เมื่อวานนี้ (22 สิงหาคม 2024) ประชาชนอินโดนีเซียแห่ลงถนนประท้วง หลังรัฐบาลขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้งระดับภูมิภาค ที่อาจนำไปสู่การสร้าง ‘ตระกูลการเมือง’ (Political Dynasty) หรือการผูกขาดอำนาจ โดยกลุ่มของ วิโดโด โจโควี (Vidodo Jokowi) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และปราโวโบ ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่
ผู้ชุมนุมนับพันอยู่บริเวณหน้ารัฐสภา ชูป้ายและส่งเสียงโห่ร้องขับไล่โจโควี พร้อมกับจุดไฟเผายางรถยนต์ ขณะที่บางส่วนพยายามปีนรั้วบุกเข้าไปภายใน ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงด้วยการฉีดน้ำและใช้แก๊สน้ำตา หลังมีผู้ชุมนุมบางส่วนพังรั้วและขว้างก้อนหินใส่
“ฉันมาที่นี่ เพราะประเทศกำลังจะพังแล้ว พวก ส.ส.กำลังหลอกลวงประชาชน” มูฮัมหมัด ซาเลห์ ซากาเรีย (Muhammad Saleh Zakaria) ผู้ชุมนุมวัย 64 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) ถึงสาเหตุการมาประท้วงครั้งนี้
วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียตัดสินให้มีการลดเกณฑ์ขั้นต่ำ เพื่อเอื้ออำนวยพรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นง่ายขึ้น โดยตัดข้อกำหนดที่ระบุว่า พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกสภาท้องถิ่นอย่างน้อย 20% ให้เหลือเพียงแค่ 6.5-10% เท่านั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ศาลยังยกคำร้องปมคัดค้านการจำกัดอายุตำแหน่งผู้ว่าราชการระดับภูมิภาค ที่กำหนดให้ผู้เข้าสมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีขึ้นไป ทำให้ เคซอง ปังกาเรป (Kaesang Pangarep) ลูกชายคนสุดท้องของวิโดโด หมดสิทธิลงท้าชิงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา เนื่องจากมีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น
แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการชื่นชมว่า เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย หลังสนับสนุนให้พรรคการเมืองระดับเล็ก และฝ่ายตรงข้ามเข้ามามีบทบาทคัดคานอำนาจ กับกลุ่มพรรคการเมืองใหญ่ในระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาไม่สนใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยวันที่ 22 สิงหาคม 2024 กลุ่มทางการเมืองขนาดใหญ่ชื่อว่า ‘แนวร่วมอินโดนีเซียก้าวหน้า’ (Onward Indonesia Coalition: KIM) ยื่นญัตติฉุกเฉินเพื่อเสนอร่างกฎหมาย กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำให้แต่ละพรรคการเมืองมีตัวแทนอย่างน้อย 25% เหมือนเดิม
ทว่ารัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายได้ เพราะมีผู้แทนเพียง 15% จากจำนวนทั้งหมด 575 คนที่เข้าร่วมประชุม ปกติแล้วการผ่านร่างกฎหมายจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส.ทั้งหมด
ขณะที่ผู้ประท้วงยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนการดังกล่าวต่อไป โดยคาดว่า รัฐบาลพยายามผ่านร่างกฎหมายนี้ให้ทันภายในวันที่ 27 สิงหาคม หรือวันแรกของการลงทะเบียนผู้รับสมัครเลือกตั้งระดับภูมิภาค
ด้านโจโควีอ้างว่า วิธีการของรัฐสภา เป็นเพียงการ ‘ถ่วงดุลอำนาจ’ ตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ท่ามกลางการจับตามองของผู้เชี่ยวชาญว่า อินโดนีเซียอาจกำลังเผชิญ ‘วิกฤตรัฐธรรมนูญ’ (Constitutional Crisis) หลังเกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ
ทีที อังเกรนี (Titi Anggraini) นักวิเคราะห์การเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) วิเคราะห์ว่า การกระทำของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ประชาชนกำลังถูกขโมยรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบัน โจโควีตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน หลังพยายามสร้างตระกูลทางการเมือง โดยนำคนใกล้ชิดและครอบครัวเข้ามามีบทบาทในแวดวงทางการเมือง เพื่อรักษาฐานอำนาจเก่าของตนเอง ก่อนจะหมดวาระในเดือนตุลาคม 2024
อ้างอิง:
– https://www.bbc.com/news/articles/c8er13zy1gxo
Tags: โจโควี, วิโดโด โจโควี, ซูเบียนโต, ปราโวโน ซูเบียนโต, วิกฤตรัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญ, อาเซียน, อินโดนีเซีย, ประท้วง, การเมืองอินโดนีเซีย