ทุกวันนี้ การไลฟ์แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตออนไลน์ จนเราอาจลืมไปว่าการไลฟ์ (สดตามเวลาจริง) มีมาก่อนที่เราจะเข้าสู่ยุคสมาร์ตโฟนเสียอีก
ผู้เขียนยังจำความทรมานของการบันทึกเพลย์ลิสต์เพลงโปรดจากวิทยุลงตลับเทปคาสเซตต์ได้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่การออกไปซื้อม้วนเทปเปล่าจากร้านค้า จดรายชื่อเพลงที่อยากบันทึกในเทปตลับนี้ เช็คตลับเทปม้วนอื่นๆ ว่าเคยอัดเพลงเดียวกันไปแล้วหรือไม่ เพราะเทปมีพื้นที่บันทึกจำกัด นำเทปใส่ช่องเล่นเทป ดึงเทปออกมาอีกครั้งเพื่อดูว่าใส่ถูกด้านหรือไม่ ถ้าใส่ผิดด้าน ข้อมูลจะถูกแทนที่ด้วยเพลงใหม่ทั้งหมด นั่งข้างๆ วิทยุเพื่อรอเพลงที่ต้องการ ตั้งสติ เมื่อดีเจเปิดเพลงที่รอคอยก็กดปุ่มบันทึก ภาวนากับเทพยดาฟ้าดินให้เพลงจบแบบไม่มีโฆษณาคั่น กดปุ่ม stop เมื่อเพลงหยุด เสร็จแล้วจึงเก็บเทปม้วนนั้นไว้ในคอลเคกชันโดยไม่เปิดฟังอีก เพราะทนกับคุณภาพเสียงที่ย่ำแย่ไม่ได้
ข้อดีอย่างหนึ่งที่นึกได้จากกระบวนการบันทึกเพลย์ลิสต์แบบ real time สมัยนั้น (ที่เรียกกันซื่อๆ ว่าอัดเทป) คงเป็นการฝึกสติตามคำสอนของพุทธศาสนาว่าจงระลึกรู้ทุกอากัปกิริยาของเราเองนี่แหละ
ผู้เขียนไม่คิดว่าจะเจอประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้ในการฟังวิทยุในปี 2017 ซึ่งบริการสตรีมดนตรี (music streaming) และคลังข้อมูลสื่อโสตทัศน์อย่าง YouTube กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว
ประสบการณ์การฟังเพลงที่ผู้เขียนบรรยายไปข้างต้นคือการบริโภคคอนเทนต์ ซึ่งรูปแบบการบริโภคถูกกำหนดโดยผู้ให้บริการ ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะได้ฟังสิ่งที่ตัวเองอยากฟังก็ต่อเมื่อผู้ให้บริการเปิดให้เข้าถึง ภายใต้เงื่อนไขว่าร่างกายของผู้ฟังต้องผูกติดกับเครื่องเล่นและโฆษณาคั่นรายการ ข้อจำกัดเหล่านี้แทบจะถูกล้มล้างไปทั้งหมดด้วยโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและการเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไปพร้อมกัน ผู้บริโภคสามารถสตรีมเพลงจากไฟล์ขนาดเล็ก หรือดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอและพ็อดคาสต์ (podcast) เก็บเอาไว้ฟัง ตราบเท่าที่ผู้ให้บริการเปิดการเข้าถึงข้อมูล หรือผู้บริโภคเซฟไฟล์นั้นไว้ในโทรศัพท์มือถือ
ภาวะการเข้าถึงคลังข้อมูลที่เปิดกว้างนี้ลดทอนความสำคัญของเวลาในฐานะปัจจัยหนึ่งในการบริโภคสื่อ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเสพสื่อ ‘เดี๋ยวนี้’ เพราะเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเมื่อ จะเลือกดูเลือกฟังเมื่อไรก็ได้ตามสะดวก หรือถ้ามองจากมุมของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ผลิตคอนเทนต์ ผู้บริโภคควรเสพสื่อทุกเวลาในทุกโอกาส
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยเรื่องเวลาและสภาวะความเป็นปัจจุบันเริ่มกลับมาเป็นกระแส (trend) และกำลัง ‘มีราคา’ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยขอยกตัวอย่าง ‘แองเคอร์’ (Anchor) แอปพลิเคชันสำหรับฟังสถานีวิทยุออนไลน์ที่แตกต่างจากสถานีวิทยุออนไลน์อื่นๆ อย่าง Beats Radio ของ Apple Music ที่เล่นรายการซ้ำเป็นลูป (loop) หรือรายการวิทยุของนิตยสาร Monocle ที่หาฟังได้ทั้งรายการในบริการ Sound Cloud ตรงที่สถานีในแองเคอร์ทำงานเหมือนสถานีวิทยุออฟไลน์ทุกอย่าง รายการแต่ละรายการจะมีระยะเวลา on air ที่จำกัด ผู้ฟังไม่สามารถรับฟังรายการย้อนหลังเกินระยะเวลาที่กำหนดได้ เพราะทางแอปพลิเคชันไม่มีระบบคลังข้อมูลไว้ให้ผู้ฟังดาวน์โหลดเก็บไว้ฟังทีหลัง
รายการที่ไม่ได้ฟังก็คือรายการที่ไม่ได้ฟัง พลาดแล้วก็พลาดเลย!
แองเคอร์เป็นแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกและกระจายเสียง ริเริ่มโดย ไมเคิล มิกนาโน (Michael Mignano) และ เนอร์ ซิเคอร์แมน (Nir Zicherman) ดูรวมๆ แล้ว แองคอร์ดูจะคล้ายคลึงกับ Sound Cloud หรือ YouTube ที่ทำงานเป็น platform ในการอัปโหลดและดาวน์โหลดคอนเทนต์ แม้กระทั่งพันธกิจของแองเคอร์ที่ประกาศว่าแอปฯ นี้ “ให้ความสามารถกระจายเสียงแก่ทุกคนจากทุกที่ สู่ผู้ฟังทุกคนในทุกๆ ที่ที่รับฟังได้” ซึ่งก็ดูซ้อนทับกับบริการอื่นๆ ที่กล่าวไปข้างต้น
ประเด็นที่น่าสนใจคือแองเคอร์สร้างจุดขายให้กับบริการของตัวเองด้วยกลยุทธ์เดียวกันกับที่ Apple ถอดช่องหูฟังซึ่งถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานจาก iPhone 7 โดยแองค์เคอร์ถอดฟีเจอร์การเก็บบันทึก (save) และระบบคลังข้อมูลออกจากแอปฯ แทบทั้งหมด ในนามของความสะดวกรวดเร็ว
แองเคอร์มีรูปแบบหน้าตา UI (User Interface) และการใช้งานที่ถอดแบบมาจากวิทยุเกือบทั้งหมด โดยผู้ใช้สามารถเลือกสถานีที่จะฟังตามหมวดหมู่ที่หลากหลาย ทั้งข่าว รายการเพลง ทอล์กโชว์ ไปจนถึงพ็อดคาสต์ โดยแทนที่จะเลื่อนหน้าจอตามแนวดิ่ง (vertical swipe) เพื่อเลือกไอคอนสถานีที่ต้องการฟัง กลับใช้การปัดหน้าจอตามแนวขวาง (horizontal swipe) ซึ่งกระตุ้นต่อมย้อนความหลัง (nostalgia) ของการหมุนหาคลื่นสถานีได้ไม่น้อย
หลังจากลงทะเบียนและสร้างโพรไฟล์ในแอปฯ แล้ว ผู้ใช้สามารถเลือกอัดเสียงโดยพูดเข้าไปในโทรศัพท์ หรือ import ไฟล์เสียงจากคอมพิวเตอร์ลงในเว็บของแองเคอร์ได้เลย เพื่อให้เสียงบันทึกของผู้ใช้ดูมีความเป็นมืออาชีพและใกล้เคียงกับรายการวิทยุมากขึ้น แองเคอร์ได้เตรียมเพลงคั่นรายการบวกกับมีฟังก์ชัน Call In ที่ให้ผู้ฟังรายการอัดเสียงให้ผู้จัดสนทนาโต้ตอบในช่วงถัดไปได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชันที่ดูจะบีบให้ผู้ฟังต้องฟังรายการในเวลาจริง (real time / ปัจจุบัน) คือการปรบมือ (Applaud) แทนที่จะกดไลก์ ถ้าผู้ฟังกดปุ่มปรบมือบนหน้าจอหรือเคาะด้านหลังโทรศัพท์มือถือเบาๆ จะมีเสียงปรบมือดังขึ้นมาขณะฟังรายการสด ซึ่งฟังก์ชันนี้จะใช้งานไม่ได้ถ้าเราไม่ได้ฟังสด
เห็นได้ชัดว่าลูกเล่นที่แพรวพราวของแองเคอร์ล้วนชักชวนให้ผู้ใช้บริโภครายการในเวลาจริง ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์สำหรับแอปฯ นี้เป็นคนอเมริกันแทบทั้งหมด เขตเวลาที่ต่างกัน ส่งผลให้ผู้เขียนมีเวลาจำกัดที่จะฟังรายการที่อยากฟัง เพราะรายการจะอยู่บนเซอร์เวอร์ (server) ของแองเคอร์โดยเฉลี่ยประมาณ 24 ชั่วโมง จึงแทบไม่มีโอกาสใช้ฟีเจอร์สำหรับการฟังสดอื่นๆ เลย (ปรบมือไม่เคยทัน)
คอนเทนต์ที่สูญสลายไปพร้อมกับกาลเวลา ดูจะเป็นความย้อนแย้ง (paradox) ที่ไม่น่าเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลพัฒนาขึ้นอย่างทวีคูณ รัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติยินดีที่จะล้วงข้อมูลส่วนบุคคลและเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้นไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตลอดไป และการเรียกร้องสิทธิในการลบร่องรอยดิจิทัลออกจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากกว่าทางเลือก
แองเคอร์เป็นตัวอย่างที่ดีของแอปฯ ใหม่ที่เกาะเทรนด์ ‘การไลฟ์’ เป็นจุดขาย แต่เป็นจุดขายที่แลกมาด้วยการลงโทษคนที่ดูสดไม่ทัน ด้วยการลบคอนเทนต์ออกจากระบบ เจฟฟ์ อิฮาซา (Jeff Ihaza) คอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยีและสื่อบันเทิง เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ The Outline ได้น่าสนใจว่าเทรนด์การปฏิเสธการบันทึกข้อมูลเริ่มมาจาก Snapchat และถูกลอกเลียนการออกแบบ UI และฟังก์ชันการทำงานด้วยบริการอย่าง Instagram Stories, WhatsApp Status, Facebook Messenger Day การที่อิฮาซาเปรียบ Snapchat เป็นผู้ติดเชื้อรายแรกนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยจากความจริงนัก แต่ประเด็นที่อิฮาซามองข้ามไปดูจะเป็นเส้นผมบังภูเขา
เหตุผลที่บริการอื่นๆ อย่างแองเคอร์ออกแบบแอปฯ ภายใต้หลักการการปฏิเสธการบันทึกข้อมูลก็เพราะการเสพคอนเทนต์จากคลังข้อมูลในเวลาที่ผู้บริโภคสะดวก ได้กำไร ‘น้อยว่า’ การเสพคอนเทนต์ที่ไลฟ์และสูญสลายตามกำหนดเวลา ซึ่งข้อจำกัดเรื่องการสูญสลายของคอนเทนต์นี้เองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราๆ ต้องเสพติดโทรศัพท์มือถืออย่างฟุ่มเฟือยมากขึ้น — ขณะที่ช่องทางและอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคกำลังถูกบีบให้หายไปตามกาลเวลา
Tags: แองเคอร์, Anchor, แอปพลิเคชัน, สถานีวิทยุออนไลน์, ไมเคิล มิกนาโน, Michael Mignano, เนอร์ ซิเคอร์แมน, Nir Zicherman, Jeff Ihaza, เจฟฟ์ อิฮาซา