ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่เป็นประเด็นดังที่สุดจากฝั่งอเมริกาก็คงหนีไม่พ้นข่าวสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกามีมติถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ฐานใช้อำนาจในทางมิชอบและขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส ทำให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่สามที่เผชิญชะตากรรมนี้

ในช่วงที่ข่าวนี้เป็นหัวข้อครึกโครม คำๆ หนึ่งที่เราจะพบเจอได้ในข่าวภาษาอังกฤษทุกชิ้นที่เขียนถึงประเด็นนี้ก็คือคำว่า impeachment หมายถึง การถอดถอน แม้หลายคนอาจจะเคยพบเจอหรือใช้คำนี้มาก่อนแล้ว แต่ที่น่าจะมีคนทราบไม่มากก็คือคำนี้มีที่มาจากคำที่หมายถึง เท้า (ส่วนเกี่ยวกับเท้าอย่างไร อดใจรออ่านด้านล่างนะครับ) ทำให้ผมนึกถึงคำในภาษาอังกฤษอีกหลายคำที่เมื่อดูเผินๆ แล้วเราอาจไม่รู้เลยว่ามีที่มาเกี่ยวกับเท้า

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกคำว่า impeachment และสำรวจศัพท์ภาษาอังกฤษคำอื่นๆ ที่มีเท้าซ่อนอยู่อย่างแนบเนียน

Impeachment – ตรวนข้อเท้า

แม้ว่าเราจะเห็น peach ในคำนี้ แต่คำว่า impeachment ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกพีชแต่อย่างใด เพราะหากสืบสาวกลับไปเบ้าหน้าดั้งเดิม จะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า impedicare ในภาษาละติน หมายถึง ใส่ตรวนข้อเท้าหรือขัดขวาง (เพราะตรวนข้อเท้าขัดขวางไม่ให้เคลื่อนที่ได้โดยสะดวก) มาจาก in- ที่แปลว่า ใน รวมกับ pedica ที่หมายถึง ตรวนข้อเท้า (ซึ่ง pedica นี้มาจากคำว่า pes ที่แปลว่า เท้า ในภาษาละติน อีกทอดหนึ่ง) แต่คำว่า impedicare นี้ถูกภาษาฝรั่งเศสยืมไปใช้จนเสียงเพี้ยนไปเป็น empeach ก่อนที่ภาษาอังกฤษจะไปยืมกลับมาเป็นคำว่า impeach และสร้างรูปคำนามว่า impeachment

เดิมทีภาษาอังกฤษใช้คำนี้ในความหมายว่า ขัดขวาง ชะลอ (ชวนให้นึกถึงคำว่า สกัดขา ในภาษาไทย) แต่ในช่วงยุคศตวรรษที่ 14 คนเริ่มไม่เห็นว่าคำนี้มาจาก impedicare ในภาษาละตินและคิดไปว่าที่มาคือคำว่า impetere ในภาษาละติน ซึ่งหมายถึง โจมตี (เป็นที่มาของคำว่า impetus ที่แปลว่า แรงผลักดัน และ impetuous ที่หมายถึง หุนหันพลันแล่น ในภาษาอังกฤษ) ด้วยเหตุนี้ คนจึงเริ่มใช้คำว่า impeach หมายถึง ตั้งข้อหา (ซึ่งก็เป็นการโจมตีอย่างหนึ่ง) ก่อนที่ความหมายจะพัฒนามาเรื่อยจนหมายถึง การตั้งข้อหาถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงออกจากตำแหน่งนั่นเอง

ย้อนกลับไปที่คำว่า impedicare ในภาษาละตินที่เป็นต้นตอของคำว่า impeachment อีกนิด คำนี้ยังมีญาติสายตรงคำอื่นในภาษาอังกฤษด้วย นั่นก็คือ impede ที่แปลว่า ขัดขวาง (เช่น The project was impeded by several unforeseen factors. คือ ปัจจัยไม่คาดคิดหลายอย่างส่งผลให้โครงการเดินหน้าช้าลง) และ impediment ที่แปลว่า อุปสรรค (เช่น speech impediment คือ ความผิดปกติในการพูด เช่น อาการติดอ่าง เป็นต้น) ซึ่งพบในซอนเน็ตบทที่ 116 อันแสนโด่งดังของเชคสเปียร์ด้วย (“Let me not to the marriage of true minds/ Admit impediments. …”)

Pedigree – เท้านกกระเรียน

แม้ว่าหลายคนได้ยินคำนี้แล้วอาจจะคิดถึงอาหารหมาก่อนเป็นอย่างแรก แต่อันที่จริงแล้วคำนี้หมายถึง แผนผังตระกูลที่แสดงการสืบเชื้อสายว่าใครเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ดังนั้น ถ้าพูดว่า She had an aristocratic pedigree. ก็จะหมายถึง คนคนนี้สืบเชื้อสายจากขุนน้ำขุนนาง ไม่ใช่คนไม่มีหัวนอนปลายเท้า ส่วนที่มาใช้กับอาหารสัตว์นี้ก็น่าจะเป็นเมื่อคำนี้ใช้กับสัตว์จะหมายถึง ประวัติการผสมพันธุ์ว่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ดีขนาดไหน เช่น My dog Max has an excellent pedigree. ก็คือ แม็กซ์เป็นน้องหมาพันธุ์ดี พ่อแม่อาจจะเป็นพันธุ์แท้หรือไปประกวดชนะรางวัลมา

ส่วนที่แผนผังตระกูลมาเกี่ยวกับเท้าได้นั้น ก็เพราะแผนผังเหล่านี้มักลากเป็นเส้นลงมาจากด้านบนและแตกเป็นเส้นย่อยๆ ด้านล่าง ชวนให้คนโบราณจินตนาการกว้างไกลนึกถึงเท้าของนกกระเรียน แผนผังแบบนี้จึงได้ชื่อว่า pied de gru ในภาษาฝรั่งเศสเก่า หมายถึง เท้านกกระเรียน มาจาก pied ที่แปลว่า เท้า และ gru ที่แปลว่า นกกระเรียน (เป็นญาติกับคำว่า crane ที่แปลว่า นกกระเรียน ในภาษาอังกฤษด้วย) ในเวลาต่อมา ภาษาอังกฤษก็ยืมคำนี้เข้ามาและใช้ไปใช้มาจนกลายมาเป็นคำว่า pedigree อย่างในปัจจุบันนั่นเอง

Pajamas – กางเกงคลุมขา

คำนี้ในภาษาอังกฤษปัจจุบันใช้หมายถึง ชุดนอน โดยเฉพาะประเภทที่เสื้อและกางเกงเข้าชุดกัน เป็นคำที่ภาษาอังกฤษยืมไปจากภาษาฮินดีในราวช่วงศตวรรษที่ 19 สมัยที่สหราชอาณาจักรเข้ามาตั้งอาณานิคมในอินเดีย คำต้นทางในภาษาฮินดีนั้นคือคำว่า paijāmā (पैजामा) ซึ่งมาจากฮินดียืมมาจากคำว่า pāy-jāmeh (پایجامه) ในภาษาเปอร์เซียอีกทอด มาจาก pāy หมายถึง ขา และ jāmeh หมายถึง เสื้อผ้าอาภรณ์ ประกอบรวมได้ความหมายว่า อาภรณ์สำหรับขา หรือ กางเกง นั่นเอง คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกกางเกงหลวมๆ ที่ผูกด้วยเชือกบริเวณเอว ที่ชาวมุสลิมในอินเดียมักสวมใส่ทั้งระหว่างวันและเมื่อเข้านอน ชาวยุโรปที่เห็นว่าชาวมุสลิมใส่กางเกงแบบแม้แต่ตอนนอน ก็เลยลองเอาไปใส่นอนบ้าง จนไปๆ มาๆ คำว่า pajamas ก็ถูกใช้หมายถึงชุดนอนเต็มตัวทั้งท่อนบนและท่อนล่างแบบในปัจจุบันนั่นเอง (ปัจจุบันถ้าจะเรียกแต่กางเกงนอน ก็อาจจะพูดว่า pajamas bottom ส่วนบนเรียก pajamas jacket)

ที่น่าสนใจก็คือคำว่า pajamas นี้ส่วนใหญ่จะใช้แบบเติม -s ข้างท้ายเป็นพหูพจน์เสมอ คล้ายๆ กับของที่มีลักษณะเป็นคู่อย่าง trousers ด้วยและมักเรียกย่อๆ ว่า PJs (เช่น My PJs are in the bottom drawer. ก็คือ ชุดนอนอยู่ในลิ้นชักชั้นล่าง) นอกจากนั้นยังมีวิธีสะกดสองแบบ คือฝั่งอังกฤษสะกดว่า pyjamas และฝั่งอเมริกันสะกดว่า pajamas

Trapezoid – โต๊ะสี่ขา

คำนี้เป็นคำที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับคนที่เรียกคณิตศาสตร์ไม่น้อยเพราะเป็นอีกคำหนึ่งที่ฝั่งอเมริกันและอังกฤษใช้ไม่ตรงกัน ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน คำว่า trapezoid จะหมายถึง สี่เหลี่ยมคางหมู (มีสองด้านที่ขนานกัน) แต่ฝั่งอังกฤษจะเรียกสี่เหลี่ยมแบบนี้ว่า trapezium ในทางกลับกัน แต่ปัญหามาเกิดตรงที่ว่า ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันก็ดันใช้คำว่า trapezium ด้วย แต่ใช้หมายถึง สี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า (ไม่มีด้านไหนขนานกันเลย) ซึ่งฝั่งอังกฤษเรียกว่า irregular quadrilateral

แต่ไม่ว่าจะใช้คำไหนเรียกรูปทรงไหน ทั้ง trapezoid และ trapezium ก็ต่างมาจากคำว่า trapezion ในภาษากรีก หมายถึง โต๊ะจิ๋ว ประกอบจาก tra- หมายถึง สี่ รวมกับ peza ที่แปลว่า ขา (เพราะโต๊ะส่วนใหญ่มีสี่ขา)

คำว่า trapezium นี้ยังเป็นที่มาของคำว่า trapeze ที่หมายถึง ชิงช้าสูงสำหรับแสดงกายกรรม ซึ่งปกติมักทำขึ้นด้วยการเอาท่อนเหล็กมาผูกเชือกที่ปลายทั้งสองแล้วห้อยลงมาจากเพดาน เนื่องจากชิงช้าแบบนี้เมื่อมองแล้วหน้าตาเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู เลยเรียกว่า trapeze ส่วนนักแสดงกายกรรมที่แสดงบนชิงช้าแบบนี้ก็จะเรียกว่า trapeze artist

อันที่จริงแล้ว คำว่า trapezoid หรือ trapezium ยังมาเกี่ยวข้องกับกายวิภาคของมนุษย์ด้วย ในร่างกายของเรามีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ที่แผ่ตั้งแต่บริเวณท้ายทอยไปถึงสะบักและแผ่ลงไปถึงกลางหลัง เมื่อมองแล้วรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู (ฐานของสี่เหลี่ยมคือตั้งแต่ต้นคอลงไปถึงกลางหลัง) มีชื่อเรียกสั้นๆ ในบรรดาพวกเล่นเวทว่า traps

Pilot – เพลาคัดท้ายเหมือนเท้าของเรือ

แม้นักบินจะทำอาชีพควบคุมเครื่องบินบนท้องฟ้า แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่าหากสืบสาวกลับไปแล้ว คำว่า pilot กลับมีที่มาจากท้องทะเล แถมยังเกี่ยวข้องกับเท้าอีกด้วย

ในภาษากรีก มีคำว่า pedon หมายถึง ไม้พายหรือหางเสือ มาจากคำว่า pous ที่แปลว่าเท้า เพราะไม้พายและหางเสือเปรียบได้กับเท้าที่นำพาเรือให้เคลื่อนไปข้างหน้า คำว่า pedon นี้ทำให้เกิดคำว่า pedotes ในภาษากรีก หมายถึง คนคัดท้ายเรือ นายท้าย ซึ่งในเวลาต่อมา ชาวอิตาเลียนได้ยืมไปใช้จนเสียงเพี้ยนไปเป็น pilota ก่อนที่คำนี้จะเดินทางผ่านภาษาฝรั่งเศสมาสู่ภาษาอังกฤษในรูปคำว่า pilot

ต่อมาภายหลัง เมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องบิน จึงเอาคำที่ใช้เรียกคนควบคุมทิศทางเรือมาเรียกคนขับ ‘เรือบิน’ ด้วย ทำให้ pilot มามีความหมายว่า นักบิน ดังเช่นทุกวันนี้

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คำว่า  pilot ยังใช้เป็นกริยาได้ด้วย หมายถึง นำร่อง เช่น The program was piloted in Sudan. ก็คือ โครงการนี้ทดลองนำร่องในซูดานก่อน หรือจะใช้เป็นคุณศัพท์เพื่อใช้เรียกของที่ทำเพื่อนำร่องก่อนขยายสเกลก็ได้ เช่น a pilot project (โครงการนำร่อง) หรือ a pilot episode ก็คือรายการโทรทัศน์ตอนแรกที่ทดลองฉายเพื่อดูเสียงตอบรับและพิจารณาว่าควรถ่ายทำตอนที่เหลือออกมาฉายหรือไม่ (เรียก pilot เฉยๆ ก็ได้)

บรรณานุกรม

Bibliography

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of English down the Ages: Words & Phrases Born out of Historical Events Great & Small. Kyle Cathie: London, 2005.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Merriam-Webster Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

Sims, Michael. Adam’s Navel: A Natural and Cultural History of the Human Form. Penguin Books: New York, 2003.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

 

Tags: , , , ,