วันนี้ (15 มกราคม 2567) ศาลอาญารัชดานัดฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีที่ อ.1199/2564 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ฟ้องคดีของ แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และปูน ทะลุฟ้า-ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือเป็นจำเลย 1-2 ในข้อหาข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์, มาตรา 217 วางเพลิงเผาทรัพย์ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14

ก่อนหน้านี้ แอมมี่และธนพัฒน์ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1.4 ล้านบาท” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ที่ระบุว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

รวมถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น” หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ว่า มาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตรา

ทั้งนี้ ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 แต่แอมมี่ขอเลื่อนนัดเนื่องจากมีอาการป่วย จึงนัดในวันนี้แทน

สำหรับกรณีดังกล่าว แอมมี่พร้อมพวกร่วมกันวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกับนำภาพดังกล่าวโพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊ก

Tags: