หากถอยหลังไปสักครึ่งปี เราคงจะต้องบอกว่า การไปกินไอศกรีมที่  ‘JingJing Ice-cream Bar & Cafe’ นั้นแสนจะยากหากไม่ใช่คนคุ้นเคยย่านเยาวราช เพราะถนนหนทางในย่านนั้นมีความซับซ้อนอยู่พอตัวสำหรับคนที่งงทางและอ่านกูเกิลแมพไม่คล่อง แต่พอ MRT สถานีวัดมังกรเปิดให้บริการ การเดินเข้าซอยเจริญกรุง 14 แล้วมองบนหาป้ายจิงจิงเข้าไว้  ก็ง่ายยิ่งกว่าการตัดสินใจอยู่หน้าตู้ว่าจะกินไอศกรีมรสอะไรดี 

ราวสองปีครึ่งแล้วที่ คุณปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ รีโนเวทตึกแถวห้องเดียวในซอยเจริญกรุง 14 ให้เป็นร้านไอศกรีมสองชั้น ที่ภายในร้านเหมือนกั้นเราออกจากความเก่ากร่อนของกำแพงฝั่งตรงข้าม ด้วยการเสกตึกแถวย่านจีนหน้าตาธรรมดา ให้เป็นร้านไอศกรีมมีสไตล์ ที่คำว่า ‘สไตล์’ นอกจากจะหมายถึงการใช้สีและตกแต่งในแบบโมเดิร์นไชนีสลอฟต์ อย่างที่นักออกแบบนิยามเอาไว้แล้ว เรายังหมายถึง ‘สไตล์’ ของการ ‘สร้างสรรค์’ ที่มีเอกลักษณ์ทั้งรสชาติและไอเดีย เพราะคงไม่มีที่ไหนจะเสิร์ฟเราด้วยไอศกรีมชวนป๋วยปี่แป่กอซอร์เบท์ ที่ดัดแปลงเอายาแก้ไอลูกกตัญญูมาเป็นไอศกรีมที่ทิ้งความเย็นซ่านไว้ในลำคอ ไอศกรีมข้าวต้มซอร์เบท์เสิร์ฟเคียงมากับกานาฉ่ายและเห็ดหอมผัดซีอิ๊ว หรือล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้เธอเพิ่งครีเอตไอศกรีมเกาลัดเสิร์ฟกับสโคนครัวซองต์ ที่รสชาติหวานมันเป็นธรรมชาติ แทรกด้วยเท็กซ์เจอร์ของเนื้อเกาลัดกับครัวซองต์หอมอุ่นเนื้อกรอบที่เข้ากันดีนัก

คุณปูเล่าว่าเธอเป็นคนชอบกินไอศกรีมและกาแฟ ก่อนหน้าที่เธอจะเปิดร้านนี้ เธอเคยตั้งตู้ไอศกรีมอยู่หน้าร้านขายเครื่องประดับของแม่ที่สำเพ็งมาก่อน ความชอบของลูกบวกกับแรงสนับสนุนของแม่ จึงนำมาสู่การเปิดร้านจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า ‘จิงจิง’ ซึ่งในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำนี้มีความหมายว่า ‘True’ หรือ ‘จริง’ ในภาษาไทย และ ‘จิงจิง’ ก็ยังซ่อนการสื่อถึงความชัดเจนของวัตถุดิบอันแท้จริง ที่สัมผัสได้ในรสชาติไอศกรีมต่างๆ ไม่ว่า ไอศกรีมผสมแอลกอฮอล์ ‘ไวต์ รัสเซียน’ ที่พัฒนามาจากสูตรค็อกเทล ไอศกรีมเบียร์ช้าง ไอศกรีมวอดก้ายาคูลต์เจลลี่ ไอศกรีมชีสพาย ไอศกรีมกะทิราดซอสเอสเพรสโซ่หรืออัฟโฟกาโต ไอศกรีมยอดฮิตที่เสิร์ฟคู่บัวลอยอย่างไอศกรีมกะทิ ไอศกรีมกะทิไข่แข็ง ไอศกรีมกะทิน้ำตาลมะพร้าว ส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบที่มีในเยาวราช ซึ่งคนที่เกิดและโตในเยาวราชอย่างเธอนั้นรู้ดีว่าร้านไหนดี สิ่งไหนอร่อย 

ครัวหลังเคาน์เตอร์คือที่มาของไอศกรีม อาหาร และเครื่องดื่มทั้งหมดภายในร้าน เพราะคุณปูออกแบบให้เธอสามารถทำไอศกรีมอยู่ตรงนี้พร้อมกับดูแลร้านไปด้วยได้ทุกวัน และมีเมนูพิเศษที่ขึ้นตู้ในแต่ละเดือน ขึ้นกับว่าในเดือนนั้นเธอนึกถึงอะไร 

“อย่างช่วงตรุษจีนเป็นฤดูกาลที่ส้มจะรสชาติดี และส้มก็เป็นผลไม้มงคลของชาวจีน เมนูพิเศษในเดือนมกราคมที่จะถึงจึงเป็นไอศกรีมส้มซอร์เบท์อีกครั้งหนึ่ง เมนูประจำเดือนบางเมนูก็จะเป็นเมนูเวียนบ้าง คิดใหม่บ้าง เราเคยทำไอศกรีมหวานเย็นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยใช้น้ำเขียว น้ำแดง น้ำลอยดอกมะลิเป็นวัตถุดิบ พอมาถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ เราเอาน้ำลอยดอกมะลิกลับมาทำเป็นน้ำลอยดอกมะลิซอร์เบท์ และไอศกรีมมะลินมเพื่อเข้ากับเดือนวันแม่ด้วย”

เราชอบความสร้างสรรค์ที่มีความกล้าลองอยู่ในนั้นด้วยของคุณปู เมนูไอศกรีมที่ไม่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้อย่างไอศกรีมข้าวต้มซอร์เบท์เมื่อเดือนแห่งเทศกาลเจที่ผ่านมา เธอต้มข้าวต้มเพื่อใช้น้ำข้าวและเนื้อข้าวอีกนิดหน่อยมาเข้าเครื่องปั่นเป็นไอศกรีมรสชาติข้าว เลือกกานาฉ่ายเจ้าอร่อยที่เธอกินมาตั้งแต่เด็ก และทำเห็ดหอมผัดซีอิ๊วมากินเคียงกัน 

“ทุกรสชาติสามารถทำเป็นไอศกรีมได้หมด ปูทำไอศกรีมอาหารคาวบ้างประปราย อย่างต้นปีทำไอศกรีมน้ำจิ้มพอนสึ เสิร์ฟคู่กับหมูสไลซ์ลวก เคยทำไอศกรีมซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ซอสแมกกี้ เสิร์ฟกับไข่เจียวหวานแบบญี่ปุ่น ไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ ถ้าใครอยากสั่งปูจะบังคับให้ชิมก่อน ถ้าเขาไม่กล้าลองหรือลองแล้วยังไม่ถูกใจ เราก็มีไอศกรีมรสชาติเบสิกให้เลือกอยู่แล้ว” 

 

ไอศกรีมชวนป๋วยปี่แป่กอชอร์เบ พาให้เรานึกถึงรสชาติของยาน้ำเชื่อมแก้ไอหวานจัดที่พ่อเคยป้อนให้กินตอนเด็ก เราขอยาแก้ไอมาราดเป็นไซรัปเพราะอยากได้รสชาติที่คุ้นเคยแบบเข้มข้น ความเย็นของไอศกรีมจางไปเมื่อกลืนลงคอ เนื้อไอศกรีมไม่หวานอย่างยาแก้ไอ แต่ทิ้งความเย็นเอาไว้ให้ซ่านนานกว่า ไหนๆ เดือนพฤศจิกายนมีไอศกรีมรสนี้แล้ว คุณปูเลยจัดธีม ‘#ไม่พูดเยอะเจ็บคอ’ แล้วเพิ่มไอศกรีมน้ำผึ้งมะนาวเกลือเข้าไปในธีมเสียเลย และการเล่นคำแบบนี้แหละที่มักนำมาซึ่งไอเดียซ่อนกิมมิกในเมนู อย่างเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอนำไอศกรีมอ้อยชอร์เบ ที่ทำจากน้ำอ้อยเจ้าอร่อยแถวบ้าน มาสกู๊ปรวมกับไอศกรีมเบียร์ช้าง กลายเป็นเมนู ‘อ้อยเข้าปากช้าง’ ที่แค่ชื่อก็สนุกแบบมีดีกรีแล้ว 

จิงจิงเน้นไอศกรีมที่ให้รสชาติของวัตถุดิบชัดเจนเท่าที่คุณปูจะดึงรสชาตินั้นออกมาได้ ไอศกรีมเกาลัดที่เธอเสิร์ฟในเดือนธันวาคมนี้เป็นคำตอบได้ดีว่าชัดของเธอนั้นชัดแค่ไหน ทั้งความมันที่เข้มข้นและเนื้อเกาลัดที่แทรกอยู่ในไอศกรีม “เกาลัดเป็นแป้ง เราปั่นผสมกับนม เสิร์ฟคู่กับโคนครัวซองต์ โดยเอามาหั่นครึ่ง เอาไส้ในออกให้กลวงแล้วอบให้กรอบ หรือหั่นเป็นชิ้นเสิร์ฟในถ้วย เราใช้ครัวซองต์จากร้านที่เรากินแล้วชอบคือร้าน Wondering มาจับคู่กันในเมนูพิเศษ แต่ลูกค้าก็สามารถสั่งโคนครัวซองต์คู่กับไอศกรีมรสอื่นได้”

ที่เราชอบส่วนตัวคือไอศกรีมชีสพาย ที่มีครีมชีสและผสมตัวแครกเกอร์ลงไปในไอศกรีม ราดด้วยซอสสตรอว์เบอร์รี่ ซอสบลูเบอร์รี่ ซอสซอลเต็ดคาราเมล และบางช่วงก็มีซอสเลมอนเคิร์ดเข้ามาเพิ่มรสชาติ

เครื่องดื่มของจิงจิงนั้นมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน จากความชอบในรสชาติของวัตถุดิบรอบตัว คุณปูนำรสชาตินั้นมาผสมเป็นเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ อย่างไทยจิงจิงลาเต้ ที่ใช้ความหวานของน้ำตาลมะพร้าวที่อยู่คู่คนไทยมานานมาเป็นไซรัปให้รสชาติที่หวานหอม เอสเพรสโซ่น้ำมะพร้าว เอสเพรสโซ่โซดา ชาเขียวโซดา สั่งมาคู่กับแพนเค้กเนยน้ำผึ้ง แพนเค้กกล้วย หรือแพนเค้กแอปเปิ้ล ก็อาจแทนมื้ออาหารได้เลย

เกือบลืมบอกไปว่าไอศกรีมจิงจิงราคาสกู๊ปละ 50-80-120 บาท ขึ้นกับรสชาติและวัตถุดิบ และหากอยากกินกับครัวซองต์ก็เพิ่มค่าความอร่อยอีก 60 บาท ซึ่งเราอยากให้ลองเพราะมันเข้ากันดีจริงๆ

Fact Box

  • JingJing Ice-cream Bar and Café ซอยเจริญกรุง 14 และสามารถเข้าทางซอยเยาวราช 8 ได้อีกทาง ร้านเปิดวันพุธ – เสาร์ เวลา 9.29-19.29 น. และอาทิตย์-จันทร์ เวลา 9.29-17.00 น. โทร.08 1974 1929 Facebook : https://web.facebook.com/JingJingIcecreamBarandCafe/?epa=SEARCH_BOX

 

Tags: , , ,