“นี่พวกเธอรู้ไหมทำไมอินเดียถึงสกปรกนัก”

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยถามขึ้นระหว่างคาบเรียนในสมัยผู้เขียนยังเรียนชั้นมัธยมฯ แต่ไม่มีคำตอบอะไรกลับมาจากเหล่านักเรียนไทยตามคาด

“เพราะคานธี!” อาจารย์กล่าว “คานธีน่ะนะ เขารู้ว่าพวกฝรั่งไม่ชอบอะไรสกปรกๆ เขาจึงเรียกร้องให้คนอินเดียทำอะไรที่พวกอังกฤษไม่ชอบ เช่น ทิ้งขยะไปทั่ว ขับถ่ายข้างทาง”

คำบอกเล่าของอาจารย์ท่านนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ผมไม่ทราบ และไม่เคยแม้แต่จะคิดหาคำตอบ ทว่าคำถามหนึ่งที่ยังคงติดอยู่หัวมาตลอดคือ

“ทำไมอินเดียถึงสกปรกจัง”

ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนว่า ‘คานธีไม่ได้ทำให้อินเดียสกปรก’ เพราะไม่มีเอกสารชั้นต้นใดเลยที่ระบุว่า คานธีชักชวนให้คนอินเดียออกมาขับถ่ายนอกบ้าน เพื่อไล่พวกเจ้าอาณานิคมอย่างที่เขาลือกัน กลับกันเขายังเป็นผู้สนับสนุนให้ชาวอินเดียรักษาความสะอาดของบ้านเรือนด้วย

หนังสือพิมพ์นวชีวัน (Navajivan) ฉบับปี 1919 เคยยกคำพูดของคานธีที่ว่า “Sanitation is more important than independence” แปลว่า ความสะอาดนั้นสำคัญเสียยิ่งกว่าเอกราช เพื่อเรียกร้องให้พี่น้องอินเดียทุกคนช่วยกันทำความสะอาดบ้านและชุมชนของตน หยุดถ่มน้ำลาย หรือน้ำหมากไปทั่วทุกหนแห่งอย่างไร้ความรับผิดชอบ

นอกจากนั้นคานธียังเคยมีส่วนร่วมในสมาคมผู้รับใช้แห่งอินเดีย (Servants of India Society) ซึ่งนอกจากวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยอินเดียจากอังกฤษแล้ว ยังมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอินเดียอีกด้วย โดยทุกเช้าคานธีรับหน้าที่เป็นอาสาสมัครล้างห้องน้ำในเขตชุมชน เพื่อสร้างสังคมที่สะอาดและปลอดภัย ทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นวรรณะใด

ฉะนั้น คานธีจึงรอดไปจากข้อกล่าวหานี้ และเรื่องเล่าดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องที่คนไทยเราอ้างกันขึ้นมาเองอย่างติดเหยียด

 

ความสะอาดในวัฒนธรรมอินเดีย

ย้อนกลับไปในอดีต อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอย่างฮารัปปาและโมเฮนโจ-ดาโร เป็นเมืองโบราณแรกๆ ในโลกที่คิดค้นระบบท่อระบายน้ำเสียสาธารณะ และระบบส้วมที่เชื่อมกับระบบท่อระบายน้ำโดยตรง รวมถึงยังมีโรงอาบน้ำขนาดใหญ่สำหรับรองรับกิจกรรมทั้งทางสังคมและศาสนาตั้งอยู่กลางเมือง

นอกจากนั้นเมื่อเรามองลงไปยังความเชื่อพื้นฐานที่หล่อหลอมสังคมนี้มานับพันปีอย่างศาสนา เราก็จะยิ่งพบว่า ศาสนาต่างๆ ในอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาฮินดูหมกมุ่นกับความสะอาดมาก เห็นได้จากที่มีการห้ามไม่ให้คนที่มีวรรณะต่ำมาจับใช้ของสำหรับพิธีทางศาสนา เนื่องจากกลัวมีมลทินมัวหมองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ในคัมภีร์ด้านพิธีกรรมอธิบายวิธีการชำระล้างร่างกาย เทวสถาน และบ้านเรือน ไว้มากมายหลายแบบ เช่น ก่อนทำพิธีบูชาเทพเจ้า พราหมณ์จะต้องทำอาสนะของเทพเจ้าของตนและบริเวณโดยรอบให้สะอาดเสียก่อน ทั้งด้วยมนตราและการกระทำ หรือในคัมภีร์ทางอภิปรัชญาก็ได้ให้แนวทางการชำระจิตใจ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณเอาไว้ร้อยแปดพันเก้าวิธี

ตัวอย่างในศาสนาเชน (ไชนะ) บอกว่า กรรมเป็นเหมือนฝุ่นที่ติดตัวเรา ฉะนั้นเราจะต้องชำระล้างกรรมเหล่านั้นด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง หากไม่ทำเช่นนั้นฝุ่นแห่งกรรมจะยึดเราไว้กับการเวียนว่ายตายเกิด หรือในอายุรเวท คัมภีร์โบราณด้านการแพทย์ก็บอกว่า ให้มีการหมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยควันจากการเผาพืชสมุนไพรหรือน้ำต้มสมุนไพร พร้อมชำระร่างกายด้วยขมิ้นเพื่อขจัดคราบสกปรกบนร่างกาย ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคผิวหนังอันเป็นที่อุจาดตา ด้วยเหตุนี้จึงน่าแปลกใจว่า ทำไมภาพที่ออกมาบนท้องถนนจึงเป็นไปในทางตรงกันข้าม

 

Swachh Bharat Mission – ภารกิจอินเดียสะอาด: ภาพฝันที่ยังไม่เป็นจริงของผู้นำอินเดีย

พูดกันตามตรงว่า อินเดียในวันนี้ยังหากไกลจากความฝันของคานธีอยู่มาก แม้เมื่อปี 2014 นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกาศนโยบาย ‘Swachh Bharat’ หรืออินเดียสะอาด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมในปีดังกล่าว เพื่อเป็นเกียรติแด่คานธี เนื่องในวันคล้ายวันเกิด และเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางมาลงทุนและท่องเที่ยวในอินเดียที่สะอาดและปลอดภัย โดยในวันที่เริ่มต้นโมดีถึงกับนำคณะรัฐบาลและผู้นำทางการเมืองมากมายลงถนนพร้อมไม้กวาดในมือ

กระนั้น แม้โมดีเป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมมากเพียงใด แต่นโยบายอินเดียสะอาดของเขากลับล้มไม่เป็นท่า เรายังคงพบเห็นการถ่มน้ำลาย น้ำหมากบนทางเท้าและท้องถนน รวมถึงการทิ้งซองขนม ขวดพลาสติก และถุงกระดาษลงบนท้องถนน รางรถไฟ หรือแม้แต่ในแม่น้ำ สำหรับผู้เขียนมองว่า พฤติกรรมเหล่านี้ของคนอินเดียเป็นภาพที่คุ้นตาไปแล้วในทุกครั้งที่เดินทางมาประเทศนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกที่ในอินเดียจะสกปรก เพราะห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ย่านการค้าหรูๆ หรือภายในบ้านเรือนของผู้คนกลับสะอาดสะอ้านราวกับเป็นคนละโลก

 

บ้านเมืองสกปรกเพราะ ‘เรื่องทุกเรื่องต้องมีคนรับผิดชอบ’

เคยมีคนบอกว่า อาจเป็นเพราะการศึกษาหรือไม่? ผู้เขียนมองว่าไม่เกี่ยวเลย คนไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูงส่งอะไรเพื่อจะรักสะอาด แต่ที่แย่ไปกว่านั้น จากประสบการณ์ส่วนตัว ถึงแม้เป็นคนที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ก็ยังคงทิ้งขยะเรี่ยราดไปบนพื้นอย่างไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดแปลกอะไร ชนชั้นทางเศรษฐกิจก็ไม่น่าจะเป็นประเด็น สังคมอินเดียตอนนี้กำลังอยู่ในกระแสของการขยายตัวของชนชั้นกลาง ผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ร้านรวงต่างๆ ทั้งแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศ พากันมาเปิดในอินเดียมากขึ้นทุกที รถยนต์หรูก็มีมากขึ้นผิดหูผิดตากับเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วที่มาอินเดียครั้งแรก

ทว่ามนุษย์ผู้มีกำลังซื้อเหล่านั้น มนุษย์ผู้ขับรถหรูเหล่านั้น กลับยังมีความประพฤติแบบเดิม คือเปิดหน้าต่างรถของตนก่อนจะทิ้งขยะลงท้องถนนอย่าไม่ไยดีว่า ขยะชิ้นนั้นจะโดนใครรอบตัวไหม หรือจะทำให้ท้องถนนสกปรกหรือเปล่า
คำตอบหนึ่งที่ได้จากเพื่อนชาวอินเดียคือ คนอินเดียส่วนใหญ่มีแนวคิดฝังหัวว่า ‘เรื่องทุกเรื่องต้องมีคนรับผิดชอบ’ ดังนั้น เมื่อฉันทิ้งไป เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บ เพราะมีคนที่ต้องทำหน้าที่นี้อยู่แล้วในสังคม รากความคิดนี้ฝังแน่นอยู่ในระบบวรรณะที่แบ่งคนออกเป็นกลุ่มตามความรับผิดชอบที่พวกเขา ‘ต้อง’ มีต่อสังคม และหน้าที่เหล่านั้นติดตัวพวกเขาตามชาติกำเนิด

ในบทความสั้นๆ ชิ้นหนึ่งของคานธีอย่าง My Ideal Bhangi สะท้อนชัดเจนถึงรากความคิดดังกล่าว โดยคานธีบอกว่า เราควรจะเชิดชู ‘ภังคี’ หรือกลุ่มคนวรรณะล่างที่ใกล้เคียงกับกลุ่มฑลิต (Untouchable) ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ด้วยมือเปล่า (Human Scavenger) เพราะคนเหล่านี้ที่ทำงานเพื่อรับใช้สังคมผ่านการสละตนเอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการรับใช้พระเจ้า
นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นรากความคิดที่ว่า เรื่องใดเรื่องหนึ่งย่อมรับผิดชอบโดยคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฝังแน่นในสังคมอินเดียมายาวนาน ฉะนั้น การทิ้งขยะให้พ้นตัวไปเฉยๆ เพื่อรอวันที่คนที่มีหน้าที่รับผิดของต่อการเก็บขยะมาจัดการกับมัน จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไร หากมองผ่านมุมมองดังกล่าวนี้ เพราะสิ่งนี้อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของเราแล้ว

 

อินเดียจะสะอาดกี่โมง?

แล้วทำไมในบ้าน ห้าง หรือย่านการค้าหรูจึงสะอาดได้ คำตอบหนึ่งที่ Make Sense คือ สถานที่เหล่านี้มีบทบาททางสังคมที่แตกต่างออกไป บ้านคือที่อยู่อาศัยที่สัมพันธ์โดยตรงกับตัวบุคคลนั้นโดยตรง ฉะนั้นความรับผิดชอบจึงจำกัดวงแคบเข้ามาที่ตัวบุคคลและครอบครัว การทำให้บ้านสะอาดอยู่เสมอจึงมีความจำเป็น ต่างไปจากท้องถนนและทางเท้าที่สัมพันธ์กับโครงข่ายทางสังคมขนาดใหญ่กว่ามาก ทำให้ความรับผิดชอบหลุดลอดพ้นตัวออกไปจาก ‘ฉัน’ โดยสมบูรณ์

ส่วนห้างและย่านหรู แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นมาพร้อมภาพลักษณ์เฉพาะแบบ ทำให้การรักษาภาพลักษณ์ทางสังคมเอาไว้เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุด เพื่อยังให้สถานที่ทางสังคมนี้คงสถานะภาพและเป็นที่ยอมรับอยู่ สถานที่เหล่านี้จึงมีการจ้างผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความสะอาดของสถานที่จำนวนมาก มากกว่าปริมาณงานที่เกิดขึ้นจริงเสียด้วยซ้ำ กลับกันท้องถนน ชุมชน หรือสถานที่สาธารณะอื่นๆ ที่มีกิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นเป็นร้อยพันอย่างกลับมีความรับผิดชอบอยู่เพียงน้อยนิด จึงไม่แปลกเลยที่ดูสกปรก เก่า และไม่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน อันเนื่องมาจากการมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งความคิดพื้นฐานที่ปัดเรื่องที่เกิดกว่าความรับผิดชอบของตนไปยังคนอื่น

รากวัฒนธรรมอันยาวนานนี้ยากจะแก้ไข ไม่มีใครสามารถแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะคานธีหรือโมดี หากคนอินเดียยังคงสำนึกส่วนตัวมาก่อนส่วนรวม ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่คนอินเดียจะต้องแก้ไขกันต่อไป ทั้งเชิงจิตสำนึกและนโยบายที่เป็นมากกว่าเพียงโฆษณาหาเสียง เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เคยสกปรก และวันหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำด้านความสะอาด

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อลึกๆ ว่า คนอินเดียทำได้ เพราะตลอดระยะเวลาร่วมทศวรรษที่รู้จักกับประเทศนี้ ปัจจุบันการขับถ่ายข้างลดลงมาก ในขณะเดียวกัน ห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดพร้อมใช้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แม้จะเฉพาะในเขตเดลีก็ตาม ฉะนั้นหากเรื่องความสะอาดกลับขึ้นมาเป็น Movement ทางสังคมที่จริงจัง คนอินเดียที่มีการศึกษาและเป็นสากลเพิ่มมากขึ้น น่าจะนำพาประเทศยักษ์ใหญ่นี้ไปสู่ภารกิจอินเดียสะอาด (Swachh Bharat) ได้ในที่สุด

ที่มาข้อมูล

Arundhati Roy Speech on Gandhi in Kerala University, accessed through https://www.youtube.com/watch?v=pr1Wppt6XN4&list=PLgKcV3ZFguVBcvP-dKVklY3PP5rPgrV7c&index=35

Gandhi, M. K. (1936). My Ideal Bhangi, accessed through ttps://franpritchett.com/00ambedkar/timeline/graphics/txt_gandhi_1936_bhangis.pdf

Rathi, Shubhangi. Importance of Gandhian thoughts about Cleanliness, accessed through https://www.mkgandhi.org/articles/gandhian-thoughts-about-cleanliness.php#:~:text=Indians%20 gained%20freedom%20and%20the,was%20total%20sanitation%20for%20all.

Office of Prime Minister of India, Swachh Bharat Abhiyan, accessed through  https://www.pmindia.gov.in/en/major_initiatives/swachh-bharat-abhiyan/#:~:text=Taking%20the%20broom%20to%20sweep,Cleanliness%20is%20next%20to%20Godliness.’

 

Tags: , , , , ,