ตั้งแต่เกิดมา ทุกคนก็คงต้องเคยพูดเรื่องไม่จริงหรือโกหกกันบ้าง ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างกินขนมของเพื่อนแล้วไม่ยอมสารภาพ ไปจนถึงเรื่องใหญ่โตอย่างโกหกว่าไม่ได้รับส่วยหรือหลอกประชาชนว่าจะเข้ามาปราบคอร์รัปชัน

เวลาโกหกแล้ว ถ้าไม่ถูกจับได้ก็ดีไป แต่ถ้าโกหกแล้วไม่แนบเนียน ทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้จนคนจับได้ว่าไม่ได้พูดเรื่องจริง แบบนี้ก็จะนำไปสู่อาการที่เรียกว่า ‘โป๊ะแตก’ ได้ เช่นในกรณีข่าวฉาวในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ฝ่ายหญิงมายืนให้สัมภาษณ์กับสื่ออยู่หน้าศาล สารภาพว่าตนเองไม่เคยท้องกับดาราหนุ่มจริง หลังจากคนในอินเทอร์เน็ตร่วมกับจับโป๊ะยกใหญ่

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าการพูดโกหกตอแหลมีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบเรียกว่าอะไร และเมื่อถูกจับได้พูดเป็นภาษาอังกฤษอย่างไร

 

ตอแหลแบบต่างๆ

ตอแหลทั้งเพ!

ถ้าโกหกแบบไม่มีอะไรจริงแม้แต่น้อยเลย ขาวพูดเป็นดำ เลวบอกเป็นดี ก็อาจจะพูดว่า a complete lie หรือ a downright lie เช่น He said he’d never got a nose job? That’s a complete lie! ก็จะหมายถึง มันบอกว่าไม่เคยทำจมูกมาเหรอ โห พูดมาได้! หรือจะใช้คำว่า a pack of lies ก็ได้ เช่น  Her story of the romantic date night was a pack of lies! หมายถึง ที่มันบอกว่าไปออกเดทดินเนอร์หวานฉ่ำ ตอแหลทั้งเพ!

 

ตอแหลใส่ร้ายกันนี่!

ถ้าโกหกให้คนอื่นเสียๆ หายๆ มีการใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ทำนองนางร้ายในละครน้ำเน่าเมืองไทยโกหกให้พระเอกเชื่อว่านางเอกเป็นคนเลว แบบนี้จะเรียกว่า a vicious lie เช่น She said I cheated on the exam. That’s nothing but a vicious lie. ก็จะหมายถึง เขาบอกว่าฉันโกงข้อสอบ โกหกใส่ร้ายป้ายสีฉันทั้งนั้น

 

ตอแหลหน้าด้านๆ!

ส่วนถ้าโกหกหน้าด้านๆ ตั้งใจโกหกแบบไม่มีหิริโอตตัปปะแม้แต่น้อย ตอแหลได้แบบไม่สะทกสะท้านแม้มีหลักฐานทนโท่ตำตาว่าไม่ใช่เรื่องจริง แบบนี้เรียก a blatant lie หรือ a barefaced lie เช่น มีคนเห็นว่าหยิบของใช้ในสำนักงานไป พอเขามาเผชิญหน้าก็บอกว่าไม่ได้เอาไป แบบนี้ก็อาจบอกว่า That’s a blatant lie. I saw you stuffing office supplies into your bag. หรืออาจจะใช้สำนวน lie through your teeth เช่น So you were lying through your teeth when you said you didn’t know that girl, right? หมายถึง ที่บอกว่าไม่รู้จักนังนั่นนี่โกหกหน้าด้านๆ สินะ

 

ตอแหลซับซ้อน

ถ้าโกหกซ้อนหลายชั้น รายละเอียดมาเต็มเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อความสมจริง แบบนี้จะเรียก an elaborate lie เช่น โกหกเพื่อนว่ามีแฟน จัดเต็มรายละเอียดว่าคนคนนี้ชื่อเสียงเรียงนามอะไร ทำงานที่ไหน ส่วนสูงเท่าไหร่ มีการอยู่ๆ เดินออกไปรับสายโทรศัพท์ทั้งที่ไม่มีใครโทรมาเป็นครั้งคราวเพื่อความสมจริง บางทีแคปหน้าจอแชทมาอวดเพื่อน แต่จริงๆ แล้วเป็นอีกแอคเคานท์ที่สร้างขึ้นมาเอง แบบนี้เราก็จะพูดได้ว่า That is one hell of an elaborate lie. ก็คือ โห ตอแหลดีเทลเยอะมาก หรืออาจจะใช้คำว่า a web of lies ก็ได้ ให้ภาพเหมือนแมงมุมถักทอเส้นใยซับซ้อน ดังนั้น ใครเริ่มโกหกแล้วลงจากหลังเสือไม่ได้ ต้องสร้างเรื่องโกหกต่อไปเรื่อยๆ จนซับซ้อนซ่อนเงื่อน ก็อาจจะบอกว่า He is caught in his own web of lies.

 

ตอแหลลงตับ

ส่วนคนที่โกหกเป็นสันดาน ตอแหลเป็นนิจศีล เรื่องโป้ปดมดเท็จพรั่งพรูออกจากปากตามธรรมชาติอย่างกับน้ำป่าไหลหลาก มีความต้องการส่วนลึกบันดาลให้พูดโกหก แบบนี้เราจะเรียกว่า a pathological liar ทำนองว่าเป็นโรคตอแหลลงตับ ตัวอย่างเช่น He’s a pathological liar, and you should take everything he says with a grain of salt. ก็จะหมายถึง อีนี่มันตอแหลลงตับ มันพูดอะไรก็อย่าไปเชื่อมันซะหมดล่ะ ใช้กาลามสูตรบ้าง ส่วนพวกนี้ก็จะเป็นแนวปากพาโกหกไปเรื่อย บางครั้งไม่ได้มีความจำเป็นต้องโกหกแต่ก็โกหกเพราะติดเป็นนิสัยไปแล้ว ก็จะเรียกว่า a compulsive liar หรือถ้าจะเน้นความลงตับแบบแก้ไขไม่ได้ ความตอแหลเกาะคราบแน่นเป็นสันดาน ก็อาจจะเรียกว่า a chronic liar หรือ an inveterate liar

 

ตอแหลแนบเนียน

บางคนก็ถักทอเรื่องโกหกได้อย่างสมจริง สร้างรายละเอียดได้แนบเนียนจนคนฟังหลงเชื่อ คนประเภทนี้เรียกง่ายๆ ก็คือ a good liar หรือหากอยากเรียกให้ไฮโซกว่านั้นก็คือ an accomplished liar หรือ a convincing liar ก็ได้ เช่น I had no idea she made the whole thing up? Damn! She’s a convincing liar. ก็จะหมายถึง ดูไม่ออกเลยว่ามโนเรื่องขึ้นมาล้วนๆ โห ตอแหลแนบเนียนมาก ส่วนเรื่องที่แต่งแล้วสมจริงจนหลอกคนฟังได้ เราก็อาจเรียกว่า a convincing lie

 

ชวนให้เข้าใจผิด

ถ้าไม่ได้พูดเรื่องไม่จริง แต่พูดชวนให้คนคิดไปเองจนไปสู่ข้อสรุปผิดๆ แบบนี้เราก็อาจใช้คำว่า mislead เช่น ป้ายขายผลไม้เขียนให้คนเข้าใจว่าโลละ 80 บาท แต่พอไปเพ่งมองหน้าร้านถึงเห็นฟ้อนต์ไซส์แปดเขียนว่านี่เป็นราคาครึ่งโล อย่างนี้ก็อาจบอกว่า The vendor intentionally misled customers to believe that the fruit was only 80 baht a kilo.

 

บอกไม่หมดหนิ

บางคนก็ไม่อยากโกหก ก็เลยเลือกวิธีบอกความจริงแต่บอกไม่หมด แบบนี้ภาษาอังกฤษมีสำนวนเก๋ๆ นั่นคือ economical with the truth แปลตรงตัวหมายถึง ประหยัดความจริง นั่นเอง เช่น คอนโดโฆษณาว่าใกล้ใจกลางเมือง ขับรถแค่ 15 นาทีก็ถึงสาทร แต่ไม่ได้บอกว่าต้องขับด้วยความเร็ว 120  กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยแอทติจูดแบบนักแข่งฟอร์มูล่าวันและต้องไม่มีรถคันอื่นบนถนนเลย แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า They were economical with the truth when they said that it would take only 15 minutes to get from the condo to Sathorn.

 

ข้อเท็จจริงทางเลือก

ถ้าพูดถึงเรื่องโกหกแล้วจะไม่พูดถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และผองเพื่อนก็คงไม่ได้ เมื่อต้นปีที่แล้ว เคลลี่แอนน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาของทรัมป์ในสมัยนั้น พยายามแก้ตัวให้ทรัมป์ว่าประธานาธิบดีไม่ได้โกหกเรื่องจำนวนคนเข้าร่วมงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งให้เยอะกว่าความเป็นจริงอย่างที่โดนกล่าวหา เพียงแต่ให้ alternative facts หรือข้อเท็จจริงทางเลือกเท่านั้นเอง เกิดเป็นวลีเด็ดที่ชวนให้คนพูดกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ข้อเท็จจริงอย่างจำนวนคนนี่มันไม่ได้มีหนึ่งเดียวหรอกหรือ ดังนั้น ใครที่ยืนยันว่าสิ่งที่ตนพูดก็ไม่ใช่เรื่องโกหก แล้วแต่จะเลือกเชื่อ ก็อาจจะบอกว่าเป็น alternative facts ก็ได้

 

โป๊ะแตก

โดนจับโป๊ะ

เวลาที่ใครถูกจับได้ว่าโกหก โดยทั่วไปแล้วเราจะพูดว่า caught lying เช่น She was caught lying about her age when she said she didn’t know that song. ก็จะหมายถึง บอกว่าไม่รู้จักเพลงนั้น ก็เลยโดนจับโป๊ะว่าโกหกเรื่องอายุ แต่ถ้าอยากใช้ศัพท์สแลงแบบไม่เป็นทางการ ก็อาจใช้คำว่า busted ได้ เช่น Dude, our boss just saw your IG story and how “sick” you were, sipping margarita on the beach. You’re so busted! ก็จะหมายถึง งานเข้าแล้วจ้ะคุณเพื่อน เจ้านายเห็นในสตอรี่ในไอจีแล้วว่าแกนั่ง “ป่วย” จิบมาร์การิต้าริมชายหาด โดนจับโป๊ะแรงเด้อ

 

จับได้คาหนังคาเขา

ส่วนถ้าถูกจับได้ขณะกำลังทำเรื่องไม่ดีหรือขณะทำสิ่งที่ตัวเองบอกว่าไม่ได้ทำ มีหลักฐานชัดเจนแจ่มแจ้ง แบบนี้จะเรียกว่า caught red-handed หรือ caught in the act หรือ caught with your pants down ก็ได้ เช่น ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เคยเอางานส่วนตัวมาปริ้นต์ที่ที่ทำงาน แต่เช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อนมาเห็นตอนกำลังปริ้นต์เอกสารส่วนตัวพอดี แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า I was caught red-handed. ส่วนถ้าเป็นการถูกจับได้ในกรณีที่ขโมยของหรือรับส่วย ก็อาจจะพูดว่า caught with your hand in the cookie jar ให้ภาพเหมือนเด็กที่บอกแม่ว่าไม่ได้ขโมยคุกกี้กินแต่มือข้างหนึ่งอยู่ในโหลแท้ๆ

 

ถูกเปิดโปง

ในกรณีที่คนคนนั้นพยายามปกปิดเรื่องที่โกหกไม่ให้เล็ดรอด แต่มีคนนำความจริงมาเปิดโปง แบบนี้จะเรียกว่า expose เช่น หากบอกว่าตัวเองท้อง แต่มีคนสืบจนนำมาแฉได้ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ท้องจริง ก็อาจจะบอกว่า After being exposed, she admitted that she faked her pregnancy. แต่ถ้าเป็นการเปิดโปงว่าคนคนหนึ่งไม่ได้ดีเลิศอย่างที่โฆษณา เนื้อแท้ไม่ตรงปก ทำทีว่าเป็นคนดีแต่ข้างในฟอนเฟะ แบบนี้เราอาจจะใช้คำว่า unmask ก็ได้ ให้ภาพเหมือนถอดหน้ากากจอมปลอมให้เห็นธาตุแท้ เช่น I can’t wait to unmask him and show everyone what a hypocrite he is. ก็จะหมายถึง อยากจะแฉให้เห็นเหลือเกินว่ามันเป็นคนมือถือสากปากถือศีลขนาดไหน

 

บรรณานุกรม

  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Lewis, Norman. Word Power Made Easy.  Pocket Books: New York, 1978.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • McArthur, Tom. Longman Lexicon of Contemporary English. Longman Group: Essex, 1981.
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
Tags: , , ,