เที่ยงคืนของวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) แกนนำเรียกร้องเอกราชและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ประกาศต่อประชาชนนับล้านว่า
“เมื่อหลายปีก่อน เราลองเสี่ยงโชค บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะไถ่ถอนคำมั่นสัญญาของเรา ไม่ใช่ทั้งหมดหรือครบถ้วน แต่ยิ่งใหญ่ ในเวลาเที่ยงคืน เมื่อโลกทั้งใบหลับใหล อินเดียได้ตื่นขึ้นด้วยชีวิตและอิสรภาพ ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งยากจะพบเห็นได้ในประวัติศาสตร์ได้มาถึง เมื่อเราก้าวออกจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ เมื่อยุคสิ้นสุด และเมื่อจิตวิญญาณของชาติที่ถูกระงับมานานเปล่งเสียง”
อินเดีย ชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน หวนคืนสู่เส้นทางอันชอบธรรมของตนเองอีกครั้ง หลังตกอยู่ภายใต้อำนาจจากปลายกระบอกปืนของเจ้าอาณานิคมจากอีกซีกโลกเป็นระยะเวลาร่วม 2 ศตวรรษ อย่างไรก็ตาม การประกาศเอกราชเมื่อ 77 ปีก่อนกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่ากลับคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเลือด ความเกลียดชัง และน้ำตา
เพราะระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่อังกฤษทิ้งไว้ก่อนจากไป สุดท้ายก็ระเบิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังเที่ยงคืนแห่งความสุขนั้นเอง
ผู้เล่นจากภายนอก
สังคมอินเดียแต่เดิมมีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายสูงในทุกด้าน ไม่ว่าจะภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และประเพณี แน่นอนว่า ภายใต้สังคมที่หลากหลายเช่นนั้น ย่อมมีทั้งความลงรอยและบาดหมางกันเป็นธรรมดา ในบางส่วนของแผ่นดินที่กว้างใหญ่พหุศาสนาอยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว แม้ในบางที่ไม่เป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ กระทั่งเมื่อมี ‘ผู้เล่นจากภายนอก’ ปรากฏตัวขึ้น
นับตั้งแต่ปี 1613 กองเรืออังกฤษเข้ามาตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ที่เมืองสุรัต (Surat) รัฐคุชราต เพื่อทำการค้าและแสวงหากำไรในตลาดการค้าของอินเดีย ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยจักรวรรดิมุฆัลหรือโมกุลอันยิ่งใหญ่ นักวิชาการประเมินกันว่า ในเวลานั้น ตลาดอินเดียมีขนาดใหญ่มาก แชร์ส่วนแบ่งทางการค้าโลกอยู่ที่ 23-30%
เวลาล่วงถึงปี 1757 จักรวรรดิมุฆัลเริ่มเสื่อมอำนาจลงจากความขัดแย้งภายใน อังกฤษอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวเข้าแทรกแซงกิจการสงครามภายในของเจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ โดยเริ่มจากเข้ายึดครองแคว้นเบงกอล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทอินเดียตะวันออกเข้าควบคุมกิจการแห่งรัฐบนแผ่นดินอินเดีย
เมื่อยึดดินแดนปากแม่น้ำคงคาสำเร็จ อังกฤษค่อยๆ ใช้ยุทธศาสตร์หนึ่งคืบคลานรุกกินเมืองจากเจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ในอินเดียทีละรัฐ ยุทธ์ศาสตร์นั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘แบ่งแยกและปกครอง’ (Divide and Conquer) แต่ด้วยความใหญ่โตของอนุทวีปทำให้เกิดแรงต้านเป็นจำนวนมาก จนเกิดสงครามไปทั่วทุกหนแห่ง กระทั่งปี 1857-1858 เกิดเหตุการณ์กบฏทหารซีปอย (Sepoy Mutiny-Indian Rebellion of 1857) อันโด่งดังขึ้นนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก ขณะที่บริษัทอินเดียตะวันออกพยายามใช้กองกำลังของตนเองเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ ที่พยายามต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามพระจักรพรรดิมุฆัล
รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจยุบบริษัทอินเดียตะวันออก พร้อมโอนทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทให้ขึ้นตรงกับรัฐบาลและจักรวรรดิอังกฤษภายใต้การปกครองของพระนางเจ้าวิกตอเรีย (Queen Victoria) เหตุนี้พระนางจึงทรงดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดินีคนแรกแห่งอินเดียด้วย
ในเวลานั้น พระจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ (Bahadur Shah) แห่งราชวงศ์มุฆัลถูกเนรเทศไปเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กระทั่งเสด็จสวรรคตที่นั่น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อนุทวีปกลายเป็นอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ เป็นเพชรยอดมงกุฎที่สร้างรายได้ให้กับอังกฤษอย่างมากมาย และยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘ยุคแห่งบริติชราช’ (British Raj) เริ่มขึ้นนับแต่นั้น
แบ่งแยกเพื่อปกครอง
ความเลวร้ายที่สุดของยุทธวิธีแบ่งแยกและปกครองนี้คือ อังกฤษประกาศบันทึกการสำรวจสำมะโนประชากรของบริติชอินเดีย (Memorandum Census of British India) ในปี 1871-1872 ซึ่งแยกกลุ่มคนมุสลิมออกจากกลุ่มศาสนาอื่นๆ อีก 4 ศาสนา ได้แก่ ฮินดู ซิกข์ และคริสต์ โดยไม่สนใจเงื่อนไขทางชาติพันธุ์ นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันว่า เอกสารฉบับนี้นำไปสู่การสิ้นสุดความกลมเกลียวทางศาสนาในหลายพื้นที่ของอินเดีย ทั้งยังเป็นการกระชับอำนาจของเจ้าอาณานิคมเองด้วย
กระนั้นก็มีกลุ่มนักวิชาการและผู้คนมากมายที่เห็นแย้งในประเด็นนี้ โดยอ้างว่า แท้จริงแล้ว ความกลมเกลียวทางสังคมในอินเดียไม่ได้ปรากฏอยู่ในทุกๆ ที่มาแต่ไหนแต่ไร บางแห่งทุกศาสนาอยู่ด้วยกันได้จริง แต่บางแห่งมีบางศาสนาเท่านั้นที่สามารถร่วมโต๊ะกินข้าวกันได้อย่างไพบูลย์
คำบอกเล่าของ ซาหูร์ ฮุดดิน อดีตนักกีฬามวยปล้ำผู้อาศัยอยู่ในเมืองลาฮอร์มาตั้งแต่กำเนิดเล่าไว้ในสารคดี The day India Burned: Partition ทางช่อง BBC ว่า
“คนฮินดูมีความเชื่อเรื่องมลทินอย่างเข้มข้น เวลาพวกตนซึ่งเป็นชาวมุสลิมจะดื่มน้ำ พวกเราไม่สามารถใช้แก้วหรือกินน้ำจากแหล่งน้ำโดยตรงได้ พวกเราต้องรับน้ำจากกาน้ำคอยาวที่พวกเขาเทใส่มือให้ดื่ม เพื่อไม่ให้พวกเราต้องสัมผัสตัวกัน พวกเขามองเราไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนที่ไม่ควรสัมผัส”
ในสารคดีชุดเดียวกัน นักข่าวและนักเขียนชื่อดัง โสม อนานท์ อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยลาฮอร์ ในช่วงปี 1946 เล่าว่า “คนมุสลิมเข้าถึงงานและการศึกษาได้น้อยกว่าชาวฮินดู (อย่างเขา) และชาวซิกข์มาก พวกเขามีสถานะความเป็นอยู่ที่แย่กว่าเรามาก”
ด้วยสภาวะเเวดล้อมเช่นนั้น ซายิด อาหมัด ข่าน (Syed Ahmad Khan) นักต่อสู้และนักปฏิรูปศาสนาอิสลาม มองเห็นความไม่เท่าเทียมนั้น เขาจึงประกาศตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งแรกที่จัดการเรียนการสอนแบบสากลที่เมืองโมราดาบัด (Moradabad) ชื่อว่า Gulshan school ในปี 1859 รวมถึง วิทยาลัยมูฮัมมาดัน แองโกล-โอเรนทัล (Muhammadan Anglo-Oriental College) ในปี 1875 เพื่อปฏิรูปการศึกษาให้กับชาวมุสลิม พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า ทฤษฎีสองชนชาติ (Two-nation Theory) ซึ่งต้องการให้ชาวมุสลิมมีสิทธิในการปกครองตนเอง สิทธิการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน และสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียมกับชาวฮินดู
โดยหัวใจหลักของแนวคิดนี้คือ การมีเขตการปกครองพิเศษเป็นของตนเองแยกออกจากพื้นที่ซึ่งมีชาวฮินดูอาศัยเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังคนอยู่ร่วมกันภายใต้สหภาพอินเดียหนึ่งเดียว
ใจความดังกล่าวตีแผ่ต่อมาโดยกวีชาวมุสลิมมีชื่อแห่งลาฮอร์ มูฮัมมัด อิคบัล (Muhammad Iqbal) และสุดท้ายความคิด ‘สองชนชาติ’ ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย (All-India Muslim League) พรรคการเมืองของชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 1906 เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามพี่น้องมุสลิมเท่านั้น สำหรับเหตุที่จะต้องมีพรรคลักษณะนี้เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับอังกฤษอีกเช่นกัน เพราะ อังกฤษออกนโยบายควบคุมการเลือกตั้งที่อนุญาตให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้เฉพาะผู้แทนที่นับถือศาสนาเดียวกับตนเท่านั้น
มุมมองทางการเมืองของพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดียทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้กระแสลมแห่งการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมาตุภูมิ กระทั่งเวลาล่วงเลยถึงต้นทศวรรษ 1930 แนวคิดของมูฮัมมัด อิคบัลทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักคิด นักปฏิรูป และนักศึกษามุสลิมทั้งในอินเดียและในอังกฤษ จนเป้าหมายสุดท้ายของแนวคิดดังกล่าวพัฒนาจากการแบ่งเพียงเขตปกครองไปสู่ความคิดการแบ่งแยกประเทศ โดยมีพื้นฐานมาจากความกังวลที่ว่า หากอินเดียได้รับเอกราชสมบูรณ์แล้ว กลุ่มชาวมุสลิมจะต้องกลับไปใช้ชีวิตเป็นประชากรชั้นสอง ชั้นสามดังเดิม
ในจุดนี้เราต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่เเค่ชาวมุสลิมเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ชาวฮินดูก็เช่นกัน ในปี 1885 พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress: INC) ก่อตั้งขึ้นโดยชนชั้นนำและกลุ่มฮินดูหัวก้าวหน้า เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษและปฏิรูปศาสนาฮินดูให้ทันสมัยมากขึ้น พรรคนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมของชาวฮินดูหัวกะทิ ไม่ว่าจะเป็น มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi), ครอบครัวของ ชวาหะร์ลาล์ เนห์รู (Jawaharlal Nehru), สุภาษ จันทระ โพส (Subhas Chandra Bose) หรือแม้แต่กลุ่มฮินดูชาตินิยมอย่าง พาล คงคาธาร ติลก (Bal Gangadhar Tilak) แกนนำปีกขวาของกลุ่มฮินดูนิยมที่มีความไม่ลงร่อยกับชาวมุสลิมอยู่พอสมควร และแน่นอนว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคานธี ที่มุ่งเน้นความกลมเกลียวของชาวอินเดียโดยไม่แบ่งแยกเชื่อชาติและศาสนาเท่าไร
แม้ว่าภาพและอิทธิพลของมหาตมะกว้างขวางเพียงใด ในปี 1925 กลุ่มฮินดูชาตินิยมที่จงเกลียดจงชังและเชิดชูนโยบายอินเดียเท่ากับ ‘ชนชาติฮินดูอันยิ่งใหญ่’ (The Great Hindu Nation) ก็ถือกำเนิดขึ้นในนามกลุ่มราษฏรียะสวยัมเสวกสังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh: RSS), ฮินดูมหาสภา (Hindu Mahasabha) และอื่นๆ
การเติบโตอย่างมากของแนวคิดฮินดูชาตินิยมได้สั่นสะเทือนความสงบภายในใจของบรรดาชาวมุสลิม อัสลาม ขัตตัก นักเรียนนอกชาวมุสลิมอินเดียได้เล่าไว้ในสารคดี Mr. Jinnah: The Making of Pakistan ว่า ตนและกลุ่มเพื่อนไปเข้าพบ มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Mohammad Ali Jinnah) ประธานกลุ่มสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย ซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ชานเมืองกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแจ้งถึงความกังวลดังกล่าว พร้อมบอกว่า การที่จะรอดพ้นจากการถูกเหยียดหยามนั้นมีทางเดียวคือ การทำให้เกิดรัฐที่ปกครองโดยมุสลิมขึ้น พร้อมทั้งตัดขาดจากอิทธิพลและอำนาจของอินเดียโดยสมบูรณ์
อัสลามเล่าต่อว่า ในเวลานั้น (ต้นทศวรรษ 1930) จินนาห์คัดค้านแนวคิดการแยกประเทศ เพราะเขายังเชื่อว่า อินเดียควรจะเป็นสหภาพหนึ่งเดียว ทว่าเพียงหนึ่งทศวรรษให้หลัง กระแสความตึงเครียดระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูทยานขึ้นจนยากจะฉุดรั้ง จินนาห์ตระหนักถึงความไม่มีเสถียรภาพของชาวมุสลิม รวมถึงอิทธิพลของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียที่มากขึ้นภายใต้การนำของ ชวาห์ลาล เนห์รู และความเข้มข้นของกลุ่มฮินดูขวาจัดอย่าง RSS เขาจึงยอมรับแนวคิดการแบ่งแยกการปกครองระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูในที่สุด
คานธีรับรู้เรื่องราวนี้มาโดยตลอดจึงพยายามโน้มน้าวจินนาห์ โดยมีบันทึกว่า คานธีเข้าพบจินนาห์ถึงบ้านพักส่วนตัวที่เมืองมุมไบ ซึ่งคานธีใช้เวลาอยู่ที่นั่นถึง 3 สัปดาห์ แต่ก็ไม่สำเร็จ แม้คานธีบอกว่า เขาจะเสนอชื่อจินนาห์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งสหภาพอินเดียก็ตาม โดยจินนาห์ให้เหตุผลว่า การที่เขาจะได้เป็นนายกฯ ภายใต้ข้อเสนอของผู้นำฮินดูนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการยอมรับความเมตตาจากคนฮินดู ซึ่งสะท้อนว่า มุสลิมในอินเดียจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อ ‘จำนน’ ต่อ ‘น้ำใจ’ ของชาวฮินดูเท่านั้น
The day India Burned: Partition
การพยายามพูดคุยกันระหว่างพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดียกับพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย รวมถึงคานธี ดำเนินมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1940 แต่ก็มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของคานธีต่อจินนาห์ เพราะสุดท้ายความจริงก็คือ ทั้งคานธีและพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ก็ล้วนแต่เป็นตัวแทนของชาวฮินดู แม้คานธีจะไม่คิดเช่นนั้นและมองตนเองว่าเป็นเพียง ‘Indian’ (คนอินเดีย) ก็ตาม
ความขัดแย้งในส่วนบนของการเรียกร้องเอกราชที่ไม่ลงตัว นำไปสู่ความรุนแรงในระดับท้องถนน ในเดือนสิงหาคม 1946 เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองโกลกาตา รัฐเบงกอล ชาวมุสลิมออกมาทำลายทรัพย์สินของชาวฮินดู ว่ากันว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 5,000 คน จนนำไปสู่การตอบโต้โดยกลุ่มชาวฮินดูหัวรุนแรงและกลุ่มศาสนาอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับชาวมุสลิมในหลายพื้นที่ของอินเดีย เกิดการทุบตีชาวซิกข์โดยชาวมุสลิมในปัญจาบ ชาวฮินดูฆ่าชาวมุสลิมนับพันในรัฐอุตตรประเทศและพิหาร ภาพอินเดียหนึ่งเดียวไม่แบ่งแยกของคานธีถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง บาดแผลในอินเดียของชาวฮินดูที่เคยตกเป็นเบี้ยล่างของจักรวรรดิมุสลิม ถูกขุดคุ้ยและบิดเบือนโดยกลุ่มฮินดูขวาจัดอย่างเปิดเผย
ท้ายที่สุด เมื่อเดือนมีนาคม 1947 ทางการอังกฤษส่งอุปราชแห่งอินเดียคนสุดท้าย ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเท็น (Lord Louis Mountbatten) มายังแผ่นดินอนุทวีป เมานต์แบตเท็นจัดให้มีการถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกันถึงการถอนตัวของอังกฤษจากอินเดีย เพื่อปูทางไปสู่การประกาศอิสรภาพให้กับอนุทวีป ตามแนวทางของรัฐบาลอังกฤษในขณะนั้น ร่วมกับตัวแทนพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย นำโดยเนห์รู และตัวแทนฝ่ายพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย นำโดยจินนาห์
จินนาห์ยืนกรานเสียงแข็งในที่ประชุมถึงความต้องการแบ่งแยกประเทศ ก่อตั้งประเทศผลสุดท้าย มุสลิม-ปากีสถานให้มีอธิปไตยเป็นของตนเอง เป็นเอกเทศจากรัฐบาลอินเดียโดยสมบูรณ์ ซึ่งลอร์ดเมานต์แบตเท็นค่อนข้างเอนเอียงไปในทิศทางนี้เช่นกัน ส่วนเนห์รูและคานธีแม้ไม่เห็นด้วย แต่ไม่สามารถคัดค้านได้
คานธีเสนอในที่ประชุมว่า “ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาของคนอินเดีย เราจะหาทางออกกันเอง” แต่ด้านผู้แทนอังกฤษก็ตอบโต้ว่า “เราจะไม่ไปไหน จนกว่าจะแน่ใจว่า ใครได้รับส่วนแบ่งใด” ข้อต่อรองของอังกฤษสร้างเงื่อนไขผูกมัดอันไม่อาจปฏิเสธได้ สุดท้ายพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียก็ต้องยอมจำนน เพราะหากไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ อาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อังกฤษใช้อ้างสิทธิในการครอบครองอินเดียต่อไปอีก เพื่อจัดการความเรียบร้อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่ต้องการ แม้คานธีผู้เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของพรรคบอกว่า “การแบ่งแยกดินแดนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องข้ามศพเขาไปก่อน” ก็หยุดยั้งกระแสการเมืองในครั้งนั้นไม่ได้
วันที่ 3 มิถุนายน 1947 ลอร์ดเมานต์แบตเท็น เนห์รู และจินนาห์ ประกาศข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการเจรจาผ่านทางวิทยุกระจายเสียงไปทั่วทั้งอนุทวีป มีใจความสำคัญว่า ‘อนุทวีปจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ’ ผู้คนทั่วทั้งแผ่นดินต่างตกอยู่ในสภาวะงุนงง แบ่งอะไร ที่ไหน อย่างไร แม้จะมีข้อสรุปแล้วแต่โดยรายละเอียดนั้นยังไม่เป็นที่ลงตัว ตามข้อตกลงที่ว่า อังกฤษจะเป็นผู้จัดการเรื่องเส้นเขตแดนเอง
วันที่ 18 กรกฎาคม 1947 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนประกาศเอกราช อังกฤษเข้าจัดการขีดเส้นชายแดนแบ่งประเทศอินเดียกับปากีสถานออกจากกันอย่างลับๆ โดยคณะของเซอร์ซีรัล แรดคลิฟฟ์ (Cyrile Radcliffe) ผู้ไม่มีความรู้ใดๆ เลยเกี่ยวกับอินเดีย โดยอังกฤษให้เหตุผลว่า “ด้วยความไม่รู้นี้ ทำให้เราจะสามารถหลีกเลี่ยงอัตวิสัยและยืนยันความเท่าเทียมได้” เส้นแรดคลิฟฟ์ถูกลากขึ้นและมีเพียงอุปราชแห่งอินเดียเท่านั้นที่ทราบว่า ตำแหน่งแห่งหนของเส้นดังกล่าวอยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก แต่จะเป็นความลับหรือไม่ ผู้คนทั้งอนุทวีปในตอนนั้นกลับไม่ได้ใยดีมากมาย เพราะต่างคนต่างเนื้อเต้นตั้งตารอเอกราชอันหอมหวนที่กำลังจะมาถึง
แล้ววันแห่งชีวิตใหม่ก็เบ่งบานเหนือฟากฟ้าของอนุทวีปอันยิ่งใหญ่ วันที่ 14 สิงหาคม 1947 ความฝันของพี่น้องมุสลิมถือกำเนิดขึ้นจริงในที่สุด ประเทศเกิดใหม่ชื่อ ปากีสถาน ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ภายใต้อำนาจแห่งพระราชบัญญัติอิสรภาพแห่งอินเดีย (Indian Independence Act 1947 of the Parliament of the United Kingdom) ถัดมาในชั่ว 24 ชั่วโมง ณ เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ชาวอินเดียโห่ร้องให้โลกได้ยินถึงความปิติจากการได้รับอิสรภาพจากปลายกระบอกปืนของชาวตะวันตก ที่ย่ำเหยียบดินแดนชมพูทวีปนี้หลายศตวรรษ แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็ได้เกิดขึ้น ส่งผลร้ายแรงเป็นบาดแผลเน่าเปื่อยยาวนานเกินจินตนาการ
หลังการประกาศอิสรภาพของอินเดียได้ไม่กี่ชั่วโมง รุ่งเช้าของวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ทางการอังกฤษประกาศเส้นแบ่งชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ ชาวฮินดูและพี่น้องมุสลิมจำนวนนับล้านคนถูกบีบให้ละทิ้งบ้านเกิดที่ตนลืมตาดูโลก อพยพเร่ร่อนไปยังประเทศใหม่ ชาวฮินดูมุ่งหน้าสู่อินเดีย บ้างด้วยเท้า บ้างด้วยเกวียน ชาวมุสลิมก็มุ่งหน้าสู่ปากีสถานเช่นกัน การอพยพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติเคยรู้จักได้เกิดขึ้นเพียงเวลาข้ามคืน ผู้คนกว่า 15 ล้านคนโยกย้ายไปมา มนุษย์กว่า 2 ล้านชีวิตสังเวยชีวิตอันมีค่าของตน แลกกับการแบ่งแยกแผ่นดินออกเป็น 2 ประเทศ
ความรุนแรงทางศาสนาที่ฝังรากลึก ความหิวโหยและโรคภัย ผู้หญิงกว่า 7.5 หมื่นคนถูกทำร้ายและข่มขืน หลายคนอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องตกเป็นเหยื่อกามและความรุนแรง เธอทั้งหลายจึงตัดสินใจฆ่าตัวเองตายเสียเพื่อรักษาเกียรติ ทารกและคนชราจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนคนถูกทิ้งให้ตายอย่างอนาถริมทางอันแสนทรมาน บ้างก็เลือกที่จะกระโดดบ่อน้ำตายเพราะไม่อยากเป็นภาระให้กับลูกหลาน
การแบ่งแยกปากีสถานกับอินเดียออกจากกัน ไม่ได้แบ่งแยกแค่เพียงแผ่นดิน แต่เป็นการ พรากคนจากคน พรากลูกจากพ่อแม่ พรากพี่จากน้อง พรากดินแดนศักดิ์สิทธิ์จากผู้ศรัทธา และที่มากกว่านั้น มันสร้างความเจ็บปวดและเกลียดชังให้กับคนทั้งสองฝ่าย คนฮินดูบางกลุ่มเกลียดคนมุสลิมเกินจะบรรยาย ชีวิตของคานธีก็คือหนึ่งในการสังเวยความเกลียดนั้น เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเข้าไปในความเกลียดชังระหว่างสองประเทศที่มีทุกอย่างเหมือนกัน ต่างกันก็เพียง ‘ศาสนา’
สุดท้ายแล้ว ความเลวร้ายที่ผู้คนจำนวนมากได้รับนี้เกิดจากอะไร หากไม่ใช่ความเดียดฉันท์กันระหว่างหมู่มวลมนุษย์ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมที่เหมือนจะเป็นปึกแผ่น หลายคนบอกว่า อังกฤษเป็นตัวละครหลักที่ทำให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ชาวฮินดูและชาวมุสลิมที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนานก่อนหน้านั้น ก็ไม่ได้สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันมากเท่าที่ควร ไฟที่มีเชื้ออยู่แล้วจึงย่อมลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อได้เชื้อเพลิง อังกฤษเพียงเเค่เข้ามาถ่างช่องว่างระหว่างคนต่างกลุ่มให้มากขึ้น
หากเราคนรุ่นหลังลองคิดกันเล่นๆ ดูว่า ถ้าชาวอนุทวีปแต่เดิมอยู่กันอย่างกลมเกลียวจริง พยายามลดความบาดหมาง สร้างความเป็นหนึ่ง หันหน้าคุยกันจะเป็นเช่นนี้ไหม แผนการของอังกฤษจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ แม้สิ่งนี้ย่อมไม่อาจรู้ได้ แต่อยากชวนลองคิดกันดู
ที่มา
“Ahmad Khan, Sayyid – Oxford Islamic Studies Online”.www.oxfordislamicstudies.com
Mahatma Gandhi – dying for freedom https://youtu.be/hpZwCRInrgo?si=Qdmxe_IaBE4ps-Ji
Metcalf, B.; Metcalf, T. R. A Concise History of Modern India (2nd ed.). Cambridge University Press Mr. Jinnah. The Making of Pakistan https://youtu.be/c-tWIe9aYgE?si=T7rUCtf7Com5IUAO
“Rupture in South Asia” . United Nations High Commission for Refugees.
Harman (1977), Plight of Muslims in India, DL Publications
Stephen P. Cohen (2004), The idea of Pakistan, Brookings Institution Press
The day India Burned: Partition https://youtu.be/0ZS40U5yFpc?si=E8ko9OmXKvCNx-pF
Tharoor, Shashi. (2016). Inglorious Empire: What the British did to India, Delhi: Penguin Books.
ภารตะวิทยา กรุณา-เรื่องอุไร กุศลาสัย
Tags: อินเดีย, ปากีสถาน, Indianiceation, วันประกาศเอกราชอินเดีย, บริติชราช, อนุทวีป, India Independence Day