นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันแล้ว เมื่อเข้าสู่หน้าฝน ยังมีอีกโรคที่ต้องเฝ้าระวัง นั่นคือ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนได้เช่นเดียวกับโควิด-19 จากข้อมูลพบว่าช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 28 เมษายน 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19 ถึง 33 เท่า พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้สูงอายุ
ซึ่งในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีโรคระบาดทั้ง 2 โรคพร้อมกัน นอกจากความเสี่ยงที่จะติดโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ประชาชนยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) จากทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้ ซึ่งทำให้มีอาการรุนแรงและยิ่งทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์ วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า “โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดในหน้าฝน ซึ่งมีความน่ากังวลเพราะอาการแสดงของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก และสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นเมื่อมีการไอหรือจามได้เช่นเดียวกัน
“แม้ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีแพร่หลาย แต่พบว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ และขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี”
นายแพทย์ วีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการติดเชื้อทั้งสองโรคในเวลาเดียวกันหรือ co-infection จะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ โดยการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและจีนพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมกันได้สูงถึง 20 และ 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55 เปอร์เซ็นต์
“อาการที่เข้าเกณฑ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วย ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร่างกายอ่อนเพลีย หากพบว่ามีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ทันที”
ปัจจุบันมีการรักษาไข้หวัดใหญ่ด้วยการกินยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในประเทศไทย มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ บาลอกซาเวียร์ รับประทานครั้งเดียว (2-4 เม็ด ตามน้ำหนักตัว), โอเซลทามิเวียร์ รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน และซานามิเวียร์ พ่นวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน
โดยนายแพทย์ วีรวัฒน์ ย้ำว่ายาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีประสิทธิผลที่ดีที่สุดเมื่อรับประทานภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ
ภาพ: REUTERS/Soe Zeya Tun
Tags: ไข้หวัดใหญ่, โควิด-19