เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ (Flying with Bird)

เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ

กาชาปองโซระจัง (ฟิกเกอร์สาวน้อยเกาะขอบแก้วน้ำในภาพยนตร์เรื่อง แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว)’

นี่คือผลงานบางส่วนของ RiFF สตูดิโอแอนิเมชันสัญชาติไทยที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ซึ่งถูกดัดแปลงมาเป็นออฟฟิศเฉพาะกิจย่านลาดพร้าว โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน พีท-สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี และหัวหน้าฝ่ายศิลป์ ไอเทม-ชาคฤษ โนนคำ เป็นสามประสานหลักในการกำหนดทิศทางของบริษัท

ล่าสุดในปี 2018 ที่จะถึงนี้ RiFF ได้รับเกียรติร่วมเป็นหนึ่งในทีมสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้น The Force of Will จำนวน 1 ตอนจาก 5 ตอนที่จะร้อยเรียงเป็นหนังเรื่องหนึ่งลงจอฉายในโรงภาพยนตร์ ประเทศญี่ปุ่น สร้างความฮือฮาให้กับวงการแอนิเมชันไทยไม่น้อย

จากองค์กรขนาดเล็กที่เริ่มต้นด้วยพนักงาน 5 คน! (รวมทีมก่อตั้ง) ในปี 2010 พวกเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จักและมีบุคลากรเพิ่มเป็น 70 กว่าชีวิตภายในระยะเวลา 7 ปีได้อย่างไร The Momentum ขอพาคุณไปรู้จักกับ RiFF Animation Studio ให้ลึกลงไปอีกขั้น เพื่อสำรวจความตั้งใจและเป้าหมายระยะยาวในอุตสาหกรรมแอนิเมชันไทยที่พวกเขามี

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า RiFF Animation Studio เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ตุลย์-วีรภัทร: ผมทำงานในวงการสตูดิโอแอนิเมชันมาไม่ต่ำกว่า 15 ปี ได้ทำงานกับทั้งสตูดิโอ Pixar, Bluesky(Ice Age), Sony และ Disney แต่ก็ไม่เคยมีความคิดเรื่องก่อตั้งบริษัทมาก่อน เพราะรู้สึกว่าเปิดบริษัทมันลำบาก (หัวเราะ) ต้องมาทำนู่นทำนี่ ปรากฏว่าช่วงประมาณปี 2010 วันดีคืนดีคนที่เป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ผม คุณสรรเพชญ์ สาตราวาหะ เขาอยากเปิดบริษัทสร้างแอนิเมชันขึ้นมาเป็นของตัวเอง เพราะคิดว่าไปจ้างสตูดิโอที่อื่นคงจะลำบาก ควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ แล้วผมเคยสัญญากับเขาไว้ว่าถ้าวันไหนคิดจะเปิดบริษัท ผมจะช่วยเขา ก็เลยกลายเป็นที่มาของการเปิดสตูดิโอ RiFF ขึ้นมา

จากคนไม่อยากเปิดบริษัท จู่ๆ พอต้องมาทำบริษัทเอง ความตั้งใจและเป้าหมายของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ตุลย์-วีรภัทร: ผมมีความคิดแค่อยากทำหนัง (แอนิเมชัน) สร้างงานคุณภาพดี เลยคิดว่าเปิดบริษัทขึ้นมาเพื่อยกระดับงานของศิลปินไทยดีกว่า เพราะก่อนหน้านี้ผมทำโรงเรียนสอนสร้างแอนิเมชันแล้วเห็นว่ามีคนสนใจด้านนี้พอสมควร รู้สึกว่าถ้าคนไทยเริ่มเก่งด้านนี้ เราน่าจะมีงานแอนิเมชันที่ดีขึ้น

กระแสคนไทยในช่วง 5-6 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่จะมองว่าทำไมงานแอนิเมชันไทยดูไม่ดี ทำออกมาแล้วเจ๊ง ไม่เป็นที่ยอมรับ สู้ต่างประเทศไม่ได้ คนมองกันว่านี่คือยุคตกต่ำ คนไทยควรเลิกทำแอนิเมชันสักที ซึ่งการที่ผมชอบแอนิเมชันมันเลยทำให้ผมไม่เห็นด้วย ผมอยากให้งานของคนไทยมันดีกว่านี้ เลยคิดว่าถ้าเปิดบริษัทขึ้นมา ผมจะเปลี่ยนแปลงวงการนี้และสร้างคุณภาพงานใหม่ๆ สร้างระบบ เปลี่ยนมุมมองของการทำงานให้เป็นขั้นเป็นตอน มีกระบวนการความคิดที่ชัดเจน และแน่นอนมากขึ้น

ช่วงเริ่มต้นแรกๆ เจอปัญหาอะไรกันบ้างไหม

ตุลย์-วีรภัทร: สุดๆ ครับ (หัวเราะ) เข้ามาเหยียบออฟฟิศวันแรกมีกันแค่ 3 คน พีทยังไม่เข้ามาเลย มีแค่ผมกับน้องที่ทำแอนิเมเตอร์อีก 2 คนที่อยากจะช่วย เราเริ่มต้นงานชิ้นแรกด้วยการรับงานเล็กๆ คล้ายๆ เป็นเอาต์ซอร์ซ รับทำซีรีส์แอนิเมชันในไทยมาก่อน เช่น เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ (Flying with Bird) พอเริ่มทำเรื่อยๆ จนอยู่ตัวก็เริ่มรับงานส่วนเรนเดอร์เข้ามา ผมเองมีคอนเน็กชันกับต่างประเทศ ก็เริ่มเอางานต่างประเทศเข้ามาทำ ตอนนั้นทำ Lego Commercial Mini Movie ก็เลยรับคนเพิ่ม ทำให้เราขยายบริษัทขึ้นมาได้เรื่อยๆ

ส่วนใหญ่เวลาบริษัทจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา เราจะใช้งานจากพอร์ตของเราไปให้เขาดู ทำเบิร์ดแลนด์หรือเลโก้เสร็จก็ไปให้เขาดู ถ้าคุณภาพงานในพอร์ตเราดี ก็มีโอกาสได้งานดีๆ ต่อไปอีก พอคนอื่นเห็นงานเรา เขาก็จะเริ่มยอมรับกัน เราเองก็มีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น เก่งขึ้น งานเราแน่นขึ้น เพราะก่อนที่จะมาถึงจุดที่ทำRaam ได้ (โปรเจกต์ที่ได้ไปฉายที่ญี่ปุ่น) เราก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ

ช่วงแรกๆ ที่ยังกระท่อนกระแท่น เคยมีเสียงวิจารณ์ด้านลบเข้ามาบ้างไหม

ตุลย์-วีรภัทร: เงียบจนไม่มีครับ (หัวเราะ)

ไอเทม-ชาคฤษ: ไม่ใส่ใจหรือเปล่า (หัวเราะ)

พีท-สรพีเรศ: เราแค่รับจ้างเฉยๆ ครับ เป็นบริษัทใหญ่ๆ มารับจ้างเราอีกที ตัวเราเล็กมากๆ เลยตอนนั้น

ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างทุกวันนี้

ตุลย์-วีรภัทร: จุดเปลี่ยนคือตอนที่ทำ เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ (2015) ซึ่งเป็นโอกาสที่เราได้ทำงานกับคอนเทนต์ที่มีคนรู้จักมากขึ้น เป็นโชคของเราที่ได้ร่วมงานกับ GTH (ในเวลานั้นยังใช้ชื่อ GTH ปัจจุบันคือ GDH) เป็นครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้ก็ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับงานแอนิเมชันเรื่อง กระดึ๊บ (2010) ทำ SuckSeed ซักซีด ห่วยขั้นเทพ (2011) ในพาร์ตลายเส้นแอนิเมชัน-โมชันกราฟิก ทำซีเนมาทิก (cinematique) เกมต่างประเทศ มีงานต่างประเทศเข้ามาอยู่บ้าง แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก พอได้ทำเมย์ไหนฯ ปุ๊บ มันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนเริ่มเห็นงานเรามากขึ้น กระแสดีมากจนเป็นครั้งแรกที่เห็นว่าคนดูงานของเราเยอะขนาดนั้น ปกติไม่เคยเห็นคนแชร์ (หัวเราะ)

อะไรเป็นเอกลักษณ์หรือจุดขายของงานจาก RiFF

ตุลย์-วีรภัทร: คิดว่าคงเป็นความครีเอทีฟ เราจะใส่ความเป็นตัวเราเองเพิ่มเข้าไปในงานตลอด เวลาจะหยิบอะไรมาเล่าเราต้องมองอีกมุมเพื่อนำเสนอให้ลึกขึ้นไปอีกขั้น เช่น เมย์ไหนฯ ฉากที่วิ่งบนเสาสายไฟ เราก็ใส่พวกเมือง บรรยากาศ คนที่อยู่ข้างล่าง ใส่เรื่องราวและมุมกล้องเข้าไปเพิ่มจากที่ผู้กำกับเขาให้มา

ทำโปรดักชันต้องเริ่มต้นตั้งแต่ทำสคริปต์ไปถึงขั้นโพสต์โปรดักฯ บางครั้งยังต้องทำซาวด์เอง ลูกค้าเขาก็รู้สึกโอเคกับเรา บางรายยังอยากให้เราทำแบบครบวงจรไปเลย ซึ่งก็จะพยายามเน้นในจุดนี้มากขึ้น

วงการแอนิเมชันไทยทุกวันนี้เฟื่องฟูแค่ไหนเมื่อเทียบกับในอดีต

ตุลย์-วีรภัทร: มองโดยภาพรวมจะเห็นว่าโลกดิจิทัลเฟื่องฟูมากขึ้น เพราะเข้าสู่ระบบอินเตอร์แอ็กทีฟ คนส่วนใหญ่ถือกันแต่สมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต ดูทีวีน้อยกว่าดูยูทูบ ตอนนี้เฟซบุ๊กเองก็นำเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เข้ามาใช้ ซึ่งทำให้ตลาดแอนิเมชันคึกคักขึ้นมาก ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานสายนี้ เราก็ได้รับงานแนวนี้เยอะขึ้น สตูดิโอแอนิเมชันในไทยก็เริ่มรับคนมากขึ้นเช่นกัน

พีท-สรพีเรศ:  ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนครับ ในส่วนของ service-production และส่วน content creative ซึ่งถ้าจะพูดเรื่องความเฟื่องฟู มันน่าจะไปอยู่ใน service-production เป็นหลัก แต่ส่วน content creative ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะต่างประเทศเขาก็ยังไม่ยอมรับไอเดียของเราอยู่ดี

อะไรทำให้เขายังไม่ยอมรับคนไทยอย่างเต็มรูปแบบในการทำงานสายแอนิเมชัน    

พีท-สรพีเรศ: เรายังไม่ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จจนงานของเราสามารถขายได้ทั่วโลกจริงๆ เพราะยังทำอะไรให้เขาเห็นไม่ได้เขาก็ยังไม่ยอมรับ เราไม่ได้มีโปเกมอนหรือมิกกี้เมาส์เป็นของตัวเอง

ตุลย์-วีรภัทร: การที่เราจะทำคอนเทนต์ขึ้นมา เราต้องลงทุน ต้องมีงบประมาณ ต้องไปหาผู้จัดจำหน่ายหรือใครมาช่วย ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เราทำแต่งานมีคนจ้างเข้ามาอย่างเดียว แม้จะอยากทำคอนเทนต์ของตัวเอง แต่เวลามันไม่อำนวย พอได้ทำจริงๆ ก็มีตัวเลือกน้อยเกินไปอีก แล้วไอ้ที่น้อยไปก็ใช่ว่าจะดีด้วย (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นเพราะมีโอกาสและเวลาได้ทำคอนเทนต์ของตัวเองเต็มที่ แต่ก็ยังมีสตูดิโอแอนิเมชันหลายแห่งที่ยังต้องใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำงานตามที่บริษัทอื่นๆ จ้างเข้ามา

ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างมาเลเซียที่ภาครัฐมาช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บภาษี มันเลยทำให้ไทยเราผลิตคอนเทนต์ของตัวเองได้น้อย แต่ดันเฟื่องฟูเรื่องงานรับจ้างแทน ซึ่งตอนนี้ก็รู้สึกว่าภาครัฐเขาเริ่มมองเห็นเรื่องการสนับสนุนวงการแอนิเมชันมากขึ้น ฝั่งสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ก็เริ่มจัดงาน business matching มากขึ้น เพื่อที่จะให้สตูดิโอไทยนำคอนเทนต์ของตัวเองมาโชว์ ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา เราก็เพิ่งจะได้เห็นอะไรแบบนี้ขึ้นมาบ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเหมือนกันแหละ เพราะถ้าเราไม่ได้เริ่มจากการทำงานรับจ้าง คุณภาพงานเราก็ใช่ว่าจะดีอย่างทุกวันนี้

แล้วโปรเจกต์ ‘Raam’ ที่พวกคุณกำลังทำกันอยู่ และจะได้ไปฉายที่ญี่ปุ่นในปี 2018 ที่จะถึงนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตุลย์-วีรภัทร: มันเริ่มต้นจากหุ้นส่วนของเรา พี่ดา-พนิดา เทวอักษร (ผู้บริหาร DEX) ที่มีโอกาสได้คุยกับ MontBlanc Pictures สตูดิโอแอนิเมชันจากญี่ปุ่นที่เคยมาเยี่ยมเราแล้วเห็นผลงานเมย์ไหนฯ แล้วเขาชอบเรามาก จนมีโอกาสที่เขามาชวนเราว่าสนใจทำแอนิเมชันให้เขาไหม ผมกับพีทรีบตอบรับทันทีโดยไม่ได้ดูเรื่องงบประมาณด้วยซ้ำ เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ และเป็นครั้งแรกที่เราสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเราเองทั้งหมด คิดบทเอง ทำเองทั้งหมด เป็นหนังแอนิเมชันตอนสั้นที่มีเราเป็นตัวแทนจากไทยเรื่องเดียวไปรวมกับแอนิเมชันอีก 4 เรื่องจากฝั่งญี่ปุ่น

พีท-สรพีเรศ: เขาให้รายชื่อผู้กำกับของญี่ปุ่นคนอื่นๆ ที่จะได้ทำโปรเจกต์นี้มาด้วยซึ่งดังเกือบทุกคน คนหนึ่งก็เคยกำกับแอนิเมชัน Tokyo Ghoul ผีปอบโตเกียว โดยโจทย์ที่เขาให้เรามาคือให้เราทำซูชิแบบไทยๆ ให้เขากิน อย่างแคลิฟอร์เนียโรลก็คือซูชิที่ไปเกิดที่แคลิฟอร์เนีย เขาก็เลยอยากเห็นไทยซูชิ อยากลองเห็นงานแอนิเมชันฝีมือคนไทยบ้าง

โปรเจกต์ Force of Will The Movie สร้างขึ้นจากการด์เกมที่ว่าด้วย ‘เรื่องเล่า’ ก่อนหน้านี้เขาก็มีการ์ดหนูน้อยหมวกแดง, การ์ดหมาป่า, การ์ดแวมไพร์ มาแล้ว เขาเลยมาหาธีมจากเราว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นไทยบ้าง สุดท้ายก็ลงเอยที่เรื่อง รามเกียรติ์

ในมุมมองของคนทำงานฝ่ายศิลป์อย่างคุณชาคฤษ คุณนำเสนอเรื่องไทยๆ อย่างรามเกียรติ์ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้วยวิธีไหน

ไอเทม-ชาคฤษ: ผมเริ่มคิดจากมุมมองที่ว่า เราเป็นคนไทยเราจะสามารถดึงเอาอะไรของความเป็นไทยมาขายได้บ้าง ส่วนงานลายเส้น เวลาผมหัดเขียนผมจะเริ่มจากงานที่มันไทยๆ เช่น เวลาดรอว์อิ้ง ผมจะไม่ค่อยดรอว์อิ้งลายเส้นฝรั่ง เวลาหัดเขียนอะไรแบบนี้จะวาดโมเดลคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าเราไปเขียนงานแบบเขาเราก็จะไปดึงเอาลายเส้นเขามา

ผมเป็นคนที่อาจจะดูการ์ตูนไม่เยอะ ไม่กี่เรื่อง แล้วก็พอละไม่ดูละ แต่ศึกษาอย่างอื่นแทน ซึ่งทำให้ผมไม่ห่วงเรื่องลายเส้นของตัวเองเลย เพราะผมไม่ได้ดึง reference จากที่ไหนมาใช้ ผมจะเขียนตัวละครตัวไหนก็เขียนขึ้นมาเลย มันทำให้คาแรกเตอร์ที่เราเขียนออกมาจากความเป็นตัวเราเอง สไตล์ความเป็นเราเลยค่อนข้างชัดเจน

พีท-สรพีเรศ: แต่เรื่องนี้เราก็พยายามทำให้มีความเป็นสากลนะครับ ดึงทั้งเนื้อเรื่องของ รามเกียรติ์ และ รามายณะ มาผสมกัน ไม่ใช่แค่อิงจาก รามเกียรติ์ อย่างเดียว

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คิดว่าความตั้งใจของตัวเองที่อยากจะเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อแอนิเมชันฝีมือคนไทยด้วยกันเองมันตอบโจทย์เรามากน้อยแค่ไหน ในอนาคตเป้าหมายของ RiFF จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ตุลย์-วีรภัทร: ดีขึ้นนะครับ แต่ยังอยากจะไปถึงจุดที่สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองแบบเต็มๆ ได้อยู่ ตอนนี้เรายังไม่มีโอกาสทำหนังใหญ่ๆ ของเราทั้งเรื่องแบบเต็มๆ ผมอยากจะลองพิสูจน์ว่าถ้าเราทำหนังของตัวเองทั้งเรื่องความยาว 80-90 นาที จะมีคนตอบรับเราแค่ไหน เพราะส่วนใหญ่คนจะมองว่าหนังแอนิเมชันไทยใช้ทุนเยอะและขาดทุนประจำ

ผมมองว่าการทำคอนเทนต์ให้โดดเด่นหรือได้รับการยอมรับมันยากนะ ปีๆ หนึ่งมันมีคอนเทนต์เกิดขึ้นเป็นหมื่นๆ กว่าคอนเทนต์ จะให้คอนเทนต์ของเราทะลุขึ้นมาเป็นที่รู้จักก็ต้องขยันทำคอนเทนต์ใหม่ให้มากขึ้นไม่ต่ำกว่า 20-30 ชิ้นต่อปี อย่างต่างประเทศเขาก็ทำคอนเทนต์ของตัวเองออกมาเยอะ สุดท้ายเขาก็จับมารวมกันเหมือน Marvel ที่มีความหลากหลาย กระจายให้คนเลือกเสพได้มากขึ้น

ส่วนเป้าหมายในอนาคตของเราก็ยังอยากจะมีคอนเทนต์ หรือคาแรกเตอร์ที่มีคนรู้จักทั่วโลก อย่างไทยเราเองก็มี ดร.แตน-ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ที่ทำ เชลล์ดอน จนคนรู้จักกันทั่วโลก เป็นคนเดียวในตอนนี้ที่ทำแบบนั้นได้ ซึ่งผมเองก็อยากจะทำให้ได้อย่างเขาเหมือนกัน เพราะญี่ปุ่นเองก็มีทั้งนารูโตะ, โดราเอมอน, ชินจัง, ดราก้อนบอล

พีท-สรพีเรศ: ในอนาคตเราอยากเป็นค่ายหนังครับ เรามีไอดอลเป็นสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli: สตูดิโอแอนิเมชันจากญี่ปุ่น ผู้สร้าง Spirited Away, My Neighbor Totoro ฯลฯ), มะโกะโตะ ชินไค (Makoto Shinkai: ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน Your Name ฯลฯ) เราอยากจะเป็นแบบนั้น อยากให้คนได้เสพงานที่มันออกมาจากเรา นี่คือเป้าหมายระดับโลกของเรา

FACT BOX:

หลังโปรเจกต์ The Force of Will มีแพลนลงจอฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศญี่ปุ่นในปี 2018 ที่จะถึงนี้ RiFF แอบกระซิบบอกข่าวดีกับเราว่าคนไทยทุกคนน่าจะมีโอกาสได้ดู Raam และแอนิเมชันเรื่องอื่นๆ ในโปรเจกต์ดังกล่าวที่ประเทศไทยแน่นอน!

DID YOU KNOW?

ในการสร้างแอนิเมชันทุกๆ เรื่อง หนึ่งในเคล็ดลับเบื้องหลังความสมจริง และความมีชีวิตชีวาของงานแอนิเมชันคือการให้ตัวนักแสดงพากย์เสียงเป็นตัวละครก่อนที่จะสร้างแอนิเมชันขึ้นมา เพื่อที่ทีมสร้างแอนิเมชันจะได้ไกด์ไลน์บางส่วนจากไดอะล็อก อารมณ์ของตัวแสดง และทำงานได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องเมย์ไหนฯ เป็นต้น

Tags: , , , , , ,