ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 มีรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุครั้งแรก ณ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน เพียงสามวันถัดมา ทางการจีนได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า โรคปอดอักเสบที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นมีสาเหตุมาจาก ‘โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ หรือโควิด-19 ที่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จนเกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขไปทั่วโลก 

มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ หรือการปิดเมืองกลายเป็นทางออก ที่หลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ใช้การล็อกดาวน์ในช่วงแรก ร่วมกับการก่อตั้ง ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ (ศบค.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ และประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แทนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลว่าต้องการอำนาจ ‘เบ็ดเสร็จ’ ในการควบคุมโรค

ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการทำงานของภาครัฐในหลายด้าน ทั้งการควบคุมโรคระบาด การจัดการบ่อนการพนันที่ล้มเหลวจนกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ วิกฤตเศรษฐกิจที่พังระเนระนาด และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ยังคงตกหล่นไม่ทั่วถึง

ท่ามกลางบรรดา ‘หมอ’ ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ความเห็นของ ‘หมอเลี้ยบ’ – นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแกนนำกลุ่ม CARE ดูจะโดดเด่นออกมา เพราะเป็นหนึ่งในความเห็นที่พูดตรง และพูดแรง แม้ในแง่หนึ่ง เขาจะมีบทบาทในฐานะ ‘ที่ปรึกษา’ อย่างไม่เป็นทางการของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่หมอเลี้ยบยอมรับว่าไม่ใช่งานการเมือง เพียงแต่เป็นการ ‘ให้ความเห็น’ นอกวงเท่านั้น

ในทางการเมือง เขาถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต จากการถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 1 ปี จากความผิด ทำให้ไม่สามารถมีตำแหน่ง รับตำแหน่ง หรือทำงานการเมืองใดๆ ได้อีก

The Momentum นัดคุยกับหมอเลี้ยบ เพื่อให้วิพากษ์การทำงานของ ศบค. แบบตรงๆ รวมถึงประเมินประเทศไทยในระยะอันใกล้ ทั้งในมิติของสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการเมือง ว่าเราเข้าใกล้ ‘ตอนจบ’ ของมหากาพย์โควิด-19 แล้วหรือยัง

ถ้าคุณเป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำเพื่อแก้ไขวิกฤติโควิด-19 คืออะไร

ยุบ ศบค. ทิ้ง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเชิญผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดมาทำเวิร์กช็อปครั้งใหญ่ เพราะตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจเลย ภายใต้การควบคุมของ ศบค. แม้แต่คุณอนุทินก็ไม่มีอำนาจ

หลายคนชอบมาถามคุณอนุทิน ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจจริงๆ คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นผู้อำนวยการ ศบค. ถ้าอยากรู้อะไรต้องไปถามพลเอกประยุทธ์อย่าไปถามคุณอนุทิน

แต่หลายคนมองว่าการที่ประเทศไทยชนะการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2563 ได้นั้น เป็นเพราะ ศบค.

ผมขอตั้งคำถามว่า การที่แรงงานต่างชาติจะเดินดุ่มๆ ข้ามน้ำมาได้นั้น คิดว่าจะทำเองได้ไหม มันทำไม่ได้หรอก หากไม่มีผู้ประสานงาน ไม่มีผู้รับผลประโยชน์  

นี่จึงเป็นความคิดที่พยายามจะหลอกตัวเอง การที่เรายังมีบ่อนการพนันที่กลายเป็น Super spreader เป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ มันสะท้อนให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพของ ศบค. ของคนที่มีอำนาจ หากวันนี้เรากลับมาใช้ระบบปกติอย่าง พรบ.โรคติดต่อ ให้มีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในระดับประเทศ ในระดับจังหวัด และมอบอำนาจให้แต่ละฝ่ายจริงๆ แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการควบคุมโรคแล้ว เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อสามารถประกาศให้ปิดบ่อนได้ และทุกคนก็ต้องปิดตามที่ประกาศ 

ยกตัวอย่างกรณีคนไทยไปทำงานที่โรงแรม 1G1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเส้นทางธรรมชาติมันมีช่องโหว่ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำอะไร ซึ่งการระบาดระลอกสองเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี ศบค. ไหม ก็มี แล้วทำไมถึงไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ ทั้งชายแดนและบ่อนการพนัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็น การ ‘มีอยู่’ หรือ ‘ไม่มีอยู่’ ของ ศบค. ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เราควบคุมชายแดน หรือสิ่งผิดกฎหมายได้ 

ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องมี ศบค. เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือหน่วยงานความมั่นคงก็สามารถสั่งการทหารได้ โดยไม่จำเป็นต้องมารอคำสั่งจาก ศบค. ผมมองว่า ศบค. เป็นเพียงการรวบอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีทั้งหมดเอาไว้เท่านั้น

จากการรับมือกับโควิด-19 ที่ผ่านมา สามารถมองตอนจบประเทศไทยได้ไหม

ผมเชื่อว่าตอนจบของประเทศไทยตอนนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือรัฐบาล ถ้ารัฐบาลฝีมือดีก็จะทำได้ ซึ่งมันควรจะจบตรงนี้ ตรงระลอกที่สอง ไม่ควรจะมีระลอกที่สามตามมาอีก แต่หากให้ผมประเมินจากการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ก็มีความกังวลว่า ตอนจบอาจจะมีระลอกที่สามหรือระลอกที่สี่

ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับโควิด-19

ขอยกตัวอย่างการแพร่ระบาดระลอกสอง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และหนึ่งในคนจำนวนนั้นก็คือผม เพราะหากมองสถานการณ์ภายในประเทศไทย การระบาดในประเทศมันมีอยู่แล้ว แต่คงไม่ใช่การระบาดในขั้นที่ว่ามี Super spreader 

และสิ่งที่ไม่คาดคิดเหล่านี้ก็เกิดขึ้น การรับส่วยแรงงานต่างชาติ หรือการที่ประเทศไทยไม่เอาจริงเอาจังกับการจัดการบ่อนการพนัน แต่รัฐบาลไม่ปล่อยให้ ‘มืออาชีพ’ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่กลับรวบอำนาจเอาไว้ภายใต้คำว่า ศบค. เพราะ ศบค. เป็นการดึงอำนาจออกจากผู้มีความรู้มีความเชี่ยวชาญ และเข้าใจในโรคระบาดวิทยา

แต่กลับนำผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มาอยู่ภายใต้อำนาจของคนที่ไม่รู้เรื่องการรักษาโรค การระบาดวิทยา มีความเข้าใจแค่เรื่องความมั่นคงและการเก็บอำนาจให้กับตัวเอง ส่งผลให้การตัดสินใจต่างๆ ของทีมแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ต้องทำตามลำดับขั้นตอนตามข้าราชการ ต้องผ่าน ศบค. ชุดเล็ก ส่งเรื่องไปชุดใหญ่ และต่อด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เรียกว่า ‘ฉุกเฉิน’

ยกตัวอย่างการที่สาธารณสุขจัดการกับไข้หวัดนก โรคซาร์ส หรือสึนามิ ก็ไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สามารถรับมือได้ แต่วันนี้เรากลับไม่เห็นภาวะผู้นำแบบนั้น การตัดสินใจทุกอย่างต้องเป็นไปตามระบบข้าราชการ ซึ่งมันเป็นความย้อนแย้งกับการที่คุณบอกว่า วันนี้ฉุกเฉิน แล้วต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

แปลว่าวิธีที่ ศบค. ใช้นั้นผิด

ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาในช่วงแรก เพราะกระทรวงสาธารณสุขในช่วงแรกๆ ยังไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการรับมือโควิด-19  เมื่อรวมกับการที่สาธารณสุขถูกดึงอำนาจออกไปและสร้าง ศบค. ขึ้นมา ทำให้ทุกอย่างมันกลับไปอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้เรื่อง และแม้แต่คนในวงการแพทย์เองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปอย่างน้อยสองขั้ว

ขั้วแรกคือ ขั้วนักระบาดวิทยา ที่จะมองทุกอย่างตามข้อมูลเชิงประจักษ์ ข้อมูลเชิงหลักระบาดวิทยา หลายคนเรียกขั้วนี้ว่า ‘หมอสายพิราบ’ ส่วนอีกขั้วหนึ่ง ไม่ใช่นักระบาดวิทยาแต่เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรักษาพยาบาล และมองโรคโควิด-19 ในเชิงร้าย ที่เรียกว่า ‘หมอสายเหยี่ยว’  ถ้าจำไม่ผิดเคยมีคนพยากรณ์ว่า จะมีการระบาดของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3.5 แสนคน ในวันที่ 15 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นการพยากรณ์ที่ผิด เป็นการคาดการณ์โดยไม่ได้อาศัยทฤษฎีการระบาดวิทยา แต่ใช้ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ นั่นก็คือทฤษฎีจากหมอสายเหยี่ยว

ดังนั้นช่วงแรก ศบค. ไม่ฟังหมอสายพิราบ แต่เชื่อหมอสายเหยี่ยว จึงเกิดการล็อกดาวน์ทั้งประเทศและเกิดความเสียหายตามมา ภายหลัง หมอทางด้านระบาดวิทยาก็พยายามเสนออะไรต่างๆ มากมาย ก็สู้กันด้วยหลักการพอสมควร กว่า ศบค. จะยอมเปิดเมือง เปิดประเทศได้ และก็เลือกใช้วิธีค่อยๆ เปิด จนกระทั่งเศรษฐกิจเสียหาย สุดท้ายก็จะกลับมาสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมช่วงแรก ศบค. ถึงไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขใช้กลไกเรื่องการระบาดวิทยา และควรที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้อีก

ศบค. กับกระทรวงสาธารณสุข ทราบไหมว่าระบบที่ใช้อยู่มีปัญหา

(หัวเราะ) ผมว่าคนที่ทำงานจริงๆ เขาก็รู้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตามระบบข้าราชการก็คงไม่สามารถส่งเสียงดังได้ หรือเสนอไปก็ไม่ผ่าน ผมอยู่นอกระบบราชการก็พอพูดได้บ้าง แต่แน่นอนว่าผมไม่ใช่คนประเภทที่จะพูดเรื่องนี้ในทุกๆ วัน เพราะผมมองว่าไม่ใช่หน้าที่ ก็ให้คนที่เกี่ยวข้องเขาไปพิจารณากันต่อไป

แต่การรับมือโควิด-19 ของ ศบค. ก็ไม่ถือว่าแย่หรือเปล่า

ผมคิดว่ารัฐบาลต้องขอบคุณคนไทย เพราะคนไทยมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากประเทศอื่น 

อย่างแรกคือ คนไทยไม่คุ้นเคยกับการสัมผัสตัวกัน อย่างช่วงการระบาดรอบแรกเราจะเห็นได้ว่า คนยุโรปมีวัฒนธรรมในการโอบกอด หอมแก้ม ในขณะที่คนไทยทำความสะอาดตัวเองอยู่เสมอและเป็นคนขี้กลัว ถ้าบอกให้ใส่หน้ากากก็ใส่หน้ากาก บอกให้ล้างมือก็ล้างมือ ไม่มีใครคอยมาตั้งคำถามว่า ทำไมฉันต้องใส่หน้ากาก ทำไมฉันต้องล้างมือ ทุกคนยินดีที่จะทำ

ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถควบคุมได้ เมื่อรวมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยที่มีรังสียูวีสูง มันทำให้โอกาสของเชื้อโรคที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมมันน้อยลง ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างนี้ ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี 

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของไทยเรียกว่า ตรวจน้อยเกินไปไหม

คำถามแรกคือ ประเทศอื่นที่เขาตรวจมาก เป็นการตรวจแบบไหน ผมเข้าใจว่าในหลายๆ ประเทศที่มีอัตราการตรวจมากๆ นั้น จะเป็นการตรวจแบบ rapid test (การตรวจหาภูมิคุ้มกันแบบเร็ว ใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที โดยจะแสดงผลตรวจเป็นค่าบวกหรือลบ) ไม่ได้ตรวจด้วย RT-PCR Test (การตรวจสารพันธุกรรมด้วยการเก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ) แต่การตรวจแบบ rapid test มันต้องใช้การแปรผลที่แม่นยำ เพราะอาจตรวจพบได้ทั้งผู้ป่วยรายใหม่ หรือผู้ป่วยที่เคยรับเชื้อแต่หายแล้วก็ได้ 

ในส่วนของประเทศไทย เราใช้การตรวจแบบ RT-PCR เป็นหลัก ซึ่งผมมองว่าก็เป็นการตรวจที่มีเป้าหมายและตรวจเยอะพอสมควร ส่วนการตรวจแบบ rapid test ก็จะมีการทำเฉพาะบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น ไม่ได้ทำแบบกว้างขวาง เช่น โรงงานเกี่ยวกับพวกอาหารทะเล หรือชุมชนที่มีความเสี่ยง  

หากให้อนุมานการตรวจเบื้องต้นในวันนี้ ถือว่าเป็นการตรวจที่มียุทธศาสตร์ และได้ผลพอสมควร แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกต่อไปนี้คือ ผมเชื่อว่าคนในชุมชน จะมีคนจำนวนหนึ่งที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรือบางคนหายได้เอง นั่นหมายความประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ป่วยในประเทศมากกว่าการรายงานจาก ศบค. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยเตียงผู้ป่วย ห้องฉุกเฉินคับคั่งไปด้วยผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต 

หมายความว่าอัตราการตรวจโควิด-19 น่ากังวลน้อยกว่าการลักลอบเข้าประเทศ และบ่อนการพนัน

ใช่ครับ ผมมองว่ามาตรการสำคัญคือมาตรการควบคุมป้องกัน สิ่งที่ผมพยายามย้ำหลายรอบ และทุกฝ่ายก็พยายามย้ำกันอยู่ คือเรื่องการป้องกันส่วนบุคคล แม้ว่าเราจะฉีดวัคซีน มันก็ป้องกันไม่ได้ทั้งหมด ทั้งวัคซีนจากไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ก็ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันจะทำให้เชื้อที่เรารับมามีอาการรุนแรงน้อยลง และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตน้อยลงหรือไม่เสียชีวิตเลย นี่คือข้อดีของวัคซีน

และแม้ว่าเราจะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ เราก็ต้องใส่หน้ากากกันต่อไป เพราะผมเชื่อว่ากระบวนการสัมผัสเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ มีรายงานที่ผมเคยอ่านเจอระบุว่า ในหนึ่งวันคนเราจะใช้มือขยี้ตา นำมือมาสัมผัสหน้าตัวเองประมาณ 90 กว่าครั้ง ดังนั้นการป้องส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

มีความคิดเห็นกับมาตรการการแบ่งพื้นที่ต่างๆ อย่างไร

ผมคิดว่าการแบ่งสีง่ายกว่าการแบ่งเป็นชื่อ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่เฝ้าระวัง ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนิยามแบบนี้ เพราะการใช้สีเป็นตัวบ่งบอกได้ดีที่สุดแล้ว สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สี แดง สีแดงเลือดหมู หรือดำ มันทำให้เกิดความรู้สึกตระหนักในแง่ของความรุนแรง

คิดเห็นอย่างไรกับมาตรการควบคุมการเดินทาง การเปิด-ปิดสถานที่ เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน

ผมเข้าใจว่าช่วงแรกมันเป็นช่วงที่เราไม่เข้าใจ ไม่รู้จักกับโควิด-19  เพราะฉะนั้นเราเลยจัดการด้วยการล็อกดาวน์แบบปีที่ผ่านมา แต่เรื่องการควบคุมการเดินทาง ผมก็ตั้งคำถามว่า ไม่มีโรคติดต่อประเภทไหนที่ข้ามจังหวัดแล้วจะไม่สามารถแพร่ระบาดได้ โรคไม่มีขอบเขตการปกครอง ไวรัสมันไม่รู้หรอกว่าการผ่านจากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดหนึ่งต้องลดความรุนแรงลง เพราะฉะนั้นการเดินทางข้ามจังหวัดในเชิงวิชาการไม่มีเหตุผลรองรับ และการกำหนดพื้นที่รุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ในระดับของจังหวัด มันอาจจะอยู่ในระหว่างรอยต่อจังหวัดก็ได้

ผมคิดว่าทุกอย่าง ทุกการตัดสินใจต้องมีข้อมูลเชิงวิชาการมาประกอบทั้งสิ้น เช่นการที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการเคอร์ฟิวตั้งแต่แรก เพราะว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมันไม่ได้เลือกช่วงเวลา ไม่ได้หากินแค่ตอนกลางคืน เพราะฉะนั้นหากช่วงเวลากลางวัน คุณสามารถควบคุมพื้นที่ตรงนั้นได้ ก็หมายความว่ากลางคืนคุณก็คุมได้ หากเราเอาจริงเอาจังกับการดูแลเรื่องฉากกั้น การเว้นระยะห่าง เรื่องเหล่านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง

สถานที่ไหนควรปิดหรือเปิดบ้าง

ผมมองว่าการเปิดหรือปิดมันขึ้นอยู่กับสถานที่ ที่ใดมีความเสี่ยงของละอองฝอย หรือการสัมผัสมากแค่ไหน ถ้าเปรียบเทียบอย่างโรงเรียนกับร้านอาหาร ผมคิดว่าโรงเรียนอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ง่ายกว่า เพราะโรงเรียนมีนักเรียนหน้าเดิมๆ  ครูก็หน้าเดิม เราเพียงต้องมีแนวทางปฏิบัติให้เขา มีแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมันสามารถคุมได้ง่ายกว่าร้านอาหารที่มีลูกค้าหน้าใหม่ผลัดเปลี่ยนกันทุกวัน

เพราะฉะนั้น ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการปิดโรงเรียนเลย แต่โรงเรียนกลับเป็นสิ่งที่ถูกปิดบ่อยและปิดนานมากที่สุด เพราะโรงเรียนไม่มีปากไม่มีเสียง กระทรวงศึกษาธิการก็หงอ ไม่ยอมเป็นตัวแทนของนักเรียนหรือผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเองก็ไม่เคยมีม็อบที่ออกมาเรียกร้องให้เปิดโรงเรียน

จุดสมดุลระหว่างการจัดการโควิด-19 และเศรษฐกิจคืออะไร

ควรกำหนดเป้าหมายให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยลง ควบคู่ไปกับการเดินหน้าของเศรษฐกิจ การทำให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ล็อกดาวน์ประมาณ 3-4 เดือน ก็สามารถทำได้แล้ว แต่คำถามคือเศรษฐกิจจะอยู่ได้ไหม คนที่ประกอบธุรกิจจะอยู่อย่างไร จะแก้ปัญหาคนตกงานอย่างไร

ผมคิดว่าความสมดุลระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจและควบคุมโควิด-19 คือการตั้งเป้าในลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ตัวอย่างการตั้งเป้าที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือการตั้งเป้าเมื่อปีที่แล้วที่บอกว่ายอดผู้ป่วยต้องเป็นศูนย์ภายใน 14 วัน อันนี้เป็นการตั้งเป้าที่ไม่มีหลักในเชิงระบาดวิทยามารองรับ ซึ่งถ้าเรายังคงใช้เกณฑ์เดิมอยู่ ตอนนี้ก็ไม่สามารถเปิดเมืองได้ แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว

ยกตัวอย่างความสมดุล เรามีผู้ป่วย 22 คน เราสามารถคุมได้ไหม ถ้าเราคุมได้ก็สามารถเปิดเมืองและมีเศรษฐกิจที่ดี ส่วนอันไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงก็เปลี่ยนมาใช้พฤติกรรมแบบ new normal เช่น การชมกีฬาผ่านจอ หรือออนไลน์ นี่คือตัวอย่างความสมดุล

 

สำหรับคุณ วัคซีนโควิด-19 ยังเป็นทางออกอยู่ไหม

ประการแรก ผมขอย้ำอีกทีว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงฉีดวัคซีนก็ยังสามารถติดเชื้อได้ 

ยกตัวอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เรานิยมฉีดกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมีผลเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ฉีดกันทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นหากถามว่า ถ้าเราไม่ได้ฉีดวัคซีนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ไหม ก็ต้องตอบว่าเราสามารถใช้ชีวิตปกติได้ อย่างปี 2563 ก็ผ่านกันมาได้โดยไม่มีวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว และเราก็สามารถกลับไปทำทุกอย่างได้ การที่เราใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้เป็นเพราะเราขาดความรู้ ความไม่เข้าใจโรค มันก็เหมือนกับการกลัวผี กลัวเพราะไม่รู้จักผีจริงๆ

สถานการณ์ตอนนี้มันเหมือนกับเหตุการณ์ซ้ำรอย เมื่อปีที่แล้วเรากลัวโควิด พอมาปีนี้เรากลัวการไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า ถ้าวันนี้ฉันไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ฉันจะแย่ ประเทศชาติก็จะแย่ ถ้าเราจำได้เมื่อตอนที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก องค์การอนามัยโลกบอกว่าใช้เวลาประมาณ 18 เดือนที่จะผลิตวัคซีนได้ แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ วัคซีนมันสามารถทำได้เร็วมากประมาณเดือนพฤศจิกายน ตัวไฟเซอร์ก็ออกมาบอกว่าการทดลองเฟส 3 ของเขาประสบผลสำเร็จ ปลายปีเดือนธันวาคมได้รับการอนุมัติพิเศษจากรัฐบาลอังกฤษเป็นการอนุมัติฉุกเฉินให้สามารถทดลองใช้ได้ 

คำถามก็คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ผิดปกติหรือเปล่า ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนอยู่ 3 รูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน กระบวนการในการทดลองวิจัยนั้นสั้นมากแบบที่ไม่เคยมีการอนุมัติวัคซีนครั้งไหนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มันเร็วขนาดนี้และวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ mRNA ไม่เคยถูกใช้สำหรับป้องกันโรคมาก่อน เคยมีความพยายามที่จะใช้ mRNA ในการพยายามรักษาโรค ทั้งโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจแต่ไม่เคยสำเร็จ และไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่ดี 

ดังนั้นจึงเกิดคำถามที่มีคนถามอยู่แล้วว่า ในการพยายามรักษาโรคครั้งที่ผ่านมา mRNA ไม่เคยประสบผลสำเร็จเลย แต่พอเป็นวัคซีนโควิด-19 กลับได้ผลกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

แล้วทางออกในมุมมองของคุณคืออะไร

ในการแก้ปัญหาของผมคือ เหมือนกับที่แอนดรูว์ โกรฟ (อดีตซีอีโอบริษัทอินเทล ผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก) เคยพูดไว้ว่า “คนที่หวาดระแวงเท่านั้นที่จะอยู่รอด” (Only the Paranoid Survive)

เมื่อถามว่าสถานการณ์แบบนี้ในประเทศไทย ผมจะทำอย่างไร หากสามารถทำได้ ผมจะหาซื้อวัคซีนมากักตุน แต่ผมก็ต้องยอมรับหากจุดหนึ่งมีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า การฉีดวัคซีนในคนกว่า 70 ล้านคน และอาจจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคน หากคนที่ได้รับการฉีดไปมีปัญหาแทรกซ้อน ผมก็ต้องยอมรับและทิ้งวัคซีนนี้ไป แต่ถ้าบอกว่าวัคซีนนี้ฉีดแล้วไม่มีปัญหา ทำให้การควบคุมโรค การแพร่ระบาดดีขึ้น อาการแทรกซ้อนน้อยลง และระยะยาวก็ไม่มีผลอะไร ผมก็จะเลือกฉีดในวันที่พร้อมฉีด 

ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ รัฐบาลจะมาจับฉีดแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยมันไม่ได้ แต่ในกรณีของคนที่อยู่ด่านหน้า พวกแพทย์พยาบาลที่มีความเสี่ยง หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ควรจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง 

ถ้ารัฐบาลให้ฉีดวัคซีน คุณจะฉีดไหม

ผมเรียนตรงๆ หากสถานการณ์ หรือสรุปบทเรียนในการฉีดวัคซีนในวันนั้นมันออกมาดี เช่น อาจจะมีคนฉีดกันไปแล้ว 3 แสนล้านคน ไม่มีอาการแทรกซ้อน ผลออกมาดีทุกอย่าง ก็อาจจะตัดสินใจฉีดได้ แต่หากไม่มีบทสรุปชัดเจน ยังมีปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ผมก็อาจจะไม่ฉีด เพราะผมมีความรู้สึกว่า แม้ผมจะอายุ 60 กว่า แต่ผมก็ป้องกันตัวเองได้ ผ่านกระบวนการป้องกันส่วนตัว โดยใส่หน้ากาก ล้างมือ ไม่เที่ยวผับ เพราะปีที่ผ่านมา ผมก็สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่มีปัญหาอะไรที่ผมจะต้องกลัว

ตอนนี้ตลาดวัคซีนมันเป็นตลาดของผู้ขาย แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว ตลาดจะกลายเป็นของผู้ซื้อ จะเต็มไปด้วยผู้ขายที่พร้อมจะเสนอขายอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องวัคซีน 

หลายคนบอกว่าถ้าฉีดวัคซีนเยอะ จะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิม

ผมคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจไม่ขึ้นอยู่กับโควิด-19 เพราะเศรษฐกิจมันขึ้นอยู่กับฝีมือรัฐบาล แต่ถ้าถามผมว่าตอนนี้มีความหวังกับเศรษฐกิจไหม ผมบอกตรงนี้เลยว่า ไม่มีความหวัง

ถ้าคุณเป็นทีมเศรษฐกิจหรือรัฐมนตรี สิ่งที่จะทำเป็นอย่างแรกคืออะไร

การเยียวยาแบบถ้วนหน้าทั่วถึงทุกคน ไม่ใช่คนหนึ่งต้องมาลงทะเบียน และกำหนดแค่ 31 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าคุณมีรายได้เกินปีละ 3 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับการเยียวยา หรือการที่คุณมีรายได้เดือนละ 2.5 หมื่นบาท จะได้รับสิทธิ์เยียวยา ในขณะที่คนมีเงินเดือน 2.6 หมื่นบาท กลับไม่ได้เงิน  มันเลยเกิดเป็นข้อสงสัยว่า อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างผู้คนที่ได้รับเงินเยียวยา ตัวเลข 2.5 หมื่นบาท เป็นเลขพิเศษมาจากไหน ถึงสามารถเป็นเส้นแบ่งได้

วิธีคิดดังกล่าวมันอธิบายโดยใช้ตรรกะไม่ได้เลย และการที่ต้องให้ประชาชนมาลงทะเบียนผ่านระบบสมาร์ตโฟน มันยิ่งทำให้คนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วยิ่งไม่มีโอกาสมากขึ้นไปอีก สิ่งที่ควรทำง่ายที่สุดคือ การให้อย่างถ้วนหน้า ไม่ต้องมานั่งถามว่าคนนี้มีรายรับเท่าไหร่ มีสมาร์ตโฟนไหม และเราต้องเอาจริงเอาจังเรื่องการฟื้นฟู SMEs ภายใต้วิกฤตนี้เราต้องแหกกรอบราชการออกไป ไม่เช่นนั้น SMEs จะตายกันหมด และเศรษฐกิจไทยก็จะล้มตาม 

ยกตัวอย่าง ผมเคยเป็น SMEs มันไม่ใช่ว่าเมื่อคุมโรคระบาดได้เมื่อไหร่แล้วจะฟื้นกลับมาทำธุรกิจเหมือนเดิม เพราะมันฟื้นกลับมายากมาก และการที่มีหนี้สินค้ำคออยู่ก็เป็นตัวหนึ่งที่จะดึงไม่ให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ถ้า SMEs พัง ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจทั้งประเทศไทยก็จะพังตามมาด้วย

 

เอาจริงเอาจังเรื่อง SMEs อย่างไร

ผมมองว่าสิ่งที่ควรจะทำ และต้องยกระดับขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น คือการที่รัฐบาลพร้อมที่จะใส่เงินลงทุนให้กับ SMEs เหมือนกับผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ด้วยการเลือก SMEs ที่พร้อมจะปรับตัวอยู่ตลอด รัฐบาลอาจจะไปถือหุ้น 50% พร้อมกับการปล่อยกู้ของธนาคาร เพื่อให้ SMEs เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตัวเอง และรอเวลาประมาณ 7 ปี รัฐบาลค่อยถอนเงินออก เพราะตอนนั้น SMEs น่าจะแข็งแรงแล้ว 

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเรื่องความกล้าหาญ พร้อมที่จะลงทุน แต่หากถามผมว่าตอนนี้เห็นโอกาสอย่างนี้ไหมจากรัฐบาลชุดนี้ต้องเรียนตามตรงว่า ไม่เห็น

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจที่ถดถอย การเมืองก็ถดถอย มีอะไรฝากบอกคนรุ่นใหม่บ้างไหม

คนรุ่นใหม่ควรเริ่มจากการจัดการความรู้สึกสิ้นหวังของตัวเองก่อน ยกตัวอย่างรุ่นผมก็เจอสถานการณ์หลายอย่างที่ทำให้เจ็บปวดและผิดหวัง จนบางครั้งมันก็รู้สึกท้อเหมือนกัน แต่พอเวลาผ่านไปมันยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่พอจะสร้างความหวังได้ จนทำให้เรากลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และทุกการเริ่มต้นใหม่มันก็มีความหวังใหม่อยู่เสมอ

ดังนั้นต้องฝากกับทุกๆ คน ทั้งคนหนุ่มคนสาวที่ได้ออกมาสะท้อนความรู้สึกตัวเองและต่อสู้เพื่ออนาคตของชาติ เพื่ออนาคตของตัวเองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังทำอยู่นั้นไม่มีอะไรง่ายดาย แต่มันก็ไม่มีอะไรที่จะมืดมนไปตลอดกาล แม้ว่ายุคนี้ การเข้าถึงความรู้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่ผมก็ยังมองว่าประสบการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่เคยผ่านการล้มมาก่อนก็จะไม่รู้เลยว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน จึงมีคนรุ่นเดิมพูดอยู่เสมอว่า ‘เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ’ 

ผมว่าสิ่งนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดอยู่ในใจเสมอ หลายสิ่งที่เราทำมันไม่ง่าย และไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังเสมอไป เพราะฉะนั้นต้องรอบคอบ เก็บข้อมูลให้เยอะ ฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และอย่าคิดว่าเราเก่งที่สุด รู้ดีที่สุด เพราะไอ้คนที่เคยบอกว่ารู้ดีที่สุด ก็เคยล้มกันมาหมดแล้วทุกคน

Fact Box

  • นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ อดีต ‘คนเดือนตุลา’ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่วม ‘ปั้น’ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ก่อนย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคนแรก ในรัฐบาล ทักษิณ และดำรงตำแหน่งทางการเมืองสุดท้าย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลสมัคร
  • ปี 2559 หมอเลี้ยบถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จากกรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ สมัยรัฐบาลทักษิณ การถูกจำคุก ทำให้หมอเลี้ยบถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
  • ในวัย 63 ปี นายแพทย์สุรพงษ์ยังคง แอ็กทีฟ ในฐานะผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ Voice TV เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE รวมถึงยังมีบทบาทล่าสุดเป็นที่ปรึกษา และเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการ The Change Maker เพื่อดิสรัปต์พรรคเพื่อไทย
Tags: , , , , ,