ภาพปัญหาเชาว์ทางคณิตศาสตร์ ว่าด้วยการข้ามฝั่งผ่านเกาะสองเกาะด้วยสะพาน 7 สะพาน วาดลงบนกระดาษอยู่ตรงหน้าเด็กชายลูกครึ่งไทย-อังกฤษวัย 13 ท้าทายให้คิดกับมันอย่างเอาจริงเอาจัง

นักคณิตศาสตร์ชาวออสเตรเลียคนหนึ่งซึ่งมาเยี่ยม ‘คุณตา’ ชาวจีนของเขา เข้ามาผูกมิตรด้วยการวาดคำถามดูเผินๆ แล้วเหมือนง่ายนี้

“สมมติมีแม่น้ำอยู่ตรงกลาง มีเกาะอยู่สองเกาะ ทั้งสองเกาะมีสะพาน เขาถามว่า จะเริ่มจากตรงไหนก็ได้ แต่ต้องข้ามสะพานต่างๆ โดยไม่ซ้ำสะพานกัน จะเดินยังไง ….ผมก็คิดๆ สุดท้ายเขาบอกว่า รู้ไหมว่าคำถามนี้เป็นคำถามอายุ 100 ปีเลยนะ และจริงๆ มันตอบง่ายมาก คือ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณเริ่มจากจุดหนึ่งแล้วมาจบในฝั่งเดียวกันหรืออีกฝั่ง เราก็ต้องไป-กลับบนสะพานที่มีจำนวนเป็นเลขคู่ทุกจุด

“นี่ก็คือคณิตศาสตร์”

เหตุการณ์นั้นจุดประกายให้เขามุ่งหน้าสู่อังกฤษ ศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วมาทำงานด้านการเงินในสิงคโปร์ พอเหมาะพอเจาะกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

โจ ฮอร์น พัธโนทัย เกิดในลอนดอน เติบโตในไทย ไปเรียนต่อที่ประเทศจีนตอนอายุ 10 ขวบ และเรียนต่อในโรงเรียนฝรั่งเศสจนจบระดับมัธยมศึกษา

เขาคือผลผลิตรุ่นที่ 3 ของความสัมพันธ์สามชั่วคน ไทย-จีน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1956 เมื่อคุณตาแท้ๆ ของเขา-สังข์ พัธโนทัย ส่งแม่ของเขาคือ สิรินทร์ พัธโนทัย ในวัย 8 ขวบและพี่ชาย ไปเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในจีน จนกลายเป็นบุตรในอุปการะของโจว เอินไหล

“กึ่งเป็นตัวแทนกึ่งเป็นตัวประกัน” เขากล่าว

มาถึงตอนนี้ เขาย้ำว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ยาวนานนี้เอาไว้ เขาเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Strategy613 บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมธุรกิจระหว่างประเทศ และล่าสุด งานมูลนิธิด้านการศึกษาที่เขาทำ ได้แก่ มูลนิธิฉางอ้ายและมูลนิธิออกซ์ฟอร์ดไทย ส่งให้เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ (Order of the British Empire) ขั้น Member of the Most Excellent Order of the British Empire (MBE) ประจำปี 2018

ไม่ง่ายนักที่จะได้นั่งคุยกับโจ ฮอร์น พัธโนทัย เพราะในแต่ละเดือน เขาย้ายไปมาระหว่างประเทศหลายประเทศ ไม่ต่างจากตัวเขาในวัยเยาว์

ตอนเด็กๆ คุณเติบโตมาในหลายประเทศ ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนแรกผมเกิดที่ลอนดอน แต่ยังเด็กมาก ยังจำอะไรไม่ได้ อายุ 3 ขวบก็ย้ายมาเมืองไทย มาอยู่กับตาสังข์ ยายวิไล คุณตาคุณยายอยู่ในครอบครัวใหญ่ มีหลานๆ หลายคนที่โตมาด้วยกันแล้วก็ไปเมืองจีนตอนอายุ 10 ขวบ คุณแม่อยากให้ไปเรียนทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้มีใครเขาเรียนกันที่เมืองจีนนะครับ คนต่างชาติที่จีนน้อยมากเลย แต่ผมพูดภาษาจีนที่บ้านตั้งแต่เด็กเลย คุณพ่อเองก็เป็นคนอังกฤษที่ไปโตที่จีน เพราะคุณปู่เป็นหมอกระดูกชื่อดังที่ไปทำงานที่นั่น

พอคุณพ่อคุณแม่เลิกกัน ย้ายออกมา แม่ก็ยังพูดภาษาจีนต่อ มีช่วงนึงตอนผม 4 ขวบ ยังไม่เข้าโรงเรียน คุณแม่ก็ส่งไปอยู่กับพวกผู้ใหญ่ที่เคยดูแลคุณแม่ ส่งไปคนเดียวเลย (ยิ้ม) นั่งเครื่องบิน คุณแม่บอกว่า บ๊ายบาย เดี๋ยวอีกฝั่งจะมีคุณตามารับ อยู่ได้ประมาณ 6 เดือนก็กลับมาเข้าโรงเรียนอินเตอร์ที่ไทย

พออายุ 10 ขวบ คุณแม่ก็บอกว่า โอเค ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องไปอยู่นานๆ สัก 2 ปี เรียนโรงเรียนประถมฯ ที่ปักกิ่ง เป็นโรงเรียนสาธิตของเขาที่เขาเอาไว้ทดลองหลักสูตรใหม่ ถ้าเด็กออกมาโอเคเขาก็ขยายไปใช้ทั่วประเทศ

เป็นโรงเรียนที่ดีนะครับ ดีมาก เหมือนโรงเรียนสาธิตที่ไทย ตอนผมไป ผมอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แค่พูดได้ ส่วนน้องชาย (เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย) พูดไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมต้องไปเรียนเขียนตั้งแต่ต้นกับเด็ก ป.1 แล้วก็มาเรียนวิชาอื่นๆ กับเด็ก ป.4 ต้องโดดไปโดดมาระหว่างสองคลาส ซึ่งโรงเรียนนี้เขาดีมาก อำนวยความสะดวกให้สามารถทำแบบนั้นได้

ตอนที่คุณแม่ถูกส่งไปนั้นเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ แล้วคุณโจไปด้วยเรื่องอะไร

สมัยนั้นการเมืองดีขึ้นแล้ว แต่ที่เราไป ก็เพราะคุณแม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่ในประเทศจีน เป็นความสัมพันธ์สามชั่วคน ถ้าเราเองไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนจีน ไม่เข้าใจภาษา เข้ากับเขาไม่ได้ ยังไงก็สืบทอดไม่ได้อยู่ดี นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ

ตอนคุณแม่อายุประมาณ 8 ขวบ และพี่ชาย (วรรณไว พัธโนทัย) เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยถูกส่งไปที่จีน (ปี 1956) ตอนนั้นคุณตาสังข์มีบทบาทในรัฐบาลไทย สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะในเรื่องการต่างประเทศและนโยบายยุทธศาสตร์ของประเทศในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ จึงแนะนำจอมพล ป. ว่าควรจะเป็นมิตรกับจีน ทั้งๆ ที่เราก็อยู่ฝ่ายอเมริกาเต็มๆ เลย

เมื่อทำแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ ก็เลยต้องทำแบบลับๆ ส่งจดหมายกันไปมาอยู่ประมาณปีนึง จากนั้นคุณตาก็รู้สึกว่าควรพัฒนาไปให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น คือส่งลูกสองคนไป กึ่งเป็นตัวแทนกึ่งเป็นตัวประกัน สักสองปีก็น่าจะดีขึ้น

แต่จริงๆ แล้วหลังจากผ่านไปสองปี ทางรัฐบาลจอมพล ป. ก็โดนปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ก็ขึ้นมา จอมพล ป.หนีไป ส่วนคุณตาก็ติดคุก ช่วงนั้นติดคุกกันเยอะนะครับ แบบไม่ต้องขึ้นศาลเลย ติดกันดื้อๆ อย่างนักข่าว นักการเมือง ครูสอนภาษาจีน ช่วงที่ติดคุก 8 ปีนี่คุณตาเขียนหนังสือเยอะมาก ซ้ายขวามีแต่คนมีความรู้ เลยเป็นเวลาที่คุณตาว่าง ได้นั่งเขียนหนังสือหลายเล่มเลย

หลังจากปี 1958 คุณแม่กับคุณลุงก็เลยไม่มีความหมายทางการเมืองอีกแล้ว เพราะคุณตาไม่ได้มีบทบาทในรัฐบาลแล้ว แต่แทนที่จะส่งเด็กๆ กลับมา เขากลับใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น กลายเป็นลูกเลี้ยงของโจวเอินไหลไปเลย จากที่เป็นเพียงตัวแทนของรัฐบาล ก็ได้เติบโตในวงสังคมนั้นไปด้วย

ติดอยู่นานเพราะยังไงก็กลับไทยไม่ได้อยู่ดี ก็ดันไปเจอปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งตอนนั้นคุณลุงโดนบีบให้ออกจากประเทศ คุณแม่ก็ต้องหนี ตอนแรกก็ไปอยู่ในหน่วยงานทหาร เสร็จแล้วก็ไปเป็นชาวนาและคนงานในโรงงาน ก็ลำบากอยู่หลายปี จน 1970 หนีออกมาได้ ไปอังกฤษแล้วแต่งงานกับคุณพ่อผม

ผมไปอยู่เมืองจีนเมื่อปี 1985 ผมยังเด็ก เลยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคอนเน็กชัน รู้จักในฐานะลุง ป้า น้า อา และเราไม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญของบุคคลเหล่านี้จนกว่าจะอีก 10 ปี ตอนนั้นคุณแม่ยังไม่ได้เขียนหนังสือ (มุกมังกร โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์) เราก็แค่เคยได้ยินจากหนังสือที่เขาสอนที่โรงเรียน

ทำไมคุณถึงตัดสินใจเรียนคณิตศาสตร์ต่อเนื่องทั้งตรีและโท แต่สุดท้ายก็มาเป็นนักธุรกิจ

ตอนปริญญาตรียังนึกไม่ออกว่าอยากเป็นอะไรนะครับ และเราก็เชื่อว่าถ้าเรียนคณิตศาสตร์ การไปทำอาชีพอื่นก็น่าจะพอได้ คณิตศาสตร์เองก็ค่อนข้างกว้าง มันเป็นวิชาที่เราจะมองไม่ค่อยออกตอนเราอยู่มัธยม เครื่องคิดเลขนี่ไม่ได้แตะเลยนะครับ คณิตศาสตร์ที่เราใช้ในเรื่องการเงิน 95% เป็นคณิตศาสตร์ระดับมัธยมฯ มี 5% ที่ใช้คณิตศาสตร์ระดับสูงขึ้นมา และอีกไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ที่เป็นเรื่องการสร้างโมเดล อันนั้นต้องใช้คณิตศาสตร์ระดับสูง

แต่แล้วพอกำลังจะเรียนจบก็รู้สึกว่ายังไม่สะใจ ยังอยากเรียนต่อ ตอนนั้นมีสองทาง ได้ข้อเสนอให้เรียนถึงปริญญาเอกที่อ็อกซฟอร์ด หรือไม่เรียนโทหนึ่งปีที่เคมบริดจ์ ตอนนั้นเรารู้ตัวแล้วล่ะว่าเราเก่งไม่พอที่จะเป็นคนที่ขยายวิชาของคณิตศาสตร์ได้ อย่างคนที่เป็น ‘ซูเปอร์จีเนียส’

วิธีที่เขาคำนวณคะแนนที่ออกซฟอร์ด คะแนนเต็มคือ 1,600 คะแนนที่ถือว่าผ่านอยู่ที่ 150 จาก 1,600 (ยิ้ม) คนที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 คือคนที่ได้คะแนน 500 จาก 1,600

ส่วนใหญ่ คนที่ได้คะแนนสูงสุดหรือเหรียญทองแต่ละปี จะได้คะแนนประมาณ 600 เราก็งงว่า เออ ทำไมมันต้องเผื่อคะแนนไว้ถึง 1,600 แต่ถัดไปสักสองปี เฮ้ย! มันมีเด็กคนนึงได้ 1,400 เราก็ อ้า… เข้าใจแล้ว ทั้งระบบนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะตามหาคนคนหนึ่งในทุกสิบปี ที่จะมาแล้วได้ 1,200 ขึ้นไป ทุกอย่างที่ออกซ์ฟอร์ดทำคือพอเจอคนคนนี้ อาจารย์ทั้งหมดจะ ฟึ้บ!! เข้าหา เพื่อจะให้เขาได้ขยายความรู้ในศาสตร์นี้ออกไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ทั้งๆ ที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่ผมรู้เลยว่าตัวเองไม่ใช่คนคนนั้น ก็เลยคิดว่า งั้นไม่เรียนถึงดอกเตอร์ดีกว่า และที่เคมบริดจ์ คอร์สหนึ่งปีที่ว่านี้เป็นคอร์สที่ดีมากเลย สั้น เข้มข้น แน่น และเหนื่อย เป็นดีกรีที่เขาเรียกว่า Part III เป็นวิชาที่เก่าแก่ สามวิชาแรกๆ ของเคมบริดจ์

ชีวิตการทำงานของคุณเริ่มต้นอย่างไร

ผมอยากใช้สิ่งที่ผมได้มาจากการเติบโตที่เอเชีย เช่น ภาษาหรือความเข้าใจทางวัฒนธรรมทั้งไทยและจีน และสิ่งที่เราเรียนมาก็คือคณิตศาสตร์ เราก็เลยไปทางไฟแนนซ์ ตอนแรกที่เขาเห็นโปรไฟล์ เขาก็พยายามดันให้เราไปทางการซื้อ-ขายออปชัน (option trading) ซึ่งต้องทำงานในลอนดอน แต่เราไม่อยาก เพราะมันไม่ได้ใช้พื้นฐานความเป็นเอเชียของเรา โชคดีมีบริษัทนึง MD จากเอเชียเขามา ก็เลยได้งานกับ Deutsche Morgan Grenfell Group Plc ซึ่งตอนนี้ก็โดนกินไปแล้ว กลายเป็น Deutsche Bank

บริษัทมีออฟฟิศเอเชียอยู่ที่สิงคโปร์ ผมไปเริ่มงานที่นั่นพอดีกับวิกฤต 2540 วันทำงานวันแรกคือ 2 กรกฎาคม 2540 เป๊ะเลย! เจอเลย (หัวเราะ) เงินบาทลอยตัว ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่าเคยรู้จักตระกูลโน้นตระกูลนี้ เสร็จแล้วตอนนี้หายไปเลย แบงก์ใหญ่ๆ ฮึ้บ หายไปเลย

ตอนแรกผมมาช่วยที่เมืองไทยก่อน ผมพยายามหาคู่ให้ธนาคารต่างๆ แต่ก็ยาก เพราะทุกอาทิตย์มันก็จะมีเรื่องราวที่ทำให้ทุกคนเครียดมากขึ้น ระหว่างที่ผมทำอยู่ แบงก์แหลมทองก็เจ๊งไป จะเห็นคนเข้าคิวถอนเงินกันอยู่บนถนนสาทร และถ้ามีข่าวอะไรที่ไม่ดีนิดนึง คนเขาไม่เช็กก่อนนะ เขามาเข้าคิวก่อนเลย เพราะฉะนั้นทุกเช้าตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องดูก็คือมันมีใครเขียนอะไรในข่าวบ้างหรือเปล่า ซึ่งบางทีก็เขียนจากความเข้าใจผิด

อย่าว่าแต่นักข่าวไม่เข้าใจคอนเซปต์อย่างหนี้เสีย ลดทุน เพิ่มทุน มันเกี่ยวข้องอะไรกับขาดทุน นายธนาคารเองบางทียังไม่เข้าใจเลยว่าวิกฤตนี้มันคืออะไร ผู้บังคับใช้กฎหมายเองก็ยังงงๆ ไม่มีใครพร้อมกับการรับมือพายุนี้

ตอนนั้นผมเป็นนายธนาคารแล้วก็พยายามช่วยหาพาร์ทเนอร์ให้ธนาคารเพื่อเพิ่มทุน เพราะว่าการที่ลูกค้าเขาเจ๊งจะทำให้ธนาคารขาดเงินทุนสำรอง เพราะฉะนั้นคนที่จะมาลงทุนก็ต้องไปคำนวณความเสี่ยงว่าสิ่งที่เขาซื้อนั้นอีก 6 เดือนถัดไปจะเป็นอย่างไร หรือถ้ามันหมด เขาต้องทำยังไง ต้องลงเพิ่มไหม หรือว่า cut loss ไปเลย ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนอยากซื้อหรอก ทุกคนกลัว ตอนนั้นผมก็ได้ใช้คณิตศาสตร์นิดนึง เรื่องสูตรการคำนวณจุดพีกของเอ็นพีแอล แต่ว่าเขาไม่เชื่อ (หัวเราะ)

ในที่สุดเขาก็ซื้อ แต่เขาไม่ได้ซื้อเพราะเชื่อเรื่องสูตรคำนวณนี้ คณิตศาสตร์มันก็เป็นแค่ตัวเลข มันไม่ได้ทำให้คนเชื่อ

ทำงานแบงก์นานไหม กว่าจะมาทำธุรกิจของตัวเอง

ผมอยู่ที่ Deutsche Morgan Grenfell ประมาณปีนึง แล้วย้ายไป Merrill Lynch ที่ฮ่องกง ประมาณสองปี แล้วก็ออกมาทำเอง

ตอนนั้นคิดผิด จริงๆ แล้วยังไม่พร้อม นึกว่าตัวเองพร้อมแล้ว เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมหภาคยังไม่นิ่ง แต่ถ้าไม่ออกตอนนั้นก็คงจะออกยากขึ้น เพราะเราก็จะมีอายุงานมากขึ้น อาวุโสขึ้น ต้นทุนในการออกมามันก็คงจะแพงขึ้นไปด้วย

แต่ถามว่าพร้อมไหม ยังไม่พร้อม ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ หลายครั้ง ครั้งหนึ่งก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาให้คำปรึกษาบริษัทเล็กหรือกลางที่ต้องการเข้าจีน โดยตั้งฐานตัวเองไว้ที่ฮ่องกง แต่ก็ผิด เพราะว่าบริษัทเล็กๆ นั้นเงินน้อย และเขาเองยังไม่รู้ว่าการเข้าจีนมันยาก เนื่องจากไม่เคยเข้า

การเข้าจีนเป็นสิ่งที่ยาก ยุคนี้ยิ่งยากเลย เผอิญบริษัทนั้นเขายังไม่รู้ว่ายาก และการตั้งฐานในฮ่องกงก็ผิด เพราะว่าเราก็ต้องไปแข่งกับคนอื่นในฮ่องกง ซึ่งก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนอยู่แล้ว

เราเลยเปลี่ยนมาเน้นที่บริษัทใหญ่ซึ่งเคยพยายามเข้าจีนแต่ติดปัญหา ลูกค้ารายแรกที่เป็นลูกค้าใหญ่ก็คือธนาคารกสิกรไทย ตอนนั้นก็ไปช่วยคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) คิดยุทธศาสตร์ ว่าควรจะเข้าจีนไหม คำถามที่สองคือ เข้าแล้วควรจะทำอะไร

ตอนนั้นคุณปั้นเป็นประธานบริษัทอยู่ ใช้เวลา 6 เดือนตัดสินใจว่าควรจะเข้า ทั้งๆ ที่ช่วงกลางนั้นเจอ SARS crisis เพิ่งเริ่มไม่กี่เดือนก็เจอวิกฤตแล้ว (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ไปจีนเกือบทุกเดือน ไปเรียนรู้ว่าโอกาสอยู่ตรงไหน ซึ่งก็คือควรจะเน้นไปที่เอสเอ็มอี

นอกจากจะได้เจอกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล เราก็ได้เจอกับสมาคมต่างๆ รวมถึงนักธุรกิจ ทุกทีที่เราเจอนักธุรกิจเอกชน เขาก็จะบ่นว่าแบงก์จีนไม่เคยปล่อยกู้ให้เลย เราจึงพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมแบงก์ถึงไม่ยอมปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี แล้วเราก็เข้าใจว่า อ๋อ เพราะว่า pricing มันจำกัด ไหนๆ ก็ชาร์จมากขึ้นไม่ได้ งั้นก็ปล่อยเงินกู้ให้บริษัทใหญ่ดีกว่า

ซึ่งต่อมาอีกสักพัก จีนก็ลำบาก เจอปัญหาการว่างงาน เพราะว่าต่อจีดีพี เอสเอ็มอีจ้างคนมากกว่าบริษัทใหญ่ 7 เท่า จึงเป็นนโยบายให้รัฐบาลกลางหันมาช่วยเอสเอ็มอี เขาถึงกลับมาคิดว่าต้องปล่อยให้ pricing กว้างขึ้น ไม่ต้องจำกัดดอกเบี้ยไว้ แต่แรงดันไม่พอ เพราะมันมีแรงดันอีกข้างหนึ่งก็คือไม่มีเทคนิค กสิกรก็เลยเข้าไปพอดีเลย แต่ก่อนจะไปปล่อยกู้ในจีน เขาก็ต้องมีตราสารหนี้ และตอบผู้ถือหุ้นได้ว่าทำไมถึงไปปล่อยกู้ให้ลูกค้าที่ขนาดแบงก์จีนยังไม่ปล่อย เราก็เลยต้องตอบโจทย์นี้

ตลาดจีนตอนนั้นไม่ได้เป็นที่นิยมขนาดนี้ สิ่งที่คนจะได้ยินเกี่ยวกับจีนก็คือ อูย! ไปเมืองจีนขาดทุน มีแต่คนบ่น หลายคนก็ขาดทุนแบบจมน้ำตื้นมากเลยครับ เผลอๆ ไม่ได้ขาดทุน แค่เอาเงินออกมาไม่ได้ การที่เอาเงินออกมาไม่ได้มันเขียนอยู่ชัดๆ ในกฎว่า คุณไม่สามารถเอาเงินต้นออกได้ เอาออกมาได้แต่ดอกเบี้ย แต่ว่าไม่ได้อ่าน เพื่อนชวนเข้าไป เป็นอย่างนี้เยอะ โทษประเทศจีนไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้โกง เขาเขียนไว้ในกฎชัดเจน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จจำนวนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าตัวเองไม่ได้ทำการบ้าน

ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ทำธุรกิจกับจีน เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจบ้าง

หลายเรื่องครับ เรื่องแรกก็คือ สิ่งที่เราทำนั้นเปลี่ยนไป ตอนแรกที่เริ่ม งานหลักๆ ก็คือช่วยให้บริษัทต่างชาติเข้าจีน ไปลงทุนหรือไปซื้อบริษัทในจีน ไปเปิดเครือข่ายหรือขยายสาขาตัวเองในจีน คือ ‘เข้าจีน’

แต่หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็เริ่มมีบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทตะวันตก ขายทรัพย์สินในจีนของเขาให้กับคนจีน และระยะที่ 3 ก็คือ คนจีนตอนนี้เริ่มออกมาซื้อสินทรัพย์ข้างนอก จากขายกันเองก็เริ่มออกมาซื้อ นี่เป็นสิ่งแรกที่น่าสนใจ

สิ่งที่สองที่น่าสนใจก็คือ เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศ หลายคนชอบพูดถึงเรื่องตึกใหม่ๆ รถไฟความเร็วสูง เรื่องพวกนี้ที่เป็นเรื่องจับต้องได้ จีนเขาทำง่าย แต่ที่น่าสนใจก็คือ นิสัยของคนก็เปลี่ยนไปในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนิสัยนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนยากนะครับ แต่เขาก็เปลี่ยน คนจีนก็มีความเป็นสากลขึ้น และการที่เขาอินเตอร์ขึ้นเป็นสิ่งที่ดีนะ เขาก็ต้องการให้เราช่วยเขามากขึ้น

โครงการด้านการศึกษาอะไรที่ทำให้คุณได้รับเครื่องราชฯ จากอังกฤษ

ผมทำเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากผมรู้ว่าที่ได้มีชีวิตอย่างทุกวันนี้ก็เพราะได้รับการศึกษาที่ดี เลยสนับสนุนตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ แต่ส่วนมากเป็นโปรเจ็กต์ของคนอื่น เพราะว่าผมก็ยังไม่มีเงินมากในตอนนั้น แต่ในภาษาจีนเขามีภาษิตว่า พออายุถึง 30 ก็ต้องเริ่มหยัดยืนด้วยตนเอง ต้องทำอะไรให้เป็นตัวเป็นตน

ปี 2004 ผมกำลังจะอายุ 30 พอดีมีเพื่อนที่ไปเป็นผู้ว่าอยู่ในเมืองเมืองหนึ่งซึ่งค่อนข้างยากจนในมลฑลยูนนาน อยู่ติดกับชายแดนพม่า มีชนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ติดยาเพราะว่าเป็นทางผ่านระหว่างพม่าไปจีน และโดยเฉพาะยาแบบฉีดก็ทำให้เชื้อเอดส์แพร่ระบาด

เราไปถึงที่มลฑลนั้นก็คิดโครงการช่วยเหลือ ตัดสินใจทำมูลนิธิฉางอ้ายขึ้นมา คอนเซ็ปต์คือเป็นมูลนิธิที่ทำงานโดยยึดตามความต้องการของผู้รับ ไม่ใช่ยึดตามจุดประสงค์โปรเจ็กต์ คือเอาเด็กเป็นใจกลาง ทุกอย่างที่เด็กต้องการ เราสามารถนำมาพิจารณาได้หมด ไม่ได้ไปเพื่อทำประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้ทำเป็นเคสๆ ไป แต่ทำทั้งหมู่บ้านทั้งหมด 4 หมู่บ้าน นี่คือโปรเจกต์ที่เราทำเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

ส่วนที่ประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราได้เริ่มอีกโครงการหนึ่ง คือมูลนิธิออกซ์ฟอร์ดไทย เป็นอีกแนวหนึ่ง คือนักเรียนหัวกะทิที่เรียนจบปริญญาตรี ได้เหรียญทอง และไปต่อที่ออกซ์ฟอร์ด เราก็ให้ทุน เพราะสำหรับคนไทย การไปเรียนออกฟอร์ดนั้นเแพงมาก ซึ่งการสนับสนุนนี้ก็ประสบความสำเร็จ อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีสองคนที่ได้รับทุน ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ซึ่งก็มาจากทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์

สิ่งที่เราทำก็เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่แล้ว นอกจากทางตรงแล้ว ก็คือการที่เราปลูกฝังความสัมพันธ์เหล่านี้กับคนในอีกเจเนอเรชันหนึ่ง ซึ่งมันจะต่อเนื่องกันไปในอนาคต วิธีที่เราคัดคนก็ก็คือ คนที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น

ตอนที่เขาให้เหรียญ ผมจะไม่รู้ว่าใครเสนอชื่อ และเราเองก็ไม่ควรถาม คนที่เสนอเองก็ไม่ควรบอกด้วยนะ

อะไรที่ทำให้ โจ ฮอร์น เป็นอย่างทุกวันนี้

ผมพยายามโฟกัส ทำไม่กี่ด้าน อาจจะเป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้ใช้เวลากับแต่ละอย่างได้มากขึ้น ก็เลยมีโอกาสที่ดีในด้านนั้นไป คุณลุงคนหนึ่งเคยบอกผมว่า คนเรามันมี ‘ทำได้ ทำดี ทำเก่ง’ จะทำอะไรก็ตาม ทำให้ได้ถึงขั้นที่สอง อย่าทำไปแค่ให้ทำได้ พูดอย่างนั้นมา ผมก็เลยเลิกตีกอล์ฟเลย (หัวเราะ) เพราะมันไม่ดีเสียที ใช้เวลานั้นไปทำอย่างอื่นแทน ทำให้ผมได้ใช้เวลากับสิ่งที่ผมตัดสินใจทำต่อไปได้มากขึ้น

และตั้งแต่เด็กๆ เราได้เจอคนหลากหลาย ได้เจอคนที่น่าสนใจมาก นั่งอยู่ที่บ้านก็จะมีคนมาเยี่ยมคุณตา เราไม่รู้หรอกครับว่าเขาทำอะไร แต่เขาเป็นคนที่น่าสนใจมาก ทั้งนักการทูต นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งรวมทั้งนักคณิตศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่ทำให้ผมสนใจวิชานี้ด้วย

ผมต้องขอบคุณสิ่งที่คุณตากับคุณแม่สร้างมา เขาเป็นรุ่นที่รับความลำบาก คุณตาก็ติดคุกหลายปี คุณแม่ก็ต้องผ่านปฏิวัติวัฒนธรรม มีช่วงที่ไม่มีบ้าน จนมาถึงรุ่นผม ทุกอย่างก็ดีขึ้นหมดเลย เราได้รับมาอย่างเดียว แต่ว่าเราก็มีหน้าที่ด้วย คือต้องทำให้ดี ไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์สามชั่วคนนี้เสียไป ทำสิ่งที่เหมาะสมกับความเสียสละของคุณแม่และคุณตา

ก็ไม่ถึงกับกดดันนะครับ เป็นเหมือนมรดกที่เราต้องดูแล และมีหน้าที่ส่งต่อไปให้ลูกด้วย

Fact Box

  • โจ ฮอร์น พัธโนทัย หรือ โจเซฟ โซโลมอน ฮอร์น อายุ 45 ปี เป็นบุตรของสิรินทร์ พัธโนทัย มีน้องชายคือ เลี่ยว ฮอร์น พัธโนทัย
  • โจ ฮอร์น จบการศึกษาปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และปริญญาโทด้าน (Pure Mathematics) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Strategy613
  • เขาร่วมก่อตั้งมูลนิธิฉางอ้าย (ChangAi foundation) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิออกซ์ฟอร์ดไทย ในฐานะผู้บริหารและเลขาธิการ
  • ปี 2018 เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ (Order of the British Empire) ขั้น Member of the Most Excellent Order of the British Empire (MBE, เอ็มบีอี) โดยประกาศได้ระบุเหตุผลที่ได้รับว่า มาจากงานด้านการกุศล การพัฒนาด้านการศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศจีนและประเทศไทย (“For services to charity, educational development and UK relations with China and Thailand”) สามารถดูรายชื่อผู้ที่ได้รับเครื่องราชฯ ทั้งหมดในปี 2018 ได้ที่นี่
Tags: , ,