วันนี้ ถ้าเสิร์ชชื่อของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใน Google จะพบว่า คำค้นหาลำดับแรกที่ตามมาหลังชื่อเขาคือคำว่า เปลี่ยนไป

นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่หลายคนสังเกตเห็นหลังจากจตุพรออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 หลังศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ในคดีหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ท่าทีของจตุพรที่เคยแข็งกร้าว ดุดัน บนเวทีการชุมนุมคนเสื้อแดงนับสิบปีที่ผ่านมานั้น หายไปอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับเสียงเตือนของจตุพรที่เตือนไปยัง คณะราษฎร ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคำเตือนเกี่ยวกับข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ของคณะราษฎร ว่าด้วยการ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เขาเห็นว่า ไม่ควร ไปแตะต้อง

ไม่เพียงเท่านั้น ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จตุพรยังประกาศยืนตรงข้ามกับ พรรคเพื่อไทย และตรงข้ามกับ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการออกตัวเชียร์ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย ตรงข้ามกับ ทักษิณ​ และ ออกมาบริภาษ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวทักษิณ ที่เชียร์ให้ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เป็นนายก อบจ. ชัดเจน ก่อนจะตามมาด้วยการ อัด บ้านเก่าอย่างพรรคเพื่อไทยอย่างหนัก

จนถึงวันนี้ เขายังจัดรายการทีวีช่อง Peace TV ย่านนวลจันทร์ อยู่เป็นประจำทุกวัน พร้อมกับตั้งโรงครัวทำอาหารแจกประชาชนทุกมื้อเที่ยงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ที่ลานจอดรถของสตูดิโอขนาดใหญ่ของ Peace TV ซึ่งมี ‘สนามมวย’ อยู่บริเวณสตูดิโอด้วย

The Momentum ชวนจตุพรขึ้นเวทีมวย คุยเรื่องความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนไปในตัวเขาว่า ท่ามกลางเวลาที่ผันผ่าน นักสู้ อย่างเขา ยังเป็นคนเดิมอยู่หรือไม่ และบทเรียนตั้งแต่ปี 2535 บนเวทีการต่อสู้บนถนน ตัวเขาได้ ตกผลึก อะไรบ้าง

จุดยืนทางการเมืองของ ‘จตุพร’ ก่อนและหลังได้รับอิสรภาพต่างกันไหม

จุดยืนทางการเมืองของผมยังเหมือนเดิมตลอดชีวิต และไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนความคิด แต่พออายุมากขึ้น ผมก็เหมือนกับนักร้อง ตอนอายุยังน้อยเป็นหนุ่มๆ ก็สามารถร้องเสียงสูงได้ แต่พออายุมากขึ้น การร้องเพลงก็ต้องลดคีย์ลง เพื่อให้สอดคล้องกับวัยเพียงเท่านั้น แต่หลายคนเคยชินกับภาพที่ผมร้องเสียงสูง จนมองข้ามความจริงที่ว่า ผมก็ยังร้องเพลงเหมือนเดิม

คล้ายกับบรรดาศิลปินทั้งหลายที่สังขารเป็นตัวอธิบายว่า ผมตอนอายุ 20 ปี 30 ปี จนกระทั่งผมอายุ 55 ปี เสียงก็ต้องลดลงตามอายุขัย แต่ผมก็ยังคงร้องเพลงที่มีเนื้อหาเหมือนเดิม

แล้วคีย์ที่ลดลง ที่หายไปจากตัว ‘จตุพร’ คืออะไร

การพูดครับ ปกติผมจะเป็นคนพูดในลักษณะเสียงดัง แต่พออายุมากขึ้นการพูดในลักษณะนี้ต้องใช้พลังงานอย่างมาก เมื่อรวมกับสิ่งที่เราต่อสู้มาตลอดชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี จนกระทั่งบัดนี้อายุ 55 ปี เพราะฉะนั้น เสียงสูงเราก็ใช้ได้บางครั้งตามสังขาร แต่จะให้ใช้ทุกครั้งเหมือนตอนหนุ่มๆ มันก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะร่างกายมันไม่ไหว

แต่จุดยืนและเนื้อหา ผมไม่เคยเปลี่ยน ผมยังยึดหลักประชาธิปไตย ยืนข้างประชาชนอยู่เสมอ ผมเมื่อตอนปี 2535  และปี 2553 เคยพูดอย่างไร ผมก็ยังเป็นคนแบบนั้น อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การพูดคุยก็ควรมีสติให้มากขึ้น ทั้งฝ่ายตรงกันข้าม หรือแม้กระทั่งฝ่ายเดียวกัน

โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่มีการปั่น การทำลายกันสูงมาก ผมยังไม่ทันอ้าปากทำอะไรก็ถูกด่าไว้ก่อน ผมจึงต้องจัดการในส่วนนี้ตามวิธีการของโซเชียลมีเดีย ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ 

หลายคนมองว่าคุณมีความขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์การเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงใหม่ ที่ผ่านมา

ผมดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ตอนผมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ คนในตระกูลบูรณุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ หรือ อดีตนายก อบจ. บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ รวมไปถึงคนที่เกี่ยวข้อง เขาไม่เคยมายุ่งเกี่ยวว่าผมจะเคลื่อนไหวอะไร เราอยู่กันแบบพี่น้อง แต่เมื่อมีอะไรติดขัดก็ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกกันเสมอ

ส่วนเหตุผลที่ผมออกมาช่วยหาเสียงสนับสนุนบุญเลิศนั้น มาจากการที่เขาต้องติดคุกจากเหตุการณ์การต่อต้านการประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ซึ่งผมออกมาต่อต้านในนามของคนเสื้อแดง ส่วนบุญเลิศออกมาต่อต้านในนามพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคได้มอบหมายภารกิจให้ ต่อมากลายเป็นว่าตระกูลบูรณุปกรณ์ถูกจับเกือบทั้งตระกูล บริวารถูกขังทั้งหมด 15 คน ในค่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 18 จนกระทั่งถูกย้ายไปขังที่เรือนจำอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิง

แต่ เจ๊’ ที่ว่ากลับชูมือคนที่ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงใหม่ ที่คว้าชัยเหนือบุญเลิศ เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ในขณะที่บุญเลิศต้องอยู่ในเรือนจำ ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ. ประชามติ เนื่องจากทำตามคำสั่งของพรรคที่ไม่ให้รับร่างประชามติ หากเป็นผมที่เป็นนักเคลื่อนไหวถูกดำเนินคดีจะไม่เป็นอะไรเลย เป็นเรื่องธรรมดาของผมอยู่แล้วกับการเข้าคุกออกคุก แต่บุญเลิศไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขากลับต้องรับชะตากรรมนี้ และเขาก็ไม่เคยซัดทอดพรรคแม้แต่คำเดียว การที่เขาไม่ยอมจึงต้องต่อสู้คดีนี้ถึง 3 ปี

ประเด็นต่อมา คือประเด็นที่บุญเลิศถูกโจมตีด้วยรูปถ่ายกับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนอกจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว บุญเลิศก็มีรูปกับแทบทุกพรรค เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคเชิญบุญเลิศไปร่วมงาน เขาก็ไป พรรคอนาคตใหม่ ชำนาญ จันทร์เรือง (รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เชิญไปร่วมงาน เขาก็ไป พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทยเชิญ เขาก็ไปหมดทุกพรรค แต่พอมีรูปกับคุณธรรมนัสเพียงรูปเดียวก็ตกเป็นประเด็น นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ผมรับไม่ได้

ประเด็นที่ 3 คือการที่พรรคเพื่อไทยเลือกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีบอส กระทิงแดง มาเป็นตัวแทนพรรค ซึ่งสำนวนของ คุณวิชา มหาคุณ ก็ระบุตัวย่ออย่างชัดเจนว่ามีส่วนร่วม จนเขาคนนั้นต้องไปเปลี่ยนทั้งชื่อจริงและชื่อเล่น สื่อมวลชนต่างๆ ก็รายงานคดีนี้กันอย่างหนัก

ดาบวิเชียร กลั่นประเสริฐ เป็นตัวอย่างของคนที่ถูกรังแก นอกจากกำพร้าพ่อแม่ ไม่มีลูกเมีย และพี่น้องท้องเดียวกันต้องกระจัดกระจายกันคนละทิศละทางเพราะความยากจนแล้ว ต้องมาถูกลูกเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ขับรถชนลากร่างไปไกลถึง 60 เมตร ลากมอเตอร์ไซค์ไป 160 เมตร หนีเข้าบ้าน ไม่แม้แต่ลงมาดู แต่ให้พ่อบ้านออกมารับหน้าแทนว่าเป็นคนขับ

นี่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิด ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งภายหลัง พยานเท็จก็เสียชีวิตอย่างน่าสงสัย เพราะฉะนั้น การที่พรรคเพื่อไทยเลือกคนที่มีข้อสงสัยในการทำลายกระบวนการยุติธรรม และทิ้งคนในองค์กรตัวเอง คนที่ยอมติดคุกเพื่อพรรค เรื่องนี้ผมจึงเห็นต่างกับพรรคเพื่อไทย

การที่ผมเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ผมไม่เคยไปพบแกนนำเสื้อแดงคนไหนเลย เพราะผมเชื่อว่าคนเสื้อสีไหนก็ตามที่มีความเป็นคน ต้องรับไม่ได้กับความอยุติธรรมนี้ แต่หลายคนก็ออกมาเรียกร้องให้ผมลาออกจากตำแหน่งประธาน นปช. ซึ่งผมก็รู้ดีว่าเป็นใคร ผมจึงออกมาอธิบายในทุกเรื่อง การเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ ผมที่เคยเป็น ส.ส. ทำหน้าที่มาตลอด จนคนรู้จักทั้งประเทศ มาช่วยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. เป็นตำแหน่งที่เล็กที่สุดในสนามที่ไม่สามารถให้คุณให้โทษอะไรผมได้เลย ผมแค่เห็นว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม ได้รับการกระทำที่ไม่สมควรจะได้รับ แต่หลายคนกลับเอาเรื่องนี้มาทำลายกัน

โดยส่วนตัว คุณมีปัญหาอะไรกับพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า

ความจริงแล้ว ผมเคยอยู่คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค แต่หลังเกิดเหตุการณ์ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอยเมื่อปี 2556 ผมก็ถอยห่าง แต่สุดท้าย เป็นพรรคเพื่อไทยที่มาขอให้ผมกลับไป ผมก็ประเมินสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นแล้วว่า อย่างไรก็ต้องถูกยึดอำนาจ จึงกลับมารักษาประชาธิปไตยในยามที่แทบจะหมดสภาพของรัฐบาลอยู่แล้ว

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมก็ไม่ค่อยเข้าออฟฟิศ แต่ก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป ความจริงแล้วคนในพรรคเพื่อไทยจะทราบดีว่า ผมไม่มีหน้าที่ต้องไปเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หลากหลายกรณีและ พ.ร.บ. สุดซอยก็ไม่ใช่ครั้งแรก ผมไม่ได้สู้เพื่อไปสรรเสริญเยินยอรับผลประโยชน์ ผมสู้มาตลอดเพราะผมมีความเชื่อแบบนี้

หากผมเลือกผลประโยชน์ และคิดแบบนักการเมืองทั่วไป ก็ไม่ต้องมาลงท้องถนน เพราะในสภา ผมก็เป็นผู้อภิปรายอันดับต้นๆ หากเลือกเส้นทางนี้ ผมก็คงไม่มีคดีความติดตัว แต่ชะตาเรากำหนดให้เดินเส้นทางที่ต้องขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจในฝั่งเดียวกัน หรือฝั่งตรงข้าม นี่คือความเป็นผม เพราะฉะนั้น คนพันธุ์แบบผม หลายคนจึงมองว่าอาจเป็นคนที่มีปัญหากันในอนาคตได้

กังวลไหมว่าเรื่องนี้อาจทำให้คุณสูญเสียเพื่อน หรือคนรู้จักที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย

ผมไม่ได้กังวลเรื่องนี้ ตอนที่ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ถูกจับตอนปี 2535 คนที่ร่วมเวทีกับผมทั้งหมดก็กระจัดกระจายหายไป เหลือผมคนเดียวที่นำทัพต่อมาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กว่าที่เพื่อนพ้องน้องพี่จะตามมาสมทบ ผมเคยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยู่แล้วในสนามการต่อสู้ ดังนั้น คนพันธุ์อย่างผม คนเพื่อไทยจำนวนมากก็เข้าใจนะว่าผมเป็นคนอย่างไร แต่คนที่เข้าใจผม เขาไม่ได้มีอำนาจอยู่ในพรรคแค่นั้นเอง

คุณคิดว่าปัญหาของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้คืออะไร

ผมเชื่อว่าหากพรรคยังไม่ทบทวนบทเรียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีทางแหวกวงล้อมจากสถานการณ์ที่ประสบพบเจอมาตลอดได้ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ผมพูดในฐานะอดีตสมาชิกพรรค เพราะปัจจุบัน หลังจากเข้าเรือนจำมา ก็เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนไม่ได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลคือคู่แข่งที่แท้จริง เพราะมีตลาดเดียวกัน และพรรคก้าวไกลมีความคิดหลักการที่ก้าวหน้ากว่า ถึงแม้ว่าคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอยู่ก็ตาม แต่คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ และไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยไม่แก้ไข ไม่ปรับ ยังยึดอยู่กับอดีต สุดท้ายก็จะพ่ายแพ้ต่อพรรคก้าวไกลได้

ปัญหาที่ว่าหมายถึงการก้าวข้ามคุณทักษิณหรือเปล่า

พรรคเพื่อไทยต้องไปคิดเองว่า ต้องเดินอย่างไร แล้วเจออย่างไร เพราะมีบทเรียนเต็มไปหมด ไม่ใช่ว่าไม่มีบทเรียน เพียงแต่ว่าธรรมชาติของมนุษย์ หากต้องการแก้ไขความผิดพลาด ก็ต้องเรียนรู้จากบทเรียน มันควรจะกำหนดทิศทาง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ย้อนรอยแบบเดิมๆ ซ้ำๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

ความสัมพันธ์ของคุณกับคุณทักษิณเป็นอย่างไรบ้าง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมและนายกฯ ทักษิณเห็นต่าง เราเห็นต่างกันหลายครั้ง เพียงแต่ว่าวัฒนธรรมตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครกล้าที่จะเห็นต่าง แต่ผมกล้าที่จะเห็นต่าง และอยู่ร่วมกันได้ แต่เราทุกคน เมื่ออยู่ในประเทศไทยก็กลายเป็นเหยื่อของทุกเรื่อง เช่นผม ที่ติดคุกครั้งล่าสุดคดีหมิ่นประมาทธรรมดา ศาลชั้นต้นยกอุทธรณ์คดี ซึ่งเหตุการณ์นั้นเกิดในช่วงการตัดสินคดีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) แต่ต่อมา ศาลฎีกาได้กลับคำตัดสินลงโทษจำคุกผมหนึ่งปี

เพราะฉะนั้น ก็คิดกันได้ว่ารัฐบาลในตอนนั้น เขาอาจจะไม่สบายใจ เช่นไม่สบายใจกับนายกฯ ทักษิณ ผมที่ยังอยู่ในประเทศไทย ก็เลยถูกถอนประกัน หรือไม่สบายใจกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เขาก็ต้องขัง ที่ผ่านมาผมก็เลยใช้วิธีคุยกันให้น้อย ไม่คุยกันก็ได้ ซึ่งเราก็ยังยึดมั่นในจุดยืนของเราต่อไป อาจจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ได้ ผมจึงบอกว่าความเห็นต่างนั้นแยกออกจากความเคารพ ความนับถือ เห็นต่างก็ต้องอยู่กับความเชื่อ ไม่ใช่ว่าต้องเห็นเหมือนกันทั้งที่ความรู้สึกในหัวใจเราไม่เห็นด้วย ผมเป็นคนปากกับใจตรงกัน เหมือนคือเหมือน ต่างคือต่าง แต่เป็นคนละเรื่องกับการเคารพนับถือ

แล้วความสัมพันธ์กับแกนนำ นปช. อย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังเหมือนเดิมไหม

กับณัฐวุฒิ ก็ยังเป็นพี่เป็นน้องกับผมตลอดชีวิต เพียงแต่ทางความคิด เราต่างมีเสรีภาพระหว่างกัน ยกตัวอย่างในกระบวนการต่อสู้ของ นปช. ที่สู้กันมาอย่างยาวนาน แต่ละประเด็นในห้องประชุม เราก็แลกเปลี่ยน เห็นต่างกันมาตลอด ซึ่งเราเป็นคู่หนึ่งที่เถียงกันมากที่สุดก็ว่าได้ แต่เมื่อมีมติออกมาอย่างไร ทุกคนก็ยอมรับเห็นเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่ผมและณัฐวุฒิต่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทั้งคู่ ถึงแม้บางเรื่องเราจะเห็นตรงกัน บางเรื่องจะเห็นต่างกัน แต่ความเป็นพี่น้องก็ยังเหมือนเดิม

สิบกว่าปีที่ผ่านมา คุณพูดมาตลอดว่า คุณและคนเสื้อแดงต่อสู้กับอำนาจ ‘อำมาตยาธิปไตย’ คุณคิดว่าคู่ต่อสู้ของคุณยังเหมือนเดิมหรือไม่

ผมมองว่าจุดที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวบุคคลที่เป็นปัญหาของชาติ คือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาเรื่องทุนผูกขาดกับอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจที่มาจากการรัฐประหาร หรืออำนาจอื่นใดก็ตาม เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มทุนผูกขาดเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบอบไหนก็ตาม กลุ่มทุนก็เป็นกลุ่มที่กอบโกยประเทศนี้มากที่สุด เมื่อกลุ่มทุนมีเงินล้นมือต้องไปซื้อที่ดิน คนบางคนมีที่ดินเป็นล้านไร่หรือมากกว่านั้น ในขณะที่คนอีกจำนวนมากไม่มีที่ดินสำหรับทำกิน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า บ้านเมืองเรามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำแทบเป็นอันดับ 1 ของโลก

หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ เผด็จการทางการเมือง’ อย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว เผด็จการทางการเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่เลวร้ายสมบูรณ์แบบมากที่สุด เพราะทำให้เกิดการครอบงำทางเศรษฐกิจเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ ท่ามกลางการเอื้ออำนวยการผูกขาดโดยรัฐบาล หากวันนี้เราไม่จัดการเผด็จการเศรษฐกิจ ทั้งทุนผูกขาด นักการเมือง เผด็จการทหาร ผมเห็นมาหลายเหตุการณ์ หลายรัฐบาลไม่ว่าเราจะฟาดฟันกันเกือบตาย แต่ทุนก็ยังได้รับผลประโยชน์ในทุกระบอบการปกครองอยู่ดี

ทำไมอยู่ดีๆ คุณถึงตกผลึกว่า ‘เผด็จการทางเศรษฐกิจ’ คือปัญหาของชาติ

ปัญหานี้คือสิ่งที่ผมเห็นและเรียนรู้มาโดยตลอด เผด็จการทางเศรษฐกิจนั้นเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ ไม่ว่าใครจะขึ้นมามีอำนาจก็ไม่ส่งผลกับคนกลุ่มนี้เลย เพราะเขาก็ยกประโยชน์ให้อำนาจใหม่แทน ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบไหนก็ตาม ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘เผด็จการ’ สุดท้ายแล้วทุนผูกขาดก็ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะคำว่าทุน กับคำว่าอำนาจ เป็นของคู่กัน เมื่อทุนมารวมกับผู้มีอำนาจที่ไร้จิตสำนึก ภายนอกดูเหมือนเป็นนักประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็เสร็จนายทุน เพราะท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็เหนือสิ่งอื่นใด

ถ้าอย่างนั้นเผด็จการทางการเมือง ‘อำมาตยาธิปไตย’ ยังต้องต่อสู้อยู่ไหม

เราต้องยอมรับว่า อำนาจอำมาตยาธิปไตยได้ลดทอนบทบาทลงตามสภาพ ตามสังขารและกาลเวลา แต่สิ่งที่มันไม่เปลี่ยนแปลงเลยไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางระบอบอำมาตยาธิปไตย เผด็จการทางทหาร หรือระบอบประชาธิปไตย คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือเผด็จการทางเศรษฐกิจ ไม่ว่ายุคใดก็นายทุนขุนศึก ยุคประชาธิปไตยก็ทุนนักการเมือง

ผมผ่านมาค่อนชีวิตจนเข้าสู่ช่วงท้ายของชีวิตเลยเห็นได้ว่าอะไรคือภัยของชาติ ทุกวันนี้ไม่มีภัยไหนใหญ่ไปกว่าภัยของทุนผูกขาดอีกแล้ว เราต้องพยายามทำไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อย่าให้เกิดช่องว่าง อย่าให้เกิดการผูกขาด

แล้วการต่อสู้กับรัฐบาล กับพลเอกประยุทธ์ ยังจำเป็นอยู่ไหม

ต้องสู้ตลอดอยู่แล้วครับ ผมเชื่อว่าตอนนี้ หากทุกภาคส่วน ทุกการเคลื่อนไหว ออกมาล็อกเป้าเรียกร้องกดดันให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เขาก็ไม่สามารถอยู่ได้แล้ว แต่หากมองตามความเป็นจริง แม้เราจะสามารถจัดการนายกรัฐมนตรีให้ออกไปได้ ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ ทุนผูกขาดก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่หากต้องการไล่รัฐบาลอย่างเดียว ผมมองว่าตอนนี้สามารถทำได้เลย เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่ไปเพื่อเหตุผลอะไร อยู่แล้วทำประโยชน์อะไรให้ประชาชนบ้าง ผมไม่สามารถอธิบายความสำเร็จได้สักเรื่องหนึ่ง

หลายคนมองว่าการที่รัฐบาลชุดนี้ยังคงดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันฯ คุณมองอย่างไร

ผมมองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557 เป็นคณะรัฐประหารที่มีการเตรียมตัวมากที่สุด เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ปี 2553 อาศัยระยะเวลาในการทำงานของคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมเคยแสดงความไม่เห็นด้วยตอนที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จาก พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต มาเป็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เท่ากับว่าพลเอกประยุทธ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตัวจริง 

นอกจากการที่พลเอกประยุทธ์กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตัวจริง ในทางปฏิบัติแล้ว ยังทำให้เกิดช่องว่างในการบริหารจัดการ เพราะในขณะนั้น พลอากาศเอกสุกำพลได้บริหารจัดการกองทัพอย่างเป็นระบบเรียบร้อยแล้ว เมื่อเกิดช่องว่าง ก็จะนำไปสู่ความสูญเสีย ตอนชุมนุมในช่วงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผมจะมีป้ายคำว่าต้านรัฐประหารอยู่เสมอ และช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ ผมเคยพูดว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ไม่มีใครเชื่อผม และอีกไม่กี่วันต่อมาก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะคณะรัฐประหารชุดนี้มีการเตรียมตัวกันล่วงหน้า มีการเรียนรู้จากการรัฐประหารเมื่อปี 2549

ถ้าศึกษาเรียนรู้นิสัยคนไทยเป็นอย่างดี อะไรที่คนไทยไม่เห็นด้วยก็พร้อมที่จะเลิก ตึงมากก็พร้อมที่จะหย่อน หากเป็นคณะรัฐประหารสมัยก่อน หักเป็นหัก พังเป็นพัง แต่คณะรัฐประหารชุดนี้ พอประชาชนออกมาด่าก็ถอย เมื่อถอยแล้วจะว่าอย่างไรได้

เมื่อพูดไม่เข้าหูประชาชนก็ออกมาขอโทษ คนไทยเมื่อออกมาขอโทษเรื่องก็จบ คสช. จึงเป็นคณะรัฐประหารที่ผู้นำคณะออกมาขอโทษประชาชนมากที่สุด ถ้าไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าแล้ว เพลง คืนความสุขฯ จะเสร็จทันวันนั้นได้อย่างไร หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็แล้วแต่มุมมอง ส่วนตัวผมมองว่า การที่พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร (วงศ์สุวรรณ) หรือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เขาเรียกกันว่าเป็น 3 ป. สามารถอยู่มาได้จนถึงวันนี้ เป็นเพราะเรื่องราวเหล่านี้ 

มีความคิดเห็นต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างไร

ผมเชื่อว่า 3 ป.หากต้องเลิกเดินเส้นทางการเมือง ซึ่งเขาต้องเลิกสักวัน ท้ายที่สุดแล้ว พรรคพลังประชารัฐที่เหลือคงกระจัดกระจาย บ้านใครบ้านมัน เพราะความเป็นพรรคพลังประชารัฐมันขึ้นอยู่กับพวกเขา ซึ่งเป็นความลงตัวที่ขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้

ส่วนสมาชิกพรรคที่เหลือในพลังประชารัฐ จะกลายเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจแทน ซึ่งผมเชื่อว่า 3 ป. หลังจากสิ้นสุดการเมืองครั้งนี้ไป ก็คงยากที่จะกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง เพราะคนไทยอยู่กับ 3 ป. มาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ และเวลาที่ 3 ป. เหลือในขณะนี้ก็เป็นเวลาที่ติดลบ ไม่มีอะไรที่ดีขึ้น มีแต่ต่ำลงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นสัจธรรมทางการเมือง ผมจึงเชื่อว่าการเล่นการเมืองครั้งนี้จะเป็นรอบสุดท้ายของ 3 ป. ซึ่งภายในก็รู้กันดีว่าพรรคสำรองเต็มไปหมด

รู้สึกอย่างไรบ้างที่อดีตผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองหลายคนหันไปซบอกพลังประชารัฐ

ตอนปี 2535  คนในเวทีวันนั้นยังไม่มีคำว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง พอมีคำว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง ก็แยกกันออกเป็น 2 เวที คนจำนวนมากก็ไปอยู่เวทีเสื้อเหลือง ส่วนผมอยู่เวทีคนเสื้อแดง ทั้งที่ไม่เคยมีเรื่องส่วนตัวอะไรกันเลย สิ่งนี้จึงหมายความว่า เราต่างทางเดิน ต่างความคิด แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยว ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ผมก็บอกว่า ใครตัดสินใจอย่างไร คนนั้นต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง เพราะการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับกัน แต่เป็นเรื่องของการอาสา ดังนั้น ใครจะคิดอย่างไร ใครจะรักษาจุดยืนได้นานแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของคนนั้น ส่วนใครที่เปลี่ยนจุดยืน ก็ต้องยอมรับผลพวงที่ตามหลังมา 

จนถึงวันนี้ คุณคิดอย่างไรกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร

นปช. มีนโยบาย มีเพดานที่ประกาศว่า 1. ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. มีเพดานที่ชัดเจนคือ อำมาตยาธิปไตย ผมไม่สามารถเคลื่อนออกจากประเด็นนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เราประกาศกันชัดเจน ตอนแรกที่กลุ่มราษฎรเสนอมาแต่ละข้อ ผมก็ไปคุยว่าเหลือแค่ข้อเดียวก่อนไหม คือการไล่พลเอกประยุทธ์ออกก่อน ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย 

สำหรับผมที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาหลายเหตุการณ์ ทั้งการเป็นผู้นำนักศึกษา การเป็นแกนนำคนเสื้อแดง ผมต่อสู้กับพลเอกสุจินดา (คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535) มาก่อน เลยรู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนเป็นแบบไหน และจะปิดเกมแต่ละตอนได้อย่างไร จึงพยายามชวนให้เหลือสองข้อ หรือข้อเดียวก็ได้ แต่เขาไม่เอา ผมก็เคารพการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่

ผมยกตัวอย่างกับเขาว่า ข้อสาม ปฏิรูปสถาบันฯ จะกลายเป็นความโชคดีของพลเอกประยุทธ์ หากขับเคลื่อนเฉพาะพลเอกประยุทธ์อย่างเดียว วันนี้พลเอกประยุทธ์ก็จบแล้ว ซึ่งผมก็พยายามพูด แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งๆ ที่ผมมองว่ามันต้องคิดตามลำดับฐานะคนที่แตกต่างกัน แต่ผมมีลิมิตแค่นี้ หากกระโดดเข้าไปช่วยก็จะซ้อนทับกันอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะการชุมนุมแบบไป-กลับ ผมก็ไม่สามารถทำได้ จะทำได้แค่วันเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็ต้องไปเรือนจำ เพราะผมยังมีคดีคาอยู่ในศาล จะถูกถอนประกันอย่างฉับพลันทันด่วน การต่อสู้ของเราอาจจะไม่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน แต่ผมก็ยังเคารพพวกเขา

หากวันไหนที่เขาถูกปราบแบบพี่น้องคนเสื้อแดง ที่คนเสื้อแดงตายเป็นร้อย บาดเจ็บสองพัน ผมก็ต้องออกมาช่วยเขาอยู่ดี แต่บางคนไปตีความว่า ถูกฉีดน้ำแล้วทำไมผมไม่ออกไปช่วย ผมบอกว่ามันยังไม่ใช่ คือเราผ่านศึกหนักมาตลอด ทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์เมษายน ปี 2553 แต่หากวันไหนที่มีการใช้อาวุธเข้าปราบปรามวันนั้นผมคงไม่นั่งอยู่กับที่

หลายคนมองว่า เพราะการต่อสู้ในรุ่นคุณ ในปี 2535 ปี 2553 เป็นการต่อสู้ที่ไม่จบ จบไม่ลง วันนี้เลยต้องออกมาขยับเพดานให้สูงขึ้น เพื่อให้จบจริงๆ

ก็เป็นเรื่องของทัศนคติ เรื่องของความเชื่อ เหมือนกับผมที่ออกมาเสนอแนวคิดเรื่องการยุติบทบาทของ นปช. เพื่อส่งมอบมรดกการต่อสู้ให้กับคณะราษฎร นี่ก็เป็นเรื่องทัศนคติบนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะการเป็นคนเสื้อแดง อย่างไรก็เลิกเป็นไม่ได้ ในทางปฏิบัติก็เป็นไปจนตาย

ผมจึงพยายามเปรียบเทียบการต่อสู้ทางการเมืองว่า เหมือนกับการวิ่งสี่คูณร้อย นปช. วิ่งมาได้สามร้อยเมตร แล้วไปต่อไม่ได้ แต่คนหนุ่มสาวเขาจะขอวิ่งต่อ แล้วผมจะหวงไม้ไว้ทำไม ก็ต้องส่งไม้ให้กับเขาเพราะเขาจะวิ่งไปเมตรที่สี่ร้อย ซึ่งจะถึงหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ แต่เขามีเจตนาว่าจะเดินทางต่อ และเขาก็ยกย่องคุณูปการการต่อสู้ของคนเสื้อแดงว่าเป็นแบบอย่างของการต่อสู้

แต่หลายคนกลับไม่เข้าใจ และมองว่าผมตั้งใจยุบ นปช. ก็เราวิ่งกันได้แค่นี้ ยกตัวอย่าง เช เกวารา (นักเคลื่อนไหวชาวอาร์เจนตินาที่ร่วมต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศคิวบา) เมื่อยึดคิวบาก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรม แต่เขาก็ทิ้งตำแหน่งนี้เพื่อไปปฏิวัติปลดปล่อยโบลิเวียต่อ เพราะ เช เกวารา ไม่ได้ติดยึดกับอำนาจ ในปัจจุบันการชุมนุมของกลุ่มราษฎร คนเสื้อแดงก็มาร่วมด้วยจำนวนมาก แต่แกนนำก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ส่วนพวกที่ถ่ายรูปหน้าการชุมนุมผมถือว่าไม่นับนะ ให้ผมไปทำแบบนั้นก็อายเด็กตาย

พูดง่ายๆ ว่าเราขีดเส้นไว้ที่อำมาตย์ เราก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า นปช. ไปไม่ถึงข้อเรียกร้องที่สาม

 

นอกจากนี้ ผม ในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาก่อน ก็รู้ว่า พอเข้าสู่ปีใหม่ คนหนุ่มสาวพวกนี้จะเจอกับอะไรบ้าง ผมรู้ว่าพวกนี้สักพักก็เข้าไปอัยการ อัยการก็ฟ้องศาล พอฟ้องศาลก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ศาลก็จะมีเงื่อนไข พอทำผิดเงื่อนไขก็ถูกถอนประกัน พอถอนประกันก็จะถูกขังยาว ซึ่งคดีของพวกหนุ่มๆ สาวเหล่านี้กระจายอยู่หลายจังหวัดมาก แค่นั่งรถปิกอัพที่มีลูกกรงและใส่กุญแจตีตรวนกว่าจะเดินทางไปถึงก็สะบักสะบอม พอไปถึงก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ยากลำบาก และการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย การอยู่ในเรือนจำแบบปกติว่ายากแล้ว แต่คนหนุ่มสาวเหล่านี้จะเจอแบบอย่างหนัก และไม่มีโอกาสที่ถูกขังร่วมกัน เพราะผู้มีอำนาจต้องสั่งแยกขัง เหมือนกับตอนที่ผมอยู่ นปช. ก็เป็นแบบนี้

ดังนั้น เราควรเติมความแข็งแรงให้กับคนหนุ่มสาว หากวันไหนที่กระบวนการ นปช. ยอมรับความจริงในข้อนี้ได้ และเข้าใจว่าความเป็นเสื้อแดงมันเลิกไม่ได้ เราก็จะส่งมอบมรดกการต่อสู้ของ นปช. คำว่าแดงทั้งแผ่นดินที่มีมวลชนมหาศาล และมรดกการต่อสู้ที่แลกมาด้วยความตายของ 100 วีรชน บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน เป็นการต่อสู้ที่สูญสิ้นอิสรภาพมากที่สุด ให้กับคณะราษฎรเพื่อให้กลายเป็นคนเสื้อแดงราษฎร

การที่ยุติบทบาทของ นปช. ไม่ได้แปลว่ายกเลิกบทบาทของคนเสื้อแดง ผมก็คือนายจตุพร เป็นคนเสื้อแดงคนหนึ่ง ผมก็ยังแสดงความคิดอ่านของผมได้ตามปกติ แต่คณะราษฎรเขาจะมีพลังมากกว่าเดิมในช่วงที่เจอมรสุมด้วยความยากลำบาก หลายคนไม่เข้าใจจุดประสงค์ของผม กลับใส่ความว่าไปรับงานมาสลายคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงมันสลายกันได้ที่ไหน มันสลายกันไม่ได้อยู่แล้ว มันอยู่ในจิตวิญญาณ

ฟังดูแบบนี้ ก็เหมือนกับว่าคุณเองก็เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร

ผมพยายามเสนอหาทางออก แต่หลายคนกลับไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างผมต้องการจัดการกับรัฐบาลโดยการรวมแต่ละฝ่ายให้เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน แต่เมื่อคณะราษฎรเขายืนยันในข้อเรียกร้องที่ 3 ผมก็เคารพในสิทธิเสรีภาพเขานะ เพราะฉะนั้น ผมไม่ต้องการพูดแค่ว่าเราสนับสนุนการต่อสู้ มันเป็นเพียงภาษาที่สวยหรู แต่สิ่งที่เราจะสามารถทำให้คณะราษฎรได้คือ จำนวนประชาชนและบรรดามวลชนที่ก้าวหน้า

โดยปกติแล้ว มวลชนจะก้าวหน้ากว่าแกนนำเสมอไม่ว่ายุคใดสมัยใด เพราะฉะนั้น เมื่อมีมวลชนเสื้อแดงเข้าไปร่วมกับคณะราษฎรแล้ว ทำไมเราไม่มีพิธีส่งมอบแบบเป็นทางการให้กับเขา และประกาศในที่สาธารณะว่า บัดนี้การต่อสู้ได้มีคนสานต่อภารกิจของ นปช. แล้ว จึงขอมอบมรดกการต่อสู้ทั้งหมดนี้ให้กับคณะราษฎร ผมต้องการเพียงเท่านี้ แต่ก็ไปแปลเจตนาผมในทางที่เสียหาย

3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร สามารถเป็นทางออกให้ประเทศไทยได้ไหม

ณ ขณะนี้ แต่ละข้อเรียกร้อง กลับมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องไล่นายกรัฐมนตรี วันนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ลาออก ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ที่เป็นเรื่องหลัก และเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์และเป็นปัญหามากที่สุด แต่ผมมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จนเห็นพัฒนาต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็นจากอดีต แม้ปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง แต่เราก็ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น 3 ข้อเรียกร้องยังไม่สามารถจบลงได้แบบฉับพลันทันด่วน

ในฐานะที่คุณเป็นหนึ่งในคนที่เคยโดนฟ้องด้วยมาตรา 112 คิดเห็นอย่างไรกับการกลับมาของมาตรานี้

ผมเชื่อว่าการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทางออกของปัญหา มีแต่จะสร้างความแตกแยกจนเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน

ความจริงมาตรานี้ ในทางปฏิบัติไม่ได้ใช้มานานมาก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ถึงแม้จะมีการดำเนินคดีมาตรานี้บ้าง แต่ก็มีการพระราชทานอภัยโทษ ทั้งที่จำเลยไม่ได้ร้องขออีกเป็นจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไว้ปกป้องพวกตัวเอง และไว้ทำลายฝั่งตรงข้ามมาโดยตลอด ผมเคยอภิปรายในสภาว่า การดำเนินคดีกับมาตรา 112 เป็นจำนวนมากนั้นไม่ได้เป็นผลดีกับสถาบันแต่อย่างใด การไม่ดำเนินคดีในมาตรา 112 หรือการไม่มีคดีนี้ต่างหาก ที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงแบบสมพระเกียรติมากขึ้น

แต่นักการเมืองใน พ.ศ. นั้น ก็ใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายกันเอง ผมเองเคยโดนมาตรา 112 คนที่แจ้งความจับคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก แต่ท้ายที่สุดกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง เพราะสาระสำคัญ เวลานำเทปไปฟ้อง เขาก็ไปตัดตอนบางท่อนไปฟ้อง ผมต้องสู้คดีนี้อย่างยาวนาน เพราะฉะนั้น ผมไม่ต้องการให้ 112 เกิดขึ้นกับใคร และไม่ต้องการให้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝั่งตรงกัน

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านไม่มีความประสงค์ให้ดำเนินคดี ม.112 กับใครมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น สำนวนคดีที่ค้างคาและรอการพิจารณาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถูกตัดสินยกฟ้องทุกกรณี จากเดิมลงโทษทุกกรณีก็ว่าได้ แต่ประเทศไทยตอนนี้ก็กลับมาที่จุดเดิม และกลับมาในจุดที่มันหนักกว่าเก่า ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คนที่เรียกแขกจริงๆ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นคนพูดเองว่า จะไม่ใช้มาตรานี้ แต่หลังจากนั้นกลับมาใช้มาตรา 112 และดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ผมเองก็ยังเห็นว่ามาตรานี้ไม่ควรดำเนินคดีกับใคร

คิดอย่างไรที่หลายคนบอกว่าตอนนี้หมดยุคหมดสมัยของ จตุพร’ แล้ว

ผมก็ยอมรับเงื่อนไขตามกาลเวลา แต่ผมก็ยึดหลักการของผมมาตั้งแต่ปี 2535 ปี 2553 จนกระทั่งปี 2564 ก็ยังเหมือนเดิม นอกจากนี้ ผมก็ยืนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมจึงเสนอการมอบมรดกการต่อสู้ทั้งหมดของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่มีความตายนับร้อยบาดเจ็บกว่า 2,000 คน สูญสิ้นอิสรภาพนับไม่ถ้วน ให้กับคนหนุ่มสาวกลุ่มราษฎร ให้เขาสานต่อภารกิจ

เพราะฉะนั้น ต้องยอมรับความเป็นจริงได้แล้วว่า เราเดินมาได้ถึงจุดนี้ ซึ่งเขาเดินได้ไกลกว่าผม ผมก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับความเป็นจริง ใครจะกล่าวหาว่าตกยุคอย่างไรก็ตาม แต่ผมยืนอยู่ลักษณะอย่างนี้มาตลอดชีวิต และจะเป็นเฉกเช่นนี้ไปจนตาย

ในฐานะรุ่นพี่ที่เคยผ่านเวทีทางการเมือง และเป็นแกนนำมาก่อน มีอะไรฝากถึงคณะราษฎรบ้าง

บนเส้นทางของนักต่อสู้ ต้องเชื่ออยู่คำหนึ่งที่ระบุว่า จงเป็นผู้เสียสละ แต่อย่าคิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ เพราะเมื่อเราตัดสินใจแล้ว ก็ต้องน้อมรับชะตากรรม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็อย่าหวั่นไหวกับเส้นทางนี้ เพราะแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีนักต่อสู้เกิดขึ้นใหม่ไม่ขาดสาย

โดยเฉพาะห้วงเวลาประวัติศาสตร์ตอนนี้ คือช่วงเวลาของคนรุ่นใหม่ ทุกคนต้องเคารพหัวใจของการต่อสู้ของเขา สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือ ผลลัพธ์ของการต่อสู้ ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหนก็ตาม แต่เราก็ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว และเป็นสิ่งที่เราเลือกทั้งหมด ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า ให้ถือว่าสิ่งนี้เป็นโชคชะตาและควรน้อมรับอย่างมีความสุข

Fact Box

  • จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ต่อมาก่อตั้งพรรคศรัทธาธรรมในรั้วรามคำแหง จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ตู่ ศรัทธาธรรม’
  • หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จตุพร ซึ่งในเวลานั้นเป็นอดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย ได้ร่วมกับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และวีระ มุสิกพงศ์ จัดรายการให้กับสถานีโทรทัศน์ PTV และสามคนนี้ได้กลายเป็นแกนนำคนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ในการชุมนุมใหญ่ปี 2552, 2553 ก่อนที่บทบาทของคนเสื้อแดงจะค่อยๆ จางลง หลังการชุมนุมก่อนการรัฐประหารในปี 2557 ไม่นาน พร้อมกับคดีความจำนวนมากที่ติดตัวจตุพร และแกนนำคนอื่นๆ
  • ท่าทีของจตุพรต่อคณะราษฎร ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเขา ‘เปลี่ยนไป’ ขณะเดียวกัน เมื่อจตุพรประกาศไม่สนับสนุนผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงใหม่ ก็ทำให้เขาถูก ‘คนกันเอง’ แกนนำคนเสื้อแดงอย่าง วรชัย เหมะ หรือ เพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุล ออกมารุมถล่ม หาว่าเขาร่วมกับ ‘เผด็จการ’
Tags: , , , ,