หากเราเป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน และอยากเป็นนักดนตรี เราอาจไหลเวียนไปกับการทำเพลงร่วมกระแส อาจเป็นเพลงป๊อป ร็อค ฮิปฮอป หรืออิเลคทรอนิคส์ —มีศิลปินหญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง เลือกที่จะทำเพลงที่หันหลังให้กับเพลงร่วมกระแสในตอนนั้น หวนกลับไปหาเสียงดนตรีที่เปลือยเปล่ามากที่สุด และบอกเล่าถึงเรื่องราวได้อย่างซื่อตรงมากที่สุด สิ่งที่เธอเลือกนั้นคือเพลงโฟล์ก และเพื่อนร่วมทางของเธอมีแค่กีต้าร์โปร่งเพียงหนึ่งเดียว ในวัย 19 ปี เธอเริ่มต้นมีอัลบั้มเป็นครั้งแรก เธอคืออิจิโกะ อาโอบะ (Ichiko Aoba)

อิจิโกะเป็นนักดนตรี นักร้อง-นักแต่งเพลงที่เกิดในชิบะและเติบโตในเกียวโต เริ่มต้นการฝึกเล่นกีต้าร์สายคลาสสิกตั้งแต่อายุ 17 ปี เนื่องจากการเล่นกีต้าร์ไฟฟ้านั้นไม่เหมาะกับเธอเท่าไหร่ ถัดจากนั้น 2 ปี ในปี 2010 เธอฝึกฝีมือในการแต่งเพลงและเล่นดนตรีจนได้ออกอัลบั้มเดบิวต์ครั้งแรกในชื่อ Kamisari Otome (Razor Girl) กับค่ายเพลงเล็กๆ แห่งหนึ่ง มาจนถึงปัจจุบัน เธอออกผลงานมาแล้วทั้งหมด 6 อัลบั้ม ได้เดบิวต์กับค่ายเพลงใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2013 กับอัลบั้ม 0 ผลงานที่ยอดเยี่ยมทำให้เธอได้ร่วมงานกับนักดนตรีมากมายทั้งรุ่นเดียวกันไปจนทั้งรุ่นใหญ่ในญี่ปุ่น ไปจนถึงศิลปินต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ถึงแม้แนวเพลงของที่อิจิโกะทำนั้นจะเรียกได้ว่าเป็นเพลงโฟล์ก แต่เพลงโฟล์กของเธอนั้นอาจจะแตกต่างจากความคุ้นชินแต่เดิมไปเล็กน้อย เสียงเพลงที่สร้างจากการเกากีต้าร์แบบฟลาเมงโกฟิงเกอร์สไตล์ของเธอ จะสร้างบรรยากาศที่เคลิบเคลิ้มล่องลอยเหมือนอยู่ในความฝัน หรือบางครั้งเหมือนพาเข้าป่าดงดิบที่ลึกลับ แต่เต็มไปด้วยพลังงานธรรมชาติที่สดชื่นและปลอดภัยจากสิ่งวุ่นวายต่างๆ เสียงร้องของเธอที่หากฟังครั้งแรกอาจฟังดูหลอกหลอน แต่ถ้าได้ทำความเข้าใจแล้วเสียงของเธอจะเปลี่ยนไปเป็นความสวยงามที่บริสุทธิ์ บอบบางจนไม่อาจจับต้องได้ 

บางครั้งภายในหนึ่งเพลงอาจสับเปลี่ยนได้หลายอารมณ์ และบางครั้งเพลงของเธอจะแผ่วเบาเหมือนเสียงกระซิบกระซาบจากภูติในป่าเขา ถ้าอยากได้อรรถรสเพิ่มเติมรวมถึงรายละเอียดต่างๆในเพลง อาจต้องฟังในที่ๆ ไม่มีเสียงรบกวน หากฟังในหูฟังอาจจะต้องเร่งเสียงเพิ่มขึ้นกว่าปกติ หรือถ้าได้มีโอกาสฟังเธอเล่นสดสักครั้ง อาจจะต้องทำตัวเงียบๆ ไม่ให้ไปรบกวนเธอหรือใครคนอื่นด้วยความเกรงใจ

อิจิโกะยอมรับว่าไม่ค่อยได้อ่านหนังสือหรือดูหนังเท่าไหร่  เพราะฉะนั้นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงส่วนใหญ่ของเธอจึงเกิดขึ้นมาจากความฝัน เวลาที่ฝันแต่ละครั้ง จะเหมือนเธอได้หลุดออกจากกายหยาบ แล้วแหวกว่ายไปยังดินแดนต่างๆ ทำให้เนื้อเพลงของเธอไม่ต่างจากการได้ไปสำรวจจินตนาการหรือความฝัน ที่ทั้งสวยงาม น่ารัก หรือบางทีก็มีความลึกลับแฝงอยู่

“ฉันไม่ได้มีสารที่อยากส่งไปเป็นพิเศษ ถ้ามีสิ่งที่ฉันทำได้ คงเป็นการใช้มวลบรรยากาศหรือพลังงานจากของผู้คน และใส่สิ่งเหล่านั้นลงไปในเพลง ฉันพยายามคิดถึงสิ่งที่คนอยากจะฟังและให้เพลงเหล่านั้นเป็นทางออกค่ะ”  

ความแปลกใหม่และฝีมืออันยอดเยี่ยมที่คนในวงการให้การยอมรับ ทำให้อิจิโกะได้ร่วมงานกับศิลปินรุ่นเก๋าในญี่ปุ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อมดแห่งวงการดนตรีญี่ปุ่นอย่างริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) และ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) สองสมาชิกจากวงอิเลคทรอนิคส์ตัวพ่อแห่งญี่ปุ่นอย่าง Yellow Magic Orchestra, นักร้อง-นักแต่งเพลง ทาเอโกะ โอนุกิ (Taeko Ohnuki), อิกุโกะ ฮาราดะ (Ikuko Harada) แห่งวง Clammbon จนถึง Cornelius ศิลปินเทคนิคสุดล้ำสมัยที่ได้ร่วมงานกันกับอิจิโกะในตอนทำเพลงประกอบให้กับแอนิเมชั่น Ghost in the Shell: Arise 

Cornelius ให้สัมภาษณ์ชื่นชมเธอใน Red Bull Music Academy ว่า “เธอเป็นอัจฉริยะมากๆ และถือว่าแนวหน้าของนักดนตรีในรุ่นนั้นเลยครับ เวลาที่พวกเราเล่นด้วยกัน ผมแค่คอยเล่นกีต้าร์ช่วยเสริมเธอนิดๆ หน่อยๆ ผมเจอเธอครั้งแรกเมื่อตอนเธออายุ 19 ซึ่งขณะนั้นเธอเล่นกีต้าร์ได้แค่ 2 ปี แต่ฝีมือของเธอทำเอาผมที่เล่นกีต้าร์มาเกือบ 20 ปี ยังประหลาดใจเลยครับ (หัวเราะ)”

สำหรับศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าสนใจในญี่ปุ่นที่ได้ร่วมงานกับอิจิโกะอย่างฮารุกะ นากามุระ (Haruka Nakamura) นักดนตรีแนวแอมเบียนท์ (หลายคนรู้จักจากการที่เพลงประกอบของเขาอยู่ในหนังสั้นของ คุณเต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ในอัลบั้ม Meteor ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเสียงร้องแบบชวนฝันของอิจิโกะ ไปกับเสียงแอมเบียนท์แสนเวิ้งว้าง หรือจะเป็นแนวที่เป็นสมัยใหม่แบบอิเลคทรอนิคส์อย่าง Sweet William หรือเพลงแบบวงดนตรีเต็มวงอย่าง Ovall ล่าสุดอิจิโกะยังได้ร่วมงานกับศิลปินแจ๊ซชาวโปแลนด์อัลแบร์ต์ คาร์ช (Albert Karch) ในอัลบั้ม Celestially Light ที่ให้อารมณ์ของความนุ่มนวลจากเปียโน และเธอรับหน้าที่ในการแต่งเนื้อเพลงและร้องนำ ถึงแม้จะเป็นการพาตัวเองเปลี่ยนแปลงเข้ากับ genre เพลงต่างๆ แต่ลายเซ็นของอิจิโกะยังคงชัด ถึงแม้จะฟังแบบไม่รู้ชื่อ ก็สามารถเดาได้ว่านี่คือเธอ

อิจิโกะเองยังได้ร่วมงานกับศิลปินไทยอย่างคุณตั้ม—วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนผู้โด่งดังทั้งในไทยและญี่ปุ่น (ที่อีกหนึ่งบทบาทของเขาคือการเป็นนักดนตรีที่มีดีกรีในการเป็นมือกลองให้กับวง Penguin Villa ในช่วงหนึ่ง) ทั้งคู่ร่วมงานกันในซีรี่ส์ short short story by Wisut Ponnimit เป็นแอนิเมชั่นความยาวไม่เกิน 5 นาที ลงรายเดือนในเว็บไซต์ของ audio-technica ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นแอนิเมชั่นเกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่นำเสนอผ่านมะม่วงจังและเพื่อนๆ ในอารมณ์สบายๆ อบอุ่น น่ารัก แฝงไปด้วยความคิดแง่บวกในชีวิตและความรัก ผ่านเพลงของคุณตั้มและอิจิโกะเอง (สามารถเข้าไปดูทั้งหมดได้ที่ https://www.audio-technica.co.jp/shortshortstory/)

และการที่ Cornelius รู้จัก Ichiko นั้นเอง ทำให้เธอได้มาเล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกที่ไทย ในคอนเสิร์ต Tiger Translate “Japanese Invention” Curated by Cornelius ที่ตอนนั้นมาพร้อมกับ Buffalo Daughter และ Salyu x Salyu ในปี 2013 (ซึ่งผู้เขียนได้รู้จักอิจิโกะครั้งแรกเมื่อตอนนั้น แล้วก็เลยปวารณาตัวเป็นแฟนคลับเรื่อยมา) หลังจากนั้นเธอก็ได้มาแสดงสดอยู่ในไทยบ่อยครั้ง มีการมาเล่นเดี่ยวๆ ที่ Studio Lam เมื่อปี 2015  หรือแม้กระทั่งได้มาเล่นคู่ศิลปินตำนานของไทยอย่างกับคุณธีร์ ไชยเดช ตามการเชิญของคุณธนชัย อุชชิน หรือ พี่ป๊อดโมเดิร์นด็อกในงาน ธนชัยชวนชม เมื่อปี 2018 ซึ่งการแสดงสดครั้งล่าสุดของเธอ ก็เพิ่งมาพร้อมกับ Lin Yi Loh นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวไต้หวัน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ร้าน NOMA สะพานควาย และเล่นที่ร้าน Mamuang Shop ร่วมกับเจ้าของร้านอย่างคุณตั้ม-วิศุทธิ์ ในสองวันถัดมา 

โดยส่วนตัวนั้นผู้เขียนไม่ได้ไปดูการแสดงสดที่ NOMA แต่จากการดูการแสดงสดก่อนหน้านี้ที่ทั้งสองรอบในปี 2013 และ 2015 พอจะประเมินได้ว่า การเล่นทั้งสองสถานที่ สองรูปแบบนั้นให้อารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน ขณะที่การแสดงสดเดี่ยวส่วนใหญ่แล้ว อิจิโกะจะโฟกัสกับการแสดงสดอย่างเต็มที่ เธอจะสร้างบรรยากาศที่ดูเงียบจนมีความเย็นอยู่ในนั้น และจะเล่นกับแสงที่ดูสลัวจนบางทีเราไม่ได้สังเกตถึงตัวตนของเธอ แต่อาจเป็นความตั้งใจที่เธออยากให้คนที่มาชมการแสดงสดโฟกัสไปที่เพลงมากกว่าก็ได้ 

แต่ครั้งที่ได้เล่นกับคุณตั้ม นั้นจะมีความผ่อนคลาย เป็นกันเองมากกว่า อาจเป็นเพราะมีคนรู้จักมาร่วมเล่นด้วย จึงทำให้มีการสนทนาหยอกล้อกัน ส่วนตัวเพลงที่พอได้แสดงสดก็มีความน่ารักและสนุกสนาน มีการผสมผสานระหว่างเพลงและภาพเคลื่อนไหวอยู่ในนั้น ด้วยการเปิดแอนิเมชั่น short short story ไปกับการแสดงสด หรือจะเป็นการไลฟ์วิดีโอแสดงผลงานของคุณตั้มอย่างน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นการฉายเนื้อเพลงที่เป็นภาษาไทยแล้วขึ้นจอ หรือถ่ายการเขย่าเหรียญมะม่วงจังในขวดโหลไปพร้อมกับเพลงแบบเรียลไทม์ แถมยังมีการเล่นเพลงเดี่ยวของคุณตั้ม ซึ่งเป็นเพลงที่ให้อารมณ์ของความน่ารักน่าเอ็นดู และยังมีการพากย์การ์ตูนแบบสดๆ ทำให้นึกถึงบรรยากาศแบบวัยเด็กที่ได้ดูช่องเก้าการ์ตูนอย่างไรอย่างนั้น

อิจิโกะให้สัมภาษณ์ว่าเธอยังมีสต็อกความฝันเก็บไว้มากมายที่ยังไม่ได้ถูกแต่งเป็นเพลง หรือบางครั้งอาจถูกแต่งเป็นเพลงแล้วแต่ยังไม่ได้ปล่อยออกมา อย่างเพลง Darekano Sekai (Someone’s World) ที่อยู่ใน qp อัลบั้มล่าสุดถือเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอแต่งขึ้นในปี 2011 ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่โทโฮกุ แต่ตัวเธอพบว่าถ้าปล่อยเพลงในช่วงนั้นเลยคงไม่เหมาะสม เนื่องจากเนื้อเพลงบางส่วนอาจทำให้ความหมายของเพลงทั้งหมดถูกจำกัดอยู่ภายในสถานการณ์นั้นๆ ได้ เธอจึงใช้เวลา 7 ปีในการรอคอย และเพิ่งได้ปล่อยในปี 2018 บังเอิญที่เพลงนี้เข้ากับเหตุการณ์การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยเฮย์เซย์ไปสู่เรย์วะพอดี ทำให้ความหมายของเพลงนั้นกว้างขึ้น เหมือนกับการที่ทุกคนกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และเพลงนี้จะเป็นแสงสว่างในเส้นทางของทุกคนที่กำลังก้าวเดิน

ทุกวันนี้อิจิโกะไม่ได้โดดเด่นแค่ในฐานะของนักดนตรีเพลงโฟล์กเท่านั้น แต่เธอเป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ระดับแนวหน้าที่ไม่ได้ถูกจำกัดแสงไฟอยู่แค่ในญี่ปุ่น ในตอนนี้ฝั่งตะวันตกก็เริ่มจะให้ความสนใจเธอบ้างแล้ว  ในปี 2020 ที่กำลังจะถึง เธอเพิ่งประกาศว่าจะมีคอนเสิร์ตการแสดงสด ครบรอบ 10 ปีในเส้นทางนักดนตรีในช่วงมกราคม ซึ่งในตอนนี้ยังประกาศแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ได้แต่หวังว่าจะมีคนพาเธอมาเล่นแบบเต็มรูปแบบในไทยอีกครั้ง เพื่อที่เราจะได้ฟังไดอารี่แห่งความฝันเล่มใหม่ ที่จะบอกเล่าถึงโลกใหม่ๆ ที่เธอยังไม่ได้ไปสำรวจหรือพบเจอ

อ้างอิง:

https://www.japantimes.co.jp/culture/2016/01/17/music/inspiration-comes-dreams-rice-balls/

https://www.artoflistening.co/ichiko-aoba-qp

https://impact89fm.org/82530/music/beats-without-borders-ichiko-aoba/

Tags: