เวียนมาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองอันครึกครื้น เพื่อรับและส่งพระคเณศในโอกาสขึ้น 4 ค่ำ เดือนภัทรบท (ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน) อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้าแล้วบ้างว่า เรื่องราวของ ‘เทศกาลคเณศจตุรถี’ ได้ซุกซ่อนมูลเหตุทางประวัติศาสตร์ที่พัวพันอยู่กับหลากแง่มุมของกระแสธารแห่งการเรียกร้องเอกราชของชาวอินเดีย กระนั้นในครั้งนี้จะเลื่อนความสนใจมายังพระคเณศผู้เป็นเจ้าแห่งเทศกาลสำคัญนี้ ซึ่งก็มีแง่มุมที่หลากหลายให้ชวนศึกษาไม่แพ้กัน 

คนไทยเราคุ้นเคยกับพระคเณศมานานในหลายสถานะ เช่น ครูหมอช้าง และเทพเจ้าแห่งศิลปะ อันสะท้อนชัดจากตราของมหาวิทยาลัยศิลปากรและวิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งใช้รูปพระคเณศเป็นสัญลักษณ์ ขณะเดียวกัน พระคเณศสำหรับคนไทยยังมีพื้นที่นอกเขตเทวาลัยและยึดครองพื้นที่สำคัญในพรมแดนพุทธศาสนาด้วย เช่น บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และอีกหลายต่อหลายวัดที่แสดงรูปพระคเณศไว้อย่างไม่ปิดบัง

ปัจจุบันพระคเณศองค์ยักษ์หลายองค์สามารถเห็นได้โดดเด่นตามวัดต่างๆ จนแทบกล่าวได้ว่า เป็นจุดสนใจมากกว่าพระพุทธรูปในพระอุโบสถเสียด้วยซ้ำ ความพร่าเบลอนี้จึงสะท้อนเอกลักษณ์สำคัญหนึ่งของพระคเณศคือ สามารถแทรกตนเองเข้ากับพื้นที่ทางศาสนาได้อย่างหลากหลาย มิได้จำกัดอยู่เพียงในรั้วรอบขอบกำแพงของเทวสถานเท่านั้น เห็นอย่างนี้จึงไม่แปลกใจเลยที่ พาล คงคาธาร ติลก (Bal Gangadhar Tilak) นักต่อสู้เรียกร้องเอกราชอินเดีย เลือกจะอิงแอบกระแสต่อต้านเจ้าอาณานิคมไปกับพระคเณศ

คอลัมน์ Indianiceation จึงอยากนำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับพระคเณศ ผ่านกรอบแว่นที่ต่างออกไป โดยถอดวางมุมมองแบบพระเวท-พราหมณ์ฮินดูออกไปเสีย แล้วหยิบแว่นตาแบบพุทธศาสนาขึ้นมาสวม เพื่อชวนมองไปยังแง่มุมที่น่าสนใจอื่นๆ รอบตัวเทพเจ้าผู้มีเศียรอย่างคชาชาติ 

เจ้าแห่งอุปสรรค

พิฆเนศ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งอุปสรรคทั้งปวง (พิฆนะ + อิศวร) อุปสรรคใดก็ตามย่อมผ่านพ้นได้ด้วยอำนาจของพระองค์ และยังมีตำนานว่า สุดท้ายหลังพระกุมารคเณศได้รับหัวช้างจากพระศิวะแล้ว พระศิวะได้ประทานพรว่า “หากใครจะกระทำบูชาสิ่งใด จักต้องนมัสการพระคเณศเป็นองค์ปฐมบูชาจึงจะสำเร็จลุล่วงได้”

จริงๆ หากพิจารณาตำนานให้ดีจะเห็นได้ว่า พระคเณศทรงเกิดมาพร้อมอุปสรรคแต่แรก เพราะท่านขัดขวางพระศิวะไม่ให้เข้าไปในห้องของพระแม่อุมา ก่อนจะถูกตัดหัวและต่อหัวช้างให้ใหม่ ฉะนั้นตำนานนี้จึงเป็นการผูกเรื่องเพื่อรองรับว่า พระคเณศเป็นเทพแห่งอุปสรรค (เป็นทั้งอุปสรรคและผู้ทำลายอุปสรรค) 

เพราะการช่วยให้ผู้นับถือก้าวข้ามอุปสรรคของพระคเณศนี่เอง จึงไม่แปลกใจที่พระคเณศได้รับความนิยมในวงกว้าง ศาสนาฮินดูนิกายต่างๆ ยอมรับพระคเณศเป็นเทพที่พึงบูชา แม้แต่ไวษณพนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นหลัก ก็ยังพบเห็นพระคเณศปรากฏให้เห็นได้ตามเทวาลัยของพระวิษณุ แม้จะไม่ใช่เทพในกลุ่มก็ตาม หรือในศาสนาไชนะ-เชน พระคเณศปรากฏในวรรณคดีหลายฉบับของนิกายเศวตามพรในฐานะเทพผู้ช่วย (ยักษะ) ของเหล่าตีรถังกร (ศาสดาของศาสนาเชน) โดยที่เอกลักษณ์สำคัญอย่างหัวช้างและหนูที่เป็นสัตว์พาหนะก็ยังคงอยู่ 

ทั้งนี้หนูหรือมุสิกะ พาหนะของพระคเณศก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ ที่เน้นย้ำบทบาทในฐานะเทพผู้ปราบอุปสรรคต่างๆ เพราะตามระบบสัญลักษณ์โดยทั่วไปแล้ว หนูเป็นตัวแทนของความมืดบอด อุปสรรค และความโง่เขลา ฉะนั้นการที่พระคเณศประทับนั่งบนตัวหนูก็เป็นการสื่อว่า พระองค์มีชัยชนะเหนือความหมายเชิงลบทั้งหมดที่หนูเป็นภาพแทนอยู่นั่นเอง    

พุทธคเณศ: เทพมีเศียรช้างในศาสนาพุทธ

พระคเณศในโลกพุทธศาสนา แน่นอนว่าพระองค์ก็มีพื้นที่ของตนเองและเป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับศาสนาเชน ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับพระคเณศกลับมีมิติที่หลากหลายกว่ามาก แทบจะเรียกได้ว่าเป็น Love-Hate Relationship ก็ไม่เกินจริงเท่าไรนัก 

ในด้าน Love พระคเณศถูกเรียกว่า ‘สิทธิธาตา’ หรือผู้ประทานความสำเร็จในหมู่สงฆ์ทิเบตและเนปาล มีบทสวดประจำตัวชื่อว่า คณปติหฤทยมนตรา (Ganapatihrdaya Mantra) ซึ่งเป็นมนต์ที่ใช้เพื่อให้พระคเณศมาช่วยประทานความสำเร็จในธรรมแก่ผู้ฝึกสมาธิ หรือให้พระคเณศช่วยปกป้องผู้เดินบนเส้นทางแห่งโพธิญาณให้รอดพ้นจากอุปสรรคต่างๆ 

คัมภีร์มหาคณปติตันตระ (Mahaganapati Tantra) น่าจะเขียนขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ระบุว่า พระอติสะ หัวหน้าคณาจารย์แห่งวิกรมศิลาวิหารเป็นคนปราบพระคเณศในศาสนาฮินดูให้มายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา พร้อมมอบหมายให้พระคเณศทำหน้าที่เป็น ‘ธรรมบาล’ พูดอย่างง่ายคือ เป็นผู้ปกป้องพระพุทธศาสนานั่นเอง มากไปกว่านั้น คัมภีร์หมวดเทงกยูร์ (Tengyur) ของพุทธศาสนาในทิเบต เนื้อหาว่าด้วยข้ออรรถกถาต่างๆ ยังระบุว่า พระคเณศคือ ภาคอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในนาม มหารักตะ (Maha Rakta) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งคณะผู้มีวรรณะสีแดง 

ลักษณะของมหารักตะบรรยายว่า มีวรกายสีแดงเข้ม มีหัวเป็นช้างสีขาว มี 4 กร ถือถ้วยขนม ขอสับช้าง หัวไชเท้า และสร้อยประคำ ประทับยืนในท่าทางคล้ายเต้นรำบนตัวหนูเพศเมียสีดำ ซึ่งยืนอยู่บนร่างของชาย 2 คน ด้วยความที่เป็นพระคเณศในแบบตันตระ (เน้นการใช้สัญลักษณ์ทางเพศเพื่อสื่อสารธรรมที่ซับซ้อน) มหารักตะจึงแสดงความวาบหวามเล็กน้อย กล่าวคือหนูซึ่งพระมหารักตะเหยียบอยู่นั้น กำลังใช้ปากดูดอวัยวะเพศของพระมหารักตะ ก่อนจะปล่อยเลือดระดูออกจากอวัยวะเพศของตนเองให้ชายที่เหยียบอยู่ดื่มกินต่ออีกทอดหนึ่ง

 

มหารักตะ-คณปติ (ที่มา: http://creative.sulekha.com/)

การดูดอวัยวะเพศและการดื่มเลือดประจำเดือน ถูกอธิบายโดยตันตราจารย์และผู้ศึกษาพุทธศาสนาทิเบตว่า ในเชิงหนึ่งแม้พระคเณศจะเป็นถึงองค์ธรรมบาลผู้ปกป้องพระธรรม แต่ก็มิอาจมอบความสุขอันแท้จริงได้ (นิพพาน) พระคเณศจึงมอบให้เราได้เพียงความสุขชั่วครู่ ซึ่งไม่ยั่งยืนและไม่น่าพึงพอใจสำหรับผู้ปฏิบัติตามวิถีแห่งพุทธะ ซึ่งถูกแทนด้วยของสกปรก (ตามทัศนะแบบพุทธ) อย่างน้ำอสุจิและเลือดประจำเดือน

ส่วนชายที่ถูกหนูเหยียบอยู่ ก็เป็นตัวแทนของความลุ่มหลงในโลกวัตถุ กิเลส ตัณหา ราคะ และสิ่งเย้ายวนต่างๆ จึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่า น้ำทิพย์ที่ตนดื่มเป็นเพียงเลือดระดูของหนูตัวหนึ่งเท่านั้นหาใช่ของสูงใดไม่ มาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า ในด้าน Love พระคเณศคือผู้ปกป้องธรรม ผู้ช่วยให้ผู้ปฏิบัติเดินอยู่บนวิถีแห่งพุทธะได้อย่างราบรื่น แต่ในขณะเดียวกัน พระคเณศก็ยังไม่ใช่ใครที่นำพาเราไปสู่ความเป็นพุทธะ หรือบรมสุขแห่งนิพพานได้ 

ในด้าน Hate พระคเณศจึงมักถูกเหล่าพุทธศาสนิกชนมองว่า เป็นอุปสรรคตามชื่อของท่าน ซึ่งหากพูดกันแบบเร็วๆ ผู้เป็นใหญ่แห่งอุปสรรคก็ไม่ได้ต่างอะไรกับอุปสรรคก้อนใหญ่ ด้วยเหตุนี้งานพุทธศิลป์ในอินเดีย เนปาล และทิเบต ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ภายใต้อิทธิพลแบบวัชรยาน-ตันตระ จึงนิยมแสดงเหล่าพระโพธิสัตว์ชาย-หญิงกระทำการเบียดเบียนพระคเณศอย่างถึงเครื่อง เช่น พระโพธิสัตว์พรรณศวรี ผู้ปกป้องเหล่าศาสนิกชนจากไข้ป่า ก็มักประทับนั่งบนบัลลังก์ที่มีพระคเณศเป็นแท่นรองพระบาท หรือมัญชุศรี โพธิสัตว์แห่งปัญญา ในบางครั้งก็ถูกจัดให้ประทับยืนบนศพของพระคเณศเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ความรู้ (พุทธธรรม) มีชัยเหนือความเขลา (ความรู้นอกพุทธศาสนา) กระนั้นหากพิจารณาแบบกลางๆ ก็อาจตีความได้ว่า ในเมื่อแต่เดิมพระคเณศก็เป็นตัวแทนอุปสรรคอยู่แล้ว ดังนั้นการเอาพระคเณศมาใช้เป็นสื่อ แทนอุปสรรคในการตรัสรู้ก็ไม่แปลกอะไร อาจจะไม่ได้ตั้งใจลดทอนหรือเหยียดพระคเณศโดยนักปราชญ์หรือครูบาอาจารย์ฝ่ายพุทธก็ได้ 

แต่เมื่อลองพิจารณาต่อไปจะพบว่า ในทิเบตและเนปาลมีตำนานเล่าถึง วิฆนานตกะ (Vighnantaka) ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่โอฑิยานะบัณฑิตอัญเชิญขึ้นมา เพื่อปราบพระคเณศที่เข้ามารบกวนระหว่างฝึกสมาธิให้บรรลุถึงสิทธิ (พลังวิเศษ) โดยพระโพธิสัตว์องค์นี้มักถูกนำเสนอในสีหน้าดุร้าย อยู่ในท่าทางต่อสู้ และเหยียบอยู่บนร่างที่ตายแล้วของพระคเณศ ทั้งยังมีคำอธิบายว่า พระคเณศเป็นเทพแห่งโลกวัตถุ ที่ล่อลวงเหล่าผู้ฝึกตนให้หันมาหลงอยู่ในวังวนแห่งวัตถุ ซึ่งคล้ายกับคำอธิบายของพระมหารักตะที่กล่าวไปข้างต้น 

วิฆนานตกะ ศิลปะเนปาล อายุพุทธศตวรรษที่ 18 (ที่มา: Himalayan Art Resources)

สุดท้ายจะเห็นได้ว่า พระคเณศมีความแพร่หลายมากในอินเดีย เป็นเทพที่มีความเป็นสากลอย่างชัดเจน คือสัมพันธ์กับหลากหลายศาสนา นิกาย และกลุ่มผู้บำเพ็ญตน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแง่มุมที่น่านับถือเมื่อพิจารณาตามกลุ่มศาสนาหนึ่ง แต่กลับมีความน่าสงสัยในสายตาคนอีกกลุ่ม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายและพลวัตทางศาสนาในอินเดียโบราณได้เป็นอย่างดี จึงเห็นได้ว่า ศาสนาต่างๆ ในอินเดียมีการแลกเปลี่ยนและปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ศาสนาฮินดูหยิบยืมพระพุทธเจ้าไป ในขณะเดียวกันศาสนาพุทธก็หยิบยืมเทพในศาสนาฮินดูมารับใช้หลักปรัชญาของตนเช่นกัน

ที่มาข้อมูล

จิรัสสา คชาชีวะ (2547). พระพิฆเนศวร์: คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

ศรีหริทาส (2552). คเณศวิทยา. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.

Getty, Alice (1936). Ganesa: A Monograph on the Elephant-Faced God. Oxford: Clarendon Press

Rao, T.A. Gopinatha (1968). Elements of Hindu Iconography, Volume 1, Delhi: Motilal Banarsidass.

Wilkinson, Christopher (1991). “The Tantric Ganesa: Text Preserved in the Tibetan Canon.” in Studies of an Asian God, Brown, Robert L. (editor), pp. 235–274. State University of New York Press. 

Tags: , , , , , ,