นี่คือหนังที่สร้างจากต้นฉบับที่เขียนไม่จบของเจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) นักเขียนชาวอเมริกัน ในต้นฉบับชื่อ Remember This House บอลด์วินพยายามบอกเล่าประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของคนผิวสี ผ่านการเขียนถึงเพื่อนสามคนที่ถูกฆาตกรรม คนแรกคือ เม็ดการ์ เอเวอร์ส (Medgar Evers) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับบอลด์วิน) คนต่อมาคือ แมลคัม เอ็กซ์ (Malcom X) นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนของมุสลิมผิวสีที่เชื่อในการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง และคนสุดท้าย มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ศาสนาจารย์ที่ใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ด้วยความรัก
แต่นี่ไม่ใช่หนังสารคดีหนักๆ ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือบทวิพากษ์เผ็ดร้อนต่อการถูกกดขี่ นี่ไม่ใช่หนังสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา แต่มันคือภาพยนตร์อันข้นไปด้วยความเดือดดาล และการพยายามทำความเข้าใจผ่านกระแสสำนึกของเสียงเล่าบุรุษที่หนึ่ง
อาจกล่าวได้ว่านี่ไม่ใช่หนังสารคดีหรือหนังเล่าเรื่อง มันเป็นหนังกลุ่มที่อาจจะมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า essay film ที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นหนังสารคดีที่ใช้ฟุตเตจจริงซึ่งถ่ายขึ้นใหม่ หรือฟุตเตจที่มีอยู่แล้ว โฆษณา ข่าว ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ดนตรี ประสมเข้ากับเสียงเล่าที่มีลักษณะแบบความเรียง – นี่อาจเป็นการกล่าวถึงโครงสร้างทางกายภาพโดยหยาบที่สุด
ในเชิงอารมณ์ essay film ผนวกเอาสิ่งหนึ่งที่เคยมีความหมายหนึ่งมาปะทะกับอีกสิ่งหนึ่งที่มีอีกความหมาย เช่น ภาพจากหนังคาวบอยหรือหนังเพลง และเสียงเล่าเรื่องความยากลำบากของคนดำ ซึ่งต่างก็มีความหมายแบบหนึ่งในตัวมันเอง แต่เมื่อมันปะทะกัน มันกลับสร้างความหมายใหม่ขึ้น ผ่านความรู้สึกผิดฝาผิดตัวที่เชื่อมร้อย ล้อเลียน หรือต่อต้านกันเอง และในอีกทางหนึ่ง ผ่านทางการร้อยเรียงภาพที่ไม่ต่อเนื่องกันเข้าด้วยกัน แล้วห่มคลุมความไร้ระเบียบของภาพด้วยเสียงเล่าที่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันมีลักษณะคล้ายกับการทำภาพยนตร์ให้ใกล้เคียงกับบทกวี
นอกจากโครงสร้างที่ต่างไปจากสารคดีแบบที่คุ้นเคย ประเด็นหลักของเรื่องก็ต่างออกไปเช่นกัน นี่ไม่ใช่หนังที่คนผิวสีออกมาตะโกนบอกโลกว่าตัวเองโดนกดขี่อย่างไร ไม่ใช่หนังที่เขียนประวัติศาสตร์จากมุมมองของคนผิวสี ไม่ใช่หนังที่ชวนให้คนผิวสีและเหล่าผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาต่อสู้เปลี่ยนแปลง เอาเข้าจริง ดูเหมือนว่าเป้าหมายของมันจะเป็นผู้กดขี่เสียมากกว่าผู้ถูกกดขี่
ในถ้อยแถลงหนึ่ง เจมส์ บอลด์วิน กล่าวถึงจอห์น เวย์น (John Wayne) ผู้เป็นเหมือนวีรบุรุษในวัยเยาว์ของเขา เพราะจอห์น เวย์น ล้างแค้น ออกไล่ล่าพวกอินเดียนแดงใจชั่ว เขารู้สึกและเชื่อในความดีงามความถูกต้องเช่นนั้นมาตลอด จนวันหนึ่ง เขาตระหนักได้ว่าถ้าเขาลุกขึ้นมาทำแบบจอห์น เวย์น เขาจะกลายเป็นอาชญากร และเอาเข้าจริง เขาก็ไม่มีวันจะเป็นจอห์น เวย์น ที่เขาเป็นคืออินเดียนแดงที่ถูกฆ่า
ที่แท้แล้ว วีรบุรุษคือศัตรู
อีกครั้งในถ้อยแถลง เขากล่าวว่า “ถ้าคนอิสราเอลหยิบปืน หรือคนโปล หรือไอริช หรือคนขาวคนใดๆ ในโลก พูดว่า ‘มอบเสรีภาพให้ผม หรือไม่ก็ยื่นความตายมา’ คนทั้งโลกจะพากับปรบมือให้ แต่เมื่อคนดำเอ่ยประโยคเดียวกันนั้นบ้าง เหมือนกันคำต่อคำ เขาจะถูกพิพากษาและปฏิบัติด้วยราวอาชญากร และจะถูกทำทุกวิถีทาง ให้ไอ้นิโกรเลวๆ นี่เป็นเยี่ยงอย่าง จะได้ไม่มีใครกล้าทำแบบมันอีก” (ถอดความโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์)
และดูเหมือนนี่ต่างหากที่เป็นหัวใจหลักของหนัง ซึ่งว่าด้วยการประกอบสร้างคนดำโดยคนขาว
โดยไม่ได้ตั้งใจ หนังที่เหมือนจะเป็นคู่แฝดกับเรื่องนี้คือสารคดีอย่าง O.J.: Made in America เพราะทั้งสองเรื่องเป็นการฉายภาพการประกอบสร้างคนดำจากสื่อ จากภาพยนตร์ จากวัฒนธรรมคลั่งดาราและความมีชื่อเสียง
O.J. นั้นวิพากษ์การประกอบสร้าง โอ.เจ. ซิมป์สัน (O.J. Simpson) ขึ้นมาใหม่ เป็นการประกอบสร้างคนดำโดยคนดำ โดยมายาคติภายในของคนผิวสี ซึ่งทำให้คนดำที่ปรารถนาจะเป็นเซเลบริตีเหมือนคนขาวกลายเป็นภาพแทนของการเรียกร้องของคนดำ
ในทางตรงกันข้าม I Am Not Your Negro ฉายภาพการประกอบสร้างคนดำโดยคนขาว ผ่านการทึกทักไปเองว่าคนดำคือใครและเป็นอย่างไร ในสื่อ ในภาพยนตร์ ในโฆษณา ภาพฟุตเตจเหล่านั้นถูกนำมาตัดต่อเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า ‘ไอ้มืด’ ที่ถูกสร้างให้เป็น กับ ‘ไอ้มืด’ ที่เป็น นั้นแตกต่างกันอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น หนังอธิบายถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้ปัญหาการเหยียดผิวไม่มีทางหมดไป นั่นก็เพราะการเห็นคนไม่เท่ากัน การเห็นคนผิวสีเป็นคนอื่น สิ่งที่บอลด์วินตอกย้ำในหนังคือการบอกว่าไม่มีใครเป็น ‘คนอื่น’ ทั้งนั้น ไม่ว่าคนดำหรือคนขาว ทุกคนล้วนเป็นคนในประเทศ และคุณไม่มีวันกำจัด เบียดขับ หรือทำลายล้างคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้พอๆ กับคุณได้
คนขาวสร้างคนดำให้เป็นสิ่งที่ต่ำกว่าคน ทั้งในแง่ของการเป็นทาส เป็นคนหยาบช้าไม่ศิวิไลซ์ ในอีกทางหนึ่ง คนขาวก็สร้างให้คนดำเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำอย่างน่าสงสาร เป็นเพียงวัตถุของการบริจาคทานการกุศลเพื่อการเติมเต็มตัวเองของคนขาว
ปัญหาจะถูกขจัดออกไปได้ ต้องเริ่มจากการมองคนดำในฐานะคนที่เท่ากันเสียก่อนในทุกมิติ ไม่ใช่คนที่ต้องถูกทำให้เป็นคน หรือเป็นคนที่อาจจะเป็นประธานาธิบดีก็ได้ในอีกสี่สิบปีข้างหน้า ราวกับต้องรอให้คนขาวตัดสินว่าจะยอมรับหรือไม่
เราอาจสรุปแบบที่บอลด์วินสรุปผ่านความตายของเพื่อนว่า สำหรับเขา ความรุนแรงของคนดำมาจากความโกรธแค้น ความแค้นที่ถูกรังแกจากคนขาว พวกเขาไม่ได้เกลียดคนขาว แต่เกลียดที่ถูกรังแก และอยากให้ต่างคนต่างอยู่ ไปให้พ้นจากพวกเขาและลูกๆ
แล้วความรุนแรงของคนขาวมาจากไหน มันมาจากความหวาดกลัว หวาดกลัวเพราะคนดำนั้นต่างออกไป ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ พวกเขาจึงกระทำความรุนแรงต่อกันและกัน
และมันจะยังคงดำเนินต่อไป หากเราไม่เข้าใจว่าทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งจากความรู้และไม่รู้ของเราเอง
Tags: Movie, IAmNotYourNegro, EssayFilm, JamesBaldwin, Remember This House