วันดีคืนดีชีวิตก็บอกกับคุณว่า ‘ยินดีด้วย คุณคือคู่รักที่ได้รับของขวัญสุดเซอร์ไพรซ์’ ไม่ใช่การแจกกิฟต์เวาเช่อที่พักตั๋วเครื่องบิน แต่เป็นการจับสลากได้ความเศร้ามาครอบครอง และกำลังเป็นเจ้าของความสัมพันธ์ง่อนแง่นและอาจมืดบอดหาทางออกไม่เจอ—คุณจะรับมือยังไง เชื่อมั่นไหม? ว่าความรักจะชนะ ‘ทุกสิ่ง’

ทุกสิ่งคืออะไรบ้างก็ไม่อาจรู้ เพราะทุกสิ่งที่ว่านั้นอยู่ใน ‘หลุมดำ’ ที่คุณไม่รู้ว่าลึกขนาดไหน กว้างเท่าไหร่  

ใช่ค่ะ! ฉันกำลังพูดถึง การอยู่ข้างๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ด้วยมุมมองของคนใกล้ชิด ในฐานะคนรักของคนเศร้าที่เลือกไม่พาเข้าวัด ไม่ชวนทำสมาธิ ไม่พูดให้กำลังใจว่า “สู้ๆ นะ” ไม่พูดว่าของแบบนี้มันอยู่ที่ใจ เธอต้องมีใจเข้มแข็งแล้วจะหาย แต่ชวนให้แต่งตัวหล่อ พาไปกินของอร่อย ฟังเรื่องเดิม ๆ ตอบคำถามซ้ำ ๆ  พาไปตะลุยความทรงจำ และพูดด้วยน้ำเสียงเย็นเฉียบว่า “ช่วยกันหน่อยนะ เราต้องช่วยกันนะ”

ก่อนหน้านี้สามปี คนเศร้าของฉันคือ ผู้ชายมีคาแรคเตอร์ ดีกรีหนุ่มโสดในฝัน มีรถขับ โทรศัพท์ถ่ายรูปได้ มีที่ยืนอย่างสง่างามในหน้าที่การงาน แล้วอะไรที่ทำให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า มรสุมในชีวิต? ความเครียดจากหน้าที่การงาน? ความคาดหวังที่มากล้น? ความรู้สึกผิดที่กดทับตลอดมา? อันที่จริงเราก็ไม่ทราบสาเหตุด้านจิตใจที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ สาเหตุด้านร่างกาย คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง

การจับสลากได้ความเศร้ามาครอบครอง และกำลังเป็นเจ้าของความสัมพันธ์ง่อนแง่นและอาจมืดบอดหาทางออกไม่เจอ—คุณจะรับมือยังไง เชื่อมั่นไหม? ว่าความรักจะชนะ ‘ทุกสิ่ง’

สารเคมีในสมองเริ่มต้นผิดปกติตั้งแต่ตอนไหนเราทั้งคู่ก็ไม่แน่ใจ แต่เขาเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย จิตตกบ่อย สมาธิไม่อยู่กับร่องกับรอย ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน และอาการปรากฏชัดขึ้นช่วงต้นเดือนตุลาคม ปี 2560

ในแต่ละวันช่วงก่อนค่ำ เขาจะโทรมาหาและพูดจาประหลาดๆ พูดเรื่องความรู้สึกว่างเปล่า บ่นเบื่อถึงชีวิต ไม่อยากทำงาน อ่านหนังสือไม่ได้ ไม่มีสมาธิ ท้อแท้ เหนื่อย อยากลาออกกลับบ้านไปอยู่เฉยๆ ละทิ้งความใฝ่ฝันที่เคยมี กลายเป็นคนละคนกับที่เคยรู้จัก จนครั้งสุดท้ายเขาพูดว่า “เธอเป็นคนเดียวที่รู้ว่าจริงๆ เราเป็นใคร เคยทำอะไร ถ้าเราทำงานไม่ได้อีกแล้ว จำตัวเองไม่ได้อีกแล้ว เธอต้องคอยบอกเรานะ ว่าเราเคยเป็นใคร เรากลัวตัวเองหายไป” แล้วก็ร้องไห้ ร้องไห้แบบคนใจพัง ชำรุดซ่อมไม่ได้  ไม่ใช่ผู้ชายเท่ๆ ขรึมๆ ไม่ฟูมฟาย คนที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน รักและมุ่งมั่นในการทำงาน

เกิดอะไรขึ้น! ผู้ชายที่ปลายสายไม่ใช่คนรักที่รู้จักมาแปดปีของฉัน เป็นตัวปลอม ตัวจริงถูกเอเลี่ยนลักพาตัวหรือถูกซาตานขโมยวิญญาณไปแน่นอน เอะใจแล้วในตอนนั้นว่าเขาอาจจะป่วย ผิดปกติอะไรสักอย่าง เลยแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เพราะคิดว่าเขาอยู่ในภาวะกดดันและความคาดหวังที่ตัวเองมีมากเกินไป คิดว่าอาจจะได้ยานอนหลับหรือยาแก้เครียดมา แต่เปล่า เขาได้ยารักษาโรคซึมเศร้า และคุณหมอนัดติดตามอาการทุกอาทิตย์

เรื่องรักที่คาราคาซังกันอยู่ ความสัมพันธ์แบบ ‘ก็เลิกกันแล้วให้มันจบๆ ไป’ รวมถึงระยะทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ถูกถมทับด้วยโรคซึมเศร้า ที่พออ่านข้อมูลไม่ว่าจากตรงไหนก็ให้ความรู้สึกว่าแย่แล้ว เขาจะผ่านไปได้ไหม เขาจะฆ่าตัวตายรึเปล่า แล้วก็นึกได้ว่าเพื่อนของฉันสองคนกระโดดตึกเพื่อโบยบินไปจากชีวิต และทั้งสองคนทำสำเร็จ

ยังไม่ทันจะเลือกว่าจะเอายังไงดีกับชีวิตเขาก็โทรมาร้องไห้ เขื่อนน้ำตาพัง กำแพงในใจฉันก็พังไปด้วย เรื่องเก่าพับใส่ลิ้นชักไว้ ไม่ได้ลืม เรียนคณิตศาสตร์มา คุณครูสอนให้ทดไว้ในใจ และสถานการณ์ตรงหน้าเรียกร้องและปลุกความเป็นแม่ชีเทเรซ่าในตัว เขาต้องการใครสักคน และความรักจะชนะทุกสิ่ง (โอ้ยยยย!)

เกิดอะไรขึ้น! ผู้ชายที่ปลายสายไม่ใช่คนรักที่รู้จักมาแปดปีของฉัน เป็นตัวปลอม ตัวจริงถูกเอเลี่ยนลักพาตัวหรือถูกซาตานขโมยวิญญาณไปแน่นอน

ฉันหาข้อมูลจากทุกแหล่งที่น่าเชื่อถือ สอบถามจากคนรอบตัวที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึงอาการ แนวทางการรักษา วิธีสื่อสาร ถามคำถามที่ฉันสงสัย และขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ จากนั้นจองตั๋วเครื่องบินให้เขากลับมากรุงเทพฯ แบบเร่งด่วน

สภาพแรกที่เจอกัน คือ ผู้ชายผมยุ่งหัวฟู ไม่หวี ไม่สระ ใบหน้าของเขายับเยิน ดวงตาแดงก่ำบวมช้ำจากการร้องไห้ แววตาเปลี่ยน หลีกเลี่ยงการสบตา ใต้ตาคล้ำ หน้าหมองเหมือนโดนของ รูขุมขนกว้างชนิดที่ว่าครีมบำรุงยี่ห้อไหนก็ต้องยอมแพ้ ไม่โกนหนวด ไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน นั่งห่อไหล่หมดความมั่นใจ ไม่เท่ ไม่ชาวร็อค ไม่สง่าผ่าเผย เดินด้วยอาการปลิวๆ หน้าตาไม่เป็นมิตร และไม่อยากอยู่ในที่คนเยอะๆ พระเจ้า! หนุ่มโสดในฝันคนนั้นหายไปไหน แวร์

แต่ไม่เป็นไร ตั้งใจแล้ว ฉันจะพาเขากลับมา เรื่องสงครามความสัมพันธ์ที่ยังไม่จบก็พักไว้ก่อน องค์ร่างแม่ชีเทเรซ่าประทับ แต่ไม่ใช่แม่ชีทศพร แก้กรรม เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องเวรกรรม เขาแค่ป่วย ป่วยก็ต้องรักษา

เราเริ่มต้นด้วยการนั่งคุยกัน อันที่จริงพูดให้ถูกคือเขาแทบจะเลื้อยนอน ไม่มีกระดูกสันหลัง พูดน้อยจนแทบปิดการสื่อสาร ฉันจึงต้องเลือกใช้การสัมผัส ลูบหลังมือแผ่วเบาเพื่อเริ่มบทสนทนา เขาบอกว่าเขารู้สึกหน่วงๆ รู้สึกเหนื่อย ทำอะไรได้ทีละอย่าง คิดอะไรซับซ้อนไม่ได้ กลัวว่าจะทำได้ไม่ดี คิดถึงภาพในอดีต วนเวียนเล่าเรื่องบ้านหลังเก่าสมัยตอนที่เขายังเป็นเด็ก แล้วก็เริ่มร้องไห้ ฉันบอกเขาว่า “ไม่เป็นไรนะ เราอยู่ตรงนี้ เราจะช่วยกัน คอยสังเกตอาการ รับฟังเธอ วางใจเราได้ ถ้ามีอะไรให้เรียก หรือโทรหาได้ตลอด” ลูบใบหน้า เช็ดน้ำตา กอดปลอบขวัญ เรื่องหัวมันเยิ้มเหม็นเป็นหมาเน่าก็พักไว้ก่อน

โชคดีที่คนเศร้าของฉันอยากหายเป็นปกติ และบันทึกอาการของตัวเองไว้เพื่อใช้คุยกับคุณหมอ เขาบอกหลังจากที่รักษาไปได้ห้าเดือนว่า ความรู้สึกช่วงแรกเหมือนการอยู่ในหลุม จมและไม่สามารถเอาหัวโผล่มาพ้นน้ำ เมื่อได้กินยาแล้วจะรู้สึกเหมือนอยู่ในบ่อโคลน โผล่มาหายใจได้ แต่ขยับตัวไม่ได้ หนืดหน่วง สูญเสียศักยภาพ ขาดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิต ขาดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ความทรงจำระยะสั้นหายไป ทักษะที่ผ่านการฝึกฝน เช่นการพูดในที่สาธารณะซึ่งเขาเคยทำได้หายไป จำตัวเองไม่ได้ว่ากล้าแสดงออกแบบนั้นได้ยังไง และนั่นยิ่งทำให้เขากลัวว่าจะกลับมาไม่ได้

เขาบอกว่า สิ่งสำคัญคือ ต้อง ‘ยอมรับ’ และ ‘ไม่ยอมรับ’ — ยอมรับว่าตัวเองป่วย ต้องได้รับการรักษา มีโอกาสหายและกลับมาใช้ชีวิตปกติ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนแบบนี้ ไม่ยอมรับว่าความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง ตระหนักว่าอาการทั้งหมดมาจากความป่วย ไม่ยอมรับและไม่ยอมให้ตัวเองพึงใจกับความโศก จนหล่อเลี้ยงอารมณ์เศร้าซึ้งจมดิ่งแน่นิ่งและละทิ้งชีวิต

เพราะว่าโรคซึมเศร้าจะทำให้เขาเปลี่ยน เป็นเขาที่มีอีกคนเข้ามาแฝง เป็นอีกคนที่ก็เป็นเขาด้วย เป็นเขาที่ไม่ใช่เขา แต่ก็เป็นเขาที่อาจเป็นเขาได้เช่นกัน อ่านมาถึงตอนนี้อาจงงว่ากำลังเป็นคนรักของคนเศร้า หรือว่ากำลังเรียนปรัชญา ทำไมเข้าใจยาก

ไม่เป็นไร ลองเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันก่อน นั่นคือการตื่น! เพราะอาการของคนเศร้าจะโหยหาการนอน กลายเป็นคนขี้เซา ไม่อยากลุก คนปกติก็ไม่ค่อยอยากลุกจากที่นอนอยู่แล้ว แต่คนป่วยนั้นยากกว่า และเมื่อกลับถึงบ้านเขาจะเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วมุ่งตรงไปที่เตียง ล้มตัวลงนอนทันที

เขาเหนื่อย รู้สึกใช้พลังงานไปจนหมด ไม่อยากทำอะไรนอกจากนอน ไม่กินข้าวเย็น ไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน ตื่นเช้ามานั่งร้องไห้ กลับไปนอนติดเตียง ไม่อยากแต่งตัว ไม่ใส่ใจกับเสื้อผ้า รองเท้า ทั้งๆ ที่ปกติคือผู้ชายรักสะอาดที่ต้องเนี้ยบตลอดเวลา เหมือนว่าปล่อยแล้ว ชีวิตจะยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ ฉันจึงพยายามเคี่ยวเข็ญให้ไปอาบน้ำ ชวนให้กิน ให้ใช้ชีวิตประจำวันให้ได้ปกติมากที่สุด พยายามจูงใจว่าเสื้อตัวนี้ใส่แล้วดูดี รองเท้าคู่นี้ที่เธอเคยชอบ

สำหรับเขา ฉันรู้ว่ามันยาก ที่จะเอาชนะความเหนื่อยหน่าย แต่เขาก็พยายามทำ พยายามกิน พยายามอาบน้ำแต่งตัวให้หล่อ ให้เขาคนเดิมกลับมา เวลาส่องกระจกเราก็จะเชียร์อัปกันว่าวันนี้เขาดูดีจัง แต่ก็ใช่ว่าจิตใจจะให้ความร่วมมือได้ทุกวัน บางวันเขาก็กลับมาดิ่งอีก ไม่อาบน้ำ เหนื่อย นอนซม ไม่อยากทำอะไร เราเริ่มนับหนึ่งใหม่ ถอยหลังบ้าง ไปข้างหน้าบ้าง

ตั้งใจแล้ว ฉันจะพาเขากลับมา เรื่องสงครามความสัมพันธ์ที่ยังไม่จบก็พักไว้ก่อน องค์ร่างแม่ชีเทเรซ่าประทับ แต่ไม่ใช่แม่ชีทศพร แก้กรรม เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องเวรกรรม เขาแค่ป่วย ป่วยก็ต้องรักษา

อย่างที่สองคือ เตือนให้กินยา เหมือนเวลาเราดูแลคนเป็นหวัดแล้วช่วยเตือนให้เขากินยานั่นแหละ ไม่ต้องประคบประหงมเกินกว่าเหตุ แต่ต้องเคร่งครัดเรื่องการกินยา ช่วงแรกที่เริ่มรักษา เพราะยาจะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ต้องกินต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มรู้สึกว่าอารมณ์แจ่มใสขึ้น เมื่อหายแล้วคนเศร้าจะกลับเป็นคนเดิม โดยคุณหมอจะให้ยาต่อเนื่องอย่างน้อยหกเดือน ซึ่งในช่วงสองสามวันแรกของการกินยานั้นแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้น แถมยังนอนซมกว่าเดิม ประกอบกับคาดหวังเกินไปว่าจะต้องหาย ยาจะต้องช่วยให้ดีขึ้นสิ และอาจเกิดความคิดต่อต้าน ทำให้คนเศร้าอาการจมดิ่งลงไปมากกว่าก่อนจะรักษา วิตกกังวล จดจ่ออยู่กับอาการ กลัวจะไม่หาย และสารพัดสิ่งที่คิดวนเวียนซึ่งพาให้อาการแย่ลง

คนเศร้าของฉันวิตกจนต้องติดต่อขอปรึกษาหมอทางโทรศัพท์ก่อนจะครบกำหนดนัดหมาย ฉันให้กำลังใจและอธิบายว่า เราต้องให้เวลา ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป ผ่านไปแค่ไม่กี่วันเอง ไม่ว่าโรคอะไร ไม่มีใครหายป่วยในสามสี่วัน ฉันรู้ว่าเขารู้สึกแย่กว่าเดิมและไม่อยากกินยา แต่อย่าหยุดยาเองเพราะไม่เป็นผลดีต่อการรักษา เรื่องนี้สำคัญมาก

ขั้นต่อมา ฉันเสนอให้คนเศร้าแจ้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ต้องเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบงานร่วมกัน ให้ทราบถึงปัญหาที่เขากำลังเผชิญ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ว่าประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของเขา เป็นผลมาจากความป่วยไข้ ไม่ใช่ความเกียจคร้าน และเขามีสิทธิในการลาป่วยเพื่อไปพบหมอตามวันเวลาที่นัดหมาย ซึ่งอาจกินเวลาในการรักษาไปสักระยะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ที่ทำงาน และลดความกดดันในเรื่องงานของเขาไปก่อน

ระหว่างที่เราพยายามใช้ชีวิตประจำวันง่ายๆ ให้ดีที่สุดนั้น เขาก็จะพูดซ้ำถึงความเศร้าของตัวเอง ความกังวล ความหวาดกลัว ความผิดพลาด ปัญหาชีวิต อาการป่วย สภาพจิตใจ สภาวะหลุมดำที่เขาอยู่ และอีกสารพัดเรื่องเศร้าวกวนที่เขาเคยพูดมาแล้วหลายครั้ง คำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นคนยังไง เขาเคยทำอะไรมาบ้าง ที่เขาทำอยู่ตอนนี้ดีพอรึยัง  ทำได้ดีเหมือนเดิมไหม เราอาจรู้สึกว่า เอ๊ะ ลำไยจังเลย ลำไยทั้งสวน แต่ความไม่ปกติของสารเคมีในสมองทำให้เขากลายเป็นคนกังวลไม่เลิกรา อยากได้ความมั่นใจ อยากได้คำยืนยันว่าเขาเป็นคนมีค่า

ที่สำคัญ ฉันพร้อมทั้งรับฟังเรื่องเดิมๆ ให้เขารู้ว่าฉันฟังเขานะ พูดมาเลย เล่ามาเลย และพยายามตอบทุกคำถามของเขา แม้ว่ามันจะซ้ำเดิม เล่าว่าเขาเคยทำอะไรมาบ้าง เราเคยไปดูนิทรรศการศิลปะของศิลปินคนไหนที่ประทับใจสุดๆ ความสนใจในงานศิลปะร่วมสมัยของเขา ฟังเพลงแบบไหน หนังที่เคยชอบดู เรามาดูหนังเรื่องนั้นกันอีกไหม เขาชอบกินอะไร ทำอาหารอะไรได้อร่อย เราลองมาทำกับข้าวกินกันไหม หรือถ้าไม่อยากทำกินเอง เราไปหาร้านอร่อยๆ ที่เราชอบไปกินกันไหม หรือไปวิ่งกันไหม และอีกหลายๆ เรื่องที่ฉันชวนให้เขาทำนอกจากการนอน

เขาบอกว่า สิ่งสำคัญคือ ต้อง ‘ยอมรับ’ และ ‘ไม่ยอมรับ’ — ยอมรับว่าตัวเองป่วย ต้องได้รับการรักษา มีโอกาสหายและกลับมาใช้ชีวิตปกติ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนแบบนี้ ไม่ยอมรับว่าความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง

คนเศร้ายังคงยิ้มยาก ไม่สนุกกับชีวิต ไม่รู้สึกมีความสุขกับอะไรเลย น้ำหนักตัวลดลงไปห้ากิโลกรัม เขากินยาทุกวัน เม็ดแรกในตอนเช้าซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นในช่วงบ่ายและดิ่งตกลงมาในช่วงค่ำ ซึ่งยาเม็ดที่สองและที่นอนหมอนผ้าห่มจะรับหน้าที่ต่อ แต่เขาจะหลับไม่สนิท บางครั้งตื่นขึ้นมาเองกลางดึก การมีปัญหาในการนอนมีผลต่อการตื่นในแต่ละเช้า เป็นความทรมานที่ทุกวันเหมือนการเริ่มต้นใหม่ แต่หลังจากกินยาได้สองอาทิตย์อาการของเขาเริ่มดีขึ้น

เขามักบอกว่าวันนี้เขารู้สึกเป็นคนเดิม 70 เปอร์เซ็นต์แล้วนะ วันนี้ได้มา 80 เปอร์เซ็นต์ พอทำงานได้บ้างแล้ว อีกวันตกลงมา 60 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกแย่จัง กลัวว่าจะเป็นแบบนี้ไปตลอด อารมณ์ก็สลับกันไปในช่วงเดือนแรก กิจกรรมยังหนีไม่พ้น นอนหลับ รับฟัง ให้กำลังใจ คนเศร้ายังไม่พร้อมออกไปเจอผู้คน ไม่มีแรงออกกำลังกาย ทำงานง่ายๆ ได้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่มี ประสิทธิภาพในการตัดสินใจต่ำ อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เราอยู่อย่างนั้น วนซ้ำ สัมผัส ลูบหลังมือ ประคับประคอง

สำหรับคนรักของคนเศร้า การอยู่ข้างๆ คนเศร้า เราไม่จำเป็นต้องเศร้าไปด้วยนะคะ เรามีนิสัย มีความชอบ มีความบันเทิงมีชีวิตของเรา เราก็ใช้ชีวิตในด้านของเราไป อย่ากดดันตัวเองหรือแบกรับความรู้สึกเศร้าของเขาเอาไว้ เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะมีโอกาสเป็นคนเศร้าคนต่อไป คนเศร้าอาจจะทำนิสัยไม่ดีไปบ้าง ขอให้เข้าใจว่าเขากำลังป่วย แต่หากว่าเขาเป็นคนนิสัยไม่ดีอยู่ก่อนแล้ว เขาจะกลายเป็นคนนิสัยไม่ดีที่กำลังป่วย ซึ่งก็อาจจะรับมือยากกว่าเดิมไปสองเท่า

แต่ถ้าที่ผ่านมาคุณเคยรับนิสัยไม่ดีของเขาได้ ก็ขอให้อดทนเพิ่มขึ้นอีกหน่อย รับมือไปตามแต่สถานการณ์ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เมื่อหายแล้วคนเศร้าจะกลับมาเป็นคนรักคนเดิมของคุณ

เหมือนจะแฮปปี้เอนดิ้งใช่ไหม ตอบเลยว่าไม่ เพราะตอนหน้าเราจะมาเล่าให้ฟังถึงการเหวี่ยง ฟาดฟันจนถลอกปอกเปิก หมดศรัทธากับคำว่า “ความรักชนะทุกสิ่ง” และที่มาของประโยคซึ่งพาเขาดิ่งเหวกว่าเดิม

“เธอป่วย แต่อย่าใช้เป็นข้ออ้างทำนิสัยเสียใส่เราได้ไหม”

-เชิญติดตามตอนต่อไป-

Tags: