ถ้าเอ่ยถึงการเดินทางเพื่อติดต่อกันระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกที่ผ่านมาในอดีต ชื่อหนึ่งที่ไม่อาจตกหล่นไปได้อย่างเด็ดขาด คือ มาร์โค โปโล เวนิสวาณิชผู้รอนแรมข้ามทั้งทะเลน้ำและทะเลทรายบนเส้นทางสายไหม มายังอาณาจักรอันไพศาลของจักรพรรดิกุบไล ข่าน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 13
บันทึกเล่มสำคัญของมาร์โค โปโล
มาร์โค โปโล เริ่มใช้ชีวิตบนเส้นทางการเดินทางตั้งแต่ปี ค.ศ. 1271 ก่อนจะหวนคืนสู่เวนิสบ้านเกิดในปี ค.ศ. 1296 ในระยะเวลากว่าสองทศวรรษนั้น จักรพรรดิกุบไล ข่านได้แต่งตั้งให้เขาเป็นราชทูต และมอบหมายให้เดินทางไปทั่วราชอาณาจักรของพระองค์
มาร์โค โปโลได้จดบันทึกการเดินทางไว้อย่างละเอียดเพื่อถวายรายงานแก่องค์จักรพรรดิ รายงานของเขาพรรณนาถึงลักษณะของเมืองต่างๆ ผู้คน อุปนิสัย และบรรยากาศ ด้วยความที่อาณาจักรมองโกลในยุคนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เรื่องราวในรายงานจึงเต็มไปด้วยสิ่งแปลกประหลาด หลากหลายไปด้วยความมหัศจรรย์อันมาจากความแตกต่างของภูมิประเทศ และขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้คนในราชอาณาจักร
เมื่อกลับคืนสู่เวนิส มาร์โค โปโล มีความคิดที่จะบอกเล่าประสบการณ์ในโลกตะวันออกจากบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เขาเก็บไว้ให้โลกตะวันตกได้รับรู้ ระหว่างนั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์สู้รบกันระหว่างชาวเมืองเวนิสกับชาวเมืองเจนัวที่ยกกำลังทัพเรือเข้ามาโจมตี เมืองเวนิสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มาร์โค โปโลถูกจับไปคุมขัง ในขณะที่ถูกคุมขัง เขาได้พบกับรัสติเกียโล นักประพันธ์แห่งราชสำนักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งประเทศอังกฤษ ทั้งสองได้ร่วมงานกันจนทำให้หนังสือบันทึกการเดินทางเล่มสำคัญชื่อ Livres des Merveilles du Monde หรือที่เรียกกันโดยแพร่หลายในโลกภาษาอังกฤษว่า The Travels of Marco Polo ออกมาสู่สายตาชาวโลกในปี ค.ศ. 1298
เนื่องด้วยเรื่องราวในบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล เปี่ยมไปด้วยภาพของประสบการณ์โลดโผนจากโลกที่ยังคงเป็นปริศนาแก่ชาวตะวันตก ชื่อเสียงและการกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้จึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ มีทั้งคำกล่าวชื่นชมว่าเป็นการเปิดพรมแดนการรับรู้จากโลกที่มีความต่างทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรม มีทั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการแต่งเติมเรื่องราวจากจินตนาการให้น่าเร้าใจเกินจริง ทั้งยังมีข้อมูลที่สับสนไม่ตรงกับความเป็นจริง เต็มไปด้วยข้อมูลที่ดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญแก่ตัวมาร์โค โปโล เองมากเกินไป เมื่อเทียบกับแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ข้อถกเถียงเหล่านี้ยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์และนักวิชาการสาขาต่างๆ
บันทึกการเดินทางสู่งานวรรณกรรม
ถึงแม้ว่าบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล จะยังคงเปี่ยมไปด้วยข้อกังขาในด้านข้อเท็จจริง สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือเรื่องราวในบันทึกได้ปลุกความอยากรู้อยากเห็นและเร้าจินตนาการของผู้อ่านให้ตื่นตาตื่นใจไปกับเรื่องเล่าจากดินแดนห่างไกล ความลี้ลับในเรื่องราวเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลให้การเดินทางออกสำรวจโลกของนักเดินทางและนักผจญภัยคนอื่น นอกจากนี้ ตัวบันทึกเองก็ยังเป็นต้นธารให้กับการบอกเล่าเรื่องราวบนเส้นทางให้แก่งานเขียนชิ้นอื่นในยุคต่อมาอีกด้วย
หนึ่งในงานเขียนที่ใช้บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล มาเป็นโครงเรื่องก็คือ Le città invisibili (Invisible Cities) ของอิตาโล คัลวีโน (Italo Calvino) นักเขียนชาวอิตาเลียนผู้ล่วงลับที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จากเสน่ห์การประพันธ์ที่มีเอกลักษณ์ในด้านการเล่าเรื่องด้วยวิธีแปลกใหม่เร้าใจในผลงานทุกชิ้น
Le città invisibili หรือ เมืองที่มองไม่เห็น ในภาษาไทย เป็นเรื่องราวที่คัลวีโนแต่งขึ้นโดยหยิบยกโครงเรื่องมาจากการพรรณนาถึงเมืองต่างๆ ในบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล มาร้อยเรียงเข้ากับบทสนทนาระหว่างจักรพรรดิกุบไล ข่าน กับมาร์โค โปโล ในฉากต่างๆ เขาเปิดเรื่องด้วยการแนะนำว่าถ้อยคำของมาร์โค โปโล มีน้ำหนักเพียงใดในความเห็นของจักรพรรดิ จากนั้นก็เป็นการบรรยายถึงเมืองทั้งหลายในรูปแบบการบอกเล่ากึ่งรายงานว่า แต่ละเมืองมีลักษณะเด่นด้อยอย่างไรจากประสบการณ์ที่ได้พบมา ทั้งในมุมมองของด้านภาษา เวลา ความทรงจำ วัฒนธรรม และความปรารถนา
เล่าเรื่องเมืองโดยคนที่ได้ ‘มอง’
คัลวีโนแบ่งลักษณะเมืองต่างๆ เหล่านี้ออกเป็น 11 ประเภท แต่ละประเภทประกอบไปด้วยเมืองห้าเมืองที่มีชื่อเรียกเป็นชื่อของผู้หญิงอันชวนให้ค้นหา ดังนี้ เมืองกับความทรงจำ เมืองกับความปรารถนา เมืองกับเครื่องหมาย เมืองเร้นบาง เมืองกับการแลกเปลี่ยน เมืองกับสายตา เมืองกับชื่อ เมืองกับคนตาย เมืองกับท้องฟ้า เมืองต่อเนื่อง และเมืองลับแล
เมื่อปล่อยให้มาร์โค โปโล เล่าเรื่องเมืองไประยะหนึ่ง คัลวีโนก็สลับฉากด้วยการนำเสนอบทสนทนาระหว่างองค์จักรพรรดิ เจ้าของราชอาณาจักรผู้ไม่ได้เห็นเมืองที่ตัวเองทรงครอบครองครบทุกเมือง กับมาร์โค โปโล ผู้ทำหน้าที่ประหนึ่งตัวแทนสายตาของพระองค์ ฉากและบทสนทนาที่ทั้งสองสื่อสารกันนั้น เป็นการโต้ตอบกันเพื่อสร้างเรื่องราวอีกเรื่องสอดซ้อนลงไปในความหมายของเมืองระหว่างผู้ที่เห็นด้วยตาและผู้ที่เห็นด้วยใจ
ความโดดเด่นของ เมืองที่มองไม่เห็น ประกอบไปด้วยแง่มุมหลายประการที่น่าสนใจ ประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่างองค์จักรพรรดิและวาณิชแห่งเวนิสที่คัลวีโนเลือกใช้ดำเนินเรื่องนั้นเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากบันทึกของมาร์โค โปโล นั่นก็คือการที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเสนอว่าเรื่องที่มาร์โค โปโล เล่าว่าเขาเป็นคนสนิทของจักรพรรดิกุบไล ข่านนั้นเป็นเรื่องแต่งเติมให้ตนเองมีความสำคัญเกินจริง
ประการที่สอง วิธีที่คัลวิโนเลือกใช้ในการบรรยายเมืองนั้นเป็นวิธีเดียวกับที่มาร์โค โปโล ใช้ คือการกล่าวถึงอย่างสั้นๆ และกระชับ แต่ถ้อยคำของคัลวีโนมีลักษณะคล้ายบทร่ายที่มีความงดงามกว่า ทั้งยังแฝงประเด็นที่น่าสนใจแบบนามธรรมลงไปในการบรรยายถึงรูปธรรมของเมืองในตัวบท
ประการที่สาม คัลวีโนได้เลือกใช้สิ่งของที่อยู่ต่างยุคต่างสมัยกันมาร้อยเรียงบอกเล่าลักษณะเมือง เมื่อแรกอ่านจะทำให้เราสะดุดใจว่า ทำไมสิ่งของทันสมัยอย่างตึกสูงระฟ้า เครื่องบิน รถไฟใต้ดินถึงมาอยู่ในโลกเก่าได้ ในเรื่องนี้ ขอตั้งสังเกตว่าอาจเป็นความจงใจของคัลวีโนที่ต้องการล้อกับความรู้สึกของผู้อ่านของเขาเทียบกับผู้ที่อ่านบันทึกของมาร์โค โปโล เมื่อแรกเผยแพร่ว่า เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ หรืออยู่เหนือเหตุผลของการรับรู้ในเรื่องเล่าแล้ว ผู้อ่านจะมีความรู้สึกอย่างไร
ความสมมาตรของเรื่องราว
นอกเหนือจากความโดดเด่นที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือการทดลองขีดจำกัดของวิธีการเล่าเรื่องด้วยรูปแบบและภาษาทางคณิตศาสตร์ คัลวีโนนำรูปแบบทางคณิตศาสตร์มากำกับเส้นเรื่องในการบรรยายเมือง ลักษณะเช่นนี้ทำให้การเล่าเรื่องเมืองทั้ง 55 เมืองเกิดความสมมาตร ความสมมาตรของการเล่าเรื่องนี้ ในแง่หนึ่งได้สร้างมุมมองใหม่แก่ตัวบทและกลวิธีการประพันธ์ และในส่วนนี้เองที่การทดลองของคัลวีโนได้ทำให้รู้สึกถึงสัมผัสของกลีบดอกไม้ที่ซ้อนก่อรูปกันเป็นความสวยงามอยู่ในตัวบท
หลายปีก่อน ในระหว่างที่เดินเลียบแม่น้ำเธมส์เพื่อเก็บข้อมูลทำงานส่งอาจารย์ในหัวข้อ ‘Destination Marketing’ เฮเลน หญิงสาวชาวนอร์วีเจียน เพื่อนร่วมชั้นเรียนที่รู้ว่าผู้เขียนชอบอ่านวรรณกรรมได้ถามว่าผู้เขียนเคยอ่าน Invisible Cities หรือไม่ เมื่อผู้เขียนตอบว่าไม่ เธอจึงบอกผู้เขียนว่า “ลองอ่านดูสิ หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ เล่มนี้จะเปลี่ยนการมองโลกของคุณ” ผู้เขียนก็รับคำโดยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก เพราะยังครุ่นคิดอยู่กับการเก็บข้อมูลเพื่อเขียนรายงาน ต่อมาเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เลือนหายไปจากความทรงจำ จนกระทั่งผู้เขียนได้อ่าน เมืองที่มองไม่เห็น และย้อนนึกถึงเรื่องราวในวันนั้นขึ้นมา จึงได้เขียนอีเมลไปบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองให้เธอฟัง
“หนังสือเล่มบางๆ ในมือให้ความรู้สึกเหมือนปรอท ด้วยปริมาตรปริมาณที่ลวงตาทำให้เราหลงกลไปว่าน้ำหนักคงน้อยนิด แต่เมื่อเริ่มอ่านกลับพบว่าในแต่ละความหมายนั้นแฝงไว้ด้วยน้ำหนัก น้ำหนักที่เคลื่อนไหวอย่างเสรีในการปะทะกับความเคยชินของสายตา
เมืองที่มองไม่เห็น อาจถูกเรียกว่านวนิยายท่องเที่ยว เพราะไม่เพียงแต่มาร์โค โปโลที่รอนแรมจากเวนิสและท่องไปทั่วถิ่นอาณาจักร หรือกุบไล ข่านที่ล่องไปตามความคิดจากกระแสเสียงบอกเล่า เราเองก็เช่นกันที่ล่องไปกับจินตนาการของอิตาโล คัลวีโน หากอีกด้านหนึ่ง หัวใจกลับค้านว่านี่เป็นหนังสือปรัชญาที่เปี่ยมไปด้วยความสวยงามของอุปมาโวหารภายใต้ท่าทีของนวนิยายต่างหากล่ะ เมืองและการรอนแรมในบทสนทนาเป็นเพียงอุบายของการประพันธ์ที่นักเขียนทดสอบขีดจำกัดของการเขียนและล้อลองไปกับความคิดของการอ่าน
แต่ไม่ว่าจะเป็นนิยามไหน เมื่อบทบาทของนักท่องเที่ยวจบลง
สายตาของเราจะเห็นเมืองที่มองไม่เห็นในเมืองที่มองเห็นไปตลอดกาล”
(ข้อเขียนในอีเมล์ได้รับการอนุญาตจากเฮเลนให้ผู้เขียนนำมาแปลเรียบเรียงตีพิมพ์เผยแพร่ได้)
Fact Box
- อิตาโล คัลวีโน (1923-1985) เป็นหนึ่งในนักเขียนชาวอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานของเขาโดดเด่นจากการผสมผสานลักษณะของงานเขียนยุคเก่าอย่างเรื่องเล่าพื้นบ้าน และผลงานที่มีชื่อเสียงตามขนบ วรรณกรรมเดิมเข้ากับรูปแบบของการเขียนใหม่ๆ อย่างเรื่องราวแฟนตาซีสมัยใหม่ หรืองานเขียนแนววิทยาศาสตร์จนเกิดเป็นแนวทางเฉพาะตัว
- งานเขียนของอิตาโล คัลวีโนได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสองเรื่องแล้วดังนี้
-
- Se una notte d'inverno un viaggiatore (หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง) โดยสำนักพิมพ์บทจร พ.ศ. 2558
- Marcovaldo (มาร์โควัลโด หรือฤดูกาลในเมือง) โดยสำนักพิมพ์บทจร พ.ศ. 2559
-
- เสน่ห์และความน่าสนใจของ เมืองที่มองไม่เห็น มีอิทธิพลต่องานศิลปะสาขาอื่นๆ มีการดัดแปลงให้เป็นละครโอเปรา ผลงานทางศิลปะ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมจากหลากหลายศิลปิน
- ผู้ที่สนใจในเรื่องของสมมาตรและภาษาคณิตศาสตร์ของการเล่าเรื่องสามารถดูได้จากคำตามของสุรเดช โชติอุดมพันธ์ ที่นำแผนภูมิวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ของบรูโน เฟร์ราโร (Bruno Ferraro) มาอธิบายเกี่ยวกับตัวบทเพิ่มเติมได้ ในบทความชื่อ ‘เผชิญหน้ากับเขาวงกตในเมืองที่มองไม่เห็น’ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนคำตามในท้ายเล่มของหนังสือ
- เมืองที่มองไม่เห็น โดยอิตาโล คัลวีโน (Italo Calvino) แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาเลียน Le città invisibili โดยนันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บทจร, 200 หน้า ราคา 215 บาท พิมพ์ครั้งแรก 2561 ISBN 978-616-91833-8-9