การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนเป็นช่วงให้ร่างกายได้รีเซ็ตตัวเอง พักผ่อนฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กำจัดสารพิษต่างๆ เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ยังทำงานได้ตามปกติ เมื่อตื่นมาแล้วจึงหายเหนื่อย รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น หากไม่ได้นอนแล้ว ร่างกายก็จะเริ่มทำงานไม่ปกติ เหนื่อยเพลีย ตอบสนองช้า และหากไม่ได้นอนเลยติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจถึงขนาดเสียชีวิตได้
ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการนอนหลับนี้เห็นได้จากที่มนุษย์เราถูกออกแบบมาให้ใช้เวลาราวหนึ่งในสามของอายุขัยไปกับการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติพันธุ์ไหนก็ล้วนต้องนอนทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่เกินจริงแต่อย่างใดหากจะกล่าวว่าการนอนหลับเป็นประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ทุกคนบนโลกอย่างแท้จริง
ด้วยความที่การนอนหลับเป็นประสบการณ์พื้นฐานของมนุษย์ จึงไม่แปลกที่การนอนหลับจะมาโผล่ในสำนวนและสุภาษิตต่างๆ มากมายในภาษาอังกฤษ
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีสำนวนน่าสนใจอะไรบ้างในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับการนอนหลับ
Sleep with one eye open
แม้สัตว์บางประเภท เช่น ปลาและแมลงต่างๆ จะไม่หลับตาระหว่างนอน (เพราะไม่มีเปลือกตาให้ปิดลงมา) แต่มนุษย์เราโดยปกติแล้วจะหลับตาทั้งสองข้างเวลานอน ดังนั้น หากเรานอนแบบหลับตาแค่ข้างเดียว ส่วนตาอีกข้างต้องลืมไว้เพื่อสอดส่องสิ่งรอบตัว ก็แสดงว่าน่าจะมีอะไรให้เราต้องคอยระแวงและเป็นเหตุให้เราหลับตาทั้งสองข้างไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงหมายถึง ระแวดระวัง ไม่ปล่อยตัวให้เผลอแม้ยามหลับ โดยปกติแล้วมักใช้ในกรณีที่เราไปทำอะไรใครไว้แล้วกลัวว่าเขาจะมาล้างแค้นเราทีเผลอ เช่น หากเราไปรู้เข้าว่าเพื่อนของเราไปเที่ยวโพนทะนาความลับของเราจนเราเสียหาย เราก็อาจจะพูดขู่ว่า You can start sleeping with one eye open because I’m gonna get you back. ความหมายก็คือ อย่าให้เผลอนะ เอาคืนแน่
Sleep on it
สำนวนนี้ไม่ได้บอกให้ไปนอนทับอะไรแต่อย่างใด แต่หมายถึง ไปนอนคิดดูก่อน ใช้ในกรณีที่คนพูดต้องการเวลาครุ่นคิดก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ตัวอย่างเช่น หากมีคนเสนอตำแหน่งงานให้เรา แต่เรายังไม่พร้อมตัดสินใจรับเลยในขณะนั้นเพราะงานนี้มีทั้งข้อเสียและข้อดี ก็อาจจะตอบไปว่า Can I sleep on it and tell you my decision next week? ก็คือ ขอไปนอนคิดดูก่อนและให้คำตอบสัปดาห์หน้าได้ไหม หรือหากเราเป็นฝ่ายที่เสนองานให้แล้วเห็นสีหน้าอีกฝ่ายดูอึดอัดตัดสินใจไม่ถูก ก็อาจจะพูดว่า Why don’t you sleep on it and let me know what you decide later? ก็คือ ไปนอนคิดดูก่อนแล้วค่อยมาบอกแล้วกัน
To be able to do something in your sleep
ลองจินตนาการดูว่าหากเราเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้าร้านข้าวไข่เจียวที่ต้องเจียวไข่วันละหลายร้อยฟอง การเจียวไข่คงเป็นเรื่องที่ง่ายดายมากสำหรับเรา มือหยิบไข่ขึ้นตอกและตีเป็นอัตโนมัติ กล้ามเนื้อแขนและข้อมือสั่งการให้หยิบตะหลิวพลิกไข่ในกระทะได้อย่างแม่นยำเป็นธรรมชาติ เรียกได้ว่าชำนาญชนิดที่ว่าหลับตาก็ยังทำได้อย่างง่ายดาย ความชำนาญระดับนี้ในภาษาอังกฤษอาจพูดว่า to be able to do it in your sleep หรือ ให้ทำตอนหลับก็ยังได้ นั่นเอง ตัวอย่างเช่น I make hundreds of omelets each day. I can make it in my sleep. ก็คือ วันๆ เจียวไข่เป็นร้อยๆ ฟอง ให้เจียวระหว่างหลับอยู่ก็ยังได้เลย
อีกสำนวนหนึ่งที่เราใช้อธิบายว่าเราสามารถทำสิ่งหนึ่งได้อย่างง่ายดายเพราะชำนาญมากแล้วก็คือ be able to do with your eyes closed หมายถึง หลับตาทำก็ยังได้ เช่น หากเรารู้ถนนหนทางแถวบ้านเราแบบปรุโปร่งชนิดที่หลับตาขับได้ไม่หลง ก็อาจจะบอกว่า I could drive in this area with my eyes closed.
Go to sleep
ปกติแล้ว go to sleep จะหมายถึง เข้านอน (เช่น It’s time to go to sleep. คือ ถึงเวลาเข้านอนแล้ว) คล้ายๆ กับ go to bed แต่หากเราไม่ได้ใช้กับบุคคลแต่นำมาใช้กับอวัยวะอย่างแขนและขา จะหมายถึง ชา หมดความรู้สึก เช่น Falling asleep in each other’s arms might be romantic, but if you don’t do it right, your arms might go to sleep very soon. ก็คือ การนอนกอดกันมันก็โรแมนติกดีอยู่หรอก แต่ท่านอนผิดท่า แป๊บเดียวแขนก็อาจจะชาแล้ว
Lose sleep over something
ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้วก็คงต้องมีเรื่องให้เครียดหรือกังวลเป็นธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างแฟนตอบไลน์ช้าไปจนถึงเรื่องใหญ่โตอย่างขยะพลาสติกและภาวะโลกร้อน ใครโชคดีหน่อยก็จะสามารถปล่อยวางเรื่องกังวลใจเหล่านี้ก่อนกระโดดขึ้นเตียงและนอนหลับฝันดีได้ แต่คนอีกจำนวนมากก็อับโชคตรงที่ไม่สามารถสลัดเรื่องชวนเครียดออกจากสมองก่อนหัวถึงหมอนได้ ทำให้พอพยายามข่มตานอน เรื่องราวต่างๆ ก็ผุดขึ้นมาให้สมองขบคิดจนทำให้สมองไม่ได้พักผ่อนและหลับไม่ลง
การเก็บเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปคิดมากและกังวลจนอาจไม่เป็นอันหลับอันนอนแบบนี้ ภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า lose sleep over something โดยมากแล้วมักใช้ในเชิงปฏิเสธเพื่อบอกคนที่เราคุยด้วยว่า อย่าเก็บไปคิดมาก เรื่องอันที่จริงแล้วไม่ได้มีอะไรน่ากังวล เช่น I know you might feel like you didn’t do well on the quiz, but I wouldn’t lose sleep over it. There are still many more to come! ก็คือ รู้ว่ารู้สึกว่าทำควิซได้ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ไม่ต้องเก็บไปกังวลหรอกนะ ยังเหลือควิซอีกตั้งหลายรอบ
You’ve made your bed, now lie on it.
สุภาษิตนี้ว่ากันว่าใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในสมัยนั้นไม่ได้มีฟูกสำเร็จรูปที่หาซื้อได้สะดวกอย่างในยุคปัจจุบัน คนยุคนั้นต้องนำวัสดุต่างๆ มาทำที่นอนเอง หากใครขยันลงทุนหาวัสดุทนทานนุ่มสบายมาทำเตียง ก็จะได้นอนเตียงสบายๆ แต่หากใครขี้เกียจ ทำที่นอนแบบส่งๆ มีหญ้ามีฟางอะไรก็เอามาปูๆ ยัดๆ ถึงเวลานอนก็ต้องนอนบนเตียงที่ไม่ค่อยสบาย ยุบเว้าเป็นแอ่ง นอนแล้วปวดกระดูกกระเดี้ยว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นสุภาษิตที่ You’ve made your bed, now lie in it. ก็คือ ตัดสินใจทำอะไรลงไปก็ต้องยอมรับผลจากการกระทำของตัวเองด้วย ปกติแล้วมักใช้ตอกย้ำตอนที่ผลกระทบนั้นมาถึงตัวแล้ว เช่น If you hadn’t put your foot in your mouth, the scandal would have died down. Well, you’ve made your bed, now lie on it. ก็คือ ถ้าแกไม่ได้ปากหมา ป่านนี้เรื่องฉาวก็คงซาไปแล้ว ดันทำตัวเองก็ต้องรับผลนะ
Let sleeping dogs lie.
สุภาษิตนี้เป็นอีกหนึ่งสุภาษิตโบราณในภาษาอังกฤษ ใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 แปลความหมายตรงตัวได้ว่า หมาหลับอยู่ดีๆ ก็อย่าไปปลุก ทำนองว่าถ้าไปทำหมาตื่น มันอาจจะแว้งมากัดเราได้ แต่แน่นอนว่าสุภาษิตนี้ไม่ใช่แค่คำเตือนของคนโบร่ำโบราณให้เราอย่าไปยุ่งกับหมา แต่เป็นการเตือนว่าเรื่องราวที่ตอนนี้สงบนิ่งดี ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหา ก็อย่าเข้าไปยุ่งวุ่นวายหรือฟื้นฝอยหาตะเข็บจนเกิดเป็นเรื่อง พูดแบบไทยๆ ได้อีกอย่างว่า อย่ากวนน้ำให้ขุ่น นั่นเอง เช่น For her own peace of mind, she decided not to mention the argument they had and let sleeping dogs lie. ก็คือ เธอตัดสินใจไม่พูดเรื่องที่เขาทะเลาะกันจะได้ไม่เป็นการกวนน้ำให้ขุ่น เพื่อความสบายใจของตัวเธอเอง
หากใครเป็นแฟนเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็อาจจะรู้สึกว่าสุภาษิตนี้ฟังดูคุ้นหูชอบกล นั่นก็เพราะคำขวัญของโรงเรียนฮอกวอตส์ที่ว่า Draco dormiens nunquam titillandus. หรือ อย่าแหย่มังกรหลับ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก Let sleeping dogs lie. นั่นเอง
บรรณานุกรม
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.
Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.
Tags: ภาษาอังกฤษ, การนอน, สำนวนภาษาอังกฤษ