หลังจากเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ส่งความเห็นของ ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวน 51 ราย เพื่อขอให้วินิจฉัยคดีสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส. พะเยา พรรคหลังประชารัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และการเป็นรัฐมนตรี มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) กรณีถูกจำคุก จากการนำเข้า–ส่งออกยาเสพติด เมื่อปี 2536 ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งร้อยเอกธรรมนัสปฏิเสธมาตลอดเวลาว่า ‘มันคือแป้ง’
การไต่สวนในวันนั้น นภดล เทพพิทักษ์ เป็นตัวแทนจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่ออ่านคำวินิจฉัย ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเศษ ก็เข้าใจตรงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำพิพากษานั้น เกิดขึ้นใน ‘รัฐอื่น’ ไม่เกี่ยวกับรัฐไทย และไม่มีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2550
ทว่า ผลการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวอ้างมากับดูท่าจะค้านสายตาแก่ประชาชนในประเทศ รวมถึงประเทศต้นทางอย่างออสเตรเลียที่เป็นต้นกำเนิดของเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงขั้นที่ทางสำนักข่าว ‘Sydney Morning Herald’ ออกมารายงานข่าวคดีการตัดสินของร้อยเอกธรรมนัสเป็นสกู๊ปข่าวใหญ่ และที่สำคัญ ฝ่ายที่ดูน่าจะผิดหวังมากที่สุดดูเหมือนจะหนีไม่พ้นทาง ‘พรรคก้าวไกล’ ที่เป็นผู้นำอภิปรายไม่ไว้วางใจร้อยเอกธรรมนัส ตั้งแต่กระบวนการในสภา จนถึงการยื่นเรื่องเพื่อส่งต่อไปยังประธานรัฐสภา ก่อนส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘รังสิมันต์ โรม’ ส.ส. พรรคก้าวไกล หนึ่งในรายชื่อที่ยื่นให้วินิจฉัยสถานะของร้อยเอกธรรมนัส ถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ และเรื่องของ ‘หลักกฎหมาย’ ที่ใช้ตัดสินคดีนี้ ที่ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดหลายวันที่ผ่านมา และความหวังต่อศาลรัฐธรรมนูญ กับรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าในฐานะ ส.ส. รุ่นใหม่ เขาเห็นอะไร และยังมีความหวังอยู่หรือไม่ กับกติกาและความยุติธรรมภายใต้ระบอบนี้
“เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง” ส.ส. พรรคก้าวไกล เอ่ยเป็นประโยคแรกเมื่อเริ่มต้นบทสนทนา
“ผมอยู่ในพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคมาก่อน (พรรคอนาคตใหม่) ที่ ส.ส. ในพรรคไม่สามารถเข้าสู่สภาได้ด้วยเหตุง่ายๆ เพราะกู้เงินและถือหุ้นสื่อ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ความจริงแล้วไม่ได้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร แต่ในทางกลับกัน เมื่อเราดูบทบาทขององค์กรที่ตัดสินเราอย่างศาลรัฐธรรมนูญ เรากลับพบว่าคนที่มีประวัติชัดเจน มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าค้ายาเสพติด ซึ่งกฎหมายทั่วโลกเองก็มีการตัดสินคดีความที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทว่าคนแบบนี้กลับยังคงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะโฆษณากล่าวอ้างไว้ตั้งแต่ตอนร่างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง มีไว้เพื่อสกัดกั้นคนชั่วไม่ให้เข้าสู่อำนาจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เรากลับเห็นคนชั่วได้ดิบได้ดีมากกว่าด้วยซ้ำ
“ผมคงต้องบอกว่าสังคมไทยคงไม่อาจมีความหวังกับองค์กรเหล่านี้ และเมื่อเป็นแบบนี้ ประเทศจะหาหนทางออกด้วยวิธีการสันติอย่างไร ในเมื่อทุกครั้งที่เราพยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการตามกฏหมาย หรือตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุ แต่สุดท้ายเราไม่สามารถแก้ไขได้ มันจึงเกิดการตั้งคำถามว่าแล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อ? ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่เหตุการณ์เหล่านี้จะนำพาให้คนเกือบๆ ล้านคนไปอยู่ในกรุ๊ปที่คุยกันถึงเรื่องการย้ายไปอยู่ประเทศอื่น
“โอเค มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ทันทีทันใด แต่ว่าการที่ทุกสิ่งทุกอย่างผสมรวมกัน ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าประเทศนี้แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นของประชาชน เป็นประเทศที่ไม่ยุติธรรม และเลือกปฏิบัติกับแค่คนบางกลุ่ม รวมถึงหลากหลายมาตรฐานจนหาความแน่นอนไม่ได้ ความรู้สึกแบบนี้จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ส่งผลเสียระยะยาวต่อประเทศอย่างแน่นอน ในวันข้างหน้า เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ทำงานอยู่ที่นี่ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อเติบโตและออกไปอยู่ประเทศอื่น คำถามก็คือ ในสภาวะสมองไหลแบบนี้ที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ สุดท้ายแล้วย่อมไม่เคยส่งผลดีเลยแม้แต่น้อย นี่จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นนำในสังคมนี้ต้องเรียนรู้”
(ภาพ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มา Reuters)
The Momentum ถามต่อในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญยกหลัก ‘อำนาจอธิปไตย’ ขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อใช้ตัดสินคดีความผิดของร้อยเอกธรรมนัส รังสิมันต์ให้ความเห็นว่า
“การนำหลักอำนาจอธิปไตยมาใช้ในการตัดสินคดี มันมีเซนส์ของความรู้สึกเป็นชาตินิยมอยู่ ว่าเราถูกศาลของชาติอื่นมาบังคับครอบงำศาลของคนไทยหรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้ถูกครอบงำ เราไม่ได้ถูกบังคับโดยศาลอื่น ความเป็นจริงคือร้อยเอกธรรมนัสทำผิด และถูกตัดสินโดยศาลต่างประเทศ แล้วสิ่งที่ศาลต่างประเทศตัดสินก็ตรงกับที่กฏหมายประเทศเราระบุว่า คนที่กระทำความผิดลักษณะนี้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้
“ผมคิดว่าประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายคดียาเสพติดที่กฏหมายประเทศเราเชื่อมโยงกับการตัดสินของศาลต่างประเทศ แล้วอย่างนี้หมายความว่า ที่ผ่านมาศาลไทยเราอยู่ภายใต้ของศาลต่างประเทศมาตลอดหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้ว ในทางปฏิบัติ การยอมรับศาลต่างประเทศมันไม่ได้เป็นการเสียอธิปไตย แต่เป็นการร่วมกันเพื่อไม่ให้คนผิดในเรื่องของยาเสพติดลอยนวลไปได้ ซึ่งเป็นโทษทัณฑ์ที่เหมาะสม”
ส.ส. พรรคก้าวไกลยังได้กล่าวถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะคนที่เรียนจบจาก ‘คณะนิติศาสตร์’ ว่าเขาเห็นเรื่องนี้อย่างไร
“สำหรับคนที่เรียนหรือจบนิติศาสตร์ ในสามัญสำนึกของแต่ละคนคงมีความรู้สึกว่าต่อจากนี้กฏหมายประเทศเราจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วบ้านเมืองเราจะอยู่กันอย่างไร จะปกครองกันแบบไหน เท่ากับว่าตอนนี้ใครกำปั้นใหญ่ว่าคือชนะ ปลาใหญ่กินปลาเล็กหรือเปล่า ในส่วนของความคิดประชาชนคนธรรมดาคือ ต่อจากนี้ ถ้าคุณจะทำผิดคุณก็ไปทำที่ต่างประเทศสิ แล้วอย่าให้โดนตำรวจจับ คุณไม่ต้องกลัว เพราะเมื่อคุณกลับมาที่ประเทศนี้แล้ว คุณจะสามารถกลับมาเป็นอะไรก็ได้ นี่คือสิ่งที่ศาลตัดสินหักหาญฝืนใจผู้คนในสังคมจนเหมือนเราไม่ได้อยู่โลกใบเดียวกันแล้ว
“ส่วนถ้าถามผมว่ายังหวังกับรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่หรือไม่ คงต้องบอกว่าผมไม่ได้หวังอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะผมรณรงค์ไม่รับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อย่างที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถพาสังคมก้าวเดินไปข้างหน้าและถอยหลังไปในจุดที่แย่มากกว่าเดิม แต่ตัวผมเองก็ยังมีความหวังว่าถึงแม้เราจะยังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แต่ผมก็ยังหวังว่าวันหนึ่งมันยังจะสามารถเปลี่ยนได้ ถ้าเราช่วยกันกดดันให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก ก็จะกลายเป็นกุญแจดอกแรกที่ไขประตูเพื่อหาทางออกให้กับคนไทย”
ในทางปฏิบัติ รังสิมันต์ ในฐานะ ส.ส. ฝ่ายค้าน ยืนยันว่าจะดำเนินตรวจสอบ ‘ความชอบธรรม’ ของคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไป พร้อมกับยืนยันว่าเรื่องของร้อยเอกธรรมนัสจะยังคงไม่จบง่ายๆ
“ในทางปฏิบัติ เราพยายามที่จะตรวจสอบทุกองค์กร เราไม่เชื่อว่าสภาจะถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระเพียงอย่างเดียว และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ หลายครั้งที่ผ่านมายิ่งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ โดยปราศจากการตรวจสอบ เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เอื้อให้ทำหน้าที่ ที่เราทำได้มากที่สุด ก็คือการเปิดเผยให้ประชาชนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรากำลังทำตรงจุดนั้นอยู่ และเราพยายามที่จะปักธงทางความคิดให้สังคมรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปรับแก้ทบทวนในหลายๆ เรื่องที่เราเคยเชื่อว่า ‘ดี’ โดยเฉพาะเรื่ององค์กรอิสระ
“เบื้องต้น พรรคก้าวไกลจะทำการยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบจริยธรรมต่อไป โดยให้คุณธีรัจชัย (ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. พรรคก้าวไกล) เป็นคนดำเนินการ แต่ในเชิงการตรวจสอบเราไม่ปล่อยไว้แน่นอน เรายังคงทำพยายามทำหน้าที่เปิดโปงความชั่วร้ายของเครือข่ายเหล่านี้ต่อไป
Tags: ศาลรัฐธรรมนูญ, รังสิมันต์ โรม, พรรคก้าวไกล, ร้อยเอกธรรมนัส, คดีค้ายาเสพติด, รัฐธรรมนูญ 2560