‘ฟ้าใหม่แล้วละนะน้อง สงกรานต์เราร้องทำนองเพลงโทน โน่นไงจ๊ะโทนป๊ะโท่นโทน ทั้งโยกทั้งโยนเย้ายวนยั่วใจ’
‘สงกรานต์’ เทศกาลแห่งความสนุกกำลังจะมาถึงในไม่ช้า นอกจากเป็นปีใหม่ไทย ยังเป็นปีใหม่ร่วมของพวกเราชาวอุษาคเนย์ แต่ไม่ใช่แค่หลายประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น ที่ตั้งหมุดหมายแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ในช่วงกลางเดือนเมษายน เพราะจริงๆ แล้วประเทศแม่แห่งสายธารวัฒนธรรมอย่างอินเดีย ก็ตั้งใจให้กลางเดือนอันร้อนระอุนี้เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นเช่นเดียวกัน
คอลัมน์ Indianiceation สัปดาห์นี้ ชวนย้อนดูความเป็นมาของเทศกาลปีใหม่ในอนุทวีป ค้นหาต้นตอของเทศกาลไวสาขีที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของศาสนาซิกข์ และการเฉลิมฉลองวันข้ามปีที่ไม่มีการสาดน้ำ แต่มีขบวนโชว์อาวุธของนักรบ
‘สงกรานต์’ มาจากไหน?
‘สงกรานต์’ เป็นภาษาสันสกฤตมาจากคำว่า สังกรานติ (Sankranti) ซึ่งมีความหมายว่า ‘การเปลี่ยนคาบราศีในการโคจรของพระสุริยเทพ’ ฉะนั้นตามคติอย่างอินเดียตลอด 1 ปีจึงมีสงกรานต์ทั้งสิ้น 12 สงกรานต์ ไม่ได้มีเพียงสงกรานต์เดียวแบบภูมิภาคของเรา เพียงแต่ว่าความสำคัญของทั้ง 12 สงกรานต์นั้นแตกต่างกันไป เช่น ในช่วงเดือนมกราคมมีเทศกาลที่เรียกว่า ‘มกรสังกรานติ’ เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการย้ายคาบราศีจากราศีธนูเข้าสู่ราศีมังกร พร้อมกันกับการที่พระอาทิตย์เดินทางเข้าสู่ทิศเหนือ (อุตตรายัน – Uttarayana) ซึ่งชาวฮินดูถือว่าเป็นช่วงเวลาอันมงคลมาก ถึงขนาดที่ในวรรณกรรมเรื่องมหาภารตะ ท้าวภีษมะยอมนอนทนเจ็บหลังจบสงคราม เพื่อรอตายในช่วงอุตตรายันนี้
ส่วนสงกรานต์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษา มีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่า ‘เมษสังกรานติ’ ถือกันว่าเป็น มหาสงกรานต์ เพราะเป็นการเปลี่ยนคาบครั้งใหญ่จากราศีสุดท้ายของวงรอบเก่าอย่างราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษซึ่งเป็นราศีแรกของวงรอบใหม่ เกิดเป็นการฉลองกันใหญ่โตทั่วทั้งอนุทวีปและประเทศรอบข้าง เช่นทางอินเดียใต้ ชาวทมิฬเรียกเทศกาลนี้ว่า ปุฏฏันดุ (Puthandu) หรือปีใหม่ทมิฬ ขณะที่คนในอินเดียภาคเหนือและตะวันตก (รัฐปัญจาบ, รัฐหิมาจัลประเทศ, รัฐอุตตรประเทศ และรัฐหรรยานะ) เรียกช่วงเวลานี้ว่า ไวสาขีหรือไบสาขี (Vaisakhi-Baisakhi) ส่วนคนในแถบรัฐเบงกอล, รัฐอัสสัม, รัฐโอริสสา และประเทศบังกลาเทศ นิยมเรียกเทศกาลปีใหม่ของพวกเขาว่า โพเหลาไบษาข (Pohela Boishakh)
สงกรานต์-สังกรานติจึงมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะกับชาวอุษาคเนย์ แต่สำคัญกับคนทั่วทั้งอินเดีย และรวมถึงคนอินเดียที่ย้ายถินฐานไปอยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงอยากหยิบยกเทศกาลหนึ่งของชาวอินเดียในรัฐปัญจาบ โดยเฉพาะพี่น้องชาวซิกข์มาเล่าสู่กันฟัง เพราะอย่าลืมว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวซิกข์อาศัยอยู่ไม่น้อยทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ
‘ไวสาขี’ สงกรานต์ที่ไม่มีสาดน้ำ แต่มีโชว์อาวุธ
ไวสาขี (Vaisakhi/ ਵੈਸਾਖੀ) หรือไบสาขี เป็นเทศกาลฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ของพี่น้องชาวซิกข์ ในเดือนไวษัข (Vaishakh) หรือเดือนเมษายนตามปฏิทินปัจจุบัน นอกจากเฉลิมฉลองปีใหม่-เริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกใหม่แล้ว ไวสาขีจึงมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อจิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์ของศาสนาของชาวซิกข์อย่างยิ่งยวด
ศาสนาซิกข์ถือกำเนิดขึ้นในรัฐปัญจาบ ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 โดยมี คุรุนานัก (Guru Nanak) เป็นปฐมศาสดา นับแต่นั้นศาสนาซิกข์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มผู้นับถือมากขึ้น เมื่อเรื่องราวของคุรุองค์ต่างๆ ผู้ซึ่งชาวซิกข์เชื่อว่ามีหน้าที่ถ่ายทอดคำสอน รายงานเข้าไปในราชสำนักมุฆัล (Mughal Empire) ราชวงศ์มุสลิมผู้ปกครองอินเดียระหว่างศตวรรษที่ 16-19 พระจักรพรรดิจึงเริ่มหวั่นวิตกต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของศาสนาเกิดใหม่นี้ ทำให้มีการจับคุรุไปทรมานและสังหาร
กระทั่งในปี 1699 หลัง คุรุเตฆ์บาฮาดูร์ (Guru Tegh Bahadur) คุรุองค์ที่ 9 ถูกสังหารโดยการตัดคอตามพระบรมราชโองการของพระจักรพรรดิออรังเซพ อาลัมคีร์ (Aurangzeb Alamgir) ทำให้ คุรุโควินทสิงห์ (Guru Gobind Singh) ลูกชายของคุรุเตฆ์บาฮาดูร์ ศาสดาองค์สุดท้าย ประกาศจัดตั้งกลุ่มนักรบ-สายปฏิบัติเฉพาะของท่านที่เรียกว่า คาลซา (Khalsa) ในวันไวสาขีของปีดังกล่าว เพื่อช่วยผู้ที่มิอาจปกป้องตนเองได้
คุรุโควินทสิงห (ที่มา: Wikipedia)
คาลซาเป็นภาษาปัญจาบีแปลว่า ทำให้บริสุทธิ์ โดยผู้ที่จะเข้าร่วมจะต้องผ่านการฝึกฝนอาวุธ เรียนรู้หลักการทางศาสนา เรียนรู้เหตุแห่งการจับอาวุธ รวมทั้งเรียนรู้การบริการต่อผู้ยากไร้โดยไม่มีอคติทางเพศ วรรณะ และศาสนา เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้วพวกเขาจะเข้ารับอมฤตธารี (Amritdhari) คือการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เทราดผ่านเครื่องศาสตราวุธต่างๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดใหม่อันบริสุทธิ์ พร้อมกับรับของ 5 ประการ (ปัญจกการ์/ Panj Kakar) ติดตัวไว้เสมอ ประกอบด้วย
1. ไว้ผมยาว (เกษ) และโพกผ้าเก็บผมให้เรียบร้อย
2. หวีไม้ (กังฆา) – เพื่อใช้ดูแลรักษาผม
3. กรา – กำไลเหล็กสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งแห่งพระเจ้า
4. กฉา – กางเกงขาสั้นทำจากผ้าฝ้าย เครื่องเตือนใจให้ไม่ยึดติดในกิจกรรมทางเพศ
5. กิรปาน – ดาบพกสั้นๆ เพื่อใช้ปกป้องผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
นอกจากนั้น ชายผู้เข้าสู่วิถีแห่งคาลซาจะได้รับนามสกุลเดียวกันคือ ‘สิงห์’ หรือ ‘ซิงค์’ แปลว่า ราชสีห์ ส่วนหญิงที่ได้ดื่มน้ำอมฤตธารีจะได้รับนามสกุลว่า ‘เการ์’ แปลว่า เจ้าหญิง
การเกิดขึ้นของนักรบคาลซาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของศาสนาซิกข์ เพราะการตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของคุรุโควินทสิงห์ เมื่อปลายศตวรรษที่ 17 ทำให้ศาสนาซิกข์เป็นศาสนาที่มีกองทัพเป็นของตัวเองอย่างเปิดเผย และคุรุโควินทสิงห์ก็กลายเป็นบุคคลที่ราชสำนักมุฆัลมองว่าอันตรายและต้องคอยจับตามอง ความเข้มแข็งและกล้าหาญของกองกำลังคาลซาถูกเปิดเผยต่อโลกในช่วงปลายปี 1708 โดย แบนดา สิงห์ บาฮาดูร์ (Banda Singh Bahadur) นำกองกำลังคาลซาเข้าต่อสู้และยึดเอาดินแดนบางส่วนจากราชสำนักมุฆัลมาอยู่ภายใต้การปกครอง
ชัยชนะในครั้งนั้นนำไปสู่การที่ผู้นำกลุ่มคาลซาต่างๆ อาศัยกองกำลังของตนเข้ายึดดินแดนภายใต้อำนาจของราชวงศ์มุฆัลเดิมที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง เข้ามาเป็นดินแดนในการปกป้องของตน เกิดเป็นกลุ่มชุมชนซิกข์ที่เป็นอิสระ มีระบบระเบียบจัดตั้งและปกครองของตนเอง
สุดท้ายชุมชนซิกข์กลุ่มต่างๆ รวมตัวกันเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ขึ้น มีพื้นที่อารักขามากขึ้น ในนาม ‘กองกำลังร่วมดาลคาลซา’ (Dal Khalsa) ซึ่งในปี 1799 มหาราชารณชีต สิงห์ (Maharaja Ranjit Singh) หนึ่งในผู้นำกองกำลังดาลคาลซาเข้ายึดเมืองลาฮอร์ (Lahore) พร้อมสถาปนาจักรวรรดิซิกข์ (Sarkar-i-Khalsa) ขึ้นสำเร็จในวันไวสาขีของปีดังกล่าว
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ไวสาขีสำหรับพี่น้องชาวซิกข์จึงไม่ใช่วันปีใหม่ธรรมดา แต่เป็นวันที่ชวนรำลึกถึงวันที่ชาวซิกข์ลุกขึ้นจับอาวุธ เพื่อปกป้องตนเองและผู้คนที่อ่อนแอกว่า ทั้งยังชวนให้หวนระลึกถึงความรุ่งโรจน์ของชาวซิกข์ในอดีต ที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองดินแดนกว้างขวางทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน
ดังนั้นในวันไวสาขี คุรุทวารา (วัดของชาวซิกข์) จะตกแต่งอย่างสวยงาม และจัดดนตรีกิรทาน (Kirtan) หรือการขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและคุรุองค์ต่างๆ โดยชาวซิกข์จะร่วมกันเดินทางไปเยี่ยมคุรุทวาราใกล้บ้าน เพื่อแจกจ่ายสิ่งต่างๆ ทั้งอาหารคาวหวาน ของใช้จำเป็นให้กับผู้ที่ขาดแคลน พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่เตรียมมาจากบ้าน
นอกจากนั้น สีสันอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มนักรบคาลซาจะรวมตัวกันเดินขบวนเพื่อโชว์ศักยภาพร่างกาย เทคนิค และฝีมือในการใช้อาวุธรูปแบบต่างๆ ที่ฝึกฝนมานานนับปี เพื่อแสดงความแข็งแกร่งของพวกเขา และเพื่อสืบทอดจิตวิญญาณแห่งการปกป้องแห่งคาลซา
ที่มาข้อมูล
Dogra, Ramesh Chander and Dogra, Urmila (2003). The Sikh World: An Encyclopedic Survey of Sikh Religion and Culture. UBS Publishers Distributors Pvt Ltd
McLeod, Hew (1999). “Sikhs and Muslims in the Punjab”. South Asia: Journal of South Asian Studies. 22 (sup001): 155–165.
Singh, H.S. (2005). Sikh Studies, Book 7. Hemkunt Press.
Tags: Indianiceation, ไวสาขี, วัฒนธรรมอินเดีย, INDIA, อินเดีย, สงกรานต์, ซิกข์