ภาษาดูจะเป็นประเด็นที่ปะทุได้ง่ายในสังคมที่มีศาสนา วัฒนธรรม และภาษาที่หลากหลายอย่างประเทศอินเดีย และในขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวมาช้านาน เรื่องภาษากลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อ อามิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยของอินเดียกล่าวในวันชาติฮินดีเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาว่า ภาษาฮินดีควรเป็นภาษาประจำชาติอินเดีย
ชาห์ได้ทวีตเป็นภาษาฮินดีว่า “มันจำเป็นที่ต้องมีภาษาหนึ่งที่เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของประเทศ ถ้าจะมีหนึ่งภาษาที่จะสามารถรวมประเทศได้ ควรจะเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุด นั่นก็คือฮินดี”
ชาห์ได้อธิบายว่า เพื่อรักษาปรัชญาเก่าแก่ วัฒนธรรม และความทรงจำต่อการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ จึงควรใช้ภาษาฮินดีและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
“ผมขอวิงวอนให้ประชาชนของอินเดียใช้ภาษาแม่ของตัวเอง แต่ก็ให้ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาหนึ่งด้วย เพื่อทำให้ความฝันเรื่องภาษาเดียวของบาปูและซาร์ดาร์ พาเทล เป็นจริง”
นอกจากนี้ ชาห์ยังได้กล่าวว่า “การใช้ภาษาฮินดีจะสัมฤทธิผลภายในปี 2024 เราจะส่งเสริมให้ทุกรัฐใช้ภาษาฮินดี แต่การสนับสนุนนี้จะไม่ทำให้ภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ด้อยคุณค่าลง”
ชาห์พุ่งประเด็นไปที่ภาษาอังกฤษ เขาให้ความเห็นว่า ชาวอินเดียจำนวนมากยอมรับกับเขาด้วยความละอายใจว่า พวกเขามีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับภาษาแม่ของตัวเอง และพูดได้แค่ภาษาอังกฤษ ซึ่งชาห์เชื่อว่า “ชาติใดที่ละทิ้งภาษาของตัวเองไม่เคยยั่งยืน ภาษาของอินเดียเป็นภาษาที่รุ่มรวยที่สุดในโลก”
ประเทศอินเดียมีภาษาพูดที่แตกต่างกันมากมาย ในกลุ่มคนต่าง ๆ กัน มีภาษาอย่างน้อย 30 ภาษา รวมถึงภาษาย่อยอีก 2,000 ภาษาด้วย รัฐธรรมนูญอินเดียได้กำหนดให้ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ เป็นสองภาษาที่ใช้ในการติดต่อกับรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ยังได้กำหนดภาษาอื่น 22 ภาษาเป็นภาษาที่รัฐต่างๆ สามารถนำไปใช้สำหรับการปกครองได้ รวมถึงเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐ รวมถึงข้อสอบสำหรับการบรรจุข้าราชการอีกด้วย
ปัจจุบันนี้ ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ ถูกใช้ในฐานะภาษาราชการของอินเดีย ประชากรราว 43% ของ 1.3 พันล้านคนของอินเดียพูดภาษาฮินดี และแพร่หลายในตอนเหนือของประเทศ
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้วิพากษ์ชาห์ว่า เขาพยายามส่งเสริมแนวคิด ‘หนึ่งชาติ หนึ่งภาษา’ ซึ่งจะทำลายอัตลักษณ์ของอินเดีย เพราะอินเดียเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม แต่การตอบโต้ที่รุนแรงที่สุดมาจากรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งมีประวัติศาสตร์ต่อต้านการใช้ภาษาฮินดีอย่างแข็งกร้าวมาตลอด
เอ็ม.เค. สตาลิน หัวหน้าพรรค Dravida Munnetra Kazhagam (DMK) ของรัฐทางใต้ ประกาศว่า จะประท้วงต่อต้าน ‘การยัดเยียดภาษาฮินดี’ นอกจากนี้นักการเมืองคนอื่นๆ ของรัฐทมิฬนาฑูอย่าง คามาล ฮัสซัน ผู้ก่อตั้งพรรค Makkal Needhi Maiam (MNM) ได้เผยแพร่วิดีโอเตือนการสู้รบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าภาษาฮินดูถูกบรรจุเป็นภาษาประจำชาติ
ความรู้สึกต่อการสนับสนุนให้ภาษาฮินดีเป็นภาษาประจำชาติเต็มไปด้วยความรุนแรงในทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งแม้แต่ตัวแทนของพรรค BJP ในพื้นที่นี้ก็ยังต่อต้านด้วยเช่นกัน บี. เอส. เยดียูรปปา มุขยมนตรีของรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ซึ่งเข้าร่วมการต่อต้านนี้กล่าวว่า “แม้ว่าภาษาราชการทุกภาษาจะเท่าเทียมกัน แต่รัฐกรณาฏกะก็กังวล เพราะภาษากันนาดาเป็นภาษาหลักของเรา”
นอกจากนี้ตัวแทนของพรรค BJP ในทางใต้ร่วมกับพรรค AIADMK และมุขยมนตรีของรัฐทมิฬนาฑู ได้กล่าวว่า “ถ้าส่วนกลางยัดเยียดภาษาฮินดีอยู่ฝ่ายเดียว ก็จะมีการตอบกลับในทางตรงกันข้ามและจะไม่มีการสนับสนุนแน่นอน”
การกำหนดภาษาเดียวเป็นภาษากลางมีความเข้มข้นขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต้านทานเสมอมาจากรัฐทางใต้ ทั้งทมิฬนาฑู เกรละ อานธรประเทศ เตลังคานา และกรณาฏกะ เสมอ
แม้แต่พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียเองก็เตือนนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี ว่า อย่าก่อเรื่องในประเด็นที่อ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของมวลชน
ที่จริงพรรค Bharatiya Janata หรือ BJP และกลุ่มชาตินิยมฮินดูฝ่ายขวาอื่นๆ มีความพยายามผลักดันให้ภาษาฮินดีเป็นภาษาประจำชาติมาอย่างยาวนาน แต่ในการที่ชาห์ออกมาจุดประเด็นนี้ในช่วงเวลานี้ มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นอุบายที่ต้องการเบี่ยงเบนประเด็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการอัตราการว่างงานต่อสาธารณชน
อ้างอิง
https://www.asiatimes.com/2019/09/article/modi-govts-push-for-one-language-sparks-fury/
ภาพ : Adnan Abid/REUTERS
Tags: อินเดีย, ภาษาฮินดี, รัฐบาลอินเดีย, ภาษาประจำชาติ