“สำหรับผมแล้ว รักแท้เกิดขึ้นเมื่อคนสองคนไม่เหลือทางเลือกอื่นใดในโลกนอกจากกันและกัน รักแท้คือการหล่นลงในหลุมโคลนของการไม่มีอดีตหรืออนาคต รักแท้จะเกิดขึ้นเมื่อคนชำรุดสองคนซ่อมแซมกันและกันและพบว่ามีแต่กันและกันเท่านั้นที่จะทนกันและกันได้มากที่สุด โลกถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่ใช่เพราะความรักทำให้คนทั้งคู่ลอยพ้นไปจากโลก แต่เป็นเพราะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยใดๆ เหลืออยู่ในโลกอีกแล้ว นอกจากในกันและกัน ความสงบจิตใจที่คนทั้งคู่หาได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน รักแท้คือการไม่มีที่ไปเหลืออยู่ การติดอยู่ด้วยกัน ความทุกข์ ความเศร้า ความเจ็บปวด บาดแผล ซึ่งได้รับการเยียวยาด้วยการอยู่ด้วยกัน”
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศ์, เงาของเมฆ
อย่างที่ Eva Illouz กล่าวไว้ในหนังสือ Why Love Hurts? ว่าการมีทางเลือกมากมายได้กลายเป็นวิกฤติสำหรับความรัก เพราะความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดทำให้ความรักไม่อาจเป็นไปได้ ด้วยเพราะโลกสมัยใหม่ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกอยู่ตลอดเวลา หรืออย่างน้อยๆ ก็คำถามที่ว่า เขา/เธอเป็นคนที่ใช่หรือเปล่า ยังมีคนที่ดีกว่านี้รออยู่อีกไหม
เพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้ หลายคนจึงทดลองรักไปเรื่อยๆ เมื่อพบว่ามันไม่ได้ให้ความสุขความสบายอย่างเพียงพอ พวกเขาก็ยุติความสัมพันธ์นั้นลง หรือเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ครั้งใหม่ๆ ที่อาจจะ ‘ดีกว่า’
สถาปัตย์แห่งทางเลือกนี้เป็นผลเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบศตวรรษที่ผ่านมา มันมีความเกี่ยวพันอย่างซับซ้อนกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมไปจนถึงการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่ทำให้ความรักกลายเป็นเหมือนสินค้าทดลองใช้
ดังที่เราทราบกันว่า อิสรภาพ ถือเป็นเครื่องหมายสำคัญของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ที่มนุษย์ทั้งหลายเรียกร้องการปลดปล่อย การจัดให้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไปจนถึงระบบเศรษฐกิจการค้าแบบเสรี อิสรภาพในแง่นี้จะเกิดขึ้นก็เมื่อเราปฏิเสธอำนาจเหนือธรรมชาติที่เคยเชื่อกันว่าคอยลิขิตชีวิตมนุษย์ สรรพสัตว์ และสรรพสิ่ง เป้าหมายของชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิใช่โลกหน้า
‘การเลือก’ และ ‘ทางเลือก’ จึงเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังของโลกสมัยใหม่ เพราะมันได้หล่อหลอมและสร้างตัวตนของมนุษย์ในฐานะของปัจเจก (individual) หรือหน่วยย่อยทางสังคมที่เราไม่สามารถแบ่งแยกลงไปได้อีกแล้ว
การเป็นปัจเจกจึงมาควบคู่กับการต้องตัดสินใจ การเลือกเส้นทางชีวิตโดยไม่มีใครมากำหนดหรือชี้นำอีกต่อไป
เส้นแบ่งระหว่างโลกสมัยใหม่กับโลกยุคเก่าตามกรอบนี้ได้ให้ความสำคัญกับการมีสิทธิเลือก ดังนั้นความรักสำหรับโลกยุคใหม่ก็จะต้องเป็นความรักที่เราทั้งหลายมีอิสระในการหาคู่ครองของตนเอง ไม่ใช่การคลุมถุงชน (arranged marriage) ที่เป็นเรื่องล้าสมัย
เพื่อจะทำความเข้าใจ สถาปัตย์แห่งทางเลือกที่ดำรงอยู่ในทุกวันนี้ ผู้เขียนขอพาเราสืบย้อนกลับไปยังห้วงเวลาที่ความรักและทางเลือกยังไม่บรรจบพบเจอกัน
วงศาวิทยาของการเลือกคู่
ในยุโรปยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) การสมรสระหว่างหนุ่มสาวจะเกิดขึ้นบนข้อสัญญาบางอย่างที่ไม่ใช่จากแรงดึงดูดทางเพศ หรือความเสน่หาต่อกัน แต่เป็นด้วยช่วงชั้นและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะสำหรับบรรดาคนยากไร้ผู้ใช้แรงงาน การแต่งงานหมายความถึงการมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ทว่าชีวิตที่ต้องใช้พลังอย่างหนักในแต่ละวันอาจไม่ได้มีแรงเหลือพอสำหรับกิจกรรมทางเพศมากนัก อย่างน้อยก็สำหรับชาวนาเยอรมันและฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่การกอดจูบลูบไล้ไม่เป็นที่นิยม การมีเพศสัมพันธ์ในหมู่คนที่ออกเรือนไปแล้วก็ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ความพึงใจจากการได้สัมผัสเรือนร่างกันและกันจึงเกิดขึ้นแต่ในหมู่อภิชนเท่านั้น เห็นได้ชัดจากบรรดาสุภาพสตรีชั้นสูงทั้งหลายที่สามารถมีความสุขได้จากการมีสัมพันธ์ทางเพศโดยไม่ต้องแบกรับภาระทำงานบ้าน การเลี้ยงดูบุตรหลาน หรือมีหน้าที่การงานใดๆ ให้ต้องรับผิดชอบ
การมีเสรีภาพในความรักของยุคก่อนสมัยใหม่จึงอาจไม่ใช่ค่านิยมที่แพร่หลายโดยทั่วไป แต่ถูกจำกัดไว้สำหรับบางกลุ่ม หรือเป็นเสรีชนตามความหมายแบบยุคกลาง อันหมายถึงกลุ่มคนที่มีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเองสามารถออกกฎเกณฑ์เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวเอง
ความรักแบบคำนึงถึงผลประโยชน์จึงเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับความรักแบบโรแมนติกซึ่งเป็นเรื่องเสรีภาพของหัวใจมาโดยตลอด
ผลงานชุด Marriage A-la-Mode (1743-45) ของจิตรกรชาวอังกฤษ วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) ก็ได้วิจารณ์การแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 18 เอาไว้ โดยเริ่มตั้งแต่การจับคู่ดูตัว การตระเตรียมงานจัดเลี้ยงฟู่ฟ่า ชีวิตหลังการสมรสที่ไร้เสน่หาต่อกัน อันนำไปสู่การนอกใจ การทะเลาะวิวาท หย่าร้าง และการฆ่าตัวตายของฝ่ายหญิง
ผลงานของโฮการ์ธชุดนี้มีเป้าหมายเสียดสีสังคมชั้นสูงในเวลานั้น และยังเป็นการชี้เตือนให้เราเห็นถึงความสำคัญของการเลือกความรักก่อนผลประโยชน์ ซึ่งนี่เป็นใจกลางความคิดของความรักแบบโรแมนติกที่จะมีบทบาทแพร่หลายในเวลาต่อมา
ความรักแบบโรแมนติกเป็นการผนวกรวมกันของความรักด้วยหัวใจเข้ากับภาพฝัน (Fantasy) ที่บางคนเชื่อว่าเป็นผลิตผลของนวนิยายสะเทือนอารมณ์ ซึ่งตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายนับจากปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะยกย่องให้ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญาที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าความรู้สึก หรือความนึกคิดจินตนาการ แต่กลายเป็นว่านักประวัติศาสตร์สังคมได้ย้อนกลับไปศึกษาแล้วพบว่า ศตวรรษที่ 18 นั้นกลับเป็นยุคที่นักคิดและปัญญาชนจำนวนใช้ความนึกคิดจินตนาการและการสร้างภาพฝันมากที่สุด
ธีโอดอร์ อดอร์โน่ (Theodor Adorno) ได้ชี้ให้เราเห็นว่า แม้แต่ผลงานชิ้นสำคัญที่ว่าด้วยแรงงานและการผลิตของนักปรัชญาสังคมอย่างแซงต์-ซิมง (Saint-Simon) หรือนักคิดคนสำคัญของฝรั่งเศสอย่างดล็องแบรต์ (D’Alembert) ก็ถือกำเนิดขึ้นจากความฟุ้งฝันมากกว่าจะเป็นงานศึกษาสังคมบนข้อเท็จจริง
ความฟุ้งฝันนี้เองสอดคล้องกับการเติบโตขึ้นของแนวคิดทางด้านสุนทรียศาสตร์ ดนตรี ศิลปกรรมที่ค่อยๆ แพร่ขยายออกไปสู่วัฒนธรรมมวลชน เช่น วรรณกรรมประโลมโลกย์ที่ได้กลายเป็นสินค้าขายดีที่ว่ากันว่ามีผู้อ่านไม่น้อยไปกว่าสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ หรือเป็นดังที่มาร์กาเรต โคเฮน (Margaret Cohen) ได้กล่าวไว้ในงาน Sentimental Communites ว่า การสร้างความรู้สึกร่วม หรือชุมชนในจินตนากรรม (Imagined Community) ของปัจเจกที่อยู่ห่างไกลด้วยระบบทุนนิยมการพิมพ์นั้นอาจเกิดขึ้นมาจากความแพร่หลายของนวนิยายสะเทือนอารมณ์ที่แพร่หลายทั้งในหมู่ผู้ที่อ่านหนังสือได้ หรือบรรดาคนที่รอฟังคนอ่านให้ฟัง
แต่แน่นอนว่าความโรแมนติกเดิมแท้ของความรักที่ถูกนำเสนอผ่านวรรณกรรม ย่อมไม่ใช่ความรักที่สมหวัง หากเป็นหัวใจเปลืองเปล่าซึ่งแตกร้าวหรือพังทลายไปในท้ายที่สุด
จงทำตามหัวใจแม้ตอนจบจะพังทลาย
นวนิยายสะเทือนอารมณ์เล่มสำคัญอย่าง The Sorrows of Young Werther ของโยฮันน์ โวล์ฟกัง เกอเธ่ (Johann Wolfgang Goethe) ถือเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่สุดในช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 อิทธิพลของงานดังกล่าวส่งผลให้คนหนุ่มคนสาวประพฤติตัวเลียนแบบทั้งการแต่งกายไปจนถึงการก่ออัตวินิบากกรรมตามอย่างตัวเอกของเรื่อง
ความรักในโลกสมัยใหม่ หรือโดยเฉพาะความรักโรแมนติกจึงเป็นไปอย่างที่โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) กล่าวไว้คือ “ไม่มีความรักใดที่ไม่มีใครเหมือน”
ความรักคือการลอกเลียนแบบทำซ้ำ ซึ่งในช่วงที่นวนิยายรักโรแมนติกแพร่หลายก็มักจะถูกโจมตีหรือประณามว่าบ่อนทำลายศีลธรรมอันดีงามของสังคม เช่นกรณีของนวนิยายเรื่องดังที่ชื่อ Madame Bovary ของกุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) ที่ภายหลังจากทยอยตีพิมพ์ในวารสารวรรณกรรม Revue de Paris ก็ได้ถูกฟ้องร้องในข้อหาลามกอนาจาร แต่เมื่อผ่านพ้นการต่อสู้คดี นวนิยายเล่มนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่สุดของฝรั่งเศส
Madame Bovary เป็นเรื่องราวของเอ็มมา โบวารี หญิงสาวที่เตลิดออกนอกลู่นอกทางไปเพราะอ่านนิยายรักมากเกินไป การแสวงหาความรักอันน่าตื่นเต้นเร้ารึงใจได้ทำให้เธอคบชู้สู่ชาย และใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยจนก่อหนี้สิน และฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด นวนิยายเรื่องนี้จบลงด้วยความหดหู่สิ้นหวัง ชาร์ลส์ โบวารี ผู้เป็นสามีของเธอฆ่าตัวตายภายหลังจากได้อ่านจดหมายที่ชู้รักทั้งหลาย ส่วนแบร์ธลูกสาวของเอ็มมาก็ถูกส่งตัวไปอยู่กับญาติที่ยากจนซึ่งทำให้เธอต้องทำงานตั้งแต่เด็ก
เอ็มมาใน Madame Bovary ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่แสวงหาความรักแบบโรแมนติก เมื่อภายหลังจากงานเลี้ยงเต้นรำ เธอได้ค้นพบว่าชีวิตแต่งงาน และการเป็นแม่ของเธอไม่ใช่สิ่งที่เธอปรารถนา ความรักแท้เช่นที่เธอเคยอ่านในนวนิยายอยู่ที่อื่น
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ครั้นเมื่อเธอได้มีสัมพันธ์กับโรดอร์ฟเป็นครั้งแรก เธอกลับรู้สึกว่านี่เป็นประสบการณ์แห่งความรัก ไม่ใช่การนอกใจแต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นไปในครรลองเดียวกับนวนิยายอัศวิน (chivalric fiction) ที่ความรักเกิดขึ้นเมื่ออัศวินผู้เป็นตัวเอกของเรื่องหลงรักเจ้าหญิงที่มีคู่หมั้นหมายหรือคู่ครองอยู่แล้ว
ความน่าสนใจจึงอยู่ในคำให้การของโฟลแบรต์ (ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี) ที่เขาได้อธิบายในทำนองว่าว่า Madame Bovary ถืออุทาหรณ์สอนใจหญิงสาวไม่ให้เตลิดไปกับภาพฝัน หรือเป็นนวนิยายสอนศีลธรรมรูปแบบหนึ่ง แน่นอนว่าคำอธิบายของโฟลแบรต์สอดคล้องและตรงต้องกับค่านิยมใหม่ของศตวรรษที่ 19 ที่เปลี่ยนผนวกรวมความรักโรแมนติกเข้ากับการแต่งงานและมีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีแห่งการบริโภค อันเป็นรากฐานสำคัญของสถาปัตย์แห่งทางเลือก
อ้างอิง:
- Eva Illouz, Why Love Hurts?, (London: Polity Press, 2012)
- Fernand Braudel, A History of Civilizations, translated by Richard Mayne (London: Penguin Books, 1995), 316.
- Anthony Giddens, The Transformation of Intimacy: Sexuality, Love and Eroticism in Modern Societies, (California, Stanford University Press, 1992), 38-39.
- Theodor W. Adorno, Hans Albert, Ralf Dahrendorf, Jürgen Habermas, Herald Pilot, Karl R. Popper, Translated by Glyn Adey and David Frisby The Positivist Dispute in German Sociology, (London: Heinemann, 1977), 51