ปราบดา หยุ่น ไม่เคยคุยกับสุนทรภู่

ไม่ได้โกรธ เขาแค่เกิดไม่ทัน หรือถ้าทัน ก็อาจอยู่กันคนละทิศ คนละสถานะ กระทั่งคนละความสนใจ

แม้จะเกิดร่วมสมัย ไม่มีข้อมูลว่า พนมเทียน เคยเจอ เช เกวารา

ชมัยภร แสงกระจ่าง อาจจะคุ้นชื่อ ลีโอ ตอลสตอย แต่แน่นอนว่าไม่มีโอกาสพบปะ ชิดใกล้

สุนทรภู่ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่ เช เกวารา จากไปเมื่อ 53 ปีที่แล้ว ด้วยหลากหลายเงื่อนไขข้อจำกัด เราท่านอาจไม่ได้เจอกันแบบตัวเป็นๆ หรือสัมผัสชีวิตจริงๆ แต่หนังสือทำลายข้อจำกัดทั้งปวง

ที่ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ หนังสือหลายเล่มของ ปราบดา หยุ่น นอนอยู่เคียงข้าง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ วัยหนุ่ม ของพนมเทียน ยืนเบียด เช เกวารา ให้สาวๆ หวั่นไหวไขว้เขว เพราะหล่อเหลาด้วยกันทั้งคู่ ชมัยภร แสงกระจ่าง ถามถึงอะไรใน สงครามและสันติภาพ บ้างหรือเปล่านะ เมื่อถูกจัดวางอยู่ไม่ห่าง ลีโอ ตอลสตอย

หนังสืออยู่ตรงกันข้ามกับความเป็นไปไม่ได้ทั้งปวง

หนังสือคืออำนาจ

1

ชโลมใจ ชยพันธนาการ ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 

และจังหวัดน่าน ยังรักษาสถิติเป็นจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ

กระนั้นก็ตาม เมื่อมีนโยบายปิดเมือง ‘ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ ก็จำต้องปิดตัวเองชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563

ประตูรั้วปิดอาคารไม้สองชั้นที่มีไม้เลื้อยพันอยู่โดยรอบเงียบเหงา ไม่มีเสียงเพลง เสียงเครื่องชงกาแฟ ไม่มีแสงไฟ

ไม่มีใครมาจับปราบดา ไม่มีใครมาตามหาพนมเทียน และ นกก้อนหิน งานเขียนของบินหลา สันกาลาคีรี ยังคงสงบนิ่งบนชั้น เช่นเดียวกับ หลักศิลาจารึกจำลอง ที่นักเขียนร่างใหญ่ตั้งใจหอบหิ้วจากกรุงเทพฯ มามอบให้ห้องสมุด

เก้าอี้โยกนิ่ง ไม่ยอมโยก เปลญวนที่เคยเป็นเป้าให้ใครต่อใครช่วงชิง ยามนี้ว่างเปล่า

เป็นครั้งแรกในรอบแปดปีที่มันเป็นแบบนี้

 

2

25 มกราคม 2555 ในซอยเล็กๆ ข้างวัดมณเฑียร ตรงข้ามวิทยาลัยเทคนิคน่าน มีงาน ‘เปิดหน้าหนึ่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ เจ้าของบ้านผู้ริเริ่มบุกเบิกและบรรณารักษ์คือ ชโลมใจ ชยพันธนาการ ครูภาษาไทย โรงเรียนสตรีศรีน่าน

อยู่โรงเรียนห้าวัน พอเสาร์อาทิตย์ก็เปิดบ้านทำงานห้องสมุด

“เตรียมมาสองสามปี คิดโครงหลวมๆ ไว้ จังหวัดน่านมีหอศิลป์หลายแห่ง มีที่แสดงภาพวาด แต่พื้นที่ทางวรรณกรรมยังไม่มี”

โดยพื้นฐาน ชโลมใจชอบการอ่านการเขียนเป็นทุน สมัยอยู่เพชรบูรณ์ก็เคยชวนนักเรียนเขียนอ่าน ผ่านหนังสือทำมือ (ชื่อ ฝนหมึก) พอย้ายกลับน่าน ก็เป็นบรรณาธิการ ฝั่งน้ำน่าน ส่งเสริม สนับสนุน ขับเคี่ยวให้นักเรียนเดินเข้าสู่โลกวรรณกรรม เขียนและขายในโรงเรียน ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี บางปีมีค่าย มีงานเสวนา โดยนักเขียนอาชีพเดินทางไกลมาร่วมปะทะแลกเปลี่ยนประสบการณ์

“พอดีเรามีที่ และคิดว่าน่าจะทำได้ อยากอ่านหนังสือที่บ้าน ทำบ้านให้งดงาม ผ่อนคลาย ต้นไม้เยอะ บ้านไม้ มีหน้าต่าง ช่องลม มีหนังสือบนชั้น ผนัง เวลาอ่านในบ้าน เรานอนกับพื้นกระดาน เลื้อยได้ กลิ้งตัว ท่าสบายเหมือนอยู่บ้าน จัดบ้านแต่ทำเป็นห้องสมุดด้วยมันก็ดี และได้ประโยชน์มากกว่า”

ศุ บุญเลี้ยง เคยมาเป็นวิทยากร

ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ สอนการถ่ายรูป

เรืองรอง รุ่งรัศมี นักเขียน นักแปล ผู้มีวิถีราวจอมยุทธ์ไร้ร่องรอยรูปเงา มาแนะแนวบอกเล่าสุนทรียรสบทกวี เป็นครูพี่เลี้ยงในค่าย ที่ทำงานต่อเนื่องถึงขั้นบางช่วงยอมนั่งเขียนตำราใหม่ๆ เพื่อสอนภาษาจีนเบื้องต้นสำหรับคนเพิ่งสนใจ เขียนและติดตาม สอบถาม ไล่เลยไปถึงให้งาน ให้โอกาส ให้ที่อยู่ กรณีที่เด็กบางคนมีธุระเข้าเมืองหลวง 

วันเปิดห้องสมุด พี่น้องผองเพื่อนชโลมใจเดินทางมายินดีแน่นบ้าน แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือมิตรน้ำหมึกนาม เรืองรอง รุ่งรัศมี

 

3

ไม่ได้ซื้อ

หนังสือทั้งหมดที่ห้องสมุดบ้านๆน่านๆ ได้มาจากการให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แวดวงนักเขียน

“มีเพื่อนเป็นนักเขียนเยอะ บางทีก็ตู่ว่าเขาเป็นเพื่อน” ชโลมใจอำตัวเอง

“เราเป็นครูภาษาไทยที่ทำกิจกรรมอยู่แล้ว ช่วงทำงาน นักเขียนผ่านไปใครมาก็มักเอาหนังสือมาให้ จากหนึ่งคนสองคน พ่วงบอกต่อๆ กันไป ยิ่งพอรู้ว่าทำห้องสมุด หลายคนก็ทยอยส่งมาให้ตลอด”

ขาประจำคนหนึ่งที่ต้องเอ่ยนามก็คือ นิภา เผ่าศรีเจริญ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร IMAGE (และบรรณาธิการอำนวยการเครือ daypoets ในปัจจุบัน)

สารคดี บทกวี ความเรียง เรื่องสั้น นวนิยาย ชโลมใจยินดีรับหมด 

วงเล็บไว้ว่า เป็นหนังสือที่ไม่เบาหวิวเกินไป

หนัง เพลง ความรัก การเดินทาง เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ชโลมใจเปิดกว้าง แต่ขออนุญาตใจแคบกับงานประเภทฮาวทู ซึ่งหาอ่านได้ทั่วไป เช่นเดียวกับหนังสือสวดมนต์หรือธรรมะ เธอบอกว่าที่อื่นๆ มีรองรับและให้บริการเพียงพออยู่แล้ว

“พูดง่ายๆ ว่าอะไรในเซเว่นฯ มี เราคงไม่ไปเพิ่ม”

หนังสือพวกตำรา แบบเรียน ไม่อยากได้

พื้นที่ไม่กี่ตารางวา พื้นที่บ้านๆ เจ้าของขอใช้สิทธิ์บ้านๆ เลือกแบบที่ตัวเองพึงพอใจ

“ยังไม่ถึงกับจะใช้คำว่าได้ดังใจ แต่ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ชอบ แล้วพอใจเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่คัดสรรหรือจัดหาหนังสืออย่างเดียว ที่ผ่านมามีงานอื่นๆ ต้องทำ เวลาก็ถูกแชร์ไปเป็นเรื่องทำมาหากินด้วย”

 

4

คำว่า ‘ทำมาหากิน’ ของชโลมใจ หมายถึง…

‘บ้านๆ น่านๆ’ มีห้องพัก 4 ห้อง (แอร์กับพัดลมอย่างละครึ่ง) อยู่ชั้นสอง (เจ้าของอยู่ข้างล่าง) และเมื่อสองปีที่ผ่านมา ทำห้อง ‘ปรารถนา’ เพิ่มขึ้นมาบนชั้นสองของอาคารห้องสมุด สิริรวมตอนนี้จึงมี 5 ห้อง เปิดให้บริการทุกวัน

มีร้านกาแฟ (ห้องสมุดและร้านกาแฟปิดทุกวันพุธและพฤหัสบดี) มีมุมขายหนังสือของกลุ่มเพื่อนนักเขียน มีสินค้าของที่ระลึก เสื้อยืด ผ้าขาวม้าพื้นเมือง แม็กเน็ต แก้วกาแฟ ตุ้มหู โปสต์การ์ดภาพเขียนเจ้าของบ้าน

ตั้งแต่กลางปี 2558 ชโลมใจลาออกจากอาชีพข้าราชการครู จากแค่เสาร์อาทิตย์ ที่นี่จึงกลายเป็นการงานฟูลไทม์

งานฟูลไทม์ แต่เอ่ยคำว่า ‘ห้องสมุด’ ใครก็คงพอนึกออกว่ามันไม่ใช่งานทำเงิน

งานหนัก แต่ไม่ได้เงิน การดิ้นรนยังชีพด้วยวิธีอื่นๆ จึงจำเป็น

ถามถึงผลประกอบการ เธอตอบสั้นๆ ว่ายังไม่น่าพอใจ

“พออยู่ได้ แต่รายได้น้อยเกินไป คือไม่ถึงกับเข้าเนื้อ แต่ก็ไม่เหลือกำไรเป็นเงิน”

ล้มเหลวหรือเปล่า?

“ไม่เลย งอกงามด้วยซ้ำ มีคนเข้ามาใช้จริงๆ มีตลอด และดีขึ้นตลอด โดยตัวของมันเองห้องสมุดไม่ป็อปอยู่แล้ว กระทั่งโลกของหนังสือประเภทที่เรานำเสนอ ยังไงมันก็ไม่ใช่เรื่องของกระแส แต่ยืนยันได้ว่ามีคนมาอ่าน คนรู้จักเพิ่มเรื่อยๆ คนมามากขึ้นๆ ทั้งคนน่านและนักท่องเที่ยว”

ส่วนเรื่องเงิน เธอพยายามหาวิธีใหม่ๆ เพิ่มสินค้าใหม่ๆ หาของมาขายให้มากกว่านี้

“อยากทำพวกงานแฮนด์เมด เช่น แก้วนักเขียน คืออะไรที่มันมีความหมายสื่อไปถึงหนังสือ งานเขียน นักเขียน กระทั่งสิ่งที่กอดอยู่” เธอมองหมอนในมือ

“ถ้าทำได้ ก็อยากทำปลอกหมอน เสื้อ ทุกอย่างที่เกี่ยวโยงถึงหนังสือ ซึ่งต่อไปน่าจะทำได้ เพราะกำลังจะมีหลานมาช่วย ที่ผ่านมาอยากแต่ทำไม่ได้ เพราะยุ่งทำเองทุกอย่าง”

หลานชายเป็นนักดนตรี ตกงานจากกรุงเทพฯ ด้วยพิษโควิด-19 ตัดสินใจพาลูกและภรรยาย้ายมาอยู่น่าน

“ต่อไปเราอาจเป็นห้องสมุดที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาย”

ไม่ปิดกั้น ไม่กังวล?

“ตรงกันข้ามเลย รู้สึกว่าเอนจอยมากด้วย หลานเป็นนักดนตรี เขายินดีร้องเพลง เล่นกีตาร์ให้คนกินเบียร์กินกาแฟในบางวัน เวลาจัดกิจกรรม จากเดิมเรามีของให้กินฟรีๆ ต่อไปอาจหาเงินด้วย ให้คนมางานช่วยจ่าย จ่ายเท่าที่ยินดี และเขาได้สิ่งดีๆ ตอบแทน คุ้มกับที่จ่าย คิดอยู่ว่าทำยังไงให้คนมางานจ่ายตังค์ ที่ผ่านมาเราควักเอง ซึ่งคงไม่ไหวถ้าต้องควักไปตลอด”

จากวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่พัก ห้องสมุดและร้านกาแฟปิด ถึงวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่พัก ห้องสมุดและร้านกาแฟปิด ยังคงปิด

ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายเดินทุกวินาที เงินเดือนแม่บ้านเดือนที่แล้ว จ่ายเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เดือนนี้ขอจ่ายห้าสิบเปอร์เซ็นต์

9 พฤษภาคม 2563 ที่พัก ห้องสมุดและร้านกาแฟปิด ยังคงปิด

ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายเดินทุกวินาที ไม่ว่าค่าอาหาร น้ำ ไฟ อินเทอร์เน็ต ดอกเบี้ยหนี้

เดือนนี้แม่บ้านขอไม่รับเงินเดือน

 

5

“เกือบล้านไปแล้วมั้ง”

ไม่นับราคาที่ดิน ไม่นับผลกระทบจากโควิด-19 ชโลมใจใส่เงินลงไปกับห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ประมาณหนึ่งล้านบาท

เป็นค่าก่อสร้างตัวอาคารเจ็ดแสน นอกนั้นก็เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะเก้าอี้ ชั้นหนังสือ ตู้ เปล หมอนเบาะ ต้นไม้ โครงเหล็ก นั่งร้าน ต้นไม้ หลอดไฟ กล้องวงจรปิด พัดลม อินเทอร์เน็ต ค่าแรงแม่บ้าน

“เยอะ แต่ละวันซื้อทีละน้อย ดูเหมือนไม่เยอะ แต่รวมแล้วเยอะ รวมแล้วหนัก นี่ขนาดหนังสือไม่ได้ซื้อเลย จากเดิมทำเองทุกอย่าง พอเปิดเต็มตัวต้องมีแม่บ้านช่วย ช่วงนี้ปิด แต่แม่บ้านก็ต้องมา อย่างน้อยวันเว้นวัน ถูบ้าน ปัดกวาดหนังสือ เราไม่อยากให้มีฝุ่น มันเฉาด้วย ปกติมีคนมาทั้งวัน ตอนนี้เงียบ”

หลายปีก่อนเคยเจอวิกฤติน้ำท่วม แต่นั่นก็เทียบไม่ได้กับครั้งนี้

ภาพเขียนของศิลปิน ภัทรุตม์ สายะเสวี ยังแขวนโชว์อยู่ สีสันสดชื่นชวนมองทุกชิ้น แต่ก็นั่นแหละ เมื่อไม่มีคน ภาพสวยๆ ก็คล้ายเหี่ยวเฉา พอร้านปิด ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูไม่มีชีวิตชีวา

นอกจากเป็นห้องสมุด ที่นี่ทำหน้าที่อาร์ตแกลเลอรีมาหลายครั้ง ศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ภัทรุตม์ สายะเสวี ถือเป็นขาประจำ เช่นเดียวกับ สุมาลี เอกชนนิยม รายนี้ก็หอบงานดีๆ มาโชว์ถึงสองครั้งสองครา

ไกลเมืองหลวง 700 กว่ากิโลฯ ศิลปินคนไหนกล้ามาก็ต้องนับถือหัวใจกัน เช่นเดียวกับแฟนๆ คอศิลปะที่ติดตามมาชมด้วยความนับถือชื่นชม

ชโลมใจอยากให้มีงานศิลปะแสดงต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าแท้จริงแล้ว สถานที่ก็ยังไม่เพียบพร้อมสมบูรณ์

“หลังคารั่วยังไม่มีเงินซ่อม เคยเปลี่ยนชุดใหญ่แล้วครั้งหนึ่ง ไม่จบ หน้าฝนนี้คงยังไม่ได้ทำหรอก”

ค่าซ่อมเท่าไร?

“น่าจะซักสองหมื่น เงินมันหาไม่ง่ายนะยามนี้ ทุกบาทมีความหมายกับเรา”

 

6

Lonely Planet ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แนะนำที่พักและห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ

รายการทีวีหลายช่อง นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ใครต่อใครรีวิวที่พักและห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ อย่างต่อเนื่อง แนะนำ บอกต่อ ด้วยน้ำเสียงที่ดี

ชื่อเสียงมั่นใจว่ามีแน่ๆ แต่เงินยังตอบแทนไม่คุ้มค่าเหนื่อย 

“เราอยากเป็นพื้นที่ให้คนมานั่งทำงาน อ่านหนังสือ อ่านมือถือ หรือนั่งเฉยๆ ก็ได้ อยากให้แขกที่มาพักได้ใช้ห้องสมุด วันไหนปิด เขาอยากใช้ ก็เปิดให้ได้ เปิดปิดไฟเอง อยากให้คนอยู่กับหนังสือในพื้นที่แบบนี้ ตลอดระยะเวลาที่ทำมาก็มีคนมาใช้อย่างที่เราต้องการ หลายคนขยับมาเป็นเพื่อน บางคนเราเหมือนเป็นแบบ ให้เขาเห็นเราแล้วอยากทำบ้าง อยากมีห้องสมุดบ้านๆแบบนี้ ก็มีที่เริ่มไปทำบ้างแล้ว

“สายตามกระแสก็มี เพราะที่นี่มีดารานางเอกมารีวิวเอง มาพัก คนชอบดาราก็มาตาม ส่วนคนชอบหนังสือจริงๆ ตามหาหนังสือก็มี บางทีเราไม่ตอบโจทย์หรอก เพราะของเรามีไม่มาก แต่เขาหาที่อื่นไม่ค่อยได้”

ลูกค้าหลักของ ‘บ้านๆ น่านๆ’ คือคนหนุ่มสาว

อายุตั้งแต่สิบกว่าไปจนสามสี่สิบ กลุ่มนี้มีเยอะที่สุด อ่านหนังสือจริงจัง

“คนสูงอายุชอบพูดว่าเด็กสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือ เราเห็นว่าคนพูดนั่นแหละไม่อ่าน เอาแต่บ่น บ่น ถ่ายรูป กินกาแฟ หนุ่มสาวต่างหากที่อ่านจริงจัง อ่านงานร่วมสมัย อ่านความคิดทัศนะ”

นักเรียน นักศึกษา หมอ พยาบาล เภสัชกร ช่างซ่อมรถ บุรุษไปรษณีย์ คนในสายอาชีพทางกฎหมาย กระทั่งพระสงฆ์ ก็เข้ามาอ่าน

“ทหารก็มีบ้าง แต่ครูไม่ค่อยเห็นนะ” ชโลมใจตั้งข้อสังเกต

30 พฤษภาคม 2563 ร้านกาแฟและห้องสมุดยังคงปิด

ปกติวันเสาร์คนเยอะ เสียงเครื่องชงกาแฟดังทั้งวัน 

วันนี้ไม่มีใคร มืด เงียบ

 

7

19 มิถุนายน 2563 ร้านกาแฟและห้องสมุดยังคงปิด

ปกติวันศุกร์คนเยอะ เสียงเครื่องชงกาแฟดังไม่ขาด วันนี้ชโลมใจเรียกช่างมาทำชั้นหนังสือเพิ่ม

เก็บประสมประเสจากไม้เก่าที่มี จ้างช่างชราใกล้บ้านมารับงาน ชอบอะไร อยากได้แบบไหน ขอเพียงเอ่ยปากไป เดี๋ยวเขาจัดให้

เสียงสว่าน ค้อน ตะปู ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าห้องสมุดกลับมามีชีวิต มันยังไม่มีหรอก แต่อย่างน้อยเสาปูนโล่งๆ ได้ถูกเพิ่มพื้นที่ ดัดแปลงให้กลายเป็นชั้นวางหนังสือ แข็งแรง สวยงาม

ตกเย็น เธอควักแบงก์ห้าร้อยจ่ายให้ช่าง

 

8

20 มิถุนายน 2563 ร้านกาแฟและห้องสมุดยังปิด

หนังสือ แจ่มรัศมีจันทร์ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ วางอยู่บนโต๊ะ คงมีใครสักคนรื้อมาอ่าน และทิ้งไว้ ไม่ได้เก็บ

ในลวงใจ และ ชั่วขณะ ของ วาด รวี

คิดถึงทุกปี ของ บินหลา สันกาลาคีรี

ปีแสง ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน ของ แอนนา เลียวโนเวนส์ แปลโดย อบ ไชยวสุ

หนังสือทุกเล่มวางสงบนิ่ง

เงียบ ไม่รบเร้า ไม่เรียกร้อง อาจบางทีรอคอยคนที่ตามหาและหิวกระหาย

“ร้านปิดหรือยังครับ” 

เย็นย่ำ ชายหนุ่มคนหนึ่งจอดรถและลดกระจกลง ถาม ตรงหน้าประตู

“ยังไม่เปิดเลยค่ะ”

“เดือนแรกยังไม่รู้สึกเท่าไหร่ พอเดือนที่สองมันเริ่มแปลกๆ จากพบเจอมันไม่พบ จากเคยมีเคยทำ มันไม่มี คิดถึงสิ่งที่ตัวเองทำทุกอย่าง ร้านเรา บ้านเราผู้คน เจอกันคุยกันตลอด ตอนนี้ไม่มี มีแต่ความเงียบ บางทีเปิดรั้วบ้าน คนคิดว่าเปิดร้านก็จะเข้ามา แต่ไม่ใช่ มันแย่ รู้สึกว่าเฉา ขาดผู้คนแล้วเฉามาก”

รัฐบาลประกาศให้ร้านรวงต่างๆ เปิดได้แล้ว ปลดล็อก แต่ห้องสมุด ‘บ้านๆ น่านๆ’ คล้ายเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เพราะทั้งชโลมใจและแม่บ้านผู้ช่วยป่วย อยู่ในระหว่างพักฟื้นทั้งคู่ ระหว่างนี้ก็ได้แต่เตรียมความพร้อมอื่นๆ กับรอ และรอ

“เรื่องเล่ามันหายไป” ชโลมใจว่า “ไม่เจอคน การพูดคุยแลกเปลี่ยนก็หาย รอยยิ้มหาย ไม่มีรอยยิ้มใหม่ๆ มาให้เรา”

พอจะมีข้อดีอยู่บ้างก็คือ มีเวลาอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่ต้องใช้สมาธิมากๆ ใช้เวลานานๆ รู้สึกสนุกกับการอ่านมาก

“สนุก และช่วยแก้ปัญหาสารพัน แก้ความคิดฟุ้งซ่าน แก้อะไรโง่ๆ ที่อยู่ข้างใน”

อ่านอะไร?

“ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง เมื่อก่อนอ่านแต่ฉบับของกระทรวงฯ ตอนเป็นครูก็รู้แค่นั้น เท่าที่หาได้ทั่วๆ ไป เน้นด้านดีงาม พอมีเวลา มีห้องสมุด รู้จักสำนักพิมพ์มากขึ้น เริ่มเห็นทางเลือก เห็นข้อเปรียบเทียบของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้ผลิตโดยกระทรวงฯ ในแบบเรียนไม่มีเลย มีก็ในทัศนะแบบเดียว แบบอื่นเราไม่เคยรู้

“เสียดาย ถ้าตอนเป็นครูได้อ่านงานพวกนี้คงมีเรื่องคุยกับนักเรียนได้มาก ว่าโลกมีหลายแง่มุม

“ก่อนโน้น เราอ่านและเชื่อหมด หนังสือว่าอะไรเราเชื่อไป โดยไม่ค้าน ไม่ถาม ไม่เถียง ทำไมเราเป็นได้ขนาดนั้น”

คำตอบชโลมใจคล้ายจะช่วยตอกย้ำ ว่าหนังสือคืออำนาจ

อำนาจที่สำคัญมากข้อหนึ่งคือ มันสอนให้ตั้งคำถาม

 

9

ความจริงในสนาม โปสเตอร์แผ่นหนึ่งที่วางอยู่ในห้องสมุด ‘บ้านๆ น่านๆ’ พูดคำนี้ ข้างล่างระบุชื่อช่างภาพ ยุทธนา อัจฉริยวิญญู และ ศุภชัย เกศการุณกุล เป็นวิทยากรมาเล่าเรื่อง ถ่ายเทประสบการณ์

อีกหนึ่งความจริงที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ คือเทศกาลบทกวี ‘น่านโปเอซี’

 ครั้งแรก 18-19 พฤศจิกายน 2561 และครั้งที่สอง วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ในยามที่บ้านเมืองแทบไม่มีเสรีภาพและพื้นที่ของการสร้างสรรค์ มากบ้างน้อยบ้าง ‘น่านโปเอซี’ ทำหน้าที่เปิดพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม งานอ่านบทกวีทั้งสองครั้งมีคนมาร่วมงานหลักร้อย มีกวีหนุ่มสาวจากทั่วประเทศเดินทางมาร่วมงานเกิน 30 คน

ถ้าชโลมใจจะรู้สึกดีกับงานแบบนี้ มันก็เป็นสิทธิและชอบธรรม

“ชอบทุกกิจกรรมที่จัด ดีใจที่มีคนใหม่ๆ เข้ามา ทำให้หลายคนซึ่งไม่เคยรู้เลยว่ามีด้วยเหรอ งานแบบนี้ทำกันยังไง คืออะไร เรามีส่วนทำให้เขารู้ ทำให้เขาชอบเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เขาเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก เราชอบที่เรามีพื้นที่แบบนี้และอยากจะทำต่อไป แม้ว่าเหนื่อยมาก และต้องการความช่วยเหลือจากคนจำนวนมาก”

เป็นหน้าที่ของคนทำห้องสมุด เธอว่า

“ถ้าไม่มีห้องสมุดมันอาจไม่ลงตัวและไม่มีเหตุผลที่ดีพอรองรับ ถ้าเราเป็นครูเฉยๆ คงไม่มีโอกาสเจอคนใหม่ๆ มากมายแบบนี้ ไม่มีโอกาสสัมผัสทัศนะใหม่ๆ

“คงเดิมๆ เชยๆ การทำห้องสมุดทำให้เจอความหลากหลาย ไม่ว่าแขกห้องพักหรือคนมาห้องสมุด เราได้คุยลงลึก ซึ่งผู้คนเหล่านั้นก็ล้วนดีงาม แม้หลายความเชื่อของเขาอาจไม่ตรงกับเรา ก็ยังดีได้แลกเปลี่ยนกัน”

พ.ศ. นี้แล้ว คิดว่าห้องสมุดยังทำหน้าที่อยู่ไหม อ่านใน ‘มือถือ’ ก็ได้มั้ง

“ห้องสมุดไม่ได้หมายถึงหนังสือหรือกระดาษ แต่คือพื้นที่ เป็นสถานที่ของการอ่าน การนั่งตรงนี้ไม่ได้มีเราคนเดียว เห็นคนอื่นอ่าน ไม่ว่าอ่านอะไร อ่านจากไหน เราได้เห็นคนอื่นอยู่ร่วมกับคนอื่น มันอาจเชื่อมไปสู่การเจรจาพูดคุย รู้จัก คบหา

“คนมาที่นี่มานั่งอ่านในมือถือก็ได้ แต่แน่นอนว่าตัวเราคือพื้นที่ที่คุณสามารถเดินดูด้วยตา ฟัง เสพจับ เป็นพื้นที่ให้ผู้คนมาเจอกัน ไม่ใช่แค่อ่าน แต่จัดกิจกรรมด้วย ทั้งหนังสือ ดนตรี ภาพวาด คุณได้เห็นความงามของอาคารสถานที่ ต้นไม้ เห็นความงามของคน เห็นรสคนทำห้องสมุด

“หนังสือหลายเล่มไม่ได้อยู่ในอินเทอร์เน็ต เราว่าห้องสมุดยังตอบโจทย์ มาห้องสมุด มาเจอเพื่อนนักอ่าน หรือบางวันเจอนักเขียนตัวเป็นๆ ห้องสมุดไม่มีวันเชย เป็นความจำเป็นมากด้วยซ้ำอยู่ที่คนทำว่าจะทำให้เชยหรือไม่ ห้องสมุดคือคน คือพื้นที่ของผู้คน”

 คิดถึงวันเกษียณไหม วันที่จะเลิกร้างวางมือ

“จะแก่เฒ่าแค่ไหน อยู่ที่นี่เราว่าชีวิตมีความหมาย ไม่เหงา ยังรื่นรมย์ รับความรู้ใหม่ๆ ตลอด ไม่เหี่ยวเฉา จะไม่เป็นคนแก่เฉาๆ”

 

 

10

21 มิถุนายน 2563 ห้องพักเปิดบริการแล้ว แต่ร้านกาแฟและห้องสมุด ‘บ้านๆ น่านๆ’ ยังคงปิด

“24 มิถุนาฯ น่าจะเปิดได้มั้ย”

ชโลมใจ ชยพันธนาการ หัวเราะ บอกว่าคงไม่ทัน ยังไม่พร้อม มันตรงกับวันหยุดของร้านด้วย ยังไม่มีกำหนด รอดูสถานการณ์ ความหมายคือ อยากเปิดมากแต่ยังทำไม่ได้ เหมือนร้านอาหาร ร้านเหล้าอีกจำนวนมาก ที่ยังเปิดไม่ได้ 

“ฝากให้ติดตามที่เพจ พร้อมเปิดแล้วจะประกาศ” เธอว่า

ถ้าปิดแปลว่าตาย เปิดก็น่าจะหมายถึงการหายใจ

เปิดคือการกลับคืนสู่ชีวิต

เปิดเป็นจุดเริ่มต้นของอิสรภาพ…

 

Fact Box

  • บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในโครงการ ‘โควิดเปลี่ยนเรา เรื่องเล่าเปลี่ยนโลก’ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • ‘ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ เป็นทั้งร้านหนังสือ ร้านกาแฟ และที่พัก ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการ โปรดติดตามความคืบหน้าได้ที่เพจ  facebook.com/BanbanNannan
Tags: , , ,