“สมัยก่อนเราคือเด็กที่เรียนในโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด ซึ่งก็ใช้ชีวิตได้ปกติมีความสุขดี ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่วันหนึ่งเราเห็นเพื่อนสามารถหารเลขได้ แต่เราทำไม่ได้ กลายเป็นว่าตอนนั้นเราเริ่มเข้าใจแล้วว่าสังคมเขาไม่มีใครเรียนแบบนี้กัน เขาหารเลขเป็นกันหมด มันเลยจำเป็นอย่างมากที่ตัวเราต้องผลักดันพาตัวเองเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมให้เด่น เป็นที่หนึ่งในชั้นเรียน

“แต่คำถามคือ เราต้องพยายามขนาดนั้นเลยเหรอ”

 เรื่องราวในวัยเด็กของ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ (คทาวุธ ครั้งพิบูลย์) ที่ทำให้เธอมองเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียม ที่บีบบังคับให้เธอต้องพยายามอย่างหนักเพียงแค่จะมีพื้นที่ยืนอยู่ในสังคม จึงเป็นเหตุให้ในวันนี้เธอจึงเป็นทั้งอาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ ที่ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่ของการศึกษา เยาวชน และโดยเฉพาะเรื่องเพศ ที่เธอพยายามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เธอไม่ได้มาในฐานะนักต่อสู้ที่มาเล่าถึงชัยชนะในการสร้างความเท่าเทียมในอดีต แต่เธอมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสำคัญที่จะทำการสอนในฐานะอาจารย์ และขับเคลื่อนในฐานะสังคมสงเคราะห์ ว่าปัญหาเรื่องเยาวชนและความหลากหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะแก้ไขในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง

UNIVERSITY&DIVERSITY

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คุณมีความเห็นอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่มองว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปแล้ว 

ถ้าตอบโดยใช้ชุดความเชื่อเก่าๆ ว่าการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษามีขึ้นเพื่อรองรับคนให้จบมาประกอบอาชีพตามสายนั้นๆ แบบนี้เราว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเด็กที่จบมาแล้วทำงานไม่ตรงสายและประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่มากมายเต็มไปหมด 

ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยยังมีวิธีการสอนและคาดหวังผลลัพธ์แบบเดิมอยู่ แน่นอนว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจน้อยลง และจะไม่ตอบโจทย์ของสังคมในอนาคตด้วย เพราะทุกวันนี้ในหลากหลายทักษะที่จำเป็นกลับอยู่นอกมหาวิทยาลัยแทบทั้งนั้น

(หยุดคิดครู่หนึ่ง) แต่มันก็อยู่มาตั้ง 700 ปีแล้วนะ สิ่งที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย ดังนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสถาบันนี้จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เรามองว่าสุดท้ายแล้ว ความรู้ที่สอนกันข้างในนั้นต้องเป็นความรู้แบบประยุกต์ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาจเป็นเรื่องของกระบวนการคิด เป็น soft skill แทนที่จะเป็น hard skill เหมือนที่ผ่านมา

แล้วในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ คุณมองว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเรื่องอะไรบ้าง 

สิ่งที่ชัดที่สุดคือโอกาสในการได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะมันควรจะเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษา ปรึกษา และใช้ทรัพยากรในการพัฒนาตัวเองและสังคม แต่ทุกวันนี้การที่นักศึกษาถูกผูกติดกับการสอบแข่งขัน ทำคะแนนให้ถึงตามเกณฑ์กำหนด ฟังดูอาจเป็นการคัดกรองบุคลากรคุณภาพ แต่อีกด้านหนึ่งเรามองว่ามันคือการปิดโอกาสให้เด็กคนหนึ่งได้เข้าถึงความรู้

มหาวิทยาลัยควรเป็นโอกาสของพลเมืองในสังคมที่จะได้รับความรู้ ไม่ใช่ปล่อยให้เขากลายเป็นคนเขลาเพียงเพราะด้อยโอกาสในการเข้าถึง           

ในแวดวงการศึกษา การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงอย่างไร

อินเทอร์เน็ตสำหรับเราคือจุดเปลี่ยนสำคัญของทุกวันนี้เลย ในแง่ของการศึกษา มันทำลายขอบเขต (boundary) ในการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งอีกต่อไป เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้

ดังนั้น หากคำถามของคุณคืออินเทอร์เน็ตเข้ามาดิสรัปชัน (disruption) มหาวิทยาลัยเลยไหม เราบอกเลยว่าใช่ อินเทอร์เน็ตคือพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ให้คนมาขุดหาข้อมูล รวมไปถึงเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นกันให้คนได้ถกเถียง แลกเปลี่ยน และนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีข้อจำกัดน้อยกว่ามหาวิทยาลัยอยู่มาก

ฟังดูมหาวิทยาลัยกำลังจะเจอปัญหาใหญ่ในอนาคต ในมุมมองของอาจารย์ สถาบันนี้พอจะมีจุดแข็งหลงเหลืออยู่บ้างไหม 

หากพูดในมุมมองของอาจารย์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่เนื้อหาต้องทำงานกับมนุษย์ เราว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ณ ตอนนี้ การได้เรียนกับมนุษย์ด้วยกัน ได้ลองสังเกต เฝ้าดู และแก้ปัญหา คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับนักศึกษาได้

สำหรับเราที่สอนแบบนี้ เราจะมีความเชื่อว่ามนุษย์ต้องควรจะเรียนรู้จากอะไรที่เป็นของจริง มากกว่าอ่านตัวหนังสือเพียงเท่านั้น ตรงนี้สำคัญที่สุดในการเรียนการสอนตามความคิดของเรา           

ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรจะทำคือก้าวออกมาจากตำราเรียนและหาวิธีสอนรูปแบบใหม่บ้างได้แล้ว

ใช่ สำหรับเรา มหาวิทยาลัยคือโรงฝึกฝีมือมาโดยตลอด เป็นสถานที่ที่คุณสามารถมาลองทำโปรเจ็กต์ ลองทำวิจัย ลองเข้าห้องแล็บ ผลออกมาเป็นอย่างไรก็สามารถปรับปรุงแก้ไขข้างในนั้นได้ ซึ่งในอนาคตหากส่วนนี้สามารถต่อยอดและกลายเป็นรูปแบบการเรียนการสอนหลักแทนตำราได้ จะทำให้มหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาที่เป็นคนเก่งและใช้ชีวิตเป็นมากยิ่งขึ้น 

เพราะพูดกันตามตรง คุณจะเป็นหมอมันต้องฝึกใช่ไหมล่ะ จะอ่านเนื้อหาแค่ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็คงไม่ได้  

ถ้ามีคนเป็นหมอเพราะเรียนแบบนี้จริงๆ คนไข้คงเสียวสันหลัง

(หัวเราะ)

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีความเป็นธุรกิจค่อนข้างสูง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เราว่าคนที่คิดแบบนี้คือคนที่มองสภาพจริงของการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งไม่ผิดเลย เพราะหากพูดกันในเชิงอุดมคติมหาวิทยาลัยก็อยากผลิตนักศึกษาให้ออกมาเป็นคนที่มีความรู้ แต่ในความเป็นจริงการรับนักศึกษาเข้ามาในคณะใดคณะหนึ่ง เขาก็หวังว่าบุคลากรที่จบไปจะต้องกลายเป็นแรงงานให้สายอาชีพนั้นในอนาคต ทุกอย่างมีการลงทุน ลงแรง ซึ่งหากถอยออกมาหนึ่งก้าว มองกระบวนการตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เรียนในมหาวิทยาลัย และจบมหาวิทยาลัย ทั้งหมดนี้คือทุนนิยมทั้งหมดเลย

อย่างในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ก็มีความคิดที่ว่าเราต้องผลิตนักสังคมสงเคราะห์อยู่เหมือนกัน กลายเป็นว่าในบางครั้งต้องปรับหลักสูตรให้เหมือนกับการลงทุน ที่นักศึกษาเข้ามาใช้บริการเพื่อต่อยอดไปสู่อาชีพนั้นๆ ได้เพียงเท่านั้น

แต่จะพูดแบบนี้อย่างเดียวก็ไม่ถูกต้องเลยเสียทีเดียว เพราะความรู้ก็คือความรู้ มันมีประโยชน์เสมอ ในการเรียนการสอนเชิงปรัชญานักศึกษาก็ได้วิชาหรือวิธีคิด ที่นอกจากใช้ในสาขาอาชีพแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้มันเกิดการต่อยอดแบบนี้อย่างไรมากกว่า นี่เป็นโจทย์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องแก้ไขเพื่อลบล้างภาพทุนนิยมแบบสายพานผลิตแรงงานเช่นนี้ 

การคาดหวังว่านักศึกษาจบมาต้องประกอบอาชีพนี้ เป็นแนวคิดที่ถูกต้องแล้วเหรอในฐานะอาจารย์

เราเชื่อว่าอาจารย์ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น เพราะสุดท้ายถ้าได้บุคลากรแบบนี้ก็จะมีแต่ปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร การสร้างคนสร้างอาชีพส่วนหนึ่งเรายังมีความเชื่อเสมอว่าต้องออกมาจากสิ่งที่เขาชอบและอยากเป็นจริงๆ สิ่งที่เราคาดหวังคือทัศนคติมากกว่า การมองคนให้เท่ากัน การคิดด้วยตัวเองให้เป็น เคารพศักดิ์ศรีมนุษย์ ซึ่งสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเรามองว่าเป็นเวลาที่นานพอในการปลูกฝังความคิดแบบนี้ได้นะ

 

 “ถ้าปลูกฝังทัศนคติเฉพาะตัวของเด็กได้ โตไปเขาจะคิดแบบไหน ตัดสินใจอย่างไร เราก็จะรู้สึกว่าเขาเลือกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุดแล้ว” 

 

เชื่อไหมว่าเคยมีเด็กเขียนข้อสอบช่วงปลายภาคที่ผ่านมาเป็นโจทย์ที่มีสถานการณ์ตัวอย่างให้ลองวิเคราะห์ดู ซึ่งสิ่งที่เด็กคนนี้ตอบมาคือ เนื่องจากผมไม่ได้อยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ จึงขอส่งต่อเคสนี้ไปยังบุคคลและสถานที่เหมาะสม (หัวเราะ)

ตอบแบบนี้ก็ได้เหรอ

ไม่ได้สิ (หัวเราะ) แต่การตอบแบบนี้มองได้สองแบบนะ คือหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือมาตอบจริงๆ เลยมาสารภาพกับเราในข้อสอบ แต่อีกแง่หนึ่งคืออย่างน้อยเขารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ในสถานะไหน และกระบวนการของโจทย์ในครั้งนี้คืออะไร ก็เป็นคำตอบที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่าสิ่งที่เด็กได้จากวิชานี้ไปนอกจากความรู้เชิงเทคนิคแล้ว ก็เป็นวิธีการคิดในเชิงกระบวนการด้วย 

ให้คะแนนเท่าไหร่กับคำตอบนี้

เนื่องจากเป็นการตอบที่ไม่ถูกธงคำตอบ ก็คงต้องว่ากันตามเนื้อผ้า (หัวเราะ)

ลูกศิษย์ที่เรียนกับอาจารย์เคท สิ่งที่จะได้รับกลับไปเป็นเรื่องอะไร 

สิ่งที่เด็กจะรู้กันแต่แรกแล้วคือ หากฉันมาเรียนกับอาจารย์คนนี้คงได้มุมมองด้านเพศ (gender) ไปแน่นอน ซึ่งก็จริง เพราะนี่คือสิ่งที่เราถนัดมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากอธิบายเพิ่มเติมคือ เราไม่ได้สนใจแค่ความต่างเรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องอายุ เชื้อชาติ ความแตกต่างทางแนวคิด ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร จะมีวิธีพูด วิธีปฏิบัติแบบไหน ให้ได้รับการยอมรับ จะทำอย่างไรถึงจะลดการผลิตสิ่งกดทับอันซ้ำซากในประเด็นความหลากหลายเช่นนี้ลงได้ 

ความตระหนัก (awareness) คือสิ่งที่เราสร้างในห้องเรียนอยู่เสมอ อยากให้นักศึกษาได้รู้ได้เห็นว่าความหลากหลายอันแตกต่างมีอยู่จริงในสังคม และควรจะต้องยอมรับ เข้าใจ เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้

ในแง่นี้มีความเป็นไปได้แค่ไหนในอนาคตที่มหาวิทยาลัยจะไม่ต้องใช้คำว่า ‘คณะ’ มาจำกัด หากเปิดโอกาสให้เด็กได้กระโจนเข้าสู่มุมมองความคิดที่หลากหลายมากขึ้น

ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเด็กในการเรียนระดับสูง เพราะต้องอย่าลืมว่าในระดับอุดมศึกษาก็มีทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เราคิดว่าคงจะเป็นเรื่องดี หากใช้พื้นที่ตรงนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองเรียนรู้อะไรมากขึ้น 

ปริญญาตรีอาจเป็นแบบนั้นที่นักศึกษาสามารถลองเรียนได้ก่อนที่จะเลือกสาขาเฉพาะในปริญญาโทหรือเอก ที่ยังต้องมีอยู่ก็เพราะสุดท้ายก็ต้องมีการคัดเลือกในการประกอบวิชาชีพ เพราะต้องยอมรับว่าขั้นตอนการเข้าทำงานก็ยังต้องการความเฉพาะทางเพื่อคัดกรองให้บุคลากรในองค์กรมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แม้นั่นจะไปตัดโอกาสให้คนที่ไม่มีเงินเรียนเฉพาะทางมีโอกาสทำงานด้านนี้ก็ตาม

เพราะหลายคนก็มีความรู้ด้านหนึ่งที่แหลมคมและเก่งกาจ แต่ในอีกด้านเขากลับอ่อนประสบการณ์จนเหมือนคนไม่รู้ความ 

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายนะ ถ้าเขามีเวลา มีโอกาสได้ลองเรียนรู้มากกว่านี้ อาจจะทำให้เขาเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่ความเป็นคนที่เก่งรอบด้านได้ 

เหมือนทุกอย่างจะวนกลับมาหาตัวร้ายคนเดิมเลย ตัวร้ายที่ชื่อว่าทุนนิยม

ใช่ แต่เราไม่ได้บอกว่าจะมีไม่ทางแก้ไขหรืออยู่ร่วมกับระบบนี้ เพราะจะให้เปลี่ยนทั้งสังคมก็คงยาก (หัวเราะ) อย่างที่บอกว่าปัญหาคือเด็กต้องรีบไปสู่ปลายทางและตัดสินใจเลือกอะไรเร็วเกินไป ถ้าหากมหาวิทยาลัยสามารถหาเส้นทางที่มีช่วงเวลาให้เขาสำรวจตัวเองและลองทำอะไรหลายๆ อย่าง มันก็จะช่วยให้เด็กและมหาวิทยาลัยอยู่รอดในอนาคตไปพร้อมกันได้  

ไม่แน่วันหนึ่งมหาวิทยาลัยที่หลายคนดูแคลนว่ากำลังตกกระป๋อง อาจจะเป็นสิ่งที่มาแก้ปัญหาเรื่องตัวตนและความฝันของเด็กก็ได้ ใครจะไปรู้

ใช่        

YOUTH&NATION

คุณคิดว่าเด็กสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนอย่างไร 

เด็กทุกวันนี้โตเร็วกว่าเดิมมาก เขามีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นเร็วและเยอะกว่าคนรุ่นเราค่อนข้างเยอะ มีโอกาสจะตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัดคือการใช้ตรรกะและเหตุผลได้อย่างแม่นยำ 

ดังนั้นเด็กยุคนี้เวลาเขาจะตอบคำถามอะไร เขาจะค้นคว้าและหาข้อมูลมารองรับเหตุผลเขาอยู่เสมอ ซึ่งนั่นจะทำให้เขาได้เปรียบเวลาสนทนากับคนรุ่นเราที่ไม่ได้ฝึกในด้านนี้เท่าไหร่ ทุกวันนี้เขารู้เยอะพอๆ กับเราเลยนะ ในห้องเรียนทุกวันนี้เราไม่ใช่คนมาสอนแล้ว แต่เป็นคนมาเรียนรู้พร้อมกับนักศึกษาแทน 

เชื่อไหมบางครั้งนักศึกษาถึงกับบอกเลยว่าหนังสือที่อาจารย์สอนเขาไม่ใช้แล้ว เขาใช้เล่มนี้แทน นั่น สอนเราอีก (หัวเราะ) 

บอกเลยว่าคนรุ่นเราตามเขาไม่ทันแล้ว จำได้ว่าสิบปีก่อนเราพูดเรื่องการคุกคามทางเพศ พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ แทบไม่มีใครสนใจหรือฟัง ดูทุกวันนี้สิ ทุกคนพูดได้อย่างเต็มปาก บางคนพูดเรื่องมาร์กซิสต์กันตั้งแต่เด็ก ตอนนี้คือยุคสมัยใหม่ที่เป็นของพวกเขาแล้วจริงๆ  

อิสรภาพและการเติบโตของเด็กจะนำไปสู่อะไร

ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อนที่สังคมไม่มีอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร มันจึงเกิดการกดทับที่สะสมอยู่เรื่อยมา จนถึงจุดหนึ่งที่มีรูให้เสรีภาพแหวกเข้าไปได้ ทุกปัญหา ทุกคำถาม ทุกข้อสงสัย จึงทะลักออกมาเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขายังตั้งคำถามต่อว่าปัญหาเกิดจากอะไร และแก้ไขอย่างไรดี จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขามองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ มองเห็นถึงรัฐสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม ลามไปถึงการหาวิธีแก้ไขปัญหา 

จึงไม่แปลกใจเลยที่เขาจะออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดูแลพวกเราในฐานะพลเมืองที่ดีกว่านี้

แต่พฤติกรรมแบบนี้อาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกไม่ชอบใจ เพราะเขาจะมองเด็กพวกนี้ว่าเป็นเด็กก้าวร้าวไม่เชื่อฟัง 

ที่เขาพูดแบบนี้เพราะเขากำลังรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกลดทอนความน่าเชื่อถือโดยช่วงวัยลงไป มันน่าสนใจนะที่คำถามแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากคนที่ตั้งคำถามเป็นคนรุ่นเดียวกัน ทำไมเขาถึงไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกช่วงชิงพื้นที่ตรงนี้ไป

มีคำหนึ่งที่ป้ามล (ทิชา ณ นคร) เคยพูดไว้แล้วเราชอบมากคือ ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่เด็กทุกคนไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ มันสะท้อนได้ดีเลยว่าเด็กทุกวันนี้เขาไม่ได้มองว่าตัวเองต้องเป็นผู้ใหญ่แบบที่พวกคุณเป็นมาแล้ว เขาอยากเป็นผู้ใหญ่ในแบบของตัวเอง ผู้ใหญ่ที่เติบโตผ่านการตั้งคำถามและได้รับคำตอบ นี่คือส่วนหนึ่งของพัฒนาการและเติบโตในรุ่นพวกเขา 

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือการตอบคำถามพวกเขา

การรับฟังและการตอบคำถามคือทางออก เพราะทุกวันนี้ในสังคมก็มีคำถามเยอะอยู่แล้ว ถ้าเราตั้งแง่แล้วไปถามเขากลับอีก ปัญหามันจะแก้ได้อย่างไร จริงไหม

แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะโตมาพร้อมทัศนคติแบบคนรุ่นใหม่ ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกสังคมกดทับและบังคับให้เชื่อฟัง จนบางคนกลายเป็นคนที่ไม่สามารถคิดและตัดสินใจเองได้ คุณมองว่าควรทำอย่างไรกับเด็กที่อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังนี้

หลายคนบอกว่าโรงเรียนและครอบครัวต้องปลูกฝังและสร้างสังคมที่ดี เหมาะสม และมีอิสรภาพให้แก่เขาตามวิถีของคนยุคใหม่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเราไม่อยากปัดความรับผิดชอบให้เป็นของสองสถาบันเท่านั้น

ในขณะที่ครอบครัวก็คาดหวังว่าโรงเรียนจะช่วยดูแลและปลูกฝังลูกให้เป็นคนดี โรงเรียนก็คาดหวังว่าผู้ปกครองจะดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและสร้างความอบอุ่นให้เขาได้ มันเลยเป็นปัญหาที่สะท้อนกันไปมา ต่างฝ่ายต่างผลักภาระให้แก่กัน 

หากพูดกันในเชิงสถาบันครอบครัว ต้องยอมรับก่อนเลยว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพได้ ด้วยวิถีชีวิต ด้วยสถานภาพ บางทีแค่คิดเรื่องปากท้องวันแต่ละวันก็หมดเวลาเจอหน้าลูกแล้ว ดังนั้น ทางแก้ไขคือ เราต้องเลิกมองเรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีแค่สองสถาบันนี้สามารถแก้ไขได้ ภาคส่วนอื่นๆ ก็ควรจะมีส่วนในการสร้างสังคมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ฟังดูเป็นการแก้ปัญหาโดยอาจารย์ที่สอนสังคมสงเคราะห์มาก 

(หัวเราะ) 

เป็นอาจารย์มากี่ปีแล้ว

สองปีค่ะ

มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการเป็นอาจารย์หรือยัง 

ปกติความสำเร็จของอาจารย์คือการได้ตำแหน่งทางวิชาการ เพราะเป็นเครื่องมือประเมินที่เป็นรูปธรรมที่สุด 

แต่สำหรับเรา ทุกวันนี้เราพอใจมากแล้ว เราสอนเรื่องความหลากหลาย สอนเรื่องเพศ แล้วทุกคนเข้าใจและพูดถึงว่าเรื่องทั้งหมดนี้กำลังขับเคลื่อนสังคมอย่างไรบ้าง แค่นี้ก็พอใจแล้ว 

แน่ละ วันนี้สิ่งที่คุณสอนเด็กเขาเอามาพูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองไปหมด

(ยิ้ม) 

หลังจากนี้มีเป้าหมายจะขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบอื่นอีกบ้างไหม

ช่วงนี้เรากำลังสนใจการผลักดันเชิงนโยบายอยู่ ที่ผ่านมาเราขับเคลื่อนด้วยการสร้างความตระหนัก ปล่อยให้แนวคิดแพร่สู่สังคมมาโดยตลอด ตอนนี้คงถึงเวลาแล้วที่จะทำให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้เราจำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย เรื่องพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น

เพราะถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมแล้ว ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วย สุดท้ายเราอยากเห็นสังคมที่ออกแบบระบบมาดีพอ ดีจนหากมีปัญหาใดๆ การแก้ไขก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาช่วย เพราะทุกอย่างอยู่ในระบบอย่างครอบคลุมแล้ว

 SEX&LGBTQ 

ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ คือส่วนที่คุณให้ความสนใจมากที่สุด อยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้คุณออกมาพูดเรื่องนี้เป็นหลัก 

ด้วยสิ่งที่เราเป็น และเจอมาโดยตรง ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีการกดทับบุคคลด้วยเพศอยู่มาก หากจะไม่พูดถึงความใหม่และหลากหลายของกลุ่ม LGBTQ เรื่องของการพิสูจน์ตัวตนเพื่อมีพื้นที่ทางสังคมเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องพยายามอย่างหนักมาโดยตลอด

อย่างเราเองสมัยก่อนคือเด็กที่เรียนในโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด ซึ่งก็ใช้ชีวิตได้ปกติมีความสุขดีมาก แต่วันหนึ่งเราเห็นเพื่อนสามารถหารเลขได้ แต่เราทำไม่ได้ กลายเป็นว่าตอนนั้นเราเริ่มเข้าใจว่าสังคมเขาไม่มีใครเรียนแบบนี้กัน เขาหารเลขเป็นกันหมด มันเลยจำเป็นอย่างมากที่ตัวเราต้องผลักดันพาตัวเองเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมให้เด่น เป็นที่หนึ่งในชั้นเรียน

แต่คำถามคือ เราต้องพยายามขนาดนั้นเลยเหรอ           

ใช่ ทำไมต้องพยายามขนาดนั้น

ทั้งที่พ่อแม่ก็บอกเราตลอดว่ายอมรับในสิ่งที่เราเป็น ไม่ต้องพยายามเพื่อให้เหมือนคนอื่นในสังคมขนาดนั้น 

บอกเลยว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้พยายามมาได้ขนาดนี้เพราะเรามีพวกเขาคอยช่วยเหลือ คอยเป็นกองหนุน ทำให้ความมั่นใจเราสูงมากในตอนเด็ก แต่ลองคิดสิว่าถ้าเป็นพ่อแม่ เพื่อนในโรงเรียน เขาไม่ยอมรับในเพศสภาพของลูก เด็กคนนั้นจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

ดังนั้น ทางแก้ปัญหาไม่ใช่การบอกให้พวกเขาต้องสู้ ต้องพยายาม แต่ต้องทำให้สังคมมีพื้นที่ให้เขาอยู่ได้อย่างสบายใจ

ใช่ มันไม่จำเป็นเลยที่ LGBTQ จะต้องปลดปล่อยตัวตนอออกมา ต้องกรี๊ดให้เสียงดัง ต้องเต้นให้สุดแรง แบบนี้ไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก แต่ทุกวันนี้ที่ยังเห็นเขาต้องทำแบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมว่าคนแบบนี้จริงๆ แล้วเธอเก่ง เธอมีของ อยู่ด้วยแล้วสนุก เราจะทอดทิ้งเธอไม่ได้ 

อย่างเราเองตอนเลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะเรารู้ว่าเพศทางเลือกจะแต่งตัวเป็นเพศชายหรือหญิงก็ได้ เราเลือกเพราะเหตุผลนี้ส่วนหนึ่งจริงๆ นะ (หัวเราะ) แล้วก็เป็นไปตามคาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ่งที่เราต้องการ ในนั้นมีพื้นที่สำหรับคนแบบเรา ไม่จำเป็นต้องให้เราพยายามเพื่อมีหน้ามีตาในสังคมขนาดนั้น

แต่สุดท้ายในนั้นก็แค่รั้วมหาวิทยาลัย เราออกมาก็มีแต่ความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด อย่างไรปัญหานี้ก็ยังคงอยู่และต้องได้รับการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง           

ภาพจำที่ LGBTQ จะเป็นคนกล้าแสดงออกจริงๆ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าสังคมให้พื้นที่เขาเป็นตัวของตัวเอง

อย่าลืมว่าเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน มีความแตกต่างทางด้านบุคลิก มีทั้งคนเก่ง คนไม่เก่ง คนชอบแสดงออก คนชอบเก็บตัว แต่ที่ยังมีภาพจำแบบนี้อยู่ก็เพราะสังคมไม่มีพื้นที่ให้กับบุคลิกอื่นๆ เลย อีกทั้งยังไม่เคยมีตัวอย่างดีๆ ด้วยซ้ำว่าปลอดภัยนั้น ปลอดภัยแค่ไหน เราเห็นแต่การผลิตซ้ำเรื่องเหล่านี้ด้วยการตีตราเพศเอาไว้กับความสามารถ 

ดังนั้น สิ่งที่คุณอยากจะทำคืออยากจะเป็นตัวอย่าง จะเป็นกองหนุนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่นมากขึ้น

ใช่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีพื้นที่แบบนี้ให้พวกเขาบ้าง กะเทยทุกคนบนโลกเขาไม่ได้เก่งเหมือนกันหมด ปล่อยให้มีกะเทยที่โง่อยู่ในสังคมบ้างก็คงไม่เป็นไรหรอก ที่สำคัญคือพวกเราต้องเคารพตัวตนและบุคลิกเขามากขึ้นกว่านี้

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราไปถามอีกฝั่งที่เขายังไม่เปิดรับเพศทางเลือก ส่วนใหญ่มักจะมองว่ากลุ่ม LGBTQ มีการเรียกร้องที่ซ้ำซาก ประเด็นเดิมๆ เป็นการร้องขอที่มากเกินไป คำถามคือจำเป็นไหมที่จะต้องมีขอบเขตในการเรียกร้องในประเด็นนี้

ถ้าสิ่งที่เขาเรียกร้องถูกแก้ไขแล้ว แต่ยังคงเรียกร้องอยู่แบบนั้นคงเรียกว่าเกินไป แต่ในความจริงเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ปัญหาดังกล่าวไม่เคยถูกแก้ไข มาตรการต่างๆ ไม่เคยนำไปใช้แม้แต่น้อย ทั้งที่เราต้องสู้เพื่อความเท่าเทียม ไม่ได้ขออะไรที่เกินเลยจากสังคมเลย

ดังนั้น หากมีใครบอกว่านี่คือการเรียกร้องที่มากเกินไป แสดงว่าเขาไม่ได้มองคนเท่ากันเลย เขายังอยู่ในชุดความคิดว่าบุคคลต้องจัดลำดับ แบ่งชนชั้น คนกลุ่มหนึ่งต้องได้รับผลประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง และทำอย่างไรก็ได้ให้ผลประโยชน์ที่มากกว่า ไม่ถูกนำไปแบ่งให้กับคนอื่น ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหาและช่องว่างของสังคมที่คนเหล่านั้นต้องมองให้เห็น          

หากคุณมีอำนาจมากพอจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไรดี 

นอกจากในเชิงนโยบายที่สามารถทำได้ผ่านกฎหมาย เรามองว่าเรื่องแบบนี้สุดท้ายต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

ปัญหาการถูกกดทับของ LGBTQ ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเรื่องของผู้กระทำด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมานั่งคุยกันว่าคนทุกกลุ่มในสังคมจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปเสียที จะทำอย่างไรให้สังคมมีการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ 

เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่ LGBTQ เรียกร้อง แต่มันคือปัญหาของทุกคนในสังคม

Fact Box

  • อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ ในวัยเด็กคือนักเรียนต่างจังหวัดที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีขาดตกบกพร่องในด้านไหน แต่วันหนึ่งที่ถูกบีบบังคับให้ผลักดันตัวเองเพื่อหาจุดยืนในสังคม เธอจึงกลายเป็นคนที่ออกมาลุกขึ้นสู้เพื่อทำลาย ‘ความคาดหวัง’ ของสังคมที่มากเกินไป
  • ซึ่งประเด็นที่อาจารย์เคทขับเคลื่อนนั้นครอบคลุมในทุกความแตกต่างของมนุษย์ทั้งในแง่เพศสภาพ สัญชาติ และชนชั้น โดยผลงานอันโดดเด่นคือการชนะคดีความที่ฟ้องร้องต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเธอได้เป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หลังจากครั้งหนึ่งเคยถูกถอดถอนชื่อจากเหตุที่ไปแสดงความเห็นผ่านโซเชียลฯ ไม่เหมาะสม
  • เหตุผลที่อาจารย์เคทตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเพราะสถานที่แห่งนี้คือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่เปิดโอกาสให้เธอใช้ชีวิตได้ตามใจต้องการ ไม่ถูกสังคมคาดหวังหรือบีบบังคับให้ต้องทำตามค่านิยม ซึ่งเธอมองว่าเรื่องราวไปแบบนี้ต่อไปควรจะเกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้างได้แล้ว
Tags: , , , ,