1.

เธอคือ ทอนย่า ฮาร์ดิง (มาร์โกต์ ร็อบบี) นักสเกตน้ำแข็งชื่อกระฉ่อน

ทอนย่ามีทักษะลีลาการสเกตที่โดดเด่นมาตั้งแต่ยังเล็ก หากวัดกันที่ความสามารถก็คงต้องนับว่าเธอคือ ‘ตัวจริง’ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่พื้นเพจากบ้านยากจนที่มีครอบครัวแตกแยก บุคลิกโผงผางหยาบกระด้าง ไปจนชุดลงแข่งตัดเย็บเองที่สวยหรูสู้คนอื่นไม่ได้ ทำให้เธอถูกมองข้ามไปเสียบ่อยครั้ง

หากจะเล่าเรื่องราวของทอนย่า มันอาจเป็นเรื่องราวของเด็กสาวผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการสเกตแต่กลับถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่ด้วยเหตุที่ฝีมือไม่ถึง แต่เพียงเพราะภาพลักษณ์ของเธอหลุดออกมาจากพิมพ์ของกุลสตรีผู้แสนเพียบพร้อมตามฉบับนักสเกตหญิงทั่วไป เรื่องราวของเธอจึงไม่มีที่ทางอยู่ใน narrative ชวนฝันของ American Dream เป็นได้เพียงเรื่องราวของคนนอกคอกผู้ต่อสู้ในสังเวียนที่ไม่เคยเป็นของเธอ

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราวชีวิตของทอนย่า

2.

แม่ของทอนย่าคือ ลาโวน่า โกลเดน (แอลลิสัน แจนนีย์) หญิงใจทมิฬไม่แพ้ฝีปาก ผู้สูบบุหรี่จัดและสบถสาบานได้ไม่เลือกโอกาส

ลาโวน่ากวดขันทอนย่าอย่างเคร่งครัดและไม่คาดหวังสิ่งใดอื่นนอกจากการสเกตอันสมบูรณ์แบบจากลูกสาว นั่นทำให้เธอไม่เสียเวลาแสดงความรักให้ทอนย่าแม้แต่น้อย (เธอมองว่ามันคือ ‘ความเสียสละของคนเป็นแม่’ ด้วยซ้ำ!) เธอทำทุกทางให้ทอนย่าคว้าชัยชนะมาให้ได้ แม้นั่นจะหมายถึงการหมิ่นหยามและตำหนิติเตียนซ้ำๆ ก็ตาม

สำหรับลาโวน่า ทอนย่าไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไร เธอเลือกทางเดินชีวิตให้ลูกไว้หมดแล้ว สิ่งที่ทอนย่าต้องทำก็แค่สเกตให้ดีเท่านั้น เช่นนี้แล้ว เรื่องราวของทอนย่าจึงอาจเป็นเรื่องราวการถูกทารุณจากแม่ของเธอเอง เรื่องราวของผู้หญิงที่อดทนอดกลั้นกับสภาพชีวิตไม่เป็นใจและใช้สิ่งที่เธอถูกบังคับ (สเกต) มาเป็นหนทางในการเรียกร้องสิ่งที่เธอปรารถนาจากแม่ตัวเองมาตลอดแต่ไม่เคยได้ นั่นคือความรักและการยอมรับ

แน่นอนว่านั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราวของทอนย่า

3.

ทอนย่าตกหลุมรักครั้งแรกในวัย 15 ปี กับ เจฟฟ์ กิลลูลี (เซบาสเตียน สแตน)

ความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นเหมือนรถไฟเหาะที่มีขึ้นลงตลอดเวลา แม้จะรักกันแค่ไหนแต่เจฟฟ์ก็เพียงเข้ามายืนยันรูปแบบความรักที่เธอเรียนรู้มานานแล้วจากแม่ตัวเอง นั่นคือการใช้ความรุนแรงอย่างไม่จบสิ้น หลายครั้งหลายคราที่ทอนย่าโดนตบตีตามมาด้วยคำวิงวอนขอคืนดี (ในขณะที่เจฟฟ์บอกว่าทอนย่าต่างหากที่เป็นฝ่ายตบตีเขา!) นั่นทำให้พวกเขาแยกกันอยู่ได้ไม่นานก็หวนกลับมาอยู่ด้วยกันซ้ำแล้วซ้ำอีก

การพัวพันอยู่กับเจฟฟ์นี้เองที่นำไปสู่เหตุอื้อฉาวในเวลาต่อมา

4.

ชื่อทอนย่า ฮาร์ดิง เป็นที่รู้จักในวงกว้างครั้งแรกในปี 1991 เมื่อเธอทำลายสถิติเป็นผู้หญิงอเมริกันคนแรกที่เล่นท่า ‘triple axel’ สุดโหดในการแข่งขันได้สำเร็จ ก่อนจะตกเป็นเป้าเพ่งเล็งจากสายตาคนทั้งประเทศในปี 1994 เมื่อทอนย่าเข้าไปเกี่ยวพันกับการลอบทำร้าย แนนซี เคอร์ริแกน คู่แข่งชาติเดียวกันก่อนการแข่งขันคัดตัวไปโอลิมปิก

ในการเล่าเรื่องราวของทอนย่าจึงหนีไม่พ้นการพยายามคลี่คลายปริศนาของเหตุการณ์ดังกล่าว มันอาจเป็นการพยายามย้อนไปอธิบายและเฉลยตัวการทั้งหมด มันอาจแสดงให้เห็นความซับซ้อนน่าฉงนฉงายที่มีต้นตอมาจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง และมันอาจแสดงให้เห็นผลกระทบอันร้ายแรงในท้ายที่สุด ซึ่งทำให้อาชีพนักสเกตของทอนย่ามาถึงจุดจบ

5.

“ไอ้ความจริงน่ะไม่มีหรอก มีแต่เรื่องตอแหล ใครๆ ก็มีความจริงเป็นของตัวเองทั้งนั้น!”

คำพูดของทอนย่าในหนังดูจะสะท้อนตัวมันเองได้เป็นอย่างดี

I, Tonya คือผลงานล่าสุดของ เครก กิลเลสปี (Lars and the Real Girl (2007)) ที่จัดจ้านไปด้วยอารมณ์ขันและพลังขับเคลื่อนอันร้ายกาจ ไม่เพียงแสดงให้เห็นเรื่องราวของทอนย่า ที่มากไปกว่าพาดหัวข่าวหรือภาพของ ‘ตัวร้าย’ ที่สังคมมีต่อเธอ หากยังมีลูกเล่นอันร้ายกาจในการเล่าเรื่อง ด้วยการผสานฉากที่เป็นสารคดีปลอม (mockumentary) เข้ามา นักแสดงผู้รับบทเป็นตัวละครผู้มีตัวตนอยู่จริงให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ฉาวโฉ่ โดยแทบจะไม่มีใครเล่าเรื่องตรงกัน มันจึงสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของการเล่าเรื่องของทอนย่า ที่ความจริงจากปากคำของตัวเธอเองและผู้อื่นนั้นขัดแย้งและหักล้างกันเองจนแทบไม่อาจหาความจริงที่อยู่ตรงกลาง เรื่องราวของทอนย่าจึงดูจะเป็นหลายเรื่องราวที่พันกันยุ่งเหยิงอย่างเสียมิได้

การเรียกร้องของตัวละครที่อยู่ๆ ก็พล่ามขึ้นมาว่า “เดี๋ยวก่อนสิ เส้นเรื่องของฉันกำลังหายไปแล้วนะโว้ย” หรือการหันมามองกล้องแล้วบอกคนดูอย่างตรงไปตรงมาว่า “เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ ค่ะ” จึงไม่ใช่เพียงการทำลายกำแพงที่สี่ (the fourth wall – กำแพงในจินตนาการที่กั้นระหว่างตััวหนังกับคนดู) เล่นๆ ให้คนดูหัวร่อชอบใจ แต่ยังสะท้อนความวินาศสันตะโรในเรื่องราวของทอนย่าเอง ที่เสียงเล่าหลายเสียงนั้นต่างยื้อแย่งกันเป็นผู้เล่า ทั้งตัวทอนย่า ลาโวน่า และเจฟฟ์ (หรือกระทั่ง ชอว์น เอ็กฮาร์ต บอดี้การ์ดของทอนย่า) ต่างพยายามควบคุมเรื่องราวให้เป็นของตัวเอง

ทอนย่าพูดซ้ำๆ ในหนังว่าเธอไม่ใช่คนผิด นี่คือความจริงในเวอร์ชันของเธอ เราอาจตัดสินเธอก็ได้ว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบและเอาแต่ใจตัวเอง แต่หนังก็แสดงให้เห็นว่าเธอตกอยู่ในพันธนาการของเสียงเล่าของผู้อื่นด้วยเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าชีวิตของเธอนั้นต้องคำสาปจากเงื่อนไขที่ผู้อื่นวางไว้ให้เธอเสมอ การเลี้ยงดูของลาโวน่าทำให้เธอไม่รู้จักชีวิตแบบอื่นที่นอกเหนือไปจากการเล่นสเกต และยังทำให้เธอดิ้นรนที่จะได้รับความรักและความสนใจจากผู้อื่นอยู่ตลอด ส่วนเจฟฟ์และชอว์นเองก็วางแผนการสุดทึ่มที่ท้ายที่สุดลุกลามมาทำลายโลกทั้งใบของเธอ

เหนือสิ่งอื่นใด หนังแสดงให้เห็นอย่างน่าเจ็บปวดใจว่ากับดักอันเลวร้ายที่สุดที่เข้ามาบงการให้ทอนย่าต้องดิ้นรนตลอดมา คือคำโฆษณาชวนฝันของอเมริกาและวิสัยทัศน์ที่สังคมมีต่อการแข่งขัน ตั้งแต่ภาพลักษณ์ความเป็นขวัญใจอเมริกาที่เธอล้มเหลวที่จะเป็นตั้งแต่แรก ภาพครอบครัวอเมริกันอันสมบูรณ์แบบที่เธอพยายามที่จะมี ไปจนถึงความหมกมุ่นของอเมริกาในการตัดสินผู้แพ้-ผู้ชนะและการใฝ่หาตัวแทนให้ผู้คนได้ออกแรงเชียร์ เพียงแต่ในกรณีของทอนย่า เธอกลับกลายมาเป็นตัวแทนของความเกลียดชังและการสาปส่ง

6.

I, Tonya เป็นหนังที่ดูสนุก เต็มไปด้วยการแสดงอันเปี่ยมพลังของทั้งร็อบบี แจนนีย์ และสแตน (ร็อบบีกับแจนนีย์กำลังเดินสายล่ารางวัลนักแสดงนำหญิงและสมทบหญิงอยู่ในตอนนี้) การเล่นกับความขัดแย้งของเสียงเล่าเพิ่มความขี้เล่นและความสลับซับซ้อนให้กับตัวหนังได้อย่างน่าชื่นชม กระนั้นก็น่ากังขาว่าหนังอาจพยายามเล่า ‘ความจริง’ ที่แย้งกันหรือขยายความบ้าคลั่งในเรื่องราวมากเกินไปจนสุดท้ายหนังเข้าถึงความจริงได้เพียงระดับที่ผิวเผินเท่านั้น ทั้งยังขาดจุดเน้นที่ชัดเจน

ตัวทอนย่าในหนังจึงไม่ได้แผ่โลกภายในของเธอให้คนดูเห็นอย่างลึกซึ้ง (แน่นอนว่าหนังมอบชีวิตจิตใจให้กับเธอเพียงพอที่จะทำให้คนดูรู้สึกเห็นอกเห็นใจไปด้วยได้) แต่ตกเป็นเพียงเป้าของการวิเคราะห์จดจ้อง จนถ้าไม่ได้การแสดงของร็อบบีมาช่วยโอบอุ้ม ทอนย่าในหนังก็อาจไม่มีมิติหรือเลือดเนื้อมากเท่านี้ ในเมื่อตัวหนังดูช่างจะเจ้ากี้เจ้าการกับการจัดวางชีวิตตัวละครเสียเหลือเกิน

ในขณะที่ทอนย่าในความจริงดูจะตกอยู่ใต้พันธนาการของเสียงเล่าคนอื่น ทอนย่าในหนังก็ดูเหมือนจะตกอยู่ใต้พันธนาการของเสียงเล่าคนทำหนังไม่ต่างกัน

Tags: , , ,