1.

เวลาเก้าโมงเช้าของวันพุธ

หน้าห้องตรวจแผนกจิตเวช ผมนั่งรออยู่เป็นคิวที่สาม วันนี้คลื่นลมสงบ บรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย ปราศจากเสียงประกาศวุ่นวายหรือเสียงก้าวเดินฉับๆ ที่บอกถึงสภาวะเร่งรีบยุ่งเหยิง พยาบาลทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยก็สงบเสงี่ยม เลือกมาโรงพยาบาลวันพุธเช้าดีอย่างนี้ ผมสงบใจและอ่านหนังสือ รอให้หมอเรียกตรวจ การตรวจใช้เวลาราวๆ ครึ่งชั่วโมงต่อคน อย่างนั้นแล้ว ไม่เกินสิบเอ็ดโมงผมก็จะเสร็จจากที่นี่ ผมดีใจที่วันนี้ใช้เวลาไม่นาน ผมไม่ชอบโรงพยาบาล

น่าเสียดายที่อะไรๆ ไม่ราบรื่นและไม่เป็นไปตามใจคิด นาฬิกาในโทรศัพท์มือถือบอกเวลาใกล้สิบเอ็ดโมง หมอยังมาไม่ถึงและไม่ทราบเมื่อไรจะมาถึง ผู้ป่วยคิวแรกยังไม่ถูกเรียก บรรยากาศเริ่มตึงเครียด ผมสังเกตว่าคุณยายที่นั่งข้างๆ เริ่มอยู่ไม่สุข มือไม้พันกัน และคอยชะเง้อมองไปยังทางเข้าแผนก อันที่จริง ถึงดูภายนอกจะสงบ แต่ผมก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร

“หายใจ…หายใจ” ผมบอกตัวเอง หายใจเข้าและออก จังหวะของแผนกจิตเวชที่เคยสงบราบเรียบเมื่อตอนเก้าโมงเช้าเริ่มสับสนวุ่นวายขึ้น ความเครียดจากการรออันแสนยาวนานของผู้ป่วยส่งต่อถึงกัน ผู้ป่วยของห้องตรวจอื่นเริ่มโวยวาย พยาบาลพยายามรับมือ และผมพยายามหายใจ

ตอนนั้นผมหายใจเข้าออกช้าๆ ได้ยินเสียงตัวเองและหมอคอยกำกับในหัว 

ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังกระเสือกกระสนฝึก ‘กลของรูธ’ อยู่ และกลชนิดนี้ก็เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของหนังสือ Into The Magic Shop: เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ 

2.

พูดตามตรง Into The Magic Shop: เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ เป็นหนังสือในหมวดที่ผมให้ความสนใจน้อยที่สุด แต่หลังจากได้พลิกไปมา ผมก็ตกลงใจซื้อเพราะผู้เขียนคือประสาทศัลยแพทย์ ที่ถึงจะเขียนเรื่องให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ หรือแสวงหาพื้นที่สงบเงียบภายในใจ ก็น่าจะให้แง่มุมที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง

ผมเริ่มอ่านโดยไม่ได้คาดหวัง และพบว่าบทนำถูกจริต ดร.เจมส์ อาร์ โดตี เขียนหนังสือเล่มนี้ในรูปแบบบันทึกความทรงจำ แบ่งปันประสบการณ์ ซึ่ง Into The Magic Shop ปราศจากน้ำเสียงสั่งสอน หรือตั้งตนเป็นผู้รู้ เพราะครึ่งแรกนั้น เด็กชายจิม โดตี อายุสิบสอง ก็เดินเข้าไปยังร้านเวทมนตร์โดยไม่รู้อะไรเลยเช่นกัน

สิ่งนี้เป็นจุดเด่นของหนังสือ—ความไม่รู้

ร้านเวทมนตร์ ความจริงแล้วคือร้านจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับแสดงมายากล จิมพบร้านแห่งนี้โดยบังเอิญและคิดว่าถึงไม่มีเงินซื้อแต่เข้าไปดูก็ไม่น่ามีอะไรเสียหาย ที่นั่นจิมพบกับรูธ หญิงชราใจดีผู้เป็นแม่เจ้าของร้าน ผู้ให้สัญญาว่าจะสอนกลพิเศษอันทรงพลัง หากจิมมาพบเธอเพื่อฝึกฝนมายากลนี้ทุกวัน

และสิ่งนี้เป็นจุดเด่นของหนังสืออีกเช่นกัน—ความอยากรู้

วิธีการเล่าของดร.เจมส์ อาร์ โดตี เต็มไปด้วยกลิ่นอายลึกลับ (อันที่จริง วิธีการเล่าของ ‘รูธ’ เสียมากกว่า ดร.เจมส์ อาร์ โดตีแค่จดจำประสบการณ์วัยเด็กของตัวเองแล้วนำมาตีแผ่) ซึ่งกลิ่นอายลึกลับนั้นกระตุ้นให้ผมอยากรู้กลพิเศษนั้นเร็วๆ จนนึกจะอ่านข้าม หรือไม่ก็เปิดหาเฉลยซึ่งคงเขียนชัดเจนอยู่ในสักหน้า

แต่สุดท้ายผมเลือกจะรู้ไปพร้อมกับจิม ติดตามจิมไปร้านมายากล นั่งเผชิญหน้ากับรูธ และเมื่อรูธสอนวิธีฝึกกลข้อที่หนึ่งให้จิม ผมก็ถอนใจเพราะจับเค้าลางบางอย่างได้ เค้าลางซึ่งทำให้รู้สึกขื่นในอก

จิมหลับตา กลของรูธเริ่มที่การสังเกตร่างกายและความรู้สึก เวลารู้สึกโกรธ เสียใจ หรือดีใจ ร่างกายเป็นอย่างไร จากนั้นรูธให้จิมหายใจเข้าทางจมูก หายใจออกทางปาก รวมทั้งสิ้นสามครั้ง เพ่งความรู้สึกไปยังเท้า จิมวอกแวก รูธให้จิมพาจิตใจกลับไปยังเท้า

รูธกำลังสอนให้จิมฝึกสมาธิ

 

3.

เพื่อน รวมถึงคนรู้จักรอบตัวผมซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคทางอารมณ์ มักได้รับคำแนะนำคล้ายๆ กันคือให้ยึดหลักพุทธ ให้ปล่อยวาง ให้ฝึกสมาธิ

สำหรับผม ใช่ว่าไม่อยากฝึกหรือไม่เคยทดลองฝึก แต่ฝึกไม่ได้ สมองผมไม่อนุญาต และพอฝึกไม่ได้ ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ผมก็โทษตัวเอง

ผมยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษาในตอนที่ผมไม่สนใจเสียงอื่นนอกจากเสียงในหัว เสียงของมัน หรืออันที่จริงก็เสียงผมเอง กล่าวโทษตัวเองซ้ำๆ ที่ไม่เข้มแข็ง ไม่รู้จักปล่อยวาง ผมยังช่วยตัวของผมเองไม่ได้ แล้วใครจะช่วยได้? ผมนั่งตรงข้ามหมอ เช่นเดียวกับจิมที่นั่งตรงข้ามรูธ มือผมพันกันวุ่นวายอยู่บนตัก ส่วนจิมสั่นขา ผมตื่นตระหนก จิมตื่นเต้น

แล้วหมอก็บอกให้ผมหายใจ เข้าและออก…ลึกและยาว รวมทั้งสิ้นสามครั้ง

จู่ๆ ผมก็ลากเอาการที่หมอให้ผมหายใจเข้าลึกๆ และออกยาวๆ ไปเชื่อมโยงกับการฝึกสมาธิตามหลักพุทธได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ร่างกายผมต่อต้านเพราะความกลัว ผมกลัวไปเองว่าหมอจะบอกให้ผมกลับบ้านไปสวดมนต์ ทำสมาธิ หายใจเข้าพุท-หายใจออกโธ แล้วปล่อยวางเสีย ผมไม่อยากได้ยินแบบนั้น

หลายต่อหลายคนบอกให้ผมปล่อยวาง ความทุกข์หรือสุขตั้งอยู่ไม่นานเดี๋ยวมันก็สลายไป ผมเข้าใจหลักการ แต่ทำไม่ได้ ผมไม่รู้จะอธิบายสภาวะ ‘ทำไม่ได้’ นี้ให้คนอื่นเข้าใจอย่างไร แล้วผมก็วนกลับมาโทษตัวเอง ผมอ่อนแอจริงๆ

จินตนาการในชั่วแวบนั้นทำให้ผมหายใจติดขัด สุดท้ายผมก็คล้ายลืมวิธีหายใจ ได้แค่งับลมเปล่าๆ แต่ไม่มีอากาศเข้าปอด 

“ไม่เป็นไร หมอรู้ครับว่ามันยาก คุณค่อยๆ หายใจตามหมอ”

ผมว่าตอนนั้นผมร้องไห้

4.

“การผ่อนคลายฟังดูง่าย แต่ที่จริงแล้วมันยากมากๆ  และต้องใช้การฝึกฝนมากด้วย”

คำพูดของรูธในหน้าที่ 34 ของหนังสือ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของหมอในห้องตรวจ—หมอรู้ครับว่ามันยาก และทำให้อคติของผมเบาลงอย่างมาก ไม่เคยมีใครพูดกับผมแบบนี้ ไม่เคยมีใครว่ามันยาก ทุกคนพูดเหมือนการผ่อนคลายปล่อยวางมันง่ายเสียจนใครที่ไม่สามารถทำได้คือผู้อ่อนแอ

ผ่านหน้า 34 ไปผมค่อยๆ เปิดใจรับ พาตัวเองติดตามจิมไปหลังร้านมายากล รูธรอเราที่นั่น ผมข้ามพรมแดนของความไม่รู้ไปกับจิม สำหรับผม ผมอยากรู้จริง ๆ ว่า จิม—เด็กชายอายุสิบสอง ผู้มีพ่อติดเหล้า แม่พยายามจบชีวิตตัวเองด้วยการกินยาเกินขนาดบ่อยๆ และพี่ชายที่ชอบเก็บตัวและมักโดนรังแก จะเปลี่ยนไปกลายเป็นศัลยแพทย์เจมส์ อาร์ โดตี ด้วยกลของรูธได้อย่างไร

ทีละเล็ก…ทีละน้อย ทีละหน้า…ทีละหน้า สุดท้ายผมเปิดใจรับเต็มที่ ไม่ใช่เพราะความพิเศษของกล แต่เพราะความโอบเอื้อของน้ำเสียงในหนังสือ

ถ้าคุณอ่าน ผมว่าคุณก็สามารถสัมผัส ‘ความโอบเอื้อ’ นั้นได้เช่นกัน

และผมว่า จิมก็ไม่ได้จะไปร้านมายากลเพราะอยากเรียนอย่างเดียวหรอกครับ แต่เพราะบรรยากาศในร้าน บรรยากาศของรูธ ความใจดีและความเมตตาของเธอทำให้เขากลับไป

“ผมมาที่ร้านมายากลได้สิบวันแล้ว และหลายๆ อย่างก็สบายกว่าที่บ้านผม ผมชอบความเงียบและความสงบ หลังจากเรียนไม่กี่วัน รูธก็เริ่มนำอาหารกลางวันมาทุกวัน

[…]

แม้เราจะเป็นกลุ่มคนสามคนที่ประหลาดและรวมตัวกันเพียงชั่วคราว แต่ผมกลับรู้สึกสนิทกับพวกเขาเร็วมาก เหมือนพวกเขาเป็นสมาชิกครอบครัว 

[…]

เป็นเวลาเพียงสองชั่วโมงที่ผมได้รับความสนใจจากพวกเขา เราคุยเรื่องทั่วๆ ไปและเล่นมุกกันได้อย่างสบายใจ ไม่เหมือนที่บ้านที่ต้องหลีกเลี่ยงเรื่องบางเรื่องและความโกรธหรือไม่พอใจที่มีอยู่เดิมอาจปะทุขึ้นมาเมื่อใดก็ได้”

ถึงตรงนี้ ผมคิดว่า ถึงคุณไม่สนใจการฝึกฝนจิตใจ ไม่สนใจมายากลของรูธ แต่หากในใจคุณมีความสับสนวุ่นวาย แม้แต่แค่เล็กน้อย ผมก็จะยังแนะนำ Into The Magic Shop: เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ อยู่เหมือนเดิม

หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนพื้นที่พักรบ สงบ อบอุ่น และมีความพิเศษอยู่จริง

5.

ระหว่างการรักษา หมอปรับยาและขนาดให้ผมหลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ยาเข้าไปทำบางอย่างกับสมองของผม ปรับเปลี่ยนมันให้แจ่มใส หมอกซึ่งเคยบังความคิดผมให้คลุมเครือหายไปแล้ว ผมเห็นทะลุแจ้งในทุกสิ่ง เข้าใจเหตุและผล เห็นความเชื่อมโยง สำคัญที่สุดคือ ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมหลายต่อหลายคนจึงไม่เข้าใจผู้ป่วยด้านอารมณ์ เช่น ผู้ป่วยซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือผู้ป่วยวิตกกังวล นั่นเพราะคนเรามีสมองต่างกัน คุณกับผม

การได้สัมผัสสมองแจ่มใสเป็นชั่วระยะสั้นๆ นอกจากมอบความเข้าใจต่อเพื่อนที่ไม่เข้าใจโรคที่ผมเป็นแล้ว ยังมอบความเชื่ออันสำคัญว่าสมองเปลี่ยนแปลงได้ แต่ผมไม่ได้รับยาในขนาดซึ่งเอื้อให้ผมเห็นโลกแจ่มใสอีกแล้ว และตัวผมเองก็ไม่คิดจะพึ่งยาตลอดไป

“หายใจ” หมอบอกทุกครั้งที่เรานัดตรวจกัน ผมทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่เวลาเผชิญความเครียด ผมก็จะทำอย่างไม่อิดออด น่าเสียดาย ผมไม่ได้ฝึกประจำเลยไม่ได้ผลเท่าไรนัก

วันที่ผมซื้อหนังสือร้านมายากล เป็นวันที่ผมล้มเหลวในการประคองสติหายใจ ผมข่วนตัวเอง

เมื่อไหร่ผมจะทำได้

“ขอแค่คุณไม่ยอมแพ้ ทำไม่ได้ตอนนี้ไม่เป็นไร เอาใหม่ สักวันมันจะเห็นผล” หมอให้กำลังใจ

“เธอจะรู้ พยายามกลับมาที่นี่ตลอดนะ พยายามฝึกทุกอย่างที่เธอเรียนช่วงฤดูร้อนนี้ แล้วสักวันเธอจะรู้” รูธบอกจิม

“ความลึกลับที่สุดของสมองคือความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง […] เมื่อสมองของเราเปลี่ยนแปลง เราก็เปลี่ยนแปลงด้วย นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงยิ่งกว่าคือ เมื่อหัวใจของเราเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เพียงการมองโลกของเรา แต่เปลี่ยนการที่โลกมองเรา และการที่โลกตอบสนองต่อเราด้วย”

ดร.เจมส์ อาร์ โดตีได้เขียนไว้อย่างนั้น

6.

ผมเขียนบทความนี้หลังอ่านหนังสือจบได้สามวัน แต่ใช้เวลานานเหลือเกินถึงเขียนเสร็จ สมองของผมเล่นตลกกับผมอีกแล้ว

อันที่จริง ผมอยากจบการแนะนำในตอนที่ 5. แต่ผมลืมไปบางอย่าง

Into The Magic Shop: เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ ไม่ได้มุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงสมองด้วยการฝึกจิต แต่เป็นการทำงานร่วมกันของสมองและหัวใจ

จิมก็ลืมจุดนี้ไปเช่นกัน เขาฝึกจิตเพื่อเปลี่ยนแปลงสมอง เพื่อควบคุมชีวิต แต่ลืมนึกถึงหัวใจ

นั่นทำให้เขาประสบความสำเร็จแต่กลายเป็นคนดื้อรั้น เกิดความรู้สึกว่าตัวเองสำคัญและพิเศษแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กลที่ได้เรียนเมื่ออายุสิบสองและได้ฝึกมาสิบกว่าปี ทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครเอาชนะได้

การลืมนึกถึงหัวใจทำให้จิม หรือดร.เจมส์ อาร์ โดตี รู้สึกหลงทางและกลับไปยังร้านเวทมนตร์อีกครั้งเพื่อฟังเสียงหัวใจของตัวเอง

อ่านจนจบ ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมชื่อภาษาไทยของ Into the Magic Shop ถึงเป็น ‘เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ’

เพราะดร.เจมส์ อาร์ โดตี คงไม่มีวันเขียนหนังสือเล่มนี้ หากเขาหลงลืมวันที่พบรูธในร้านมายากล หากเขาหลงลืมความโอบเอื้อของเธอ

“เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปร้านมายากลเพื่อตามหาสิ่งเหล่านั้น เราเพียงแต่มองเข้าไปข้างในจิตและใจของเรา”

ดร.เจมส์ อาร์ โดตี ทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น

Tags: