ในประเทศที่อำนาจการเซ็นเซอร์หนังยังเป็นของคนเพียงบางกลุ่มที่คาดเดาระดับความเปราะบางได้ยาก กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ คือหนึ่งในผู้กำกับที่ทุกคนน่าจะทราบดีว่าต้องเผชิญกับการเซนเซอร์ที่ว่าด้วย ‘ศีลธรรมอันดีของสังคม’ และเลือกเฝ้ารอกว่า 7 ปี เพื่อจะได้ฉาย Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน ฉบับครบถ้วนตามที่ผู้กำกับต้องการในปีที่ผ่านมา
กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน เป็นทั้งผู้กำกับหนังแมส ละคร ซีรีส์ และหนังอิสระ —หนังที่โดนแบนเรื่องแรกของประเทศไทย (หลังประกาศใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ปี 2551) เนื่องจาก “ผิดศีลธรรมอันดีของสังคม” หนังว่าด้วยครอบครัวที่มีพ่อเป็นกะเทย ส่วนลูกเป็นเด็กขายตัว และมีฉากการช่วยตัวเองในความยาว 3 วินาที
แม้ผ่านความลำบากยากเข็นในการโดนแบนและกระบวนการทางกฎหมายอันยาวนาน ผลงานเรื่องอื่นๆ ในตลอด 7 ปีของกอล์ฟ เช่น ไม่ได้ขอให้มารัก (2558) หรือ ปั๊มน้ำมัน (2559) ฯลฯ ก็ยังคงยืนหยัดในการพยายามบอกเล่าเรื่องราวอันสลับซับซ้อนของมนุษย์ อารมณ์ทางเพศหรือความรักอันแสนธรรมชาติ สะท้อนความหลากหลายทางเพศ และกระตุ้นเตือนสังคมให้เปิดใจรับความแตกต่าง
เขาคนนี้อีกเช่นกัน ที่เคยได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนที่ 5 และล่าสุดหันมาสนใจงานการเมือง เข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเขาล้วนเป็นการค้นหาหรือผลักดันอะไรบางอย่างเสมอ ในสายตาเขามองเห็นอะไร ความคิดในหัวเขาทำงานอย่างไร ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เราอยากชวนเขาพูดคุยในคราวนี้
ตั้งแต่เริ่มทำหนังเรื่องแรกๆ จนถึงตอนนี้ คุณพบว่าเสรีภาพในการทำหนังของคนไทยมีความเปลี่ยนแปลงบ้างไหม อย่างไรบ้าง
ถ้าจะนับจาก Insects in the Backyard ซึ่งโดนแบน เราคิดว่าความเข้าใจของสังคม เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินมีมากขึ้นนะ แต่ก็อยากให้มันมากขึ้นอีก เพราะพอเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร อย่าว่าเเต่ศิลปินเลยในการนำเสนอความคิด คนทั่วไปจะคุยกันเรื่องโน่นนั่นนี่ มันก็ยังยาก เพราะฉะนั้นเราคิดว่า ต่อไปถ้ามีการเลือกตั้งขึ้นมา แล้วไม่มีม.44 ไม่มีรัฐบาลทหาร คนน่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพทางการแสดงออกกันมากขึ้นอีกนะ
ตอนนี้คนไทย ถูกปิดปาก ปิดหู ปิดตา มีเรื่องอยากจะพูดตั้งเยอะแยะก็พูดไม่ได้ ฉะนั้นด้วยสภาวะที่อึดอัดกันอยู่ตอนนี้ เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้สึกแล้วล่ะ ว่า 4 ปีที่ผ่านมา มันเหมือนกับว่าเราโดนฟรีซเอาไว้อยู่กับที่
แล้วในสภาวะแบบนี้ สิ่งที่คุณอยากเล่าในหนังได้เปลี่ยนไปบ้างไหม
สิ่งที่เราตั้งใจที่สุดก็คือทำหนังเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม อยากจะเป็นผู้กำกับที่บอกเล่าเรื่องเหล่านี้ เพราะเรารู้สึกว่าการทำหนังมันคือการเล่าเรื่องของมนุษย์ แล้วการที่เราจะเป็นคนคนหนึ่งได้ มันไม่ได้เกิดมาแล้วเป็นแบบนั้นเลย มันก็มีสิ่งหล่อหลอมทำให้คนเป็นคนคนหนึ่ง นั่นก็คือสังคม
เพราะฉะนั้นเราก็จะเล่าเรื่องของคนที่ได้รับผลกระทบจากสังคม และผลมันก็ส่งผลกับเขาในหลากหลายมิติ ความเป็นเขาก็มีหลายมิติ เราก็อยากจะเล่าตรงนั้น เพื่อจะบอกว่า มนุษย์ที่อยู่ในหนังเรา มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย มีความเป็นปัจเจก แต่ทุกคนก็คือมนุษย์คนไทยคนหนึ่งที่อยู่บนโลกนี้ ซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเอง และอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะฉะนั้นเราจะไปคาดหวังให้ทุกคนคิดเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ แล้วเราก็อยากทำหนังที่พูดถึงชีวิตปัจเจกของแต่ละคนเพราะเเต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และเราควรเคารพในความแตกต่างตรงนั้นด้วย
เราก็มีความรู้สึกแบบนี้มานานแล้ว เราโดนตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอกมาตลอดอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าไม่แฟร์ที่จะมาตัดสินเราแบบนั้น แล้วเราก็รู้สึกแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่มัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัย
เราไม่เชื่อว่าทุกคนต้องเป็นคนดี แต่เราเชื่อว่าทุกคนคือคน ในการเป็นคนมันก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ทุกคนก้ต้องยอมรับในฐานะที่เราเป็นคนคนหนึ่งที่อยู่บนโลกใบนี้ เเละเราก็ทำหนังแบบนี้มาตลอดเพื่อจะบอกว่าไม่ว่าจะเป็นคนตัวที่เล็กที่สุด คนที่ถูกมองตัดสินว่าประหลาดที่สุด เราตั้งคำถามเรื่องนี้มาตลอดว่าเราไม่ใช่คนเหรอ ทำไมมาตัดสินเราแบบนี้
มองกลับไปที่ฉากที่มีปัญหา ใน Insects in the Backyard ณ ตอนนี้คุณคิดเห็นกับมันอย่างไร
จริงๆ ตอน Insects in the Backyard ฉากที่เขามีปัญหากันไม่ใช่การช่วยตัวเอง แต่เพราะตรงนั้นมันเป็นคัทที่กล้องถ่ายไปเจอหนังโป๊ที่อยู่ในทีวี ศาลบอกว่าหนังโป๊ในทีวีมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งถามว่าเรารู้ไหมว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เรารู้ แต่ตอนที่เราทำ เราต้องการทดลองว่า เฮ้ย หนังเราไม่ได้เป็นหนังโป๊แน่ๆ และหนังโป๊ที่เป็นหนังผิดกฎหมายมาอยู่ในงานเราสามวินาทีมันจะเป็นยังไง มันจะกลายเป๋นหนังโป๊ไปทั้งเรื่องเลยหรือเปล่า ศาลก็ได้ตัดสินในข้อกังขาที่เราอยากรู้
แต่ทั้งนี้เราไม่ได้ต่อสู่เพื่อสามวินาทีนี้อย่างเดียว เราต่อสู้เพื่อให้เห็นว่า เฮ้ย หนังเราไม่ได้ทำผิดศีลธรรมอันดี เพราะฉะนั้น ถ้าเรายอมแพ้ก็แปลว่าเรายอมบอกว่าเราทำผิดศีลธรรมอันดี แต่ที่เราฟ้องร้องกับศาลปกครองเพื่อจะบอกว่า เราไม่ผิดและเราไม่ยอมโดนแบน
ซึ่งการตัดสามวินาทีใน Insects in the Backyard ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดเท่านะ ถ้าเทียบกับตอนเรื่อง ปั๊มน้ำมัน เนื่องจากตอนนั้นพอหนังเราจะต้องฉาย มันโดนตัดฉากเฉลยออกไป ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง มันไม่ใช่หนังของเรา 100% มันมีนายทุน มีเจ้าของหนัง มันมีอะไรหลายๆ เหตุการณ์ ดังนั้นสุดท้ายแล้วเลยต้องตัดสิ่งที่เป็นหัวใจของหนังออกไป ตอนนั้นเจ็บปวดมาก เพราะเรารู้สึกว่าตรงนี้มันขาดไม่ได้จริงๆ
หากเป็นหนังของคุณ 100% จะต่อสู้เต็มที่ใช่ไหม
ใช่ เพราะที่สุดแล้วการต่อสู้เหล่านั้นมันคุ้มมาก มันไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อตัวเราเองคนเดียว แต่คือการต่อสู้เพื่อวงการภาพยนตร์ เพื่อให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกของมนุษย์คนหนึ่ง มันมีค่ามากน้อยแค่ไหน เราต่อสู้เพื่อให้เห็นช่องโหว่ของพรบ.ภาพยนตร์ ทำให้เห็นมิติของกฎหมายฉบับนี้ เห็นแนวทางการใช้มัน และเพื่อให้เราได้คิดมองหาวิธีปิดช่องโหว่เหล่านั้น
การต่อสู้ครั้งนี้มันนำมาซึ่งการยื่นฟ้องศาลปกครองเอง เราได้เห็นทั้งกระบวนการฟ้องศาล กระบวนการตัดสิน มันเป็นคดีแรก คดีประวัติศาสตร์ ก็ทำให้เราได้เห็นกระบวนการ ศาลก็ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน ศาลก็มีวิธีที่จะตัดสินงานแบบนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อหลายฝ่าย มันไม่ได้ทำมาเพื่อตัวเราคนเดียว
การโดนแบนครั้งนั้นทำให้คุณเองเติบโตขึ้นไหม
ตอนแรกนั้นเราก็ยังเด็ก เรารู้สึกว่าเกลียดโลกจังเลย เราทำอะไรผิดขนาดนั้น ร้องไห้เสียใจ รู้สึกว่าคณะกรรมการเขาโกรธเกลียดอะไรเราหรือเปล่า แต่ว่าพอเวลาผ่านไป ก็ทำให้ได้เรียนรู้ ถามว่าเขาโกรธเกลียดอะไรเราไหม ก็เปล่า เขาไม่ได้โกรธอะไรอยู่แล้ว แล้วทำไมเขาถึงแบนละ เพราะเขาไม่เข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ เขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอหรืออาจจะเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง หนังเรามันสามารถตีความได้อยู่แล้ว ซึ่งเสน่ห์ของภาพยนตร์มันอยู่ที่ตรงนี้ด้วย ก็ไม่แปลกที่ท่านคณะกรรมการจะมีความคิดเห็นว่าสมควรที่จะแบน
แต่นั่นก็ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เวลาผ่านไปก็ได้มองโลกรอบด้านมากขึ้น และมีมิติมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ เราเข้าใจว่าพื้นฐานของความเข้าใจมนุษย์ไม่ใช่แค่การพูดอย่างเดียว เราต้องเข้าใจคนอื่นและต้องเข้าใจตัวเราเอง เข้าใจคนที่เกลียดเราด้วย มันถึงจะเป็นความเข้าใจที่แท้จริง ถ้าเราเข้าใจแต่คนที่รักเรา มันไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจกับคนที่ไม่เข้าใจเรา คนที่โกรธ คนที่เกลียดเรา หรือคนที่ไม่ชอบเรา เราต้องเข้าใจเขาด้วยว่ามันเป็นสิทธิ เสรีภาพของเขาเหมือนกัน
คิดอย่างไรกับระบบการจัดเรตหนัง
เราเห็นด้วยกับการจัดเรตหนัง เพราะหนังทุกเรื่องมันไม่ได้เหมาะกับทุกคนหรือทุกช่วงวัย การจัดเรตก็คือการแนะนำว่าหนังเรื่องนี้มันเหมาะสมกับช่วงอายุเท่าไหร่ ตรงนี้เราเห็นว่ามันเหมาะสมดี
แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการเซ็นเซอร์ เพราะการเซ็นเซอร์ไม่ได้เปิดโอกาสให้สังคมได้รับรู้ หรือสังคมได้เข้าใจในสิ่งที่กำลังนำเสนอ สังคมยังไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี มันควรหรือไม่ควร มันควรให้ฟีดแบคจากสังคมเป็นคนบอกว่าควรเซ็นเซอร์หรือไม่โดนเซ็นเซอร์
สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างความเข้าใจของคนในสังคม แน่นอนว่าท่านผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าคนไทยยังไม่พร้อมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไอ้คำว่า ‘ยังไม่พร้อม’ บางทีมันก็เป็นการดูถูกกันเกินไปหรือเปล่า อะไรก็ยังไม่พร้อม รู้สึกว่าคนไทยยังฉลาดไม่พอ เราไม่เห็นด้วย เรามองว่าทุกคนมีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจเลือกทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราทุกคนก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กันและกัน สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมมากกว่า
ความเข้มแข็งทางความคิดของคนในสังคม ก็คือ เราเปิดโอกาสให้คนวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกันได้ สิ่งเดียวกันนั้นเราอาจจะไม่เห็นเหมือนกัน แต่เราเคารพในเสียงที่มันแตกต่างกัน มันทำให้คนเกิดความเข้มแข็งทางความคิด และเกิดการยอมรับว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในสังคม ทุกคนมันมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่เราต้องเคารพในคนที่คิดต่างกับเรา
ในสังคมเดียวกัน มันมีคนที่คิดต่างจากเราแน่ๆ เเล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรละให้มีความสุข ซึ่งจริงๆ แล้ว มันคิดต่างได้ เกลียดกันได้ แต่ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ ว่าคนที่เข้าคิดต่างจากเราเพราะอะไร เราเห็นไม่เหมือนเขาเพราะอะไร ประเทศเราไม่ได้เปิดโอกาสให้คนไทยได้มีความเข้มเเข็งทางความคิด พยายามจะบอกให้เราคิดเหมือนกันทุกคน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
ปัญหาของระบบการจัดเรตภาพยนตร์ของไทยคืออะไร แล้วเราควรแก้ไขอย่างไรบ้าง
ปัญหาใหญ่ของกระบวนการจัดเรตติ้งก็คือคณะกรรมการจัดเรตติ้ง ซึ่งกฎหมายเปิดให้เขาใช้ดุลยพินิจมากเกินไป คำว่า ‘ดุลยพินิจ’ นึกออกไหม มันไม่มีมาตรฐาน มันกว้างมาก เพราะฉะนั้นคำว่าคนนี้เห็นว่าแบบนี้ คนนี้เห็นว่าแบบนั้น อ้าว แล้วมาตรฐานอยู่ตรงไหน อย่างความเป็นมนุษย์เนี่ย แต่ละคนมันมีดุลยพินิจเท่ากันไหมละ
และสิ่งที่สำคัญที่สุด เขาต้องมองให้เห็นก่อน ว่า พรบ.ฉบับนี้ มีมาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทย ไม่ได้มาจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
แต่ทุกวันนี้พอเขาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคณะกรรมการเรตติ้งเขาจะมองแบบจับผิด ดูหนังมันต้องดูหนังทั้งเรื่อง ไม่ได้ดูเจาะเป็นฉากๆ วัตถุประสงค์ของการดูหนังเพื่ออะไร ตรงนี้น่าจะได้มานั่งคุยกัน เราไม่ได้มองว่าวิธีเราถูกอย่างเดียว เราอยากให้คณะกรรมการและคนที่ทำหนังมาคุยกันว่าความเหมาะสมของการใช้ดุลยพินิจ หรือเป้าหมายของการใช้กฎหมายนี้ พรบ.นี้ มันมีเพื่ออะไร หันหน้าเข้าหากันแล้วมาแก้ด้วยกัน
เป็นเพราะว่าคณะกรรมการข้างในไม่ใช่คนทำหนังทั้งหมดด้วยหรือเปล่า
คณะกรรมการข้างในมีทั้งคนทำหนัง คนที่อยู่ในธุรกิจ มีหลากหลายสาขา หลายหน่วยงาน แต่เราก็ยังมองว่าคณะกรรมการเรตติ้งน่าจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ ตอนนี้เรารู้สึกว่าเหมือนเอาคณะราชการเกษียณอายุเอย อะไรเอยมารวมตัวกัน
ความเป็นผู้ใหญ่ในสังคมไทยทำให้มีความคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่า เข้าใจโลกมากกว่าอยู่เสมอ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก มันไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วที่ว่าผู้ใหญ่จะต้องรู้มากกว่า แต่เราต้องรู้และปรับ ขยับเข้าหากันมากกว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเอาคนทำหนังมาทุกคน แต่เราต้องการคนที่มีความเข้าใจ เข้าใจความหลากหลายของการเป็นมนุษย์ เข้าใจในในความหลากหลายของเนื้อหาภาพยนตร์ มีความเข้าใจในความหลากหลายในการนำเสนอ รูปแบบต่างๆ ของภาพยนตร์ เรารู้สึกว่าไม่ต้องเรียนหนังมาก็ได้ หนังใครๆ ก็ดูได้ แต่ที่นี้มานั่งดูความเหมาะสมด้วยกันดีกว่า เราอยากให้มีคนที่มีความหลากหลายมากกว่านี้ที่เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ มากกว่าเป็นผู้สูงอายุอย่างเดียว
ภายใต้ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกแบบนี้ เคยคิดอยากจะไปทำหนังนอกประเทศบ้างไหม
ไม่อยากไปทำหนังนอกประเทศหรอก เราเป็นคนไทย และยังอยากทำหนังไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตมนุษย์ที่อยู่ในประเทศไทยอยู่ เราเกิดที่นี่ เราอยู่ที่นี่ เรารู้ปัญหาที่นี้ดีกว่า ให้เราไปนั่งวิเคราะห์คนประเทศอื่น และเรามั่นใจต่อให้ทำหนังในประเทศไทย เราก็ยังสามารถสะท้อนสังคมทั้งหมดได้อยู่ดี เพราะว่าสิ่งที่เราเล่ามันเป็นสากล
แต่เราก็อยากมีอิสระ มีเสรีภาพทางความคิดในสิ่งที่เราจะนำเสนอ การที่เรานำปัญหาขึ้นมาให้ทุกคนเห็นในหนังเรา เพื่อให้ทุกคนได้เห็นปัญหาร่วมกันและร่วมหาวิธีแก้ไข อันนี้คือสิ่งที่เราอยากทำในการทำหนัง
ภายใต้เสรีภาพที่จำกัดจำเขี่ย ทำให้เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองหรือเปล่า แล้วถ้าเป็นแบบนั้น สารที่เราต้องการจะส่งออกไปมันยังชัดเจนครบถ้วนไหม
ก็ไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายถึงขนาดเรียกว่าต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เขาเรียกว่าเราต้องรู้ position ของตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่ ถ้าทำหนังหนึ่งเรื่องแล้วอยากให้ทุกคนดู มันไม่ใช่ เราต้องบอกตัวเองก่อนว่าเราทำหนังเรื่องนี้เพื่อคนดูกลุ่มอายุเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นต้องชัดเจนตั้งแต่ตอนทำ อย่างเช่น ตอนที่ทำ Insects in the Backyard เราบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้ต้อง ฉ20 เพราะว่าความรุนแรงหรือภาพในหนังเหมาะสำหรับคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
ถ้าเรากำลังทำหนังสำหรับคนดูกลุ่มทั่วไปต้องคำนึงว่ากลุ่มคนดูทั่วไปมันมีเด็ก มีหลายอายุ เราก็ต้องระมัดระวังในสิ่งที่เรากำลังนำเสนอว่ามันอ่อนไหวกับคนดูประเภทไหน บางคนต้องการเสรีภาพในการทำงานเต็มที่ เราเข้าใจ แต่คุณต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ถึงได้บอกว่าเราต้องเคารพตัวเองและเราต้องเคารพคนอื่นในสังคมเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่เอาแต่ใจตัวเอง เป็นสิทธิของกู เสรีภาพของกู เฮ้ย! มึงต้องมองคนอื่นในสังคมด้วย เราว่าศิลปินต้องเคารพตัวเอง แล้วก็เคารพคนอื่นให้เหมือนเคารพตนเอง เพราะฉะนั้นเสรีภาพมันจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลย มันก็ไม่ได้
เราสามารถแยกศิลปะออกจากสังคมได้ไหม
ไม่เคยมองว่าสองอย่างนี้แยกออกจากกันเลย เพราะแน่นอนการทำศิลปะไม่ได้ทำเอาไว้ดูคนเดียว และการทำศิลปะ passion แรงบันดาลใจมันมาจากสังคม การที่ศิลปินบอกว่าทำหนังชิ้นนี้มาจากตัวเอง มันก็สะท้อนสังคมอยู่ดี เพราะคนที่ทำอยู่ในสังคมและเขาได้รับความรู้ ความคิดเหล่านั้นมาจากไหน ก็มาจากสังคม ขึ้นอยู่กับศิลปินแต่ละคนมองโลกแบบไหน มองสังคมอย่างไร เมื่อผลิตชิ้นงานออกมามันก็จะเป็นงานที่ผลิตโดยสังคมผ่านตัวเราเองอยู่ดี เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นงาน pure ของตัวเองมันไม่มีอยู่แล้ว
เสรีภาพสำคัญกับคนคนหนึ่งอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่ามันส่งผลต่อการดำรงชีวิต อย่างน้อยมันส่งผลต่อการเคารพตนเองและคนอื่น สมมติว่าเราเองอยากจะแต่งหญิงวันไหนก็แต่ง อยากจะแต่งชายวันไหนก็แต่ง จริงๆ แล้วสังคมไม่ควรจะมาถามเราว่า ทำไมถึงเลิกเป็นกะเทยล่ะ หรือทำไมเปลี่ยนมาแต่งหญิง อันนี้มันเป็นชีวิตเรา เราควรมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องบอกใครว่า เรารู้สึกอะไรอยู่ คนก็ไม่ต้องมาถามเราไหม แต่ถามว่าเขาจะสงสัยได้ไหม เขาก็มีสิทธิสงสัย
และที่สำคัญกว่านั้น อย่างที่บอกไปตอนแรก ณ ปัจจุบัน คนไทยไม่มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรเลย เราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร แม้แต่สิทธิในการสงสัยเราก็ต้องถูกกดทับลงไปมากๆ พูดอะไรเราก็จะกลัว เราจะวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลได้ไหม เราจะวิพากษ์วิจารณ์ใครในคณะรัฐบาลได้ไหม เรารู้สึกว่ามันก็อึดอัด ถามว่าวิจารณ์ได้ไหม ตรวจสอบก็ไม่ได้
ถ้าเสรีภาพมันเกิด เราจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ เราเชื่อในการแบ่งฝ่ายเพราะคนเราเชื่อไม่เหมือนกัน เเต่ว่ามันไม่ควรจะตัดสินว่าใครโง่ ใครฉลาดจากการที่เราเลือกมีความเชื่อยังไง ตอนนี้เรารู้สึกว่าประเทศเราตัดสินคนด้วยการเลือก คนตัดสินคน เหยียดคนด้วยกัน
ถามว่าทุกวันนี้เหยียดกันได้ไหม คนที่มีเสรีภาพเหยียดกันได้ แต่ว่าเหยียดกันด้วยความเข้าใจกับเหยียดกันด้วยความไม่เข้าใจ มันไม่เหมือนกัน การที่เราเหยียดกัน มองคนอื่นโง่กว่าเรา เสียงอีกคนหนึ่งไม่มีคุณภาพเท่าเสียงเรา คนอาจจะคิดแบบนี้ได้ ไม่ผิด แต่เราก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่ากระบวนความคิดนี้มันมายังไง แต่เขาก็ต้องเข้าใจว่า เขาควรเข้าใจพื้นฐานว่าเสียงคนเราเท่ากัน เรียนสูง เรียนไม่สูง เพราะฉะนั้นคำว่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง มันต้องเท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพ มันก็จะส่งผลให้คนในประเทศเข้าใจในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
บริบทสังคมไทยตอนนี้ เหมาะกับหนังเรื่องไหน
เรานึกถึง A Quiet Place ตอนนี้พี่รู้สึกเป็นเหมือน พระเอก นางเอกในเรื่อง เราไม่สามารถส่งเสียงกันได้ ต้องอยู่เงียบๆ เพราะถ้าส่งเสียงแล้วเดี๋ยวเอเลี่ยนจะมากิน (หัวเราะ) ต้องค่อยๆ เอาตัวรอดไปเรื่อยๆ คลำๆ ทางไป สักวันหนึ่งเราก็ต้องเอาชนะเอเลี่ยนให้ได้
Tags: หนังไทย, ผู้กำกับภาพยนตร์, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, กอล์ฟ ธัญญ์วาริน