เมื่อกระแสของโลกผันเปลี่ยนไปตามกลไกของเทคโนโลยี ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมโลกย่อมต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส เพื่อการดำรงอยู่ที่สอดคล้องและสมดุล
ในโลกธุรกิจก็เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจขายตรง ที่บทบาทของเทคโนโลยีรุกคืบเข้ามาสั่นคลอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องมีการปรับเพื่อรับมือ และงานสำคัญเช่นนี้จำเป็นต้องใช้นักบริหารที่เก่งกาจ
กิจธวัช ฤทธีราวี หัวเรือใหญ่เบื้องหลังความสำเร็จของแอมเวย์ ซึ่งเข้าร่วมงานกับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ ก่อนได้เลื่อนขึ้นตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปจากผลงานที่โดดเด่น และเป็นหนึ่งในทีมบริหารงานที่แข็งแกร่ง กระทั่งต้นปี 2555 เขาได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ดูแลรับผิดชอบภาพรวมการบริหารและดำเนินงานของบริษัท นับเป็นก้าวสำคัญและท้าทายมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพลักษณ์ของแอมเวย์ยุคดิจิทัลเป็นอย่างไรครับ
ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ถ้าพูดถึงแอมเวย์ คนจะนึกถึงวัยกลางคน ใส่สูทผูกไท เป็นผู้ทรงภูมิ และทำงานหนัก หน้าตาซีเรียส อันนี้จากการสำรวจความคิดเห็นนะครับ แต่พูดถึงโลกดิจิทัลหรือในสิ่งที่เราอยากให้เป็นนั้น เราต้องการจะเห็นแอมเวย์ที่เข้าถึงผู้คน ดูเรียบง่าย มีความเป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งเหมือนกับเทรนด์สมัยนี้ ที่คนรุ่นใหม่เองก็อยากประกอบธุรกิจง่ายๆ ขายของออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องมาแต่งตัวเนี้ยบ ผูกไทไปทำงาน
เราก็อยากให้ดูแคชวลมากขึ้น สบายๆ เป็นอาชีพที่ทำได้ทุกคน เข้าถึงได้ทุกคน หรือเรียกว่าใกล้ตัวดีกว่า ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พวกเราเอง สมัยก่อนอาจดูเป็นคนทำงาน ในออฟฟิศเวลามีประชุมบรรดาสมาชิกหรือนักธุรกิจของเรา ทุกคนก็จะผูกไทใส่สูท แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เราจะรีแลกซ์มากขึ้น ภาพลักษณ์ใหม่ของเราก็เป็นไปตามเทรนด์นั่นล่ะครับ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือจากเดิมที่ดูเป็นคนเคร่งขรึม เราก็ปรับมาเป็นสไตล์สบายๆ เป็นกันเองมากขึ้น
บรรยากาศการทำงานล่ะครับ ปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
พนักงานทุกคนจะรีแลกซ์ขึ้นเยอะครับ เรามีประเด็นหลักเรื่อง ‘Work-Life Balance’ มานานแล้ว ทำงานแปดโมงถึงห้าโมงเย็น ซึ่งคนสมัยนี้ไม่ชอบทำ เราก็เริ่มประยุกต์ชั่วโมงทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เรามีปรับบรรยากาศให้เป็นแบบ Work by Design คือจะมีหนึ่งวันต่อสัปดาห์ที่คุณจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ ทำงานที่บ้านก็ได้ ให้พนักงานได้รีแลกซ์และออกแบบรูปแบบการทำงานได้เอง
ผมเชื่อว่าในอนาคตเราคงจะหนีไม่พ้นหรอก เพราะไม่มีใครคิดอยากเสียเวลาอยู่บนรถ บนท้องถนน แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เข้ามา จะพบปะประชุมกันได้ทางออนไลน์ ทาง conference call หรือเฟซไทม์ได้สบายๆ อยู่แล้ว
แต่ที่ออฟฟิศเรายังไม่ได้ทำถึงขนาดเป็น free space แบบไม่มีที่นั่งเป็นของตัวเอง ความจริงมีคนเคยเสนอผมเหมือนกัน แต่ผมยังไม่ตัดสินใจ (ยิ้ม) ผมมีความรู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนยังมีความต้องการพื้นที่ส่วนตัว ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังปรับตัวตรงนี้อยู่ ฉะนั้นบรรยากาศในการทำงานตอนนี้ก็เป็นช่วงที่เรากำลังปรับเปลี่ยน
แล้วโดยส่วนตัวคุณต้องปรับเปลี่ยนอะไรด้วยไหมครับ เช่นอะไรบ้างครับ
ผมปรับไปเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่จะว่าไป ตัวตนจริงๆ ของผมเป็นคนที่ปรับตัวง่ายอยู่แล้ว ผมเป็นคนตามเทรนด์ในระดับหนึ่ง ผมไม่ชอบแก่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมต้องปรับตัวมากที่สุดนั้น เป็นเรื่องของเทคโนโลยี มันเข้ามากระทบชีวิตผมพอสมควร ฟังดู negative ไปหน่อย แต่จริงๆ มันคือ fact ซึ่งทั้งดีและไม่ดีนั่นล่ะ
ด้วยเทคโนโลยีที่ผมต้องปรับ ก็คือ สมัยก่อนผมมีชีวิตที่ค่อนข้าง routine ความที่ไม่มีเทคโนโลยี เวลาเราทำงานเราก็ทำเต็มที่ พอกลับบ้านเราก็มีช่วงเวลาของครอบครัว แต่พอมีเทคโนโลยี มีโทรศัพท์มือถือแค่เครื่องเดียว กลายเป็นว่าผมต้องทำงานตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ข้อดีคือทำให้เราทำงานเร็วขึ้น ตามข่าวสารได้ดีขึ้น แต่นั่นก็ทำให้น้องๆ ที่ออฟฟิศต้องได้รับอีเมลของผมตอนตีสองเหมือนกัน
นี่คือสิ่งที่ผมต้องปรับตัว ทำให้เราต้องทำงานกันแบบ…ไม่มีเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นทุกข์นะ ในขณะเดียวกัน บางช่วงที่เรา catch up งานได้เร็ว มันก็ทำให้เราสามารถรีแลกซ์เวลาไหนก็ได้เหมือนกัน อย่างตอนบ่ายสองผมอาจจะไม่มีอะไรทำแล้วก็ได้ เรียกว่าผมก็ปรับตัวไปตามเทคโนโลยีนั่นล่ะ มันทำให้เราต้องเป็นอย่างนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเป็นบริษัทที่เป็นอินเตอร์เนชันแนล สาขาต่างๆ ที่เราต้องประสานงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นระดับภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่ เราอยู่กันคนละไทม์โซน เราเลยต้องทำงานกันแบบตลอดเวลา บางครั้งเราต้องประชุมกับเขาตอนตีสอง-ตีสาม ก็ทำให้ชีวิตเราต้องปรับ แต่ก็ไม่ suffer อะไร ดีเสียอีก ทำงานเร็วดี
บุคลิกส่วนตัวของคุณกิจธวัชเป็นอย่างไรครับ
คนรอบข้างผมมักจะเรียกผมคำแรกเลยนะว่า ผมเป็น ‘super hyper’ เป็นคนพลังเยอะมาก คือผมอยู่นิ่งไม่เป็น นั่งเฉยๆ ไม่ได้ อันนี้อาจเป็นเพราะว่าถูกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้วมั้งครับ คุณแม่มักจะบอกเสมอว่า เกิดมาแล้วอย่าหายใจทิ้ง (หัวเราะ) เจอคำนี้มันก็แรงนะ ก็เลยนั่งเฉยๆ ไม่ได้
แต่ผมก็ไม่ได้ซีเรียสตลอดนะครับ คำว่า ‘ไฮเปอร์’ ของผมคือ ไม่นั่งเฉยๆ แต่ทำอะไรที่…ถ้าไม่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับงาน อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ในแง่จิตใจของตัวเอง คือรีแลกซ์นั่นล่ะ กิจกรรมเพื่อพักผ่อนของผมไม่ใช่การนั่งดูทีวี แต่กิจกรรมที่ทำให้ผมรีแลกซ์ได้คือการออกไปเดินดูนั่นดูนี่ เดินทั้งวัน อยู่นิ่งไม่เป็น
แล้วผมเป็นคนตรงมาก ผมว่าการที่เราทำอะไรสักอย่าง การสื่อสารให้ชัดเจน การจะสร้างความไว้วางใจได้มันต้องมาจากความจริงใจ มาจาก fact แต่ด้วยวิธีที่ผมคิดอย่างนั้น มันเลยสะท้อนออกมาว่า ผมเป็นคนพูดตรงๆ บางครั้งมันอาจจะฟังดูคล้ายกับผมแรง คือมันมีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างความตรงและความแรง ใครที่ทำงานกับผมใหม่ๆ จะรู้สึกว่าผมแรงมาก แต่ถ้าทำงานด้วยกันไปนานๆ ก็จะรู้เองว่า ผมเป็นคนพูดตรงๆ
แต่อีกมุมหนึ่งผมก็เป็นคนขี้เล่นนะครับ เป็นตัวเฮในกลุ่มเพื่อนๆ แต่เวลางานก็ซีเรียสสุดๆ เป็นมนุษย์สองขั้ว แต่ผมเชื่อในความโปร่งใส มีความจริงใจในการสื่อสาร มันจะดีและมั่นคงที่สุด
ทำงานกับแอมเวย์มานานกว่า 17 ปี คุณกิจธวัชมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของบุคลิกและสไตล์การทำงานของตัวเองไปมากน้อยแค่ไหนครับ และมีเทคนิคในการบริหารงานอย่างไร
นอกจากเรื่องการปรับตัวของผม ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของวัย สมัยก่อนตอนหนุ่มๆ ผมทำงานด้วยสมอง นั่นเพราะผมเชื่อใน fact ผมเชื่อในข้อมูล ทำงานแบบเน้นวิเคราะห์เลย ต้องมาด้วยเหตุผลร้อยพันประการกว่าจะขายงานผมได้นะ แต่พออายุมากขึ้น มีการเรียนรู้มากขึ้น ทำให้เรารู้ว่า บางครั้ง fact อาจจะถูกต้อง แต่มันอาจไม่ถูกใจก็ได้ แล้วคนมีหลายประเภท ชีวิตของคนบางคนขึ้นอยู่กับความรู้สึก อาจจะไม่ต้องถูกต้องก็ได้ แต่ขอให้ถูกใจเขาก็มีความสุขแล้ว เขาก็สามารถทำในสิ่งที่เขาถนัดได้
ถึงวันนี้เองผมก็ต้องบาลานซ์เอา นอกจากการใช้สมองทำงาน ผมต้องใช้หัวใจทำงานมากขึ้น นั่นคือฟังให้มากขึ้น เข้าใจคนให้มากขึ้น บางครั้งมันไม่ถูกต้องหรอก ก็ต้องระงับใจ ไม่พยายามที่จะทำให้คนทั้งโลกมาคิดแบบเรา ยืดหยุ่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมาอยู่ที่แอมเวย์ ต้องทำงานกับคนเป็นแสนที่มาจากหลากหลายอาชีพ ด้วยความหลากหลายตรงนี้ ฉะนั้นสิ่งเดียวที่จะทำให้เราบริหารงานตรงนี้ได้ และจะรวมเป็นจุดตรงกลาง ดีลกับทุกๆ คนได้ ก็คือ ความยืดหยุ่น ความเข้าใจคนต้องสูงมาก มันอาจไม่ได้สิ่งที่เราอยากได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันจะทำให้ทุกสิ่งเดินไปได้ดีในที่สุด
คุณกิจธวัชมีความเชื่ออะไรในองค์กรแอมเวย์ครับ
แอมเวย์เป็นบริษัทที่ผมทำงานนานที่สุดในชีวิตเลยครับ สมัยก่อนผมเคยอยู่บริษัทใหญ่ๆ มาที่ละสี่-ห้าปี แต่วันที่ผมเข้ามาอยู่ในแอมเวย์ ความเชื่อหนึ่งที่ผมมี คือเสน่ห์ของงานขายตรง ในสอง-สามปีแรก ผมเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารที่มาจากการค้าขายทั่วๆ ไป คือผลิตสินค้ามาแล้วขายไป ทำมาร์เก็ตติ้งขาย ตามหลักสูตรที่เรียนมา
แต่พอมาอยู่แอมเวย์ ผมเห็นถึงเสน่ห์และความยาก ความยากก็คือว่า ถ้าเราอยู่ในธุรกิจอื่น เราผลิตสินค้า เราขายของให้ผู้บริโภค สินค้าดี ขายได้ จบ แต่ตรงนี้มันเป็นมิติที่ลึกกว่านั้น ก็คือ เราทำการตลาดกับชีวิตคน เพราะนอกจากผู้บริโภคจะได้ใช้สินค้าคุณภาพที่ซื้อจากนักธุรกิจแอมเวย์แล้ว ธุรกิจแอมเวย์ยังเป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้นักธุรกิจมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย นี่จึงเป็นอะไรที่มากกว่าความเป็นมาร์เก็ตติ้งทั่วไป
ยิ่งถ้าถามว่าอนาคตผมเชื่ออะไร ผมเชื่อในปรัชญาของแอมเวย์ ธุรกิจถูกสร้างมาโดยมี statement ชัดมากตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง นั่นคือ ‘Helping people live better lives’ และนั่นคือเสน่ห์ของแอมเวย์ที่ทำให้เรายังคงอยู่ได้ยืนยาวในทุกยุคทุกสมัย
แต่มันไม่ใช่งานที่ง่ายสำหรับทุกคนหรือเปล่าครับ
ผมไม่ได้บอกว่ามันง่ายหรือยาก มันเป็นธุรกิจที่สร้างมาเพื่อให้ทุกคนทำได้ แต่คำว่าง่ายหรือยากผมว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าตั้งใจหรือชอบมันแค่ไหน ผมว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเหลือล้นทุกอย่าง อยู่ที่ว่าเราตั้งใจหรือทุ่มเทกับมันแค่ไหน คนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้มาจากพื้นฐานที่เขาอยากจะทำ แต่คนที่ว่ายาก เพราะว่าเขาไม่คิดจริงจังกับมัน บางคนอาจจะถูกชวนมาทำ ตอนมานั่งฟังก็อาจจะดูดี แต่พอทำจริงๆ โอ้โห…มันต้องออกไปขายของนะ โน่นนี่นั่น มันไม่ใช่ตัวฉันนะ และด่านที่สำคัญที่สุดที่ต้องฝ่าให้ได้คือ ความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง
คำว่ายากในธุรกิจนี้คือ ไม่สามารถที่จะ convince ตัวเองได้ อย่างที่บอก ธุรกิจนี้ถูกดีไซน์มาให้ทำได้ทุกคน แต่จะได้ จะถนัดหรือไม่ถนัดก็อยู่ที่ความตั้งใจ ความสนใจ และการทุ่มเทให้กับมันครับ
กิจวัตรประจำวันนอกเหนือจากการทำงาน คุณกิจธวัชทำอะไรบ้างครับ
อย่างที่เล่าไปว่าผมอยู่นิ่งๆ ไม่เป็น (ยิ้ม) เสาร์-อาทิตย์ผมชอบทำกับข้าวกินพร้อมกันกับครอบครัว กีฬาก็มีตีกอล์ฟบ้าง ถ้ามีเวลาก็จะออกไปแฮงก์เอาท์กับเพื่อนๆ บ้าง
อาจเพราะเป็นคนสองขั้วก็ได้มั้งครับ โดยหน้าที่การงานผมมีโอกาสได้ไปเห็นโลกกว้างเยอะแล้ว ได้ไปช้อปปิ้งในหลายประเทศ ฉะนั้นเวลาอยู่เมืองไทย ผมจะไม่ชอบเดินห้าง แต่จะชอบไปในสถานที่ที่ติดดินๆ หน่อย อย่างตลาดนัดจตุจักรนี่ผมชอบมากเลยนะ ผมหลงใหลในวัฒนธรรม ชอบพวกไม้แกะสลัก เครื่องจักรสาน ภาพวาด ผมชื่นชมและให้คุณค่ากับงานหัตถกรรม เวลาผมเจออะไรสวยๆ ผมมักถามคำแรกเลยว่า เขาทำได้อย่างไร ทำไมคุณป้าคุณยายถึงช่างอดทนขนาดนี้ ผ้าไหมต้องนั่งทอกันเป็นเดือน คุณค่าที่ผมมองเห็นคือความพยายามของคน ผมชื่นชมกับสิ่งเหล่านี้นะครับ
คุณกิจธวัชเป็นคนนอนดึกตื่นเช้าไหมครับ
ผมเป็นคนนอนน้อยครับ นอนวันละสี่ชั่วโมง ห่วงมากเลย เห็นเขาบอกว่าคนนอนน้อยตายเร็ว (หัวเราะ) ไม่รู้ว่ามันเป็นจิตใต้สำนึกหรือเปล่า แต่ผมเสียดายเวลา คนเราพอเกิดมาปุ๊บ เราต้องนับเวลาถอยหลังแล้ว เวลาเราหมดไปเรื่อยๆ เชื่อไหมครับว่าผมนับวันเลยนะ สมมติผมตายตอนอายุแปดสิบ ผมจะเหลือเวลาอีกกี่วัน แล้วผมมีความรู้สึกว่ามันไม่เยอะเลยนะ สองหมื่นกว่าวันไม่เยอะเลย ผมเลยเสียดาย
ผมนอนน้อย แต่ไม่เหนื่อยนะครับ อย่างเมื่อคืนนี้ผมนอนตอนสี่ทุ่ม ตีสองผมก็ตื่นแล้ว ตื่นมาส่งอีเมล เลขาของผมตื่นมาเขาก็ได้งานครบแล้ว (หัวเราะ) ผมเคลียร์เรื่องงานเสร็จก่อนนอน ตื่นขึ้นมาก็ต่อได้ทันที นอกจากบางช่วงถ้ามีงานโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ หรืองานที่ท้าทายมากๆ อันนั้นยิ่งหนักเลยนะ ผมจะไม่นอน หรือนอนสมาธิ แต่เรื่องนั้นมันยังอยู่ และช่วงเวลานั้นผมจะคิดออก พอตื่นเช้ามาจะทำต่อได้เลย
อนาคตของแอมเวย์ในสายตาของคุณกิจธวัช ในฐานะผู้บริหาร จะเป็นอย่างไรต่อไปครับ
มีคนถามผมเสมอว่า ธุรกิจขายตรงจะตายไหม ในเมื่อเรื่องของเทรนด์พอเกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงขึ้น มันคือการขายตรงจากจุดหนึ่งไปถึงผู้บริโภคเลย จะไม่มีการผ่านตัวกลางแล้ว สำหรับแอมเวย์ ซึ่งเป็นธุรกิจขายตรงโดยผ่านนักธุรกิจจะรอดไหมในโลกอนาคต ผมกลับมองว่า ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นมากขึ้นเท่าไหร่ ถึงจุดๆ หนึ่งมันจะกลับมาสู่เบสิก และธุรกิจขายตรงจะกลับมาแข็งแรงมาก
เพราะผมเชื่อในเรื่องของ human touch ผมไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่ได้ อย่างที่บอกในตอนต้นว่า สมองไม่สามารถทำงานแทนหัวใจได้หรอก ความรู้สึกมันไม่มีทางเลย
ทำไมธุรกิจขายตรงยังยืนหยัดมาได้ถึงวันนี้ ก็เพราะว่า human touch นี่แหละ หลายคนซื้อสินค้าจากธุรกิจขายตรง นอกเหนือจากเหตุผลที่ซื้อเพราะคุณภาพสินค้าแล้ว ยังซื้อเพราะอยากสนับสนุนเพื่อนหรือญาติที่ทำธุรกิจด้วย และจากความรู้สึกส่วนตัวของผมเองเวลาเดินทางไปถึงสนามบินของเมืองนอก มันไม่มีคนทำงานแล้ว เราต้องเช็คอินเอง สแกนพาสปอร์ตเอง ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมันแห้ง หรือโทรไปที่ไหนก็เจอแต่เครื่องรับอัตโนมัติ เวลาโทรไปที่ไหนแล้วมีคนรับสายผมจะดีใจนะ อยากคุยด้วยนานๆ (หัวเราะ)
โดยเฉพาะสังคมไทย ผมเชื่อว่าหลายๆ อย่างจะกลับมาสู่เบสิก เราจะเห็นกาแฟโบราณ ขนมครกโบราณ มันต้องกลับมา แล้วยิ่งเป็นเรื่องการขายตรง ซึ่งเป็น human touch ผมว่าไฮเทคกับไฮทัชมันผสมผสานกันอยู่ ฉะนั้นในอนาคตสินค้าขายตรงจะยังคงยืนหยัดได้ เพราะสินค้าขายตรงไม่ใช่อยู่ดีๆ จะขายได้ แต่ต้องมีการอธิบาย
ผมยกตัวอย่างนะครับ เครื่องกรองน้ำราคาห้าหมื่นบาทที่คุณเห็นทางออนไลน์ คุณจะกดซื้อในทันทีเลยไหม ไม่แน่นอน แต่คุณจะซื้อก็ต่อเมื่อเพื่อนของคุณมาอธิบาย สาธิตให้ดูถึงวิธีการใช้งานและประสิทธิภาพของเครื่อง หรือสินค้าหมวดสุขภาพ ชิ้นละสอง-สามพัน อยู่ดีๆ คุณจะกล้าซื้อมากินไหม แต่ถ้าเพื่อนหรือญาติมาอธิบายให้ฟังว่ามันดีอย่างไร คุณถึงจะกล้าซื้อ
เพราะฉะนั้น สินค้าขายตรงโดยเฉพาะกลุ่มสุขภาพ ไม่ว่าเทคโนโลยีอะไรก็ไม่สามารถมาทำหน้าที่แทนคนได้ครับ
“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” น่าจะเป็นคำเปรียบเปรยที่เหมาะสมกับนักบริหารมือหนึ่งกับผลงานที่ปรากฏ แม้กลไกของเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทว่าเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ กลไกทางธุรกิจจะยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ที่กลายเป็นเหมือนเครื่องการันตีความสำเร็จ ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรไป การเปิดรับ ทำความเข้าใจ และพร้อมปรับตัวจะช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างยืนหยัดและมั่นคงต่อไป
Tags: amway, แอมเวย์, Human Touch, กิจธวัช ฤทธีราวี