“ชีวิตคือการเรียนรู้” เป็นคำกล่าวที่ทุกคนได้ยินได้ฟังกันจนคุ้นชิน แต่บางครั้งก็ละเลยไปอย่างน่าเสียดาย ทว่าประโยคนี้ช่างเป็นจริงอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการจะดำรงชีวิตอยู่อย่างดี การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง รวมถึงฝึกจิตใจให้พร้อมรับมือความเป็นไปต่างๆ ของสังคมโลกซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในยุคปัจจุบันซึ่งมีความสลับซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งกว่าสมัยก่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนละเลยไปไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่อง ‘สุขภาวะ’ ซึ่งถือเป็นมิติสำคัญสำหรับทุกชีวิต
The Momentum โชคดีที่ได้มีโอกาสสนทนากับบุคคลทรงคุณวุฒิ ผู้มีคุณูปการในการช่วยยกระดับสุขภาวะของคนไทย ผ่านงานมากมายที่ท่านได้อุทิศตนทำมาตลอดหลายทศวรรษ ทั้งในฐานะจิตแพทย์ ผู้ก่อตั้งสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มก่อตั้งกรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ทางเลือก อีกทั้งยังเป็นคนแรกๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้สาธารณะชนตระหนักรู้ถึงประโยชน์จากการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการวิ่ง จุดกระแสมาราธอนฟีเวอร์ขึ้นในวงกว้าง จนทุกวันนี้มีประชาชนหันมาดูแลสุขภาพกันอย่างจริงจังด้วยการวิ่งเพิ่มขึ้นมากมาย
ศ.นพ. อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในวัยใกล้จะ 80 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษากรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ จิตแพทย์ที่ปรึกษาอาวุโส โรงพยาบาลเทพธารินทร์ คุณหมอยังคงกระฉับกระเฉง อารมณ์ดี และความคิดแจ่มชัดได้อย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุในวัยเดียวกัน ซึ่งท่านก็ได้กรุณามาบอกเล่าทั้งเรื่องราวประวัติชีวิตอันเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจให้พวกเราได้ฟัง
น้ำร้อนลวก…ยาผีบอก ประวัติชีวิตแสนเข้มข้นที่สร้างตัวตน
ในฐานะที่คุณหมอได้เคยผ่านงานสำคัญๆ ที่มีบทบาทและคุณูปการช่วยยกระดับด้านสุขภาวะของคนไทยมามากมาย เมื่อขอให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์สำคัญ อันเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่ทำให้มุ่งมั่นทำงานทางด้านนี้ ศ.นพ. อุดมศิลป์ เริ่มต้นเรื่องราวว่า
“ผมเกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งระหว่างสงครามนั้นมีการโจมตีทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ ครอบครัวของผมจึงต้องอพยพไปอยู่ที่ ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร ตอนผมอายุ 4 ขวบ สมัยก่อนไม่มีเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้าเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ มีแต่ตะเกียงลาน ตอนนั้นแม่ตั้งตะเกียงลานจุดไฟ ตั้งกาต้มน้ำจะต้มไข่ให้ผมกิน ในขณะที่แขนหนึ่งของแม่ก็อุ้มน้องสาวคนถัดมา ซึ่งอายุยังไม่ถึงขวบดี น้องสาวผู้ไร้เดียงสาของผมก็เอามือปัดกาน้ำมันที่เดือดจัดอยู่ลงมาโดนผม แผลน้ำร้อนลวกทำให้หน้าผมบวมจนตาปิด เวลาผมนอนแม่ต้องเอาใบตองมารองศีรษะ เพราะใบหน้าที่บวมจะมีน้ำเหลืองไหลนองออกมา”
โชคไม่ดีที่ในยุคสงครามนั้นหายารักษาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะอย่างเพนนิซิลิน คุณพ่อของคุณหมออุดมศิลป์จำเป็นต้องนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปเสาะหายามาให้ แต่ก็ได้กลับมาแค่ยาเหลือง
“สมัยนั้นพ่อแม่ผมเป็นครูเงินเดือน 18 บาท ซึ่งในช่วงสงครามยาเหลืองราคาตั้งขวดละ 16 บาท คิดดูสิว่าใบหน้าที่โดนน้ำร้อนลวกบวม มีแต่ยาเหลืองจะช่วยอะไรได้ ผมนอนปวดอยู่อย่างนั้นอยู่นานนับเดือน จนทุกคนนึกว่าผมคงต้องตายแน่”
โชคดีที่ชะตาไม่ได้ลิขิตชีวิตคุณหมอเอาไว้แค่นั้น เมื่อวันหนึ่งมีชายคนหนึ่งมาที่บ้าน และบอกว่าเป็นแพทย์แผนไทยโบราณ ได้ข่าวว่าลูกชายคนโตของบ้านนี้โดนน้ำร้อนลวก กำลังจะตาย เขามียาดีที่ช่วยรักษาได้
“คุณหมอท่านนั้นบอกให้พ่อแม่ผมเอาน้ำมันสกัดจากใบชา ไปตีกับปูนกินหมาก แล้วเอาไปทาก็จะหาย พ่อและแม่ผมไม่มีทางเลือกอื่นใดในตอนนั้น จะเป็นยาผีบอกก็ต้องเอา แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรอดชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้
“เรื่องนั้นผ่านมาได้ประมาณ 75-76 ปีแล้ว แต่ยังเป็นสิ่งที่ผมจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผมพัฒนาเป็นคนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เหตุการณ์นี้สอนอะไรให้กับผมหลายอย่างมาก ทำให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องฐานะ โอกาส และความรู้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะขนาดครอบครัวของเรามีพ่อแม่เป็นครู ซึ่งในสมัยนั้นก็ถือว่ามีความรู้ และก็ยังพอจะมีฐานะอยู่บ้าง เมื่อเกิดเหตุก็กลับแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แล้วลูกคนอื่นล่ะ ซึ่งนี่ทำให้ผมตั้งใจว่าจะต้องเรียนหนังสือให้ดี และมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือคนอื่น”
จิตแพทย์…จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของคุณหมออุดมศิลป์ เกิดขึ้นหลังเรียนจบแพทย์ทั่วไป และกำลังจะต้องเลือกเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง การตัดสินใจเลือกครั้งนั้นของคุณหมอ สร้างคุณูปการด้านสุขภาวะให้กับประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ การเกิดขึ้นของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย และกรมสุขภาพจิต
“ผมเข้าเรียนที่ศิริราชด้วยความตั้งใจว่าจะเรียนด้านกุมารแพทย์ จนกระทั่งเรียนจบได้เป็นแพทย์ฝึกหัด กำลังจะเลือกเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ก็มีอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์มาชวนให้ไปเทรนทางจิตเวชฯ เพราะท่านสังเกตดูหน่วยก้านของผมแล้วคิดว่าน่าจะเป็นจิตแพทย์ที่ดีได้
“ผมใช้เวลาคิดอยู่เพียงแค่ข้ามคืนก็รู้สึกว่าดีเหมือนกัน เพราะยังมีอะไรเกี่ยวกับจิตเวชที่เรายังไม่รู้เยอะอีกเยอะมาก และในตอนนั้นก็มีคนที่มีปัญหาสุขภาวะทางจิต และฆ่าตัวตายกันเยอะมาก จึงตัดสินใจเรียนต่อด้านจิตเวชศาสตร์ และได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ”
ระหว่างที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณหมอได้รู้จักกับองค์กร ‘สะมาริตันส์’ ที่ทำงานช่วยเหลือผู้มีปัญหาชีวิต และคิดฆ่าตัวตาย ด้วยวิธีการรับฟังทางโทรศัพท์ คุณหมอได้ไปสมัครเป็นอาสาสมัครขององค์กรดังกล่าว และเมื่อกลับมาถึงประเทศไทยจึงคิดว่าน่าจะก่อตั้งสมาคมสะมาริตันส์ในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า เพราะคนไทยค่อนข้างขี้อาย เวลามีปัญหาก็มักไม่กล้าที่จะบอกใคร แต่การบรรเทาทุกข์ของผู้คนด้วยการรับฟังปัญหาทางโทรศัพท์แบบนี้ไม่ต้องเห็นหน้าตา จึงคิดว่าบริการบรรเทาปัญหาทางสุขภาพจิตแบบนี้น่าจะเหมาะกับอุปนิสัยใจคอคนไทย
สมาคมสมาริตันส์แห่งประเทศไทย ที่คุณหมอได้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 นั้นยังคงดำเนินงานอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และได้ช่วยเหลือให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย ได้ผ่านห้วงเวลาแห่งความทุกข์ไปได้ จนมีจิตใจที่แข็งแรงขึ้น
“ส่วนอีกเหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเปลี่ยนแปลงชีวิตผมก็คือช่วงที่ผมอายุได้ประมาณ 35 ปี และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกเข้าไปทำงานในสภา โชคดีที่บุญมาวาสนาส่งจนได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผมมีความตั้งใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า อยากจะเข้าไปผลักดันทำให้เกิดกรมสุขภาพจิตขึ้น ด้วยในสมัยนั้นกรมสุขภาพจิตยังมีสถานะเป็นเพียงกองงานเล็กๆ เท่านั้น แต่เพราะเราเป็นจิตแพทย์จึงเห็นถึงความสำคัญทางด้านนี้ จึงต้องการยกระดับสุขภาวะทางด้านจิตใจให้กับคนไทย”
“ส่วนอีกอย่างที่ตั้งใจว่าอยากจะทำให้เกิดขึ้นก็คือสถาบันการแพทย์แผนไทย ซึ่งต่อมาก็ได้ยกระดับเป็นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังไปตั้งแต่ตอนต้นว่าตัวผมเองก็เป็นหนี้ชีวิตของสมุนไพร จึงเห็นคุณค่าของสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก ที่สามารถช่วยเหลือชีวิตผู้คนได้”
ผู้สร้างตำนาน ‘วิ่งสู่ชีวิตใหม่’
ในวัยหนุ่มที่เปี่ยมไปด้วยพลัง หลายคนมักจะสนุกกับการใช้ชีวิต จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครหลายคนอาจจะหลงลืมที่จะดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของตัวเอง ซึ่งก็เช่นเดียวกับคุณหมออุดมศิลป์ ซึ่งสนุกสนานกับการทำงานเพื่อทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม จนครั้งหนึ่งได้เคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วจากโรคหัวใจตีบ แต่ด้วยแรงใจอันมากมายทำให้คุณหมอหาทางที่จะมีชีวิตต่อ จนค้นพบว่าการเยียวยาตนเองด้วย ‘การวิ่ง’ นั้นเป็นยาดีที่จะสามารถรักษาสุขภาพให้ดีขึ้นได้ จึงไม่ลังเลที่จะเผยแผ่ความรู้นี้กับประชาชน
“ตอนนั้นผมก็เหมือนกับคนหนุ่มทั้งหลายนั่นแหละครับ คือนึกว่าตัวเราเองแข็งแรง เป็นซูเปอร์แมน ไม่มีวันเป็นอะไร ก็ทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน กินนอนไม่เป็นเวลา ไม่มีเวลาออกกำลังกาย แม้จะมีสัญญานที่ร่างกายบ่งบอก แต่เราก็ไม่ได้ฟังมัน จนกระทั่งเกิดอาการ ‘Alopecia Areata’ หรือผมร่วงเป็นหย่อมจากความเครียด ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นจิตแพทย์แล้วก็รู้ดีว่าอาการนี้เกิดจากความเครียดแท้ๆ แต่ก็ยังใช้ชีวิตต่อไปแบบเดิม แล้วในที่สุดก็เกิดอาการแน่นหน้าอกแล้ววูบหมดสติไปแบบไม่รู้ตัวถึง 2 ครั้ง จึงแน่ใจว่าตัวเองน่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ และเข้ารับการตรวจรักษาอย่างจริงจังในที่สุด”
ซึ่งก็เป็นไปดังคาด คุณหมออุดมศิลป์เข้ารับการตรวจสุขภาพและพบว่าตัวเองเป็น ‘โรคหัวใจตีบ’ เมื่ออวัยวะสำคัญที่เคยไว้ใจอย่างหัวใจ กลายมาเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ฝังอยู่ในอก และก็ไม่รู้ว่ามันจะออกฤทธิ์เล่นงานตอนไหน สิ่งที่คุณหมอคิดอยู่อย่างเดียวในตอนนั้นก็คือ “ยังตายไม่ได้”
ด้วยความแน่วแน่ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อลูกและภรรยา ทำให้คุณหมอพยายามที่จะหาทางแก้ไข และเป็นอีกครั้งที่โชคชะตาทำให้คุณหมอเผอิญได้รับแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมา ‘วิ่งสู่ชีวิตใหม่’ ระหว่างที่คุณหมอกำลังอยู่ในระหว่างเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ ก็มีโอกาสได้อ่านนิตยสาร ‘Asia Runner’ จนพบกับเรื่องราวของวิศวกรเครื่องบินชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งเป็นโรคหัวใจตีบเช่นเดียวกัน และหันมารักษาตัวให้แข็งแรงขึ้นมาได้ด้วยการวิ่งมาราธอน “เนื่องจากผลของการออกกำลังกายนั้นทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น และทำให้เกิด Collateral Artery Collateral Artery คือเกิดเส้นเลือดฝอยซึ่งไปเลี้ยงหัวใจขึ้นใหม่” คุณหมออธิบาย และเรื่องราวนี้เองก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณหมอลุกขึ้นมาวิ่งจนร่างกายแข็งแรงขึ้น
“หลังจากวิ่งอย่างจริงจัง ร่างกายของผมก็ไม่แสดงอาการเหมือนที่เคยเป็นมาอีกเลย ผมรู้สึกว่าร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นมากจาการวิ่ง จนเกิดแรงบันดาลใจสมัครไปวิ่งฮอนโนลูลูมาราธอน หนึ่งในมาราธอนเก่าแก่ที่สุดของโลก ซึ่งในสมัยนั้นคนไทยเองก็ไม่ได้นิยมวิ่งมาราธอนกันเยอะขนาดนี้”
หลังจากที่คุณหมออุดมศิลป์สามารถลงแข่งวิ่งมาราธอน และกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ คุณหมอก็นำประสบการณ์ของตนมาถ่ายทอดความรู้ และแบ่งปันแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ด้วยการเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการวิ่งลงในนิตยสารหมอชาวบ้าน จากคำเชิญของ นายแพทย์ ประเวศ วะสี พร้อมทั้งก่อตั้งและเป็นประธานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผลักดันให้เกิดงาน ‘วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ’ ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งถือเป็นงานวิ่งครั้งยิ่งใหญ่ระดับประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ที่มีผู้เข้าร่วมนับแสน และต่อมาทาง สสส. ก็ได้จัดงาน ‘วิ่งสู่ชีวิตใหม่’ หรือ Thai Health Day Run ขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว นับเป็นการช่วยปลุกกระแสนักวิ่งหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย จนปัจจุบันนี้มีประชาชนที่หันมานิยมดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองกันด้วยการวิ่งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
เติบโตอย่างแข็งแรงทางจิตใจ ด้วยแรงบันดาลใจจาก ‘เอตทัคคะ’
“ฟังดูแล้วทั้งเรื่องราวชีวิต และงานของคุณหมอ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข สุขภาพจิต หรือการส่งเสริมให้คนวิ่ง นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนตัวตน พัฒนา และทำให้สุขภาวะและชีวิตของผู้คนดีขึ้นทั้งนั้นเลย” — เราตั้งข้อสังเกต จึงขอให้คุณหมอช่วยกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองไปตลอดชีวิต ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างไร
“ผมมีความเชื่ออย่างชาวพุทธครับว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก และเป็นชาติที่สามารถสร้างบุญสร้างกุศลได้มากที่สุด ซึ่งขนาดเทวดานั้นยังไม่มีโอกาสเลย ดังนั้นเมื่อเราโชคดีได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาการครบ 32 อยู่ในครอบครัวที่ดี ฉะนั้นเราก็ควรจะต้องมีหน้าที่สำคัญคือทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล เกื้อกูลคนอื่น”
“อย่างตัวผมเองก็เรียนวิปัสสนากรรมฐานมาตลอด รวมถึงเป็นกรรมการ และเป็นวิทยากรของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ยุวพุทธิกสมาคมฯ มีหลักคิดที่สำคัญคือ ‘สร้างคน…สร้างที่ใจ’ ซึ่งคำอธิบายก็คือ ‘ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว’ ฉะนั้นการจะสร้างบุคลากรที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีได้ ก็ต้องเริ่มที่ใจ นั่นคือการให้ความรู้ความเข้าใจ ให้คนมีคุณธรรม มีศีลธรรม มีจริยธรรมที่งดงาม เป็นเรื่องสำคัญที่สุด”
จากการติดตามข่าวคราวของยุวพุทธิกสมาคมฯ ทำให้เราทราบว่าในปีนี้ จัดให้มีโครงการฝึกอบรม โดยใช้ ‘เอตทัคคะ’ เป็นหัวใจ ภายใต้ชื่อว่า ‘เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา’ เรารู้สึกสนใจ จึงถามคุณหมอว่า คำๆ นี้หมายความว่าอย่างไร และโครงการดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร
“เอตทัคคะ แปลว่าเป็นเลิศ ในครั้งพุทธกาลนั้นพระพุทธเจ้าจะทรงแต่งตั้งสาวกที่มีทั้ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่มีความสามารถเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้เป็นเอตทัคคะในด้านนั้นๆ เช่น นางวิสาขาเป็นเอตทัคคะ คือเป็นเลิศทางทำบุญ อย่างพระสารีบุตรก็เป็นเอตทัคคะทางปัญญา อย่างนี้เป็นต้น แต่ละด้านก็มีคนเดียว ซึ่งหากลองพิจารณาดูให้ดีๆ ก็ถือว่าเป็นไอดอลที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในสมัยก่อน”
“โครงการนี้จึงได้จัดการบรรยายและฝึกอบรม โดยนำเรื่องราวของเอตทัคคะมาบอกเล่า เพราะเอตทัคคะทุกองค์นั้นล้วนได้ฟังธรรมะจากโอษฐ์พระพุทธเจ้าเอง แล้วลงมือทำอย่างแท้จริง ด้วยความเพียร ด้วยความวิริยะ จนได้รับมรรคผลของการทำความดีนั้นทุกองค์ เราจึงนำเรื่องราวของเอตทัคคะมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจธรรมะ และได้ปฏิบัติธรรมะฟังคำสอนพระพุทธองค์และนำมาปรับปรุงพัฒนาตนเองกันให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และเป็นบุคลากรที่ดีของสังคม โดยในปีนี้ก็ได้เลือกเอตทัคคะ 9 องค์ขึ้นมา แล้วก็จัดอบรมตลอดทั้งปีเลยครับ”
ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดี มีประโยชน์ ซึ่งจะมอบทั้งแรงบันดาลใจและโอกาสในการที่เยาวชน จะได้พัฒนาขัดเกลาตนเอง จนมีหลักยึด เพื่อใช้ธรรมะมาเป็นหลักในการสร้างเสริมจิตใจตนเองให้แข็งแกร่ง ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต และถ้าหากผู้ปกครองท่านใดสนใจ ต้องการที่จะพาน้องๆ เยาวชนไปร่วมอบรมกับโครงการดีๆ เช่นนี้ ก็สามารถ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ www.ybat.org หรือติดตามข่าวสารกิจกรรมได้ทาง https://www.facebook.com/ybatpage/ และ www.thaihealth.or.th หรือ โทร 02-455-2525
Fact Box
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยมีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบท้ัง 4 ด้าน ได้แก่ กาย จิต ปัญญา สังคม และร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่
- สสส. ดำเนินงานภายใต้ “ยุทธศาสตร์ไตรพลัง” อันได้แก่ พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม ที่จะร่วมสอดประสานกัน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ ซึ่งประกอบไปด้วยมิติ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางปัญญา และสุขภาวะทางสังคม