1.

เช้ามืดวันที่ 1 สิงหาคม 2537 มีผู้พบศพสุภาพสตรีและเด็กชายคนหนึ่ง ภายในรถเบนซ์ 230 E สีขาว บริเวณถนนมิตรภาพ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ทราบภายหลังว่าคือ ‘ดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์’ และเด็กชาย เสรี ศรีธนะขัณฑ์ วัย 14 ปี ภรรยาและบุตรชาย ของ ‘สันติ ศรีธนะขัณฑ์’ พ่อค้าเพชรย่านบ้านหม้อ ซึ่งถูกกลุ่มชายลึกลับจับตัวไปเรียกค่าไถ่ นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2537

หลังชันสูตรศพ สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ ลงความเห็นว่าเป็น ‘อุบัติเหตุ’ จากรถบรรทุกชนกับรถเบนซ์คันดังกล่าว แม้ตามร่างกายของทั้ง 2 คน จะมีรอยฟกช้ำบริเวณศีรษะและมีร่องรอยของการขาดอากาศหายใจก็ตาม โดยผู้บังคับบัญชาของสถาบันนิติเวชเปิดแถลงข่าวถึง 2 รอบว่า รอยดังกล่าวเกิดจากแรงเหวี่ยงขณะเกิดอุบัติเหตุ

แต่ตำรวจชุดสืบสวนจากกองปราบปรามไม่เชื่อเช่นนั้น ทุกคนมองว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง

2.

ถามว่าในเวลานั้น ‘สันติ’ คือใคร? คำตอบก็คือ สันติคือบุคคลที่ว่ากันว่า ‘กุมความลับ’ เรื่องการกระจาย ‘เพชรซาอุฯ’ เพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ที่ เกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทย ขโมยมาจากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี 2532 และมีน้ำหนักรวมกว่า 91 กิโลกรัม

หลังโจรกรรมสำเร็จ เกรียงไกรกระจายเพชรที่ขโมยมาได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไปยังร้านค้าเพชรและตลาดเพชรพลอยทั่วประเทศ โดยรายงานของตำรวจพบว่า ร้านของสันติเป็นแหล่งใหญ่สุดในการรับซื้อเพชรจากเกรียงไกร และขายต่อไปยังพ่อค้ารายย่อย-กลุ่มบุคคลต่างๆ แต่ก็มีข่าวลือเช่นกันว่า มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในมือของตำรวจ

3.

ปี 2533 ทางการไทยตามหาเครื่องเพชรส่งคืนซาอุฯ จำนวนหนึ่ง ทว่า ซาอุฯ กลับพบว่าเพชรจำนวนมากเป็นเพชรปลอม รัฐบาลซาอุฯ ส่งนักการทูตหลายคนมาตามสืบเรื่องดังกล่าวในทางลับ ท่ามกลางข่าวลือว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในกรมตำรวจเวลานั้น ‘อมเพชร’ จริงไว้ในมือ อีกทั้งเพชร ‘บลูไดมอนด์’ เพชรสีน้ำเงินมูลค่ามหาศาล อัญมณีชิ้นสำคัญของราชวงศ์ ก็ยังคงหายสาบสูญ

แต่ทว่านักการทูตซาอุฯ กลับถูกสังหาร เสียชีวิตรวม 3 คน ในกรุงเทพฯ และโมฮัมเหม็ด อัลลูไวลี นักธุรกิจ พระญาติของราชวงศ์ซาอุฯ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับ เรื่องดังกล่าวสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยและวงการตำรวจอย่างรุนแรง ทั้งที่ในเวลานั้น คนงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับ 1 ถือเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

4.

เรื่องดำเนินมาถึงปี 2537 กรมตำรวจพยายาม ‘กู้หน้า’ มีการตั้งทีมเฉพาะกิจในการตามหาเครื่องเพชรที่เหลือจากสันติ เพื่อนำไปคืนราชวงศ์ซาอุฯ ให้ได้ ทั้งยังเชื่อว่าสันติเป็นผู้กุมความลับเรื่อง ‘บลูไดมอนด์’ มีความพยายามลักพาตัวสันติที่ศาลอาญา รัชดาฯ โดยทีมเฉพาะกิจจากกองปราบปราม แต่สันติหนีรอด เป้าจึงตกไปที่ภรรยาและบุตรชายของสันติแทน โดยทั้งสองหายตัวไปจากบ้านพักย่านตลิ่งชันพร้อมกับรถเบนซ์คันดังกล่าวช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2537

5.

เมื่อรถเบนซ์คันดังกล่าวที่หายไปนานนับเดือนปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในฐานะ ‘ซากรถ’ จากอุบัติเหตุบนถนนมิตรภาพ ทีมสืบสวนใช้เวลาไม่นานนักในการแกะรอยจากถุงร้านค้าซึ่งใส่ผ้าอนามัยตกอยู่ในรถ พบว่ามาจากจังหวัดสระแก้ว ก่อนจะตามรอยไปถึงรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว จนรู้ที่มาว่าทั้ง 2 ถูกจับตัวคุมขังที่ไหนตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

และรู้ด้วยว่ามี ‘ตำรวจ’ เป็นทีมจับตัวเรียกค่าไถ่ เพื่อเค้นความลับเกี่ยวกับเพชรที่เหลือจากสันติ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นตำรวจมือปราบซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจในเวลานั้น ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘สิงห์เหนือ’ จากฝีมือการสืบสวนสอบสวน ปิดคดีดังหลายคดีขณะประจำพื้นที่ภาคเหนือ และในเวลาเดียวกัน ก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นหัวหน้าทีมเฉพาะกิจตามหาเพชร ด้วยคำสั่งว่า “ทำอย่างไรก็ได้เพื่อเอาเพชรซาอุฯ คืนมา”

6.

ชุดสืบสวนคดีสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์จากกองปราบปะติดปะต่อเรื่องจนพบว่า พันตำรวจโท พันศักดิ์ มงคลศิลป์ มือปราบชื่อดัง ได้ตั้งด่านเถื่อน ดักรถเบนซ์คันดังกล่าวจากย่านตลิ่งชัน ก่อนจะลักพาตัวทั้งสองไปไว้ที่สระแก้ว พื้นที่ของพันศักดิ์

เมื่อสันติรู้ว่าภรรยาและบุตรชายถูกเรียกค่าไถ่ จึงติดต่อไปยังพลตำรวจโทชลอให้ช่วยตามหาคนร้าย ซึ่งพลตำรวจโทชลอยืนยันว่า คนร้ายต้องการเรียกค่าไถ่ และต้องการเงินหลายล้านบาท

7.

แต่ในเวลานั้น สันติรู้ดีว่าพลตำรวจโทชลออาจมีเอี่ยวกับคดีดังกล่าว ด้วยประสบการณ์ซึ่งเคยเกือบโดนมาก่อน และเคยถูกรีดข้อมูลในลักษณะคล้ายกัน จึงได้แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของพลตำรวจโทชลอให้ปล่อยตัวทั้งสองคนทันที

เมื่อ ‘ผู้ใหญ่’ รู้เรื่อง และสั่งให้ปล่อยตัว พลตำรวจโทชลอจึงโกรธจัด ไฟเขียวให้พันตำรวจโทพันศักดิ์สังหารสองแม่ลูกทันที ทีมสังหารซึ่งเป็นตำรวจ ขับรถเบนซ์จากจังหวัดสระแก้วมายังจังหวัดสระบุรี ก่อนใช้ท่อนเหล็กฟาดทั้งสองคนจนเสียชีวิตใกล้กับที่เกิดเหตุ แล้วปล่อยรถไหลลงเนินให้รถบรรทุกชน เพื่ออำพรางคดีว่าทั้งสองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน

ทว่าร่องรอยจากอุบัติเหตุกลับไม่สัมพันธ์กับสภาพศพของทั้งสองโดยสิ้นเชิง โดยสภาพรถเบนซ์มีร่องรอยแค่เพียงด้านหน้า-ด้านข้าง ส่วนด้านในห้องโดยสารยังคงสภาพดี

8.

เรื่องดังกล่าวนำไปสู่การออกหมายจับตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคน ที่ฮือฮาที่สุดก็คือมีการออกหมายจับไปถึงพลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อธิบดีกรมตำรวจ เบอร์ 1 ของวงการตำรวจในเวลานั้น ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งการ รวมไปถึงพลตำรวจโท โสภณ สะวิคามิน ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ใกล้ชิดกับพันตำรวจโทพันศักดิ์ อย่างไรก็ตาม พยาน-หลักฐานไปไม่ถึงทั้ง 2 คน จึงจบแค่ตัวพลตำรวจโทชลอ เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกับทีมฆ่าในวันลักพาตัวและวันสังหารเท่านั้น

9.

พลตำรวจโทชลออยู่ในเรือนจำเรื่อยมาตั้งแต่ปลายปี 2537 ตั้งแต่วันที่อัยการสั่งฟ้อง พร้อมกับพวกรวม 9 คน กระทั่งศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตพลตำรวจโทชลอ ทำให้ถูกถอดยศและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด

แต่ในปี 2556 ชลอก็ได้รับการปล่อยตัว หลังจากติดคุกนาน 19 ปี เนื่องจากเข้าคุณสมบัติ ‘พักการลงโทษ’ และยังเป็นผู้ต้องขังในกลุ่มนักโทษชรา มีอาการป่วยเรื้อรัง รวมถึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 ครั้ง

แน่นอนว่าชลอไม่เคยพูดเรื่องคดีเพชรซาอุฯ หรือคดีสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์อีกเลย ทั้งยังไม่เคยพาดพิงบุคคลอื่นๆ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่

10.

ขณะที่พันตำรวจโทพันศักดิ์ หัวหน้าชุดอุ้มฆ่านั้น แม้จะถูกศาลตัดสินจำคุก 40 ปี แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ปี 2555 จนมาก่อเหตุอุ้มฆ่า-เผานั่งยาง ชัยชนะ หมายงาน หรือ ‘เสี่ยอ้วน โรงเกลือ’ ที่จังหวัดสระแก้ว อีกครั้งในปี 2556

แม้จะถูกจับตัวได้ แต่พันศักดิ์ก็หลบหนีคดี ไม่มาฟังคำสั่งศาล และยังกลับมาก่อเหตุซ้ำอีกครั้งในปี 2561 ในคดีสังหารสามี-ภรรยา เจ้าของปั๊มน้ำมันที่จังหวัดสระแก้ว แต่รอบนี้ตำรวจจับได้ พันศักดิ์กลับเข้าคุกอีกรอบ จนถึงบัดนี้ก็ยังอยู่ในคุก

11.

ขณะที่คดีเพชรซาอุฯ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงขณะนี้ ไทยก็ยังไม่สามารถส่งคืนเพชรให้กับซาอุดีอาระเบียได้ครบถ้วน ไม่สามารถสะสางคดีสังหารนักการทูต 3 คน และคดีอุ้มหาย ‘อัลรูไวลี’ ได้ รวมถึงเพชร ‘บลูไดมอนด์’ ก็ยังอันตรธานหายไป ไม่รู้ตกอยู่ในมือผู้ใด

“คนตามท้องถนนทั่วไปก็รู้ว่าใครเอาเพชรเม็ดนี้ไป แม้แต่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทุกคนรู้หมดว่าใครเอาเพชรเม็ดนี้ (บลูไดมอนด์) ไป” มูฮัมหมัด ซาอิค โคจา อดีตอุปทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ สุทธิชัย หยุ่น ในรายการเนชันนิวส์ทอล์ค เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 หลังคดี ‘ศรีธนะขัณฑ์’ ไม่นาน

แม้จะมีความพยายามจากหลายรัฐบาลในการ ‘รื้อคดี’ ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้ทางการซาอุดีอาระเบียพอใจ และเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกันใหม่ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มั่งคั่งลำดับต้นๆ ของโลก

แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่สำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียยังไม่สามารถฟื้นคืนเป็นปกติได้ และดูเหมือนว่าจะไม่อาจฟื้นได้อีกแล้วในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวมากมาย ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา…

 

อ้างอิง รายการชีพจรโลก

Tags: , ,