ในบรรดาคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘ท็อป’ – วราวุธ ศิลปอาชา ดูจะเป็นหนึ่งในคนที่ ‘เงียบ’ ที่สุด ไม่มีสีสัน ไม่มีเรื่องให้ทัวร์ลง ทำให้หลายคน ‘ลืม’ ว่าเขาเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่ในความเป็นจริง กระทรวงที่วราวุธดูแลคือกระทรวงใหญ่ที่ชื่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีบทบาทกว้างขวางตั้งแต่คุม ‘ฝุ่นพิษ’ PM2.5, รณรงค์เรื่องแบน ‘พลาสติก’ ยาวไปจนถึงหมวกของการจัดการปัญหารุกผืนป่า อีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับประเทศนี้มายาวนาน

อีกด้านหนึ่ง วราวุธเป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 เป็นตัวแทนคนสำคัญของพรรค ‘ชาติไทยพัฒนา’ ที่วันนี้ มี ส.ส. ในมือ 12 คน โดยสภาพบังคับ การเป็นลูกชายของ บรรหาร ศิลปอาชา วราวุธต้องเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพาพรรคที่พ่อเขาสร้างมา ให้ ‘ไปต่อ’ ให้ได้ และยังต้องรับหน้าที่ตัวแทนของพรรคในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เพื่อเป็นองคาพยพหนึ่งในการพารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งในกระแสธารการเมืองที่เชี่ยวกราก

The Momentum นัดคุยกับรัฐมนตรีวราวุธ บนห้องทำงานชั้น 20 ของเขา ที่มีทั้งจักรยานและกระสอบทรายเป็นเฟอร์นิเจอร์ ในเสื้อแจ็กเกต และชุดทำงานที่พร้อมออกกำลังกายตลอดเวลา ด้วยบนสนทนาตั้งแต่เรื่องดิน น้ำ อากาศ จนถึงเรื่องการเมือง ทั้งในสภาและนอกสภา ว่าคนอย่างเขามีมุมมองอะไร และในบทบาทของฟากฝั่งรัฐบาล เขาเห็น ‘อนาคต’ ของการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ช่วงหนึ่งปีเศษ ภายใต้คณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ คุณพอใจกับผลงานของตัวเองมากแค่ไหน

ต้องถือว่าช่วงหนึ่งปีกว่าๆ ที่ผมดำรงตำแหน่งมันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น เรื่องโควิด-19 ก็มีทั้งมุมดีและมุมไม่ดี

มุมไม่ดีคือ ในนโยบายที่เราเริ่มตอนแรก Say no to Plastic Bag หรือลดการใช้พลาสติก ลดปริมาณขยะ ที่เราเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ตอนแรก และกำลังจะไปได้ดี พอเจอโควิด-19 เข้าไป ก็กลายเป็นการเพิ่มพลาสติกมโหฬาร เพื่อความสะอาด เพื่อสุขอนามัย แต่เอาละ ไม่เป็นไร อาจจะชะลอนิดหน่อย ก็เอาโครงการอื่นมาเพิ่ม เช่น มือวิเศษ ที่เอาพลาสติกมา upcycle เปลี่ยนเป็นพลาสติกหมุนเวียน คือเอาพลาสติกไปแปรสภาพเป็นเสื้อผ้า เป็นเฟอร์นิเจอร์ เพื่อที่จะมาบรรเทาสถานการณ์ขยะที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 บวกกับเซ็นสัญญากับแพลตฟอร์ม food delivery ทั้งหลายให้เพิ่มออปชันให้กับลูกค้าในการไม่เอาช้อนส้อม ไม่เอาเครื่องปรุง เพื่อลดขยะที่จะเกิดขึ้น เพื่อหาช่องทางลดพลาสติกในช่วงโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าเราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบริษัท ห้างร้านต่างๆ แล้วก็ภาคเอกชนใหญ่ๆ หลายๆ ค่าย

ส่วนมุมที่ดี นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เราปิดอุทยานทุกแห่ง 2-3 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอดตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ทำไม่ได้ ไม่มีใครกล้าทำ เพราะอยู่ๆ ประกาศปิดอุทยานนี่โดนด่าแน่นอน แต่สบโอกาสโควิด-19 ก็ประกาศปิด พอปิดเสร็จก็เป็นไปตามที่คาด เราเห็นความอุดมสมบูรณ์ เห็นสัตว์ป่าออกมา เห็นเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่หัวสนามบินภูเก็ต ซึ่งเคยเป็นหัวสนามบินที่เสียงดังที่สุด จอแจที่สุด เราเห็นพะยูน โลมา วาฬ ช้าง และพลังของธรรมชาติที่ฟื้นตัว

หรืออย่างภูกระดึง เมื่อต้นปีไฟไหม้ไป 3,500 ไร่ ทุกปีภูกระดึงปิดตามฤดูกาลอยู่แล้ว แล้วพอได้ฝนเข้ามา 2-3 รอบ ภูกระดึงก็กลับมา 100% นี่คือพลังของธรรมชาติในการฟื้นฟูตัวเอง ถามว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาพอใจไหม ก็พอใจ ณ ระดับหนึ่ง ที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แทบไม่ได้หยุดทำงาน ผมไปตรวจเยี่ยมมาแล้วทั้งหมด 59 จังหวัด แล้วไม่ได้ไปจังหวัดละครั้ง เช่น เชียงใหม่ 12-13 ครั้ง บางจังหวัด 8 ครั้ง ถ้านับกันจริงๆ น่าจะใกล้ 100 ครั้งที่ออกเดินทาง ทุกครั้งที่ผมไปตรวจงาน จะปลูกต้นไม้ 1 ต้น วันนี้ปลูกได้ 120-130 ต้นแล้ว ก็พอใจในระดับหนึ่ง

มุมมองต่อกระทรวงทรัพยากรฯ หลังจากที่เข้ามาทำงาน ต่างจากที่คุณคิดไว้ตอนแรกหรือไม่ เพราะกระทรวงนี้ค่อนข้างใหญ่มาก

เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง ตรงที่เมื่อก่อนผมคิดแค่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องมลภาวะ ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน แต่พอได้เข้ามาอยู่จริงๆ ถึงได้เข้าใจว่าภารกิจของกระทรวงนี้มันยิ่งใหญ่จริงๆ ถ้าเทียบเป็นภาษาอังกฤษ เขาเรียกมันเป็น ‘Alpha and Omega’

alpha คือจุดกำเนิด และ omega คือจุดจบในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำอะไรก็แล้วแต่ ปัญหาหลายอย่างในประเทศไทยวันนี้ ทั้งภัยแล้งซ้ำซาก ดินถล่ม ฝนไม่ตก หรือผลผลิตไม่ตรงตามฤดูกาลก็เกิดจากที่ป่า ที่ระบบนิเวศโดนทำลายทั้งนั้น

แม้แต่งบประมาณที่จะต้องใช้ในการซ่อมถนนของกรมชลประทาน หรือกรมทางหลวงชนบท ถนนทางคลองชลประทาน เราเคยได้ยินว่าคลองชลประทาน พอขุดขึ้นมาจะมีถนนอยู่ด้านข้างใช่ไหม ถนนเหล่านี้ไม่ได้บดอัดเหมือนถนนกรมทางหลวง แต่อยู่ได้ด้วยแรงดันของน้ำที่อยู่ในคลองที่ทำให้ยังเป็นถนน พอน้ำไม่มีในคลองส่งน้ำ ถนนก็พัง แล้วพอน้ำในแม่น้ำหลักไม่มี น้ำในคลองชลประทานก็ไม่มี

ที่สุพรรณบุรีคือเห็นชัด เวลาน้ำในแม่น้ำท่าจีนไม่มี ก็ต้องย้อนกลับไปที่ต้นแม่น้ำ เพราะประตูระบายน้ำพลเทพ ปากแม่น้ำสุพรรณ ก็ต้องย้อนกลับไปถึงต้นแม่น้ำ ย้อนกลับไปถึงเขื่อนเจ้าพระยา และจากเขื่อนเจ้าพระยาก็ต้องย้อนไปแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ว่าน้ำมีไหม ถามทำไมเจ้าพระยาไม่มีน้ำ ก็เพราะว่าปิง วัง ยม น่าน ป่าต้นน้ำหายหมด พอหายหมด น้ำก็ไม่มี

ปัญหา PM2.5 ก็เหมือนกัน เกิดขึ้นเพราะไม่มีต้นไม้ไว้ซับ เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เอาไว้ซับ PM2.5 มันหายไปหมด เพราะฉะนั้น มันแก้ได้ด้วย solution ที่ง่ายนิดเดียว ก็ต้องปลูกป่า ปลูกต้นไม้ หรืออุทยานแห่งชาติก็เป็นตัวทำเงินอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล แต่ละปีฝรั่งมาเที่ยว มาดูน้ำตก ทะเล ดำน้ำ ดูปะการัง มากกว่าที่จะมาดูกระเป๋าหลุยส์หรือดูชาเนล ก็ต้องดูแลอุทยาน ทั้งคน ทั้งสัตว์ ทั้งธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น ขอบเขตของกระทรวงไม่ใช่แค่คน เมือง หรือชนบท แต่รวมถึงระบบนิเวศของประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่า อีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากให้ลูกหลานอยู่ในสังคมแบบไหน เราอยากให้ลูกหลานเราใส่หน้ากาก หรือเดินสูดอากาศได้

 

เรื่องฝุ่น PM2.5 ในความเห็นคุณ pain point อยู่ตรงไหน แล้วทางออกคืออะไร

วันนี้เราพูดถึง PM2.5 พูดถึงเรื่องหมอกควัน ต้องบอกเลยว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ปริมาณ PM2.5 ที่ถูกผลิตขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แหล่งที่มาของ PM2.5 72% มาจากถนน แปลว่ามาจากเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะรถบรรทุก รถบัส รถกระบะ เก๋ง มอเตอร์ไซค์ อันที่จริงปริมาณ PM2.5 ที่ถูกผลิตขึ้นในกรุงเทพมหานครช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยนะ แล้วก็ไม่ได้ลดลงด้วย มันผลิตเท่ากันตลอด รถติดเท่ากันตลอด แต่ช่วงที่อยู่ๆ มันขึ้นเป็นเพราะมาจากสภาพอากาศ

ช่วงกลางปีหรือช่วงมรสุม เมื่อ PM2.5 ผลิตขึ้นมา มีลมมรสุมขึ้นมา ทำให้ PM2.5 กระจายออกไป ความเข้มข้นก็เจือจางลงไป หรือพอมีฝนตกลงมา ฝุ่นก็โดนชะล้าง อากาศก็ใสขึ้นอีกครั้ง สังเกตเลยว่าเวลาฝนตก พายุมา ฟ้าก็จะใส เพราะฉะนั้น เวลาที่เข้าหน้าหนาว กลายเป็นว่าเหมือนมีฝามาครอบกรุงเทพมหานครเอาไว้ พอฝามาครอบเอาไว้ ไอ้พาหะที่จะนำพาฝุ่น PM2.5 ไปไหนมาไหนก็ไม่มี ลมไม่เคลื่อน

ปัญหาในกรุงเทพมหานคร 72% ของ PM2.5 มาจากยวดยานบนท้องถนน 18% มาจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ แล้วก็โรงงานการผลิตอุตสาหกรรม แล้วก็อีก 10% ที่เหลือมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน อย่างเช่น ร้านขายหมูปิ้ง ร้านหมูกระทะ ที่ต้องโฟกัสจุดใหญ่คือบนท้องถนนว่าจะแก้อย่างไร ผมก็เลยเสนอว่า ถ้าวันไหนสภาพอากาศปิด ก็ปิดโรงเรียน ให้ work from home ล่วงหน้าไปเลย เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ผมเชื่อว่าจะลดปริมาณรถยนต์ในกรุงเทพมหานครได้ 30% แล้วมลพิษในกรุงเทพฯ ก็จะลดลงพอสมควร แล้วถ้าหากปิดโรงเรียน work from home ยังไม่เวิร์ก ก็ใช้ยาแรงขึ้นอีก สมมติว่าสีลม อาจจะให้แค่รถไฟฟ้า EV รถไฮบริด หรือรถจักรยานเข้าเท่านั้น ในเมื่อ PM2.5 มาจากเครื่องยนต์ ก็ต้องสั่งห้ามรถวิ่ง

ส่วนระยะยาวจะเป็นอย่างไร ก็ต้องค่อยๆ ปรับเครื่องยนต์ให้สะอาดขึ้น ณ จุดหนึ่ง รถยนต์อาจไม่มีมลภาวะมาเลย อาจเป็น EV ก็ได้ จักรยานก็ได้ เพราะถ้าเอาเครื่องยนต์ออก ก็ไม่มีมลพิษ ก็ไม่มี PM2.5 ฉะนั้น หัวใจสำคัญคือต้องลดปริมาณรถยนต์ หรือลดปริมาณเครื่องยนต์ที่อยู่บนท้องถนน อันนี้ก็เป็นบทบาทที่ทุกหน่วยงานต้องมาช่วยกันแล้ว อย่างเช่นการไฟฟ้านครหลวงจะเดินสายในการสร้างจุดชาร์จรถยังไง รถไฟฟ้า รัฐบาลจะมีแนวคิดสนับสนุน EV แค่ไหน ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเปลี่ยนรถธรรมดาไปเป็นรถไฟฟ้าอย่างไร  เป็นบทบาทที่ทุกคนจะช่วยกันคิด

 

ถ้ามีคนพูดว่าเรื่องฝุ่น ผ่านมาปีหนึ่งก็ยังไม่เห็นแก้อะไร รู้สึกอย่างไรบ้าง

ถามว่ารัฐบาลเป็นคนปล่อย PM2.5 หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ถามว่าคนปล่อย PM2.5 คือใคร ก็คือพวกเราทุกคน ถามว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลยหรือ ถ้ารัฐบาลปล่อยยาแรงไป ก็อาจเกิดดราม่าขึ้นอีก

เหมือนกับบ่นว่าอ้วน แต่ปากกับมือก็ยังกิน บ่นเรื่อง PM2.5 รัฐบาลจะแก้อย่างไร แต่คุณก็ยังขับรถมาอยู่ ครั้งล่าสุดที่คุณเอารถเข้าอู่ไปเช็ก เปลี่ยนฟิลเตอร์เมื่อไหร่ คุณยังบ่นอยู่ แล้วรถคุณยังพ่นควันดำปี๋อยู่อย่างนั้น มันก็ตลกเหมือนกันนะว่า เออ แล้วจะให้รัฐบาลทำอย่างไร ในเมื่อคุณก็ยังยืนยันที่จะขับรถอย่างนั้น เพราะฉะนั้น วิธีแก้ระยะสั้นผมเสนอให้มีการ work from home และหยุดเรียนชั่วคราวในวันที่อากาศกดทับ

เรื่องที่ยังอยากทำต่อในช่วงที่ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ คือเรื่องอะไร 

การสร้างที่ยากที่สุดเลยคือ การสร้าง ‘จิตสำนึก’ ให้กับประชาชน การออกนโยบายต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เรามี think tank เราเอาความคิดต่างๆ สร้างโครงการออกมา จะ implement ไปปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยาก เช่น Everyday Say No to Plastic ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

แต่เรื่องที่ยากคือการกระทำอะไรที่จะทำให้โครงการของเราเกิดขึ้นมาแล้วทำต่อไปได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นกับประชาชนว่าพร้อมร่วมมือแค่ไหน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะ ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาล ฝ่ายค้าน บริษัทห้างร้าน หรือของพี่น้องประชาชน แต่เป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ถ้าไม่ช่วยแก้ จะนั่งบ่นกันต่อไปว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร ทำไมไม่ฉีดสเปรย์น้ำ ฉีดสเปรย์น้ำแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะทำอะไรต่อ

ท้ายที่สุดแล้ว PM2.5 ยังถูกผลิตอยู่ตลอด โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายก็ยังผลิตมลภาวะอยู่ตลอด ก็ต้องถามว่าโรงงานอุตสาหกรรมลดการผลิตสัก 50% ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ช่วงระยะเวลา 2-3 วัน ก็ไปลดการผลิต PM2.5 ที่ต้นตอได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องอาศัยความรับผิดชอบของพี่น้องประชาชน ความมีวินัย แล้วก็อย่างที่ผมบอกคือ จิตสำนึกของเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี เราพยายามทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เริ่มจากในกระทรวงก่อน รถของราชการให้เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ถ้ารถราชการทำได้ รถหลายแสนคันในกรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นรถไฟฟ้า ปริมาณ PM2.5 ก็จะลดไปโดยปริยาย

 

คุณมองระบบราชการอย่างไร รู้สึกมีความหวังบ้างไหม 

ระบบราชการถามว่ามีติดขัดไหม มี ถามว่ามีอะไรที่มันยุ่บยั่บเกินเหตุไหม มี แต่สุดท้ายระบบนี้ถูกสร้างมาเพื่อความรอบคอบ ถ้าเร่งทำโดยที่ขาดความรอบคอบออกไป คนที่จะต้องรับผิดชอบ บางครั้งไม่ใช่ตัวรัฐมนตรี แต่เป็นตัวข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ต้องเข้าใจหัวจิตหัวใจเขาก่อนว่านโยบายที่เราสั่งไป เขาไปปฏิบัติแล้วมันทำได้มากน้อยแค่ไหน เขาจะเดือดร้อนหรือเปล่า ถ้าทำแล้วเขาเดือดร้อนก็ไม่มีใครทำตาม

ฉะนั้น ถึงต้องลงไปทำงานให้เห็นกับตา ให้ได้ยินกับหู ไปฟังว่า เอ๊ะ ปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วก็หารือกับหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอันนี้เราสามารถข้ามอันนี้ได้ไหม ถ้าเขาบอกติดระเบียบนี้อยู่ ก็ต้องถามว่าระเบียบที่เขามีมันเขียนมาเพื่ออะไร เพราะถ้าจะไปขอเวฟระเบียบตัวนี้ แล้วถ้าทุกคนขอเวฟบ้างก็จะมีผลกระทบกับพื้นที่อื่น

ถามว่ากฎระเบียบเยอะไหม เยอะ บางอันล้าหลังด้วย ถึงได้มีแนวทางการทำ Regulatory Guillotine (กิโยตีนกฎหมาย) เพราะกฎหมายหลายตัวที่มีอยู่ ปัจจุบันไม่ได้มีความจำเป็นแล้ว แต่บางอัน ในการปกป้องผู้ปฏิบัติงานก็ยังต้องมีอยู่ จึงเป็นหน้าที่ที่ของผมเอง ในฐานะรัฐมนตรี ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชคอยเร่งงาน เร่งแล้วมันก็เดิน ไม่เร่งก็ไม่เดิน ฉะนั้น บางครั้งมันไม่ได้ช้าที่ผม มันช้าที่คนทำด้วยนะ

 

สิ่งที่คุณได้จากคุณบรรหารในสไตล์การบริหารงานการเมืองคืออะไร

ที่แตกต่างกันก็คือท่านเก่งกว่าผมเยอะ ผมนี่ต้องเรียกว่าเทียบหนึ่งในล้านท่านได้เลยล่ะ ท่านเป็นคนขยัน ท่านเป็นคนมีวินัยอย่างยิ่ง แล้วก็ท่านทำงาน ท่านเกิดมาเพื่อทำงานจริงๆ แล้วอันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่มีทางสู้ท่านได้เลย แล้วอีกสิ่งก็คือ ผมจะเฮฮากว่าท่าน ท่านบรรหารเป็นคนซีเรียส ไปกินข้าวเสร็จก็กลับบ้านเลย ส่วนผมจะเฮฮากับข้าราชการ ก็จะใกล้ชิดกัน

ถ้าพูดถึงการทำงาน ประสบการณ์เรายังน้อยมาก ต้องไปขอความรู้จากเพื่อนๆ ข้าราชการ เพราะข้าราชการแต่ละคนที่อยู่ในกระทรวงล้วนแล้วแต่มีความอาวุโสมาก ทั้งด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ แต่ผมไม่เคยชี้นิ้วสั่งนะ ผมมีแต่ไปขอความรู้ ไปขอเขาอย่างเดียว ฉะนั้น สิ่งที่ได้จากนายบรรหารมาคือไม่เคยชี้นิ้วสั่ง ขอร้อง เดินไปขอเขาดีๆ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ ไม่เคยอวดฉลาดว่า เฮ้ย ผมเป็นรัฐมนตรี ผมต้องรู้ ไม่

เมื่อกี้ยังบรีฟงานกันอยู่ ผมบอกกับข้าราชการว่า ที่ท่านพูดมาทั้งหมดนี่ผมฟังไม่รู้เรื่องเลย ช่วยอธิบายอีกรอบหนึ่งเถอะ เพราะฉะนั้น คนเป็นรัฐมนตรีไม่ใช่พระเจ้า ไม่ได้รู้ทุกอย่าง ข้าราชการรู้ดีกว่า ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ โง่ก็บอกโง่แหละ แต่มันไม่มีใครโง่ตลอดไป เมื่ออธิบายแล้วเรารู้ก็เก็บเอาไปใช้ในยามจำเป็น

นี่คือสิ่งที่ได้จากนายบรรหารมา สิ่งที่แตกต่างคือความขยัน ท่านขยันกว่าผมไม่รู้กี่ร้อยกี่ล้านเท่านะ แล้วก็ท่านเป็นคนมีวินัยในการทำงาน ท่านเป็นคนที่ข้าราชการทุกคนให้การยอมรับด้วยความขยันและก็ความมุ่งมั่นในการทำงาน ตัวผมเองในขณะนี้ก็ค่อยๆ พยายามสร้าง เขาเรียกว่าเก็บชั่วโมงบินในการทำงาน ก็พยายามละเอียดลออให้ได้สักเสี้ยวหนึ่งของท่าน

 

พอใจกับบทบาทของพรรคชาติไทยพัฒนาแค่ไหน ทั้งในฝ่ายบริหาร และในสภา  

ในส่วนของฝ่ายบริหารพรรคคือตัวผมเอง แล้วก็ท่านประภัตร (โพธสุธน) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมก็คิดว่าเราทำงานมาได้พอสมควรนะ หนึ่งปีที่ผ่านมาทั้งตัวผมเองแล้วก็ท่านประภัตรนี่เป็นสองรัฐมนตรีที่ทำงานกันไม่ได้หยุดเลย ถ้าพูดในส่วนของฝ่ายบริหาร ก็ค่อนข้างพอใจพอสมควร

ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยความที่เรามีจำนวนเพียงแค่ 12 คน การนำเสนออะไรหลายๆ สิ่งอาจจะทำได้ไม่คล่องเท่าที่เราอยากจะทำ เพราะว่าเรามีจำนวนเสียงที่บางครั้งอาจจะไม่พอ แต่พูดถึงการอภิปราย พูดถึงการทำหน้าที่ในกรรมาธิการแต่ละชุด โดยเฉพาะเป็นคณะกรรมาธิการที่ดิน สิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการการเกษตร พืชผลทางการเกษตรต่างๆ เหล่านี้ ก็ค่อนข้างพอใจกับการทำงานตลอด 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา

 

หลายคนอาจรู้สึกว่ารัฐบาลนี้มีส่วนผสมจากหลายพรรคมากเกินไป ทำให้ขับเคลื่อนยาก คุณมองว่าเป็นอุปสรรคไหม

ผมว่าไม่หรอก ทุกอย่างมันอยู่ที่การพูดคุย พอมีหลายพรรคก็บอกหลายพรรคเกินไป มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) มีอยู่พรรคเดียว ก็บอกว่าเป็น absolute power ดังนั้น บทคนจะบ่นมันก็บ่นทั้งนั้นแหละ แล้วกี่พรรคถึงจะเรียกว่าหลายพรรค 5 พรรค หลายพรรคไหม ถ้าไม่ใช่ 6 ไหม เพราะฉะนั้น คำว่าหลายพรรค ความสำคัญมันอยู่แค่การพูดคุยกันระหว่างแกนนำพรรค ถ้าตกลงกันแล้ว มีการประสานงานกันอยู่ตลอด จะกี่พรรคก็แล้วแต่ ถ้าพูดคุยกันอยู่ตลอด ก็โอเค

 

หนึ่งในเงื่อนไขของการชุมนุมนอกสภา ก็คือเรียกร้องให้เกิดแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาเองก็สนับสนุน วันนี้จุดยืนยังเหมือนเดิมอยู่ไหม 

เราก็ยังยืนยันอยู่เหมือนเดิมว่าเห็นด้วยกับการใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (สสร.) ในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประเทศไทยคือรัฐธรรมนูญ 2540 พรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งในขณะนั้นคือพรรคชาติไทย ที่มี นายบรรหาร ศิลปอาชา คุณพ่อของผมเป็นคนริเริ่ม จากการแก้ไขมาตรา 211 ในปี 2538 เปิดทางให้มีคณะ สสร. ขึ้นมา

ถือได้ว่า สสร. ในขณะนั้น เป็น สสร. ที่ดีที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยตั้งขึ้นมา คนให้การยอมรับ จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมาชิกวุฒิสภาในเวลานั้น แม้จะมาจากการแต่งตั้ง แต่ทุกคนก็ให้การยอมรับรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น การใช้แนวทางของ สสร. จะเป็นจุดสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนการได้มาของ สสร. แต่ละแขนง ก็ไปว่ากันในรายละเอียด

 

แต่โจทย์อาจจะแตกต่างจากสมัยนายกฯ บรรหารชัดเจน เพราะความแตกแยกของสังคมค่อนข้างสูง 

ถ้าทุกคนปล่อยกันบ้างมันก็ทำได้ คือต้องมานั่งคุยกันแล้วก็ต้องยอมกันบ้าง ไม่ใช่บางคน อันนี้ไม่ยอมเลย บางกลุ่มไม่ยอมเรื่องนั้น คือต่างคนถ้าเริ่มด้วยการไม่ยอมก่อน มันก็ไม่ต้องคุยกันต่อแล้ว มันก็ไม่ได้ทำงานต่อ การเมืองเป็นเรื่องของการเจรจา การพูดคุยให้ความต้องการของทุกฝ่ายสมประโยชน์ ว่าฝ่ายนี้ต้องการให้มีการเลือกตั้งแบบนี้ มาพูดคุยกัน อย่าเริ่มด้วยจุดที่เห็นต่าง เริ่มด้วยจุดที่เห็นตรง แล้วค่อยๆ ขยายผล เพราะถ้าเริ่มที่จุดเห็นต่างปุ๊บ มันจะไม่มีทางเจอกันได้เลย ส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่าเป็นไปได้อยู่ เรื่องม็อบ ผมก็ไม่ห่วง เพราะว่าเดี๋ยวถึงเวลาเนี่ย สังคมจะเป็นคนตัดสินเองว่า เอาหรือไม่เอา

 

อีกหนึ่งสิ่งที่คุณบรรหารเริ่ม และพูดถึงตลอดคือเรื่องการ สมานฉันท์ คุณมองอย่างไร

ถ้าพูดถึงเรื่องสมานฉันท์กับม็อบ กับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน คงต้องถามก่อนว่า จุดประสงค์จริงๆ ที่ออกมาเรียกร้องคืออะไร เพราะว่าแรกๆ ก็จะมีแก้รัฐธรรมนูญ หรือให้ทำนั่นทำนี่ แต่อยู่ไปนานๆ มันชักจะไม่ใช่ กลายเป็นประเด็นอื่น ประเด็นอื่นที่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ แล้วก็ไม่รับ

ถ้าไปถึงจุดนั้น รวมทั้งตัวผมเองด้วย บางเรื่อง ไม่ต้องมาสมานฉันท์กับผม เพราะผมไม่เอา ผมบอกได้เลยพรรคชาติไทยพัฒนา เราทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคขึ้นมา จนกระทั่งมาถึงหัวหน้าพรรคที่ชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา ท่านก็เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่สนองเบื้องพระยุคลบาทมากที่สุด มาจนถึงวันนี้ผมเองก็ยังเทิดทูนสถาบันเหนือสิ่งอื่นใด

แน่นอน การที่ผมให้สัมภาษณ์อย่างนี้ เดี๋ยวต้องมีอีกฝ่ายออกมาว่า แต่การทำงานทุกวันนี้ ผมมีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และได้เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ถ้าไม่ใช่งานของพระบรมวงศานุวงศ์จะไม่ได้รับการพัฒนาขนาดนี้ แล้วเราก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยที่ผ่านมา เราอยู่ได้ด้วยพระบรมโพธิสมภารของพระบรมราชจักรีวงศ์ ใครไม่เห็นด้วยอย่างไรผมไม่รู้ แต่เรื่องนี้ผมบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่ผมไม่สมานฉันท์ด้วย ถ้าจะมาแตะต้องสถาบันอันเป็นที่รักของผม ของพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ต้องมาคุยกับผม

อีกอย่าง สิ่งที่ผมยังสงสัยอยู่ก็คือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ตอนนี้กำลังจะแก้ กำลังพิจารณากันอยู่ หรือการเรียกร้องให้เลือกตั้งเอย คือถ้าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องเลือกตั้งอยู่แล้ว ทางม็อบก็เถียงแบบหัวชนฝาว่าต้องยุบสภา เราก็พยายามอธิบายอยู่นะว่ายุบสภาตอนนี้มันก็อีหรอบเดิม เสียเงินเปล่าๆ บางคนไม่ใช่เด็กแล้ว ก็เลยไม่แน่ใจว่าจงใจหรืออะไร

ถ้าพูดเรื่องการทำงาน พรรคชาติไทยพัฒนาเราไม่ได้มีปัญหาในการทำงานกับใคร จะฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือใคร ผมเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ มา 17 เดือน ไม่เคยแบ่งว่าฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ใครมาขอความช่วยเหลือผมช่วยหมด เพราะผมเองก็เป็น ส.ส. คนหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้น พรรคชาติไทยเราไม่ได้เน้นสร้างศัตรู เราเน้นสร้างผลงานให้กับพี่น้องประชาชนมากกว่า แล้วเราก็ไม่ชอบมีเรื่อง มีเรื่องแล้วงานไม่เดิน ขอมีงานดีกว่า

 

มีคนบอกว่า มันเป็นการต่อสู้ระหว่างเจเนอเรชัน คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณคิดอย่างไร

ผมขอพูดเลยนะ แล้ว quote ให้ชัดๆ เลยด้วย คนที่พูดว่าวันนี้เป็นการต่อสู้ เป็นสงครามระหว่าง ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นความคิดที่ผิด แล้วก็เป็นความคิดที่โง่มาก ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ ถ้าใช้แต่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว ไม่มีทางรอดหรอก ผมบอกได้เลย ผมเคยผ่านมาแล้ว เคยคิดมาแล้ว แล้วก็เพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีมานี้เอง

คนรุ่นใหม่อย่างเดียวเอาประเทศไม่รอด และคนรุ่นเก่าอย่างเดียวก็เอาประเทศไปไม่รอดเหมือนกัน เพราะคนรุ่นเก่าก็จะทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่มีการคิดนอกกรอบ ไม่มีความคิดอะไรใหม่ๆ เข้ามายังยึดติดอยู่แบบเดิม บริหารประเทศก็จมเหมือนกัน พังเหมือนกัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คุณมีแนวความคิดดี มีวิสัยทัศน์ดี แต่ไม่มีประสบการณ์ อยู่ๆ จะมานั่งที่หัว คุณไม่เคยเริ่มจากข้างล่างก่อน มาอยู่ที่ยอดพีระมิดเลย ไม่มีทางบริหารงานได้เด็ดขาด เพราะอยู่ๆ ถ้าไม่เคยขับเรือ คุณเอาเรือออกจากท่าไม่ได้หรอก วนอยู่ในอ่าง ดีไม่ดีเรือล่มตายยกหมู่เหมือนกัน ฉะนั้นรุ่นใหม่อย่างเดียวก็ไม่รอด รุ่นเก่าอย่างเดียวก็เจ๊ง

ฉะนั้น วิธีที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปได้ในวันนี้ ต้องเป็นการรวมการทำงานกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ต้องยอมรับและให้เกียรติการทำงานของคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นเก่านั้นพาประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ บางคนบอกว่า โอ๊ย มันถึงได้เจ๊ง มันถึงได้ล่มจม มันถึงได้มีปัญหา แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่มันก็มาจนถึงวันนี้ ดีก็มี ไม่ดีก็มี

ในขณะที่ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่แล้วเราจะไปต่อจากนี้ยังไง เราจะไปแบบเดิมๆ มันก็ไม่ได้ โลกพัฒนาไปทุกวันนะ มีกิมมิกใหม่ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มา ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามา ประเทศมันก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้น วันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่จะต้องมารวมกัน ให้เกิดภาษาอังกฤษที่เขาเรียกว่า synergy จะใช้รุ่นใหม่อย่างเดียว จะใช้เก่าอย่างเดียว ผมบอกเลยไปไม่รอด

ดูองค์กรไหนก็แล้วแต่ที่มีแต่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว โดยที่ไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ ส่วนใหญ่ไปไม่รอดสักองค์กร ถามว่าต้องมี seniority ต้องมีอาวุโส ต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่ไหม ยิ่งต้องมีใหญ่ องค์กรใดที่ไม่มีหลักอาวุโส ที่ไม่มี seniority องค์กรนั้นพัฒนาไม่ได้ ไม่เจริญ ผมกล้าบอกเลย แล้วคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นคนไหนบอก โอ๊ย มันล้าสมัยไปแล้ว ก็ลองดูสักวัน คุณออกมาทำงานแล้วคุณจะได้เห็นว่าการมี seniority มันช่วยในการทำงานอย่างไร

 

คุณคิดอย่างไรกับคนที่บอกว่าพรรคคุณ คือพรรคที่เอาใจคนภูธร คุณต้องปรับตัว เอาใจคนรุ่นใหม่ด้วยไหม

ผมคิดว่าไม่ได้เอาใจใครหรอก จะบอกว่าเอาแต่ภูธรอย่างเดียว ก็อย่าลืมนะว่าคน 80% ของประเทศไทยคือชาวนา ถ้ามองในมุมมองของนักการเมือง เอาใจคน 80% กับเอาใจคน 20% เอาใจคน 80% ถือว่าเป็นฐานเสียงใหญ่มากกว่า แล้ว 20% คนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะบริโภคข่าวจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งทุกวันนี้อ่านอะไรก็แล้วแต่ ต้องหารครึ่ง จริงสักครึ่งเดียว บางครั้งจริงไม่ถึงครึ่งด้วย โกหกเสียส่วนใหญ่

แล้ว sentimental ของคนรุ่นใหม่เป็นอะไรที่อ่านปุ๊บ เชื่อข่าวเลย พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์สอนอะไรมาก็แล้วแต่ พอคนในโซเชียลโพสต์มาก็จะรู้สึกว่าพูดจริงแน่นอน โดยที่ไม่ได้ verify แหล่งข่าว ส่งต่อไปเลย ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย อ่านไป อ้าว ข่าวโอละพ่อ

แล้ววันนี้คงจะไม่ใช่เอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มานั่งดูในภาพรวมว่าการแก้ไขปัญหาของประเทศมันต้องการอะไรบ้าง ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เก่า แต่ก็ไม่ได้ใหม่มาก ผมอาจจะเป็น renaissance คือกลางเก่า กลางใหม่ แต่ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมก็คุยได้ไม่แพ้ใครเหมือนกันนะ ถ้าพูดถึงประสบการณ์การเมือง ผมก็มีมาระดับหนึ่ง อาจจะไม่เท่าผู้ใหญ่ แต่ก็มีมาพอสมควร จากการที่ได้ทำงานกับคุณบรรหารมาตั้งแต่ผมจำความได้ ก็ได้เห็นอะไรหลายอย่าง ดังนั้น ชาติไทยพัฒนาเรายึดมั่นการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติเป็นหลัก อันไหนเร่งด่วน อันไหนใหญ่ อันไหนเรามีความเชี่ยวชาญ

เมื่อก่อนนั้นเราอาจจะมีผู้หลักผู้ใหญ่เยอะที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเรื่องของการเกษตร ก็อาจจะมีเป็นภาคภูธรไป แต่อย่างวันนี้ผมมาทำงานในกระทรวงทรัพย์ฯ เรามีคนทำงานที่เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราพูดกันถึงเรื่อง Paris Agreement เราพูดกันถึงคาร์บอนเครดิต เมื่อก่อนพรรคชาติไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้ ก็เพราะเราไม่มีบุคลากร วันนี้เราเริ่มมีบุคลากรมากขึ้น เราเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ แล้วผมเองก็ทำงานตรงนี้มา ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังจะ shift แต่หัวใจคือการแก้ไขปัญหา เรามีบุคลากรแบบไหน ก็ทำหน้าที่นั้นให้ แล้วเราก็มีเรื่องที่เราสนใจ มีบุคลากรเพิ่มขึ้น เพื่อ reverify portfolio ของเราให้แก้ปัญหาได้หลากหลายขึ้น

 

ชาติไทยพัฒนาจะต้องหลุดจากความเป็นพรรคบรรหาร หรือพรรคสุพรรณฯ หรือไม่

เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคบรรหาร หรือพรรคสุพรรณฯ ก็ทำงานให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ วันนี้เรามี ส.ส. อยู่ 12 คน 6 คนมาจากสุพรรณฯ ก็ได้ ส.ส. มา จะทำอย่างไร หรือจะให้บอกว่า โอ๊ย ผมไม่เอา ส.ส. สุพรรณฯ ก็บ้านผมอยู่สุพรรณฯ บ้านผมอยู่สุพรรณแล้วไม่มี ส.ส. สุพรรณฯ ก็บ้าแล้ว

อืม แล้วถ้าเกิดเราได้คนเพิ่มเข้ามาทำงานตรงนั้นตรงนี้นะครับ ก็เป็นสิ่งที่ดีมากขึ้นไปอีก เอื้อประโยชน์ให้เราทำ แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน อย่างวันนี้ ผมทำงานมาปีกว่าแล้ว ลงไปแก้ปัญหาถึงภาคใต้ แก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง แก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะ ถามว่าสุพรรณฯ บ้านผมมีชายหาดให้กัดเซาะไหม ก็ไม่มี เรื่องช้างก็ไม่มีนะ เรามีปัญหาแต่เรื่องการเกษตร เราก็แก้เหมือนกัน การเป็นรัฐมนตรีไม่ได้แปลว่าเป็นรัฐมนตรีของคนสุพรรณฯ ผมเป็นรัฐมนตรีของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน

ฉะนั้น จะมาบอกว่าเป็นพรรคบรรหารหรือพรรคสุพรรณฯ ก็แล้วแต่ความคิดของท่าน เพราะก่อนหน้าที่จะเป็นพรรคบรรหาร ถามว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเกิดขึ้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาจากซอยราชครู แล้วทำไมไม่เรียกว่าพรรคซอยราชครูล่ะ การที่มีพรรคการเมืองขึ้นมาพรรคหนึ่ง ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในแต่ละยุคในแต่ละสมัยจะเปลี่ยนกัน ประทานโทษ พรรคชาติไทยมีมาก่อนคนชื่อบรรหารอีกนะ พรรคชาติไทยตั้งโดย ท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ทหารเป็นคนตั้งพรรคนี้ด้วยซ้ำ แล้วก็พอตอนหลังก็มาเป็น ท่านประมาณ อดิเรกสาร, ท่านชาติชาย (ชุณหะวัณ) ก็ทำไมไม่บอกเป็นพรรคราชครู มันอาจจะเป็นพรรคบรรหาร หรือพรรคสุพรรณฯ แค่ช่วงนี้เท่านั้น แต่ว่าอีก 10 ปี อีก 20 ปีจากนี้ไป อาจจะเป็นพรรคนาย ก. พรรคนาย ข. อาจจะเป็นพรรคของจังหวัดอื่นก็ได้

แต่นี่คือสถาบันที่เรียกว่าเป็นสถาบันการเมืองที่ไม่ยึดติดว่าจะเป็นของใคร เป็นเหมือนรถคันหนึ่งที่วันหนึ่งคนขับชื่อบรรหาร แล้วก็ขับมาอยู่ได้สักพัก 10-20 ปี ทีนี้บรรหารไม่อยู่แล้ว เป็นกาญจนามาขับแทน บังเอิญเป็นศิลปอาชาเหมือนกัน ก็ขับต่อไป ในอนาคตอีก 10 ปี จากนี้ไปอาจจะเป็น นาย ก. ตระกูล ข. ตระกูล ค. จากจังหวัดไหนมา มากุมบังเหียนแทน ก็เป็นพรรคของคนอื่นต่อ เพราะวันนี้ผมไม่มองพรรคชาติไทยว่าเป็นของสุพรรณฯ เป็นของบรรหาร ถ้าคิดอย่างนั้น ผมว่าคิดแคบเกินไป

ยังมีความหวังกับการเมืองไทยอยู่ไหมครับ 

(ตอบทันที) โอ้ แน่นอน การเมืองเปรียบเสมือนหนังเรื่องยาวๆ บางครั้งพระเอกก็กลายเป็นผู้ร้าย บางครั้งผู้ร้ายก็กลายเป็นพระเอก มันเหมือนละครเรื่องยาวๆ เรื่องหนึ่ง แต่เป็นเหมือนหนังชีวิต ต้องดูกันนานๆ ไม่ใช่ดูกัน 3-5 ปี แต่มันต้องดูกัน 10-20 ปี การพัฒนาตั้งแต่ปี 2475 มาจนถึงวันนี้ ผมถือว่าเราผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาก จุดที่สูงของประเทศไทยก็มี วันนี้มันมาถึงจุดที่บางคนอาจจะบอกว่าเป็นจุดที่ไม่ดีนัก ถ้าดูกราฟกันยาวๆ บางช่วงก็จะขึ้น บางช่วงก็จะลง แต่พอภาพรวม เรา expand timeline ออกมา ก็จะเห็นว่าเทรนด์มันดีขึ้น ผมมั่นใจเลยว่ามันดีขึ้น ถ้าใครคิดว่าไม่ดีขึ้น ผมคิดว่าคุณคิดผิด แล้วก็คิดว่าคุณมีอคติกับประเทศของคุณมากจนเกินไป

ผมรักประเทศนี้ แล้วผมก็อยากเห็นประเทศนี้พัฒนาไปในทางที่ดี แต่การพัฒนาประเทศมันไม่ได้ง่ายอย่างที่บางคนคิด คนบางคนไม่เคยเข้ามาอยู่ในระบบ ก็จะไม่รู้ว่าข้อจำกัดของระบบราชการ หรือว่าแนวความคิดที่เขาวางกฎระเบียบอย่างนี้เอาไว้มันเพื่ออะไร อย่างบอกว่า ส.ว. วันนี้ต้องเลือกตั้ง อ้าว สมัยนายกฯ ทักษิณ บอกไม่เอา เพราะเป็นสภาผัวเมีย  พอ ส.ว. จะมาจากแต่งตั้ง ก็บอกไม่เอา แล้วสรุปจะเอาอะไร หรือจะไม่เอาเลย พอไม่เอาเลย พอไม่มีวุฒิสภา ก็มีปัญหาอีกว่าจะเอาอะไรมาบาลานซ์กับสภาผู้แทน

ผมเชื่อมั่นในระบบการเมือง เพียงแต่ว่าในแต่ละห้วงเวลา ผู้เล่นก็เปลี่ยนไป วันนี้นักการเมืองรุ่นใหญ่บางท่านก็ไม่อยู่กับพวกเราแล้ว บางท่านก็หนีหายตายจากไป บางคนก็ไม่ได้กลับเข้ามาในวงการใหม่ อาจจะมีคนใหม่ๆ เข้ามาในวงการเรื่อยๆ รุ่นใหม่เข้ามา ห้าวเป้งเข้ามาก็มี ห้าวเป้งเข้ามาแล้ว เราก็เห็นว่า การเมืองมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คุณคิด การเมืองเป็นอะไรที่มองจากข้างนอก ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้ แต่คุณอย่าลืมว่าวันที่คนเดินเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง คุณไปบังคับให้เขากาไม่ได้ คุณไปจับมือให้เขากาไม่ได้หรอก

ฉะนั้น แล้วเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ มันไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่พูด ไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่คิด เวลาดีลกับประชาชน ดีลกับความรู้สึกของประชาชน มันไม่ได้ง่ายเลย

ในมุมมองคุณ การเมืองที่ไม่ขยับไปไหน ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาจริงๆ แล้วคืออะไร

การที่บางครั้งคนเราจะมีทิฐิมานะมากเกินไป อาจจะพูดกันง่ายๆ ว่าต้องถอยคนละก้าว แต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่มีใครยอมถอยกันสักคน ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ยอมถอย เด็กบางคนก็ไม่ยอม จะต้องอย่างนี้เท่านั้น เอาเข้าจริง ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่มีทางเดินไปข้างหน้าได้ ยกตัวอย่างในกระทรวงทรัพย์ฯ มีคนปรามาสไว้เลยว่า รัฐมนตรีสมัยแรก ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการมาก่อน จะมีปัญญาทำงานเหรอ แล้วกระทรวงนี้ก็มีคนบอกว่าของแรง มีพวกขาแรงเต็มไปหมด

แต่ก็ดูมาสิวันนี้ 17 เดือนผ่านมา ผมเชื่อว่ากระทรวงทรัพย์ฯ เป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดใน ครม. ชุดนี้ ผมทำได้ด้วยการที่ผมไม่ใช่อันธพาล ไม่ใช่เข้ามาแล้วมานั่งพุงปลิ้น ผมเข้ามาด้วยการขอ เข้ามาด้วยการถอย ขอให้ทางนี้ช่วยนิดนะ ขอให้ข้าราชการทางนี้ถอยนิดนึง ช่วยหน่อย เวลาถอยก็ขอร้องแกมบังคับ คือเราเป็นรัฐมนตรี ก็บอกว่าช่วยถอยหน่อย

ถ้าผมเข้ามาวันแรก เข้ามาแบบ โอ้โฮ ขาโจ๋เลย ต้องทุบเปรี้ยงๆ ไม่ยอม ป่านนี้ก็ตีกันตายหมดแล้วทั้งกระทรวง งานก็ไม่เดิน เพราะฉะนั้น คุณต้องยอมจริงๆ เพื่อที่อยากจะเห็นเดินไปข้างหน้าได้ ชีวิตคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองไม่มีใครได้ 100% คุณตั้งไว้ 100 คุณได้ประมาณ 60-70% คุณก็เก่งแล้ว ถ้ายอมถอยบ้าง ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้หมด

Tags: , , , , ,