“ฉันไม่มีศาสนา” อาจกลายเป็นคำตอบสามัญในปัจจุบัน เพราะชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่มากมายในโลกตะวันตกมีแนวโน้มเลือกใช้ชีวิตโดยไม่มีศาสนา ปัจจัยหนึ่งมาจากกระบวนการของรัฐที่แยกตัวจากศาสนา (Secularism) ในกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากในยุโรป ให้คำนิยามตนเองว่า เป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ

จากผลการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเซนต์แมรีส์ (St Mary’s University) พบว่า คนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 16-29 ปี จาก 21 ประเทศในยุโรป ส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่ยึดติดกับศาสนาใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีจำนวนกว่า 91% และในประเทศที่มีความสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างใกล้ชิดในหน้าประวัติศาสตร์ อย่างฝรั่งเศสหรือสเปน คนรุ่นใหม่มากกว่าครึ่งระบุว่า ตนเองไม่นับถือศาสนาใดๆ (รูปภาพที่ 1) มีเพียงแค่ 23% และ 37% ที่บอกว่าตนเองนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า สังคมในโลกตะวันตกสมัยใหม่ ได้ก้าวเข้าสู่ยุคของสังคมหลังศาสนาคริสต์แล้ว (post-christian society)

รูปภาพที่ 1 : แผนภูมิแท่งแสดงสัดส่วนของคนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 16-29 ปี ซึ่งไม่นับถือศาสนาใดๆ จาก 21 ประเทศในยุโรป

แหล่งอ้างอิง : St Mary’s University, Twickenham

ในอีกด้านหนึ่งพบว่า จำนวนบาทหลวงในยุโรปได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลทางสถิติซึ่งจัดทำโดย Agenzia Fides สำนักข่าวของวาติกัน ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างปี ค.ศ. 2002 และ 2018 บาทหลวงในยุโรปลดลงกว่า 14.6% (จาก 206,761 คน ในปี 2002 มาอยู่ที่ 176,557 คน ในปี 2018) ทั้งนี้ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ลูกสาวคนโตของศาสนจักร” มีจำนวนบาทหลวงลดลงถึง 35.3% ระหว่างปี 2002 และ 2016 (รูปภาพที่ 2)

รูปภาพที่ 2 : แผนภูมิแท่งแสดงจำนวนบาทหลวงในฝรั่งเศส ระหว่างปี 2002-2016

แหล่งอ้างอิง : Annuaire statistique de l’Eglise ระหว่างปี 2002-2003, และ Conférence des évêques de France

หมายเหตุ : ข้อมูลดังกล่าวระบุเพียงจำนวนบาทหลวงที่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะสงฆ์เท่านั้น (Secular priests)

วิกฤตศรัทธาจากความอื้อฉาวในศาสนจักร

นอกจากปัจจัยของการแยกตัวระหว่างรัฐ-ศาสนา ที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในยุโรปรู้สึกเฉยๆ กับเรื่องศาสนาแล้ว คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมองว่า ศาสนจักรไม่สามารถก้าวทันความคิด พฤติกรรม และความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ ผนวกกับจุดยืนของศาสนจักรยังขัดกับสภาพความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในปีนี้ เหตุการณ์อื้อฉาวมากมายภายในศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็น การล่วงละเมิดเด็ก และความรุนแรงทางเพศโดยบาทหลวงในประเทศต่างๆ ได้ถูกเปิดโปงต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องดังกล่าวนั้นทำลายความเชื่อมั่นในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีต่อบาทหลวง และศาสนจักรซึ่งผู้คนมองว่าเป็นสถาบันหลักที่ปกป้องค่านิยมด้านจริยธรรมพร้อมกับเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ สภาพแวดล้อมดังกล่าวได้กลายเป็นความท้าท้ายของศาสนจักรในโลกปัจจุบัน

อยู่เฉยไม่ได้ ศาสนจักรระดมคนรุ่นใหม่มาช่วยคิด

ศาสนจักรโรมันคาทอลิก ภายใต้การนำของสันตะปาปา ฟรันซิส จึงได้จัดการประชุมสมัชชา (Synod) ณ กรุงโรม  ระหว่างวันที่ 3 ถึง 28 ตุลาคม 2561 เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับทิศทางของศาสนจักร ภายใต้ปัญหา ความกดดัน และความท้าทายในโลกร่วมสมัย โดยหัวข้อในปีนี้ คือ เยาวชน ความศรัทธา และการตระหนักในหน้าที่  มีผู้แทนเยาวชน ระหว่าง 18-29 ปีจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมประชุม พร้อมกับพระสังฆราช (Bishop) ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทน จากภูมิภาคต่างๆ (Episcopal Conferences) และบุคคลอื่นๆ ที่ถูกรับเชิญโดยสันตะปาปา ฟรันซิส

จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุด ของการประชุม Synod ครั้งนี้ คือ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในศาสนจักรที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก นั่นคือ วิกฤตความน่าเชื่อถือ วิกฤตดังกล่าวนั้นเป็นผลพวงหลักจากท่าทีของศาสนจักรในเรื่องเพศและความเท่าเทียม รวมทั้งทัศนคติเชิงลบระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ โดยผู้ใหญ่มองว่าคนรุ่นใหม่เป็นเพียงแค่เด็ก ไม่มีประสบการณ์หรือความสามารถเพียงพอ ในอีกด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่มองว่าผู้ใหญ่เป็นคนหัวโบราณ ล้าหลัง และปิดกั้น

ระหว่างพิธีมิสซาเปิดการประชุม Synod สันตะปาปา ฟรันซิส ยอมรับว่า “โครงสร้าง(ของศาสนจักร)ปัจจุบัน คือ สิ่งที่ทำให้เราแบ่งแยกและออกห่างจากคนรุ่นใหม่” และจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าว โดยต้องให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของศาสนจักรด้วยกัน ทั้งนี้สันตะปาปา ฟรันซิส เน้นย้ำว่า ขอให้ทุกคนในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ นักบวช เยาวชน ฯลฯ กล้าที่จะพูดถึงปมในใจและปัญหาที่พบเจออย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องกลัวว่าการพูดตรงๆ หรือการวิพากษ์วิจารณ์นั้น จะเป็นการหักหน้าและไม่แสดงความเคารพต่อผู้ฟัง และขอให้ทุกคนรับฟังอย่างนอบน้อม สุภาพ”

การประชุม Synod ครั้งนี้ ซึ่งมีการแสดงความคิดอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างคนรุ่นต่างๆ (inter-generation) สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของศาสนจักรผ่านมุมมองและทัศนคติที่อัดอั้นอยู่ในคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องรักร่วมเพศ การถือพรหมจรรย์ก่อนแต่งงาน การล่วงละเมิดทางเพศ และบทบาทของผู้หญิงในศาสนจักร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นร้อนทั้งสิ้น

สำหรับสันตะปาปา ฟรันซิส แล้ว คนรุ่นใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนศาสนจักรในสังคมปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยพลังอุดมการณ์และความคิดสร้างสรรค์ หากศาสนจักรไม่ฟังเสียงคนรุ่นใหม่แล้ว นั่นหมายความว่าศาสนจักร “ปิดกั้นต่อสิ่งใหม่ๆ และไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะตีตัวออกห่างมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดังนั้นสันตะปาปาฟรันซิสจึงชี้ให้เห็นว่า ศาสนจักร  “ต้องเลิกที่จะทำตามกระแส ที่บอกว่าเราเคยทำแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

หากมองย้อนกลับไปยังการประชุม Synod ครั้งก่อนที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ครอบครัว’ เราจะเห็นได้ว่าหัวข้อการประชุม Synod ครั้งนี้ ซึ่งเกี่ยวกับเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความเกี่ยวข้องกัน  ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของหัวข้อระหว่างการประชุม Synod ทั้งสอง ทำให้ดูเหมือนว่าศาสนจักรพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน โดยมีสันตะปาปาฟรันซิสที่กำลังดึงศาสนจักร จากที่อยู่บนก้อนเมฆ ให้เป็นศาสนจักรที่ติดดิน เพื่อศาสนจักรจะได้กลับมา “น่าเชื่อถือ” และ “โปร่งใส” ตามที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง รวมทั้งเป็นศาสนจักรของคนทุกรุ่น

แน่นอนว่า ศาสนจักรที่ “น่าเชื่อถือ” และ “โปร่งใส” คือ ศาสนจักรที่ไม่ได้ แจกเพียงแค่คำชี้แจงว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ แต่ต้องแสดงเป็นตัวอย่าง ในลักษณะรูปธรรมอย่างชัดเจน

แค่คนรุ่นใหม่อาจไม่พอ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการประชุม Synod จะเสร็จสิ้นด้วยดีพร้อมเอกสารสรุปมติสมัชชา แต่การประชุม Synod ครั้งนี้ อาจจะไม่สามารถครอบคลุมประเด็นทั้งหมดที่มีอยู่ในศาสนจักรได้ หลายเสียงเห็นพ้องกันว่าจำนวนคนรุ่นใหม่มีน้อยเกินไป คือมีเพียงแค่ 34 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่า การประชุมดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับปัญหาในโลกตะวันตกมากเกินไป บิชอปจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิชอปจากทวีปแอฟริกา เห็นว่าการถกเถียงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศยืดเยื้อเกินความจำเป็น และไม่ได้อยู่ในกรอบหัวข้อการประชุม

แน่นอนว่าการที่จะทำให้ศาสนจักรเป็นบ้านสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ ที่คนรุ่นใหม่หันหลังให้ศาสนจักรอาจไม่เพียงพอ มาร์ค ราสตวง (Marc Rastoin) ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณ จาก ซองท์ แซฟร์ (Centre Sèvres) แสดงความคิดเห็นว่า ศาสนจักรต้องยอมรับว่า ตัวเองจะกลายเป็นสถาบันที่มี “ขนาดเล็กลง” ตามจำนวนของบาทหลวงหรือนักบวชใหม่ที่ลดน้อยลงในทวีปยุโรป ซึ่งศาสนจักรจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของศาสนจักรมากกว่าแต่ก่อน โดยให้เหตุผลว่าอัตราการเกิดของประชากรที่มีแนวโน้มลดลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ศาสนจักรติดอยู่ในหล่มมาแสนนาน คืออิทธิพลจาก ‘Clericalism’ ซึ่งเป็นระบบ อันมีรากฐานจากทัศนคติ หรือความรู้สึกเหนือกว่าทางสถานะ และทางศีลธรรม ที่มาจากทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส โดยสันตะปาปาฟรันซิสได้อธิบายว่า Clericalism คือ “การที่บาทหลวงรู้สึกอยู่เหนือกว่าและแยกจากคนทั่วไป” รวมถึง “การที่คนทั่วไปมองว่าบาทหลวงรู้ดีที่สุด” และเชื่อฟังบาทหลวงอย่างสนิทใจโดยไม่พิจารณาหรือไตร่ตรองใดๆ ทั้งสิ้น

Clericalism นี้ ได้สร้างภาพบาทหลวงให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ แยกตัวอยู่เหนือจากมนุษย์ทั่วไป โดยทำให้ลืมไปว่าบาทหลวงหรือนักบวชนั้นก็เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถทำผิดพลาดได้ และในทำนองเดียวกัน ศาสนจักรก็ไม่อาจหลีกหนีจากความผิดพลาดทั้งหลายได้ เนื่องจากศาสนจักรเป็นชุมชน ของ “คนบาป”  ซึ่ง“คนบาป” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง คนชั่ว แต่อย่างใด หากแต่เป็นการเรียกคนที่มีข้อเสีย ข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งอาจมาจากนิสัย และพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต

อย่างไรก็ดี เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีความกล้าที่จะยอมรับความผิดนั้น เผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อตำหนิติเตียนต่างๆ ทั้งนี้จะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ และแก้ไขข้อบกพร่องนั้น

สิ่งแรกของแนวทางการแก้ปัญหาจากความผิดพลาด ก็คงหนีไม่พ้นการเปิดอกพูดคุยร่วมกัน ซึ่งในการประชุม Synod ครั้งล่าสุดนี้ ศาสนจักรก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ศาสนจักรกำลังเดินหน้าที่จะคลี่คลายปัญหา พร้อมกับคนรุ่นใหม่ โดยยอมรับว่า “ศาสนจักรเรามี…”

 

หมายเหตุ: ขอขอบคุณ Jacques Enjalbert และ Les amis de la Compagnie

 

บรรณานุกรม

Fact Box

  • คำว่า Synod มาจากภาษากรีก  โดยเป็นการผสมคำสองคำ ได้แก่ “odos” (โอดอส) ซึ่งแปลว่า ถนน และ “sun” (ซุน) ที่มีความหมายว่า ด้วยกัน ฉะนั้นคำว่า Synod จึงหมายถึง การสร้างเส้นทางร่วมกัน การก้าวผ่านธรณีประตูไปด้วยกัน หรือ การอยู่ร่วมกัน ดังนั้น Synod ในบริบทของศาสนจักร จึงหมายถึง การประชุมเพื่อพิจารณา ไตร่ตรอง และตัดสินใจร่วมกัน
Tags: , , , ,