“ความช่วยเหลืออย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน คนมีจิตใจมาอุทิศก็จริง แต่การทำงานที่ต้องขอแรงจากคนนั้นคนนี้ พอถึงจุดหนึ่งทุกคนจะเหนื่อย ความร่วมมือก็จะหายไป เพราะทุกคนก็มีภาระของตัวเอง ดังนั้นถ้าเราจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมันต้องเป็นงาน แล้วคนจะนำงานนี้ไปสู่พัฒนาการที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายสังคมก็จะได้” อเล็กซ์ เรนเดล นักแสดงหนุ่ม บอกกับเราอย่างนี้ในวันที่เราไปเยือนที่สำนักงาน EEC Thailand (Environmental Education Centre Thailand) หรือ ‘ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา’ ที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015

จากทีมงานเล็กๆ ที่มีเพียงเขาและคนทำงานอีกสองคน วันนี้ EEC Thailand กำลังเติบโตเป็นบริษัทขนาดกลาง ที่มีพนักงานเต็มครบทุกแผนก และเป็นบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ที่ต้องการองค์ความรู้หรือความร่วมมือในการทำงานด้านนี้

ทั้งหมดนั้นเริ่มต้นมาจากความรักในธรรมชาติและสนใจถึงความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และปรารถนาที่จะหากลไกในการปกป้องที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกความหวังลงในเมล็ดพันธุ์รุ่นเยาว์ ที่มีศักยภาพในการโอบอุ้มทรัพยากรในอนาคต

จากคนบันเทิงสู่ธุรกิจสิ่งแวดล้อมศึกษา

มีไม่น้อยที่นักแสดงซึ่งคุ้นชินกับวงการบันเทิง ได้ต่อยอดประสบการณ์ของตัวเองไปสู่อะไรที่มากกว่าการอยู่หน้ากล้อง โดยที่ยังมีรัศมีโคจรอยู่รอบวงการ แต่อเล็กซ์ซึ่งเติบโตมากับวงการตั้งแต่วัยสี่ขวบ กลับเลือกที่จะเดินบนอีกเส้นทาง และทำงานทั้งสองด้านคู่ขนานกันไป

“ผมสนุกกับวงการบันเทิงอยู่แล้วครับ ผมทำมันด้วยความรักมาตลอด และกลายเป็นชีวิตของผมตั้งแต่จำความได้ แต่ลึกๆ รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรที่แตกต่าง อยู่ในออฟฟิศที่เราทำงานจริงๆ โดยไม่ต้องมีกล้อง ได้ใช้แต่ความคิดของเราในการทำงาน พอเริ่มทำก็เริ่มเข้าใจกับคำว่าบริหาร ผมไม่ใช่คนที่ลงทุนแล้วให้คนอื่นมาทำ ผมทำเองหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ค่อยๆ ขยายขึ้นทีละนิด”

ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้อดีตนิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เบนเข็มปริญญาโทมาสู่คณะสังคมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ความรู้นั้นมาขับเคลื่อนธุรกิจการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลัก

เรื่องราวเริ่มต้นในวันที่อเล็กซ์ได้ลงไปสัมผัสโลกใต้น้ำ ความสวยงามที่เห็นทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากปกป้อง ประกอบกับพื้นฐานเดิมที่ชอบผจญภัยและเดินป่าอยู่แล้ว ทำให้เขามีโอกาสคลุกคลีกับ ดร.อลงกต ชูแก้ว นักอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งดูแลศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยอยู่ที่เขาใหญ่ และการได้เข้าไปเป็นอาสาสมัคร ทำให้เขาเริ่มเข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่า ‘อนุรักษ์’

“มันเป็นอีกวงการหนึ่งที่เราไม่เคยมีความรู้เลย การไปร่วมกิจกรรมกับครูกต อย่างการใช้ช้างในการฟื้นฟูเด็กตาบอด ผมรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่เจ๋งมาก และทุกคนเสียสละเวลากันมา เราก็อยากมีส่วนร่วม พอยิ่งทำก็ยิ่งสนใจและยิ่งชอบ จนมาทำโครงการรถพยาบาลช้าง เราขายเสื้อเพื่อระดมทุนไปซื้อรถพยาบาลช้าง เพราะที่ผ่านมาเวลาช้างป่วย เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การจะยกเขาไปหาแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การมีรถพยาบาลที่นำช้างไปสู่มือแพทย์ได้ทัน มันน่าจะนำไปสู่การรอดชีวิตของช้างอีกหลายๆ เชือก หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาขอแบบเพื่อไปทำต่อ ซึ่งสำหรับผมคิดว่ามันดีมาก ทำเลย เพราะถ้าเรามีรถอีกหลายๆ คัน มันก็น่าจะช่วยช้างได้อีกเยอะ”

การเข้าร่วมงานอาสาสมัคร ทำให้อเล็กซ์มองเห็นปัญหา และพบว่าที่ผ่านมาแม้จะมีหน่วยงานจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม  แต่ก็มักจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เขาจึงมองย้อนกลับไปที่ต้นตอปัญหา และเชื่อว่าการสร้างคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังในอนาคต เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว จนเป็นที่มาของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งนี้

ค่ายสิ่งแวดล้อมที่ให้ทั้งความรู้และปลูกความรัก

“ผมเชื่อว่าการศึกษาจะนำไปสู่การอนุรักษ์ เด็กๆ จะเกิดความรักกับสิ่งที่เขากำลังเรียนอยู่ มันเป็น emotional learning เรียนรู้ด้วยการใช้จิต ใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัส ทำให้ธรรมชาติมีความหมายกับพวกเขามากขึ้น เมื่อเขารัก เขาจะปกป้อง เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ นอกจากนั้นก็เป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยการสนับสนุนให้เขาออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ได้มาเดินป่า ได้มาสู้กับตัวเอง อยู่กับคลื่นลม อยู่กับธรรมชาติ มันเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ด้วย”

งานของอีอีซี คือจัดค่ายสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ และผู้สนใจ ทั้งค่ายสำหรับเด็กวัยเดียวกัน ค่ายคละวัย ค่ายผู้ใหญ่ ค่ายเด็กและผู้ปกครอง ค่ายส่วนตัว กิจกรรมซีเอสอาร์ ฯลฯ ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ในพื้นที่จริง โดยมีธรรมชาติเป็นห้องเรียนทั้งในผืนป่าและทะเล กับเนื้อหากิจกรรมที่ผ่านการคิดค้นและวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับพื้นฐานของผู้เรียนเป็นหลัก ที่นอกจากให้ความรู้แล้วยังสร้างแรงบันดาลใจในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยมี ดร.อลงกต ชูแก้ว เป็นโปรแกรม ไดเร็กเตอร์

“ถ้าเป็นค่ายทะเล ผมเป็นครูสอนดำน้ำเองด้วย และมีผู้เชี่ยวชาญระดับด็อกเตอร์ในสาขาต่างๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นที่เข้าไปจัดค่ายมาให้ความรู้ อยู่ที่ว่าเราจะดีไซน์ให้เด็กเรียนรู้กันแบบไหน เพราะแต่ละค่ายก็มีเนื้อหาไม่เหมือนกัน แม้แต่ค่ายช้างที่เราจัดเป็นสิบรอบก็ไม่เหมือนกันเลยสักรอบ เราสนุกกับการเตรียมงาน เหมือนเวลาแสดงละคร ผู้กำกับฯ โอเคแล้ว แต่ผมก็อยากจะเล่นให้เขาอีกสักสองสามรอบ ผมมองว่ามันเป็นความรักในการทำงานเพื่อพัฒนา การทำค่ายก็ไม่ต่างกัน วันนี้เราเดินป่าเส้นนี้ รอบหน้าเราไปอีกเส้นทางหนึ่ง ปรับเปลี่ยนไปโดยประเมินจากเด็กและสถานการณ์ ถ้าทั้งกลุ่มทุกคนมีประสบการณ์ในการเข้าค่ายอีอีซีมาแล้วเราสอนแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่มาใหม่หมดเลย ยังไม่รู้กฎเกณฑ์ของเรา ก็ต้องสอนอีกแบบหนึ่ง”

ค่ายอีอีซีออกแบบไว้ 3 ระดับ คือ Entry, Intermediate และ Advance โดย 3 ระดับนี้แบ่งออกเป็น 13 หลักสูตร และแต่ละหลักสูตรยังแบ่งระดับย่อยลงไปอีก ทำให้เด็กกลุ่มเดิมสามารถมาเรียนได้หลายครั้ง

“วัตถุประสงค์ในการให้เด็กออกค่ายคือให้เขาได้เรียนรู้แล้วไปเจอกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าจริงๆ เขาต้องนอนเต็นท์ กินข้าวไม่เป็นเวลา หรือจะต้องนอนดึกเพราะเขาจะต้องช่วยเต่ามะเฟือง ต้องออกมาจากสิ่งเดิมๆ ของเขา เราไม่ให้เขามีไอแพดไอโฟน ห้ามเลย เล่นเกมก็ห้าม นอนเมื่อไรก็ต้องนอน กินอะไรกินเมื่อไรก็ต้องกิน ปกติอยู่ข้างนอกน้องต้องเคารพรุ่นพี่ แต่เราเปลี่ยนคัลเจอร์นี้โดยให้พี่ต้องดูแลน้อง น้องต้องได้กินก่อน มันคือการเสียสละ และเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ค่ายนี้จะให้อะไรกับเขาได้หลายอย่างมาก เรื่องนี้ผมพูดได้เป็นวันเลย (หัวเราะ)”

อเล็กซ์ยกตัวอย่างค่ายทะเลที่พาเด็กไปดำน้ำให้ฟังว่า “เวลาที่เขาลงน้ำ เราพาเขาให้ไปรู้จักกับหญ้าทะเล นี่คือที่ที่พะยูนมาหากิน ถ้าเราจะปกป้องพะยูนเราก็ต้องปกป้องแหล่งอาหารของมัน เราไปด้วยเรือประมง เด็กๆ แบกอุปกรณ์กันเอง หรือถ้าไปเรียนเรื่องป่าชายเลน เราก็จะไม่ได้ไปใกล้ๆ อย่างสมุทรปราการ แต่เราไปกระบี่เพราะที่นั่นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก ให้เขาได้รู้ว่ามันมีความสำคัญกับทะเลอันดามันยังไง เราเคยทำค่ายเกี่ยวกับขยะ เอาตัวขยะมาวิเคราะห์ว่ามาจากที่ไหน มาได้ยังไง มีการจัดการยังไง คือลงไปในเชิงวิทยาศาสตร์ เราไปมาหมดแล้ว ทั้งภาคเหนือภาคใต้ ภูเก็ต ลันตา กระบี่ สิมิลัน ปีหน้าเราจะไปหลีเป๊ะ ตรัง ศรีบอยา เกาะจำ ภาคเหนือก็อมก๋อย ภูหลวง ทุ่งแสลงหลวง ฯลฯ

“เราสอนให้เขาเห็นโลกแห่งความเป็นจริง การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมันดูเป็นโลกที่สดสวย แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น ทำงานแล้วมันเหนื่อย การจัดการของเราเป็นแบบโลกไม่สวย คือไม่ใช่ไปถึงแล้วเห็นควาญช้างตีช้าง คุณจะไปบอกว่าทำอย่างนั้นได้ยังไง ทารุณสัตว์ นี่คือคนมองแบบไม่รู้จริง ถ้าคนที่อยู่กับควาญ เขาจะรู้ว่ามันเป็นการฝึกช้างมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะถ้าไม่ตีแล้วช้างไปทำร้ายคนขึ้นมา สุดท้ายแล้วช้างก็ต้องตาย มันมีอะไรที่ลึกกว่านั้น อย่างเรื่องชาวประมงเขาก็ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงครอบครัวเขา จะไปห้ามไม่ให้เขาจับปลามันก็ไม่ได้

“และการลงพื้นที่ทุกครั้ง เราให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญพื้นที่ ให้เด็กเรียนรู้กับคนเหล่านี้ คนที่มอบชีวิตตัวเองเพื่ออะไรบางอย่าง บางครั้งเราไปเพื่อทำงานกับเขาเลย อย่างที่ตรังเราไปร่วมกับเอ็นจีโอในพื้นที่ สร้างเขตให้ชาวบ้านมีเลนในการเดินเรือเพื่อที่จะไม่รบกวนพะยูน แล้วการทำแบบนั้นไม่ได้ช่วยแค่พะยูน แต่มันช่วยชาวบ้านด้วย เพราะชาวบ้านเขามองพะยูนว่าเป็นตัวชี้บอกถึงความสมบูรณ์ของทะเล ถ้ามีพะยูนแสดงว่าเขาจะออกไปทำมาหากิน หารายได้กลับมาเลี้ยงครอบครัวได้ นี่แหละครับการช่วยสิ่งแวดล้อมมันนำไปสู่การช่วยคนได้อีกหลายแบบ”

“สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดเป็นเรื่องรอง เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องการจะสอนเด็กคือเรื่องของการอนุรักษ์ เราจะบอกกับเด็กๆ ว่าพวกคุณมีพลังที่จะเปลี่ยนมันได้ เด็กที่มาเข้าค่ายส่วนใหญ่เป็นเด็กไทยที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติ คุณพ่อคุณแม่เขาเป็นระดับซีอีโอ ผู้บริหาร เป็นกลุ่มที่มีพาวเวอร์ต่อสังคม ซึ่งหากพวกเขาโตขึ้น การตัดสินใจในอนาคตของเขาเป็นสิ่งที่สำคัญต่อประเทศชาติเรามาก ฉะนั้นในการที่เราปลูกฝังให้เขาเรียนรู้และได้อยู่กับคนพื้นที่ ได้อยู่กับหัวหน้าหมู่บ้าน ได้อยู่กับพวกอูรักลาโว้ย มอแกน มูเซอ ต่อไปเมื่อพวกเขาโตขึ้นจะได้นึกถึงคนเหล่านี้ว่าเขาทำอะไร เราพยายามทำค่ายที่ตอบโจทย์เด็กโรงเรียนไทยเหมือนกัน แต่อาจจะด้วยสังคมที่ยังไม่ได้มีการเปิดรับการเรียนนอกห้องเรียนเท่า จึงยังไม่มีกลุ่มที่สนใจเรื่อง outdoor learning นัก”

ความต้องการและภาพสะท้อน

อีอีซีจัดค่ายไปหลายร้อย กราฟจากการวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทแสดงให้เห็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นมาก ในบางปีอเล็กซ์บอกว่าโตขึ้นถึง 280 เปอร์เซ็นต์ จะว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจก็คงใช่ แต่สำหรับเจ้าตัวซึ่งโอบอุ้มบริษัทนี้มาตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน เขาบอกว่า “เราไม่ได้กะทำเล่นๆ อยู่แล้ว เรารู้ว่ามันจะโตขนาดนี้แน่นอน เพราะเราตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกแล้ว แค่ไม่ได้คิดว่ามันจะเร็วขนาดนี้

“ผมเริ่มทำอีอีซีตอนอายุยี่สิบห้า คิดว่ามันจะเป็นอาชีพของผมเลย ไม่มีความคิดว่าจะถอยหรือลังเลว่าควรทำหรือไม่ควรทำ โชคดีด้วยซ้ำที่ผมเจอมัน มันเป็นอะไรที่ยูนีค ไม่เหมือนใคร ทุกอย่างที่เซ็ตเอาไว้มาจากตัวเรา เราทำกันในรูปแบบของการศึกษา เป็นเหมือน Education Center ที่ตอบโจทย์เรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทางไหนก็แล้วแต่ เรามีจุดยืนที่ชัดเจน แล้วยิ่งทำก็ยิ่งเห็นประโยชน์ของมัน”

“รูปแบบธุรกิจของเราที่วางไว้ตอนแรกมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ขึ้นกับโอกาสดีๆ ที่เข้ามาโดยไม่ได้คาดคิด ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ปีแรกผมคิดว่าจะทำสามค่าย แต่ก็ทำไปแปดค่าย ปีที่สองเราจะทำสิบสองค่าย เราทำไปยี่สิบกว่าค่าย ในสามปีกว่าเราทำไปร้อยกว่าค่ายแล้ว ตกเฉลี่ยแล้วเกือบหนึ่งค่ายในทุกสองสัปดาห์ บางเดือนช่วงปิดเทอม สามสิบวันเรามีค่ายยี่สิบเอ็ดวัน แล้วตอนนี้เราก็เริ่มไปร่วมกับองค์กรอื่นๆ เริ่มมีโปรเจ็กต์ในการหาสปอนเซอร์เพื่อมาร่วมกันสร้างกระบวนการอนุรักษ์ กระบวนการศึกษา คนที่มาเข้าค่ายกับเรามาเพื่อเรียนรู้ มาเพื่อลำบาก คำว่าเซอร์วิสมีอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ใช่ทัวร์

“สิ่งที่อีอีซีทำคือเราต้องการสร้างความหลากหลายให้เด็กๆ ให้เขาได้เปิดประสบการณ์ของตัวเอง ได้มีทักษะชีวิต ได้กลายเป็นคนแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถเสริมให้กับการศึกษาในบ้านเราได้ ส่วนในแง่ของสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าการที่เราจะปกป้องอะไรสักอย่าง มันต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ เราพยายามที่จะให้เด็กเหล่านี้ได้เห็น เพื่อที่เขาจะได้ช่วยปกป้อง เป็นสิ่งที่เราหวังผลในระยะยาว ส่วนระยะสั้นซึ่งมีคนทำอยู่แล้วก็ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เราทำระยะยาวเท่านั้นเอง”

แรงบันดาลใจจากการเข้าค่ายของเหล่าเยาวชนออกดอกผลให้เขาชื่นใจอยู่เสมอ เช่นเด็กบางคนใช้วันว่างของตัวเองไปขายหลอดไม้ไผ่เพื่อจะส่งสารว่าไม่ควรใช้หลอดพลาสติก และบางครั้งยังส่งต่อแรงบันดาลใจไปถึงผู้ปกครองด้วย

“ผมมองว่าตอนนี้สังคมกำลังเติบโต และคำว่าความยั่งยืนหรือการอนุรักษ์มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกคนต้องการความยั่งยืนของชีวิต ต้องการความยั่งยืนของทรัพยากร ไม่อยากให้ใช้แล้วหมดไป ลึกๆ แล้วทรัพยากรคือปัจจัยการดำรงชีวิตของเรา เพียงแต่ก่อนหน้านี้มันไม่มีความรู้ที่ทั่วถึง แต่ตอนนี้เรามีแล้ว และอีอีซีก็เป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแรงพอที่จะซัพพอร์ตความคิดนี้ให้กับสังคมในบ้านเราได้

“ตอนนี้งานที่เรากำลังดีลอยู่มันเป็นระดับประเทศ และเรากำลังไปสู่งานระหว่างประเทศแล้ว กำลังนำไปสู่การสร้างกระบวนการให้กับประเทศอื่นในการอนุรักษ์ สถานทูตรู้จักเรา ตลาดหลักทรัพย์รู้จักเรา เอ็นจีโอ ไอยูซีเอ็น (IUCN: International Union for Conservation of Nature / สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) ทุกที่ที่เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรู้จักเรา และอยากร่วมงานกันในวันที่เหมาะสม”

Fact Box

  • อเล็กซ์ - อเล็กซานเดอร์ ไซม่อน เรนเดลล์ หรือ นิรวิทย์ เรนเดลล์ เกิดเมื่อ 9 มกราคม พ.ศ. 2533 เป็นนักแสดงและนักร้องลูกครึ่งไทย-อังกฤษ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ทำความรู้จักกับกิจกรรมและหลักสูตรของ EEC หรือชมภาพกิจกรรมค่ายต่างๆ ที่ผ่านมาได้ที่ www.eecthailand.com
Tags: , ,