ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยประกาศคลายล็อกดาวน์ หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก แต่ป้าน้อยและเมย์ สองแม่ลูกจากชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ในสภาพบอบช้ำ แม้คนอื่นๆ จะกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติแล้วก็ตาม

ในช่วงล็อกดาวน์ ป้าน้อยไม่มีรายได้ เดิมทีเธอร้อยพวงมาลัยส่งร้านขายดอกไม้ เมื่อสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต้องปิดชั่วคราว กิจกรรมกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่สามารถกระทำได้ ความต้องการพวงมาลัยจึงน้อยลง เถ้าแก่ที่ร้านจึงหยุดส่งออร์เดอร์ให้ป้าน้อย 

ขณะที่ลูกสาวของป้าน้อย นั่นคือ เมย์ เธอเคยเป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรมสี่ดาว เมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวไม่สามารถไปต่อได้เพราะโรคระบาด ผู้จัดการโรงแรมจึงขอให้เธอออกจากงาน เมย์มีลูกสาววัย 5 ขวบ ที่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เดิมทีเมย์ส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชน ด้วยความเชื่อมั่นว่าวุฒิปริญญาตรีที่เธอได้มาจะทำให้เธอมีงานประจำและรายได้มั่นคง ประกอบกับความต้องการให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าตัวเองและรุ่นพ่อแม่ซึ่งมีภูมิหลังยากจน เพราะเธอรู้ว่าความยากจนมันทำให้คนทุกข์ทรมานได้เพียงไร 

ทว่าโควิด-19 ก็ทำฝันของเธอพังทลาย หลังจากตกงาน เมย์ก็ดิ้นรนหางานใหม่ อะไรก็ได้ที่เข้ามา สุดท้ายได้งานเป็นลูกจ้างโรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รายได้น้อยกว่าอัตรารายได้ขั้นต่ำวุฒิปริญญาตรี 

ในช่วงล็อกดาวน์ปีนั้น รัฐบาลออกมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่มาช้าเกินไป ครอบครัวของป้าน้อยและเมย์ต้องกู้เงินนอกระบบอย่างน้อย 30,000 บาท ในช่วงปิดเมือง เพื่อเอามาหมุนเวียนใช้จ่ายในบ้าน รวมทั้งซื้อชุดนักเรียนให้ลูกสาวต้อนรับเปิดเทอมใหม่ และดูแลค่ากินอยู่ของสมาชิกครอบครัวรวมทั้งหมด 6 คน เมื่อได้เงินช่วยเหลือมาถึงมือ ก็ต้องเจียดเงินไปปิดลบกลบหนี้ ในขณะที่หนี้สินใหม่ก็พอกขึ้นมาไม่หยุด จนทุกวันนี้ครอบครัวนี้ยังไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้

กระทั่งเดือนกรกฎาคมปีนี้ กรุงเทพฯ เผชิญมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง โดยยังไม่แน่ชัดว่าระยะเวลาล็อกดาวน์จะลากเวลายาวนานเท่าไร และจะมีมาตรการให้เงินเยียวยาอีกหรือไม่ มีเพียงมาตราการกระตุ้นการใช้จ่ายหลากชื่อเสริมสร้างสามัคคี ที่นอกจากจะไม่ไปถึงมือคนชั้นล่างอย่างทั่วถึงแล้ว ยังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย 

ป้าน้อยและเมย์มีแนวโน้มต้องเผชิญกับสภาวะล้มละลายและเป็นหนี้รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ต่างกับครอบครัวคนจนเมืองอีกมากมาย ที่ไม่สามารถทำมาหากินและกู้คืนความมั่นคงให้ชีวิตได้ดังเดิม 

โรคระบาดโควิด-19 และความล้มเหลวด้านการบริหารจัดการของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือวิกฤตที่ดับฝันการ ‘ถีบตัว’ ของผู้คนที่มาจากชนชั้นล่าง และเป็นอุปสรรคที่ไม่อาจทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ครอบครัวของป้าน้อยและเมย์ เป็น 1 ใน 30 ครอบครัวคนจนเมืองกรุงเทพฯ ที่ผู้เขียนทำการศึกษาลักษณะการถีบตัวในรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก หรือเรียกด้วยคำที่เป็นทางการว่า ‘การเลื่อนชั้นทางสังคม’

การเลื่อนชั้นทางสังคม คือการที่บุคคลหรือกลุ่มคนในสังคมหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เปลี่ยนสถานะทางสังคมหนึ่งไปยังอีกสถานะหนึ่ง มีทั้งที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง สถานะทางสังคมวัดได้จากตัวชี้วัดหลายประเภท รวมทั้งระดับการศึกษา รายได้ และลักษณะอาชีพ 

หากประชากรภาพรวมในสังคมหรือประเทศมีความยากลำบากในการเลื่อนชั้นทางสังคมในทางที่ดีขึ้น ก็อาจบ่งชี้ว่าประเทศนั้นมีการกระจายทรัพยากรไม่ทั่วถึง หรือมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูง มีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจากการแบ่งขั้วทางชนชั้น 

ในภาพรวม สถานการณ์การเลื่อนชั้นทางสังคมในไทยก็ไม่ได้ถือว่าดีมากอยู่แล้ว จากรายงาน Global Social Mobility Report 2020 จัดทำโดย World Economic Forum จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 82 ประเทศ ตามตัวชี้วัด 10 ประเภท 

ไทยได้คะแนนค่อนข้างดีในกลุ่มตัวชี้วัดด้านอัตราการจ้างงานและการเข้าถึงเทคโนโลยี (อินเทอร์เน็ต 3G และไฟฟ้า) แต่กลับมีคะแนนน้อยในกลุ่มตัวชี้วัดด้านสังคมและการเมือง ได้แก่ สวัสดิการสังคม คุณภาพและความเท่าเทียมในระบบการศึกษา สถาบันทางการเมืองที่โปร่งใสและส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งล้วนแล้วเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มความสามารถของประชาชนในการรับมือวิกฤต รวมถึงความสามารถของประเทศในการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ 

ในส่วนของการศึกษาครอบครัวคนจนเมืองนั้น ผู้เขียนพบว่า ทุกครั้งที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวประสบวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุชีวิตในระดับครอบครัว เช่น ความเจ็บป่วย การหย่าร้าง หรือการเสียชีวิตของสมาชิกเสาหลัก และในระดับมหภาค เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ล้วนมีผลต่อการลดทอนความสามารถในการถีบตัว ผลักให้ครอบครัวเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความยากจนไม่สิ้นสุด 

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากครอบครัวคนจนเมืองมีความเปราะบางสูงอยู่แต่เดิม ด้วยสมาชิกในครอบครัวมีต้นทุนน้อย มีข้อจำกัดด้านความสามารถและทักษะ (หรือทุนมนุษย์) เพราะเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีเครือข่ายความสัมพันธ์ (หรือทุนทางสังคม) ที่มีทรัพยากรจำกัด ในขณะที่รัฐบาลซึ่งมีทรัพยากรมากที่สุด กลับไม่สามารถกระจายทรัพยากรไปช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้ในยามที่พวกเขาต้องการ 

ดังนั้น เมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวคนจนเมืองประสบกับวิกฤตไม่คาดฝัน ครอบครัวจึงกลายเป็น ‘เบาะพิงหลัง’ มีแนวโน้มที่สมาชิกคนอื่นต้องโอนถ่ายทุนของตนเองให้กับสมาชิกที่ประสบวิกฤติ ไม่ว่าจะในรูปแบบของเงินตรา เวลา หรือการกู้เงินที่สร้างภาระหนี้สินระยะยาว การเลื่อนชั้นทางสังคมของสมาชิกในครอบครัวภาพรวมจึงมีแนวโน้มหยุดชะงักหรือแย่ลงภายหลังวิกฤต 

จากกลุ่มตัวอย่าง 30 ครอบครัวที่ผู้เขียนศึกษา พบว่ามีตัวแทนรุ่นพ่อแม่จาก 20 ครอบครัว และรุ่นลูก 13 ครอบครัว ที่เคยประสบอุบัติเหตุชีวิตหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น และมีผลต่อสมาชิกคนอื่น เช่น การหลุดออกจากระบบการศึกษา คุณภาพชีวิต หรือสถานะทางการเงินที่แย่ลง 

มีคำพูดของพ่อคนหนึ่งจากครอบครัวกรณีศึกษาที่อธิบายสถานการณ์นี้ได้ดีว่า 

“ทุกครั้งที่ชีวิตกำลังจะดีขึ้น ต้องมีเรื่องให้ล้มทุกที”

ในช่วงล็อกดาวน์หลังการระบาดของโควิดระลอกแรก มีตัวแทนรุ่นพ่อแม่จาก 16 ครอบครัว ที่มีรายได้ลดลง ส่วนมากประกอบอาชีพนอกระบบ เช่น ร้อยพวงมาลัย กรรมกรก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป และขับวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากการปิดเมืองทั้งสิ้น 

ส่วนรุ่นลูก มีตัวแทนจาก 11 ครอบครัวที่รายได้ลด และ 5 ครอบครัวที่ตกงาน หลายคนมีวุฒิปริญญาตรี ส่วนมากจบการศึกษาจากสถาบันที่มีลำดับไม่สูงมาก เพราะพ่อแม่ไม่มีกำลังส่ง หรือลูกไม่สามารถสอบเข้าสถาบันชั้นนำได้ ทำให้มีทักษะความสามารถจำกัด จึงมักได้ตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มถูกลดเงินเดือนหรือเลิกจ้างก่อนคนอื่นเมื่อบริษัทเผชิญวิกฤต รุ่นลูกที่ขาดโอกาส เพียงเพราะรุ่นพ่อแม่ยากจน กลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางในช่วงวิกฤต และมีแนวโน้มตกชั้นทางสังคม ทั้งๆ ที่มีวุฒิปริญญาตรีหรือทำงานในระบบ  

แม้จำนวนหน่วยการศึกษามีขนาดเล็ก ไม่สามารถเหมารวมเป็นภาพอธิบายสถานการณ์ระดับประเทศ แต่ก็พอทำให้เห็นว่าวิกฤตโควิดเป็นอุปสรรคในการเลื่อนชั้นทางสังคมของคนชั้นล่าง และยังเปลือยให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ที่เป็นโรคเรื้อรังในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบว่าวิกฤตโควิดมีผลต่อสภาพจิตใจของตัวแทนรุ่นลูกจากครอบครัวเหล่านี้ ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 25-46 ปี ส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่ความหวังกำลังถูกบ่อนทำลาย 

‘ความหวัง’ สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก เพราะหากมีความหวัง ประชาชนในวัยแรงงานย่อมมีแรงจูงใจในการทำงานและพัฒนาความสามารถของตนเองไม่สิ้นสุด เพราะพวกเขารู้ว่าการถีบตัวขึ้นไปในจุดที่สูงขึ้นนั้นเป็นไปได้ และชีวิตข้างหน้าจะสามารถดีขึ้นได้อีก แต่เมื่อไร้ซึ่งความหวังแล้ว แรงจูงใจนี้ย่อมหายไป นั่นหมายถึงการลดลงของผลิตผลและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจก็อาจชะลอตัวลงในสภาพการณ์เช่นนี้ พร้อมๆ กับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการให้เงินเยียวยาในระหว่างการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ และต้องเป็นมาตรการที่ทำอย่างเร่งด่วน รวดเร็ว และไร้เงื่อนไข เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ก่อนที่พวกเขาต้องไปดึงทุนในอนาคตมาใช้ และเผชิญกับกับวงจรความยากจนซ้ำซาก จนการเลื่อนชั้นทางสังคมกลายเป็นเรื่องยากเกินไป  

ความผิดพลาดของรัฐบาลไทยในการใช้มาตรการเยียวยาล่าช้าในระหว่างการล็อกดาวน์รอบแรก ควรเป็นบทเรียนสำคัญที่นำมาพิจารณาในการล็อกดาวน์รอบนี้ และควรนำไปสู่การพิจารณานโยบายในภาพใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดรัฐสวัสดิการ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการกระจายโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มความสามารถของประชาชนในการจัดการวิกฤติครั้งหน้า และเพื่อให้การถีบตัวยังเป็นไปได้หลังวิกฤตผ่านพ้นไป 

อ้างอิง

Global Social Mobility Report 2020: www3.weforum.org/docs/Global_Social_Mobility_Report.pdf

วิทยานิพนธ์การเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่นของคนจนเมืองในกรุงเทพมหานคร: https://drive.google.com/file/d/18kyzcHWBBDJ2jck4UKEMPOfpz5sHTmI6/view?usp=sharing

Tags: , , , , ,