ตั้งแต่ที่โคโรนาไวรัสเริ่มระบาดรุนแรงในประเทศไทย บรรดาบริษัท ร้านค้า ร้านอาหาร ต่างก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันทุกหย่อมหญ้า บางเจ้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอด แต่บางเจ้าทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนต้องปิดกิจการไปก็มี
แน่นอนว่าผลกระทบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะบรรดาลูกจ้างแทบทุกวงการเองก็โดนผลพวงหนังหน่วงเช่นเดียวกัน เช่น ถูกลดเงินเดือน ให้พักงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือกระทั่งให้ออกจากงาน ส่งผลให้รายได้ที่เคยได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอหยุดชะงักแบบไม่ทันให้ตั้งตัว สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อาศัยรายได้แบบรายวันหรือมีภาระความรับผิดชอบทางการเงินอย่างแสนสาหัส
ในสภาวการณ์แบบนี้ คนจำนวนไม่น้อยจึงจำเป็นต้องอดมื้อกินมื้อหรืออาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล (ซึ่งจะได้หรือเปล่าก็ต้องไปวัดดวงกันเอาเอง) กัดฟันเพื่อให้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ (นี่ยังไม่รวมไปถึงบางคนอาจไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าและต้องออกมานอนตามถนน อาศัยอาหารจากผู้ที่นำมาช่วยเหลือ หรือผู้ที่สถานการณ์บีบคั้นจนรู้สึกมืดแปดด้านและเลือกจบชีวิตลง)
ในสัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่าภาษาอังกฤษมีสำนวนอะไรที่ใช้พูดถึงภาวะแร้นแค้นได้บ้าง
Breadline
คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียก แถวคนที่มายืนรอรับอาหารที่มีคนนำมาแจก ที่มาของคำนี้ย้อนกลับไปถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้คนอดอยากในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจึงนำขนมปังมาแจกให้คนมาเข้าแถวรับ
ทั้งนี้ ถึงแม้จะเขียนว่า breadline แต่สิ่งที่แจกไม่จำเป็นต้องเป็นขนมปังอย่างเดียว แต่เป็นอาหารอย่างอื่นก็ได้ คล้ายๆ กับที่เวลาคนไทยพูดว่ากินข้าวก็ไม่ได้หมายถึงกินแต่ข้าว แต่หมายถึง กินอาหาร
ในปัจจุบัน breadline มักไม่ได้ใช้หมายถึงแถวคนที่มารอรับอาหารจริงๆ แต่ใช้ในความหมายเปรียบเปรย หมายถึง ระดับรายได้ต่ำเตี้ยที่พอแค่ประทังชีวิต เช่น Those already living on the breadline are among the worst affected by the coronavirus. คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำแต่พอยังชีพอยู่แล้วจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัสครั้งนี้รุนแรงที่สุด หรือหากเราต้องการพูดถึงผู้ที่ยากจนมากๆ ก็สามารถใช้คำว่า those living below the breadline ได้
Eke out a living
คำว่า eke out ในที่นี้หมายถึง ได้มาด้วยความอย่างลำบากและได้มาในปริมาณน้อยนิดแค่พอแก้ขัดหรือให้ผ่านสถานการณ์ไปได้ เช่น He eked out a win in the tournament. ก็คือ ชนะทัวร์นาเมนต์แบบฉิวเฉียด หรือ My business eked out a small gain last year, but I’m not sure if it will survive this year. คือ ปีที่แล้วธุรกิจยังพอได้กำไรมานิดหน่อย แต่ปีนี้ไม่รู้จะรอดไหม
เมื่อมาใช้กับคำว่า a living หรือ an existence แล้ว จะหมายถึง ประทังชีพ อยู่รอดด้วยเงินหรืออาหารน้อยนิด เช่น Many people are eking out a living on less than 50 baht a day. หมายถึง หลายคนประทังชีวิตอยู่ทุกวันนี้ด้วยเงินไม่ถึง 50 บาทในแต่ละวัน หรือหากจะพูดว่า ทุกวันนี้แทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว ก็อาจจะพูดว่า We can barely eke out an existence these days.
อีกสำนวนที่เห็นภาพความกระเบียดกระเสียนใกล้เคียงกันคือ scrape by หรือ scrape out a living (ชาวอังกฤษจะพูดว่า scrape a living) เช่น หากคนที่บ้านขาดรายได้หมด แล้วต้องอาศัยเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทที่รัฐบาลให้ในการจุนเจือคนทั้งครอบครัว ก็อาจจะพูดว่า Because we have no income, we have to scrape by on the 5,000-baht financial aid from the government.
Live (from) hand to mouth
สำนวนนี้หมายถึง ได้เงินมาแค่พอประทังชีพ เมื่อหักค่าข้าวปลาอาหารและค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ก็หมดเกลี้ยงแล้ว ไม่เหลือให้เก็บออมหรือเอาไปใช้อย่างอื่น ออกแนวหาเช้ากินค่ำ เห็นภาพว่าเมื่อเงินอันน้อยนิดมาถึงมือปุ๊บ ก็ต้องแปลงไปเป็นอาหารใส่เข้าปากและด้วยความที่ได้เงินน้อยมาก จึงไม่เหลือใช้ทำอย่างอื่น ต้องทำงานหาเงินแค่พอประทังแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น Although she has more money than she could spend in this lifetime, the billionaire is very thrifty because she grew up living from hand to mouth. ก็คือ ถึงแม้มหาเศรษฐินีคนนี้จะมีเงินล้นฟ้าแบบชาตินี้ใช้ยังไงก็ไม่หมด แต่ก็ประหยัดสุดๆ เพราะเคยโตมาแบบมีเงินแค่พอประทังชีพ
นอกจากนั้น เรายังสามารถพูดถึงการใช้ชีวิตมีเงินแค่พอเอาชีวิตรอดแบบนี้ว่า a hand-to-mouth existence ได้ด้วย เช่น Some government officials do not seem to understand that people living a hand-to-mouth existence cannot afford to shelter in place. คือ เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่าคนที่หาเช้ากินค่ำกักตัวอยู่บ้านไม่ได้
Make ends meet
สำนวนนี้แปลได้ทำนองว่า ชักหน้าให้ถึงหลัง คือบริหารเงินให้มีพอใช้จ่ายเรื่องจำเป็นไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ไม่ได้มีเงินปรนเปรอตัวเองหรือเก็บหอมรอมริบอะไร เช่น Their incomes combined were barely enough to make ends meet. ก็คือ รายได้สองคนรวมกันยังเกือบชักหน้าไม่ถึงหลัง
สำนวนนี้มีที่มาไม่แน่ชัด บ้างก็ว่ามาจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย คือ การทำให้ผลรวมเงินที่ได้รับเข้ามาและผลรวมค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไป (ซึ่งอยู่ตอนท้ายสุดของหน้าบัญชี) กระทบกันได้พอดี พูดอีกอย่างก็คือรายจ่ายไม่เกินรายรับ แต่บ้างก็บอกว่ามาจากการตัดเสื้อ คือ หากทำให้ชายผ้าทั้งสองฝั่งมาบรรจบกัน ก็สามารถตัดเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ กล่าวคือมีเนื้อผ้าพอที่จะตัดออกมาเป็นเสื้อผ้าเป็นชิ้นเป็นอันได้
อีกสำนวนที่ความหมายเกี่ยวข้องกันคือ live paycheck to paycheck หมายถึง ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ได้รับเงินมาแค่พอใช้ให้ถึงงวดหน้าที่จะได้รับเงิน รายรับแต่ละเดือนหมดไปกับค่าใช้จ่ายต่างๆ จนทำให้เก็บเงินไม่ได้ เช่น Now that the threat of being laid off has become a real possibility, I’m feeling the precariousness of living paycheck to paycheck more acutely than ever. คือ ตอนนี้มีโอกาสถูกเลิกจ้างจริง เลยรู้สึกว่าการมีเงินใช้แบบเดือนชนเดือนเป็นชีวิตที่อันตรายเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายกว่าที่เคย
Keep the wolf from the door
ในวัฒนธรรมตะวันตก หมาป่ามักถูกมองว่าเป็นสัตว์อันตราย นิสัยดุร้าย มีความตะกละตะกลาม หิวโหยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์หรือภาพแทนของความหิวโหยอยู่เนืองๆ
ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงไม่ได้หมายถึงการป้องกันไม่ให้หมาป่าขนปุยสี่ขาตัวเป็นๆ เข้ามาบ้านได้แต่อย่างใด แต่หมายถึง การป้องกันไม่ให้ความหิวเข้ามาพรากชีวิตเราไป พูดเป็นภาษาไทยก็คือ การมีเงินแค่พอยาไส้ แค่พอซื้อข้าวกินกันตาย ตัวอย่างเช่น Although we are working 16 hours a day, we’re making only enough to keep the wolf from the door. หมายถึง แม้เราจะทำงานกันวันละ 16 ชั่วโมงแล้ว แต่ก็ได้เงินแค่พอยาไส้ให้อยู่รอดไม่อดตาย
บรรณานุกรม
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Tags: สำนวน, สำนวนภาษาอังกฤษ, ความยากจน