ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนตลอดปี 2019 นี้ พยายามแปรรูปคำว่า Sustainability หรือความยั่งยืน  ให้ออกมาเป็นผลลัพธ์เชิงรูปธรรมและจับต้องได้ โดยจัดการประชุมที่ยึดแนวคิดเรื่อง ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ และ ‘การให้ความสำคัญต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม’ 

งานประชุมครั้งนี้ จึงพยายามทำงานผ่านองค์ประกอบและสิ่งของต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมได้หยิบจับ สัมผัส เกี่ยวข้อง และใช้งานจริงในการจัดการประชุม ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร หน่วยงาน หรือองค์กรในประเทศไทย ที่มีวิสัยทัศน์และนโยบายด้านความยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน

การลงมือเปลี่ยนแปลงการจัดการประชุมระดับความร่วมมือระหว่างประเทศให้ยั่งยืนได้จริงและเกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีหัวเรือที่แข็งแรงคอยผลักดัน บุคคลที่อยู่เบื้องหลังผู้นั้นคืออดีตเอกอัครราชทูต ธฤต จรุงวัฒน์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอาเซียน 2019 

เราได้สนทนากับทูตธฤต ถึงแนวคิด วิธีการ และแรงบันดาลใจ ว่าทำอย่างไรจึงผลักดันให้การประชุมครั้งนี้มีความหมายสำคัญต่อเรา เพื่อนบ้าน และโลก ได้มากกว่าที่เคย

จุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จะเปลี่ยนอาเซียนซัมมิทให้เป็น ‘กรีน มีตติ้ง’ คืออะไร

เราเริ่มต้นจากธีมหลักของอาเซียน ไทยแลนด์ แชร์แมนชิพปีนี้ คือ ‘Advancing Partnership for Sustainability’ เราอยากนำพาสมาชิกของอาเซียนก้าวไปข้างหน้าอย่างร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ซึ่งหากเราทำสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกันได้ ภูมิภาคอาเซียนของเราก็จะส่องแสงระยิบระยับเป็นที่น่าจับตาในจอเรดาร์ของโลก 

ทีนี้คำว่ายั่งยืน หรือ Sustainability มีหลายความหมาย นอกเหนือไปจากการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เราเลือกหยิบจับคำว่ายั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งจับต้องได้ง่ายและใกล้ตัวที่สุด มาเป็นธีมหลักของวิธีการจัดประชุม

ในฐานะผู้นำการจัดประชุมครั้งนี้ ท่านทูตทำอย่างไรให้การจัดการประชุมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นได้จริง

ผมเชื่อว่าความสำเร็จต้องเริ่มมาจากนโยบายที่ดี พอนโยบายมีคำว่า Sustainability เราก็ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้สัมผัสได้ เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่แนวคิดหรือคอนเซ็ปต์ เราจึงออกไปมองหาแรงบันดาลใจว่าใครหรือองค์กรไหนบ้างในประเทศไทยที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในเรื่องนี้ และเป็นแบบอย่างหรือเป็นผู้นำทางให้กับเราได้ 

พันธมิตรรายแรกๆ ที่เราเข้าไปหาคือบริษัทซึ่งเขามีความคิดในแนวนี้อยู่แล้ว ได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ซึ่งเข้ามาเป็นองค์ประกอบในแง่มุมของการใช้วัสดุรีไซเคิล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งให้แรงบันดาลใจเรื่องการนำใยพลาสติกกลับมารีไซเคิลและอัพไซเคิล รวมทั้งสนับสนุนของที่ระลึกให้แก่ผู้มาร่วมงาน และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ที่ทำเรื่องการอัพไซเคิลเช่นกัน ก็มาช่วยเราแปลงร่างป้ายไวนิลที่ใช้แล้วให้กลายเป็นกระเป๋าที่สวยงาม 

ในมิติของการรักษาสิ่งแวดล้อม เราได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานร่วมกับคณะผู้แทนกว่าสิบประเทศ แทนที่จะแจกกระดาษ ซึ่งปกติจะมีหลายพันแผ่นต่อการประชุม เราใช้ระบบการลงทะเบียนผ่านเวบไซต์กลาง ระบบอีเมลทางการ และระบบออนไลน์แอพพลิเคชั่นในการส่งเอกสารและคู่มือต่างๆ แทน และยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ เช่น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มาสนับสนุนซิมการ์ดฟรี เพื่อรองรับแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ในการทำงาน 

ทำไมการมีพันธมิตรที่ดี ถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ

การมีพาร์ตเนอร์ที่มีแนวคิดต้องกัน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน บริษัทและองค์กรเหล่านี้อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่เรามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และยังทำงานร่วมกันอยู่ทั้งปี พันธมิตรเหล่านี้ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจยิ่งขึ้นในการที่จะนำแนวคิดด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ มีอะไรบ้างที่กระทรวงการต่างประเทศจะสามารถปรับในการประชุมโดยยังสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของอาเซียน และนำปัจจัยด้านความกรีนเข้าไปผนวกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันคือผลของการร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน 

ทำไมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ถึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องลงมือทำ

เราไม่ได้หวังผลเลิศ เพียงแต่คิดว่าเราอยากจะผลักดันจิตสำนึก ตอนนี้ทุกคนบนโลกเริ่มจับต้องได้ เริ่มรู้สึก เริ่มเข้าใจว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในทางที่ไม่เป็นมิตรต่อการดำรงชีพ เช่น โลกร้อนขึ้น พายุ ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น อย่างนี้เป็นต้น เกิดผลกระทบไปสู่ระบบนิเวศ เช่น วาฬ พะยูน หาอาหารตามวงจรชีวิตปกติไม่ได้ จำเป็นต้องดิ้นรนหาอาหารก็อาจจะทานอะไรที่เป็นโทษต่อร่างกายแล้วก็เสียชีวิต มันมีผลที่ทุกคนรู้สึก สัมผัสได้ แต่ถามว่าแล้วเราทำอะไรที่ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้บ้าง 

ผมว่าทุกคนสามารถทำได้ ไม่ต้องมีการลงทุนเลย ถ้าเรามีการผลักดันจิตสำนึกเหล่านี้ขึ้นมา ฉะนั้น ผลของการประชุมครั้งนี้อาจจะเป็นทางเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันจิตสำนึกที่หลายๆ ฝ่ายพยายามผลักดันอยู่แล้ว ให้เกิดขึ้นกับผู้ที่เข้าร่วมประชุม หรือผู้ที่มาฟัง หรืออ่านเกี่ยวกับแนวการทำงานเรื่องการประชุม เพื่อที่กลับไปแล้วจะถามตัวเองบ้างว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เรามองขวดพลาสติกให้ลึกซึ้งมากขึ้นได้ไหม แทนที่จะบรรจุเครื่องดื่มแล้วก็ทิ้งไป คาดหวังว่ามันจะขับเคลื่อนจิตสำนึกให้เกิดมากขึ้น แล้วก็ต่อเนื่องกันไป ไม่ได้หวังผลเลิศว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดฟ้าใหม่อะไรขึ้นมา เปล่า แต่ว่าเราควรจะต้องร่วมมือกัน

นอกจากสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ทำไมถึงเลือกพันธมิตรด้านความยั่งยืนด้านสังคม ให้มาร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน 

ความยั่งยืนในมุมของสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่ในดำริของอาเซียนนะครับ ในมิติของการพัฒนามนุษย์และสังคม รวมทั้งเรื่องของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ท่านนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ก็ย้ำแล้วย้ำอีก เราก็นำมิตินี้มาควบคู่กับเรื่องการจัดประชุมด้วย โดยสนับสนุนกลุ่มผู้ที่มีข้อพิการทางร่างกายมาทำงานในการประชุมของเรา ประกอบด้วยบาริสต้าผู้พิการทางการได้ยิน จาก Cafe Amazon for Chance งานฝีมือของผู้พิการทางสายตาจากโครงการ ปักจิตปักใจ ที่ได้รับการแนะนำและเชื่อมโยงมาจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้ผลิตช็อคโกแลตที่เป็นกลุ่มผู้พิการ จาก Asia-Pacific Development Center ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร เป็นต้น

ในประเทศไทยมีหลายองค์กรที่ทำงานเรื่องแบบนี้ เราก็เห็นว่าเป็นเรื่องน่าชื่นใจที่คนเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้เป็นภาระแล้ว กลับกลายเป็นว่าสามารถทำรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างดีอีกด้วย เราก็เลยนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาสู่การจัดการประชุมครั้งนี้ด้วย 

อยากให้เสริมอีกนิดนึงว่าคำว่า sustainability นี่สำคัญอย่างไรต่อประเทศเรา แล้วก็กลุ่มประเทศอาเซียนที่จะก้าวไปด้วยกัน

คำว่ายั่งยืน หรือ Sustainability แปลอีกทางหนึ่งได้ว่าการคงอยู่ ถ้าไม่ยั่งยืน ในที่สุดการคงอยู่ก็อาจจะมีปัญหา ฉะนั้น ความยั่งยืนคือความจำเป็นที่จะต้องทำให้เราคงอยู่ต่อไป ประเทศอาเซียนทั้งหลายก็ควรจะทำงานบนแนวคิดเดียวกัน เราควรจะรวมกลุ่มให้มีพลัง ให้เกิดความยั่งยืน มั่นคง ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม เราอยู่คนเดียวก็อยู่ได้ แต่อาจจะไม่ดีเท่ากับการที่มีกลุ่มพลัง 

การที่มีอาเซียนเป็นสมาคมหลัก ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเราเกิดแสงแวววาวขึ้นมา แสงแวววาวนี้ทำให้มีคนต้องการมามีปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้นเรื่อยๆ เรามีคู่เจรจา (dialog partners) สิบประเทศ ซึ่งเป็นประเทศหลักๆ ในโลกทั้งนั้น และมีอีกหลายประเทศมาเข้าคิวรอ หมายความว่าภูมิภาคที่มีแสงเรืองรองจากการเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกันและทำงานร่วมกันนั้นเป็นที่ดึงดูดของประเทศอื่นๆ อันนี้เป็นข้อพิสูจน์

อยากให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ และสื่อมวลชน ได้อะไรจากการเข้ามาชมนิทรรศการ Green Café ในการประชุมครั้งนี้

นิทรรศการนี้นำเสนอจากมุมมองที่เราต้องการรวบรวมการทำงานทั้งปีในการที่ไทยเป็นประธานอาเซียน เพื่อให้ผู้ที่ผ่านเข้ามาได้เห็นความพยายามของไทยในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งของธีมในการประชุมครั้งนี้ โดยเราจัดออกมาในรูปแบบที่ผ่อนคลาย สบายๆ เป็นเหมือนคาเฟ่ที่เล่าเรื่องราวของเรา และพาร์ตเนอร์ที่มาร่วมกันทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมา นี่คือคำอธิบายที่บอกว่าทุกคนสามารถสัมผัสได้

Tags: , , , , ,