่องโรงงานนิวเคลียร์เสื่อมสภาพและมีรอยแตกรั่วสร้างความวิตกทั้งในประเทศ และส่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี เริ่มพูดถึงโรงงานนิวเคลียร์เหล่านี้ที่อยู่ใกล้พรมแดน สองปีที่แล้ว รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็สั่งซื้อเม็ดยาไอโอดีนแจกจ่ายประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายแดน

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนี พลังงานนิวเคลียร์ยังคงไม่เป็นที่นิยมในสายตาสาธารณชนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s และหลังจากที่มหันตภัยโรงงานที่ฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ก็ได้เลื่อนแผนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่เยอรมนีไม่สามารถทำอะไรได้เลยกับโรงงานนิวเคลียร์ที่อยู่ในอีกฝั่งของพรมแดน ซึ่งก็สร้างความเสี่ยงได้ไม่ต่างกับการมีโรงงานอยู่ในเขตแดนของตัวเอง

แม้ชาวเบลเยียมจำนวนมากจะเห็นพ้องกับความกังวลของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ แต่สำหรับคนบางกลุ่ม พวกเขารู้สึกว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงเกมการเมืองที่นักการเมืองในประเทศอื่นๆ ใช้เพื่อทำแต้มให้ตัวเอง

ที่มาภาพ: REUTERS/Francois Lenoir

ที่มา:

Tags: , , , , , , , , ,