ลินน์ คาร์เพนเตอร์-บอกส์ ศาสตราจารย์ด้านปฐพีวิทยาและเกษตรกรรมยั่งยืน มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท และที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัทรีคอมโพส (Recompose) เปิดเผยผลการทดลองทำปุ๋ยมนุษย์ในรัฐวอชิงตัน ระหว่างการสัมมนาว่าด้วยเทคโนโลยีและความตายในงานประชุมประจำปีของสมาคมความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์อเมริกันเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โครงการนำร่องนี้ได้ลองทำปุ๋ยจากร่างมนุษย์ 6 ร่างเพื่อทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีนี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาวิจัย 4 ปีโดยตั้งต้นจากการประยุกต์วิธีทำปุ๋ยจากปศุสัตว์ที่มีอยู่แล้ว จากนั้นก็หาอาสาสมัครที่ยินยอมให้ใช้ร่างหลังจากที่ตนเองเสียชีวิตไปแล้วในการวิจัย 6 คน คาร์เพนเตอร์-บอกส์ พบว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 55 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลาหนึ่ง
กระบวนการนี้เรียกว่าการลดรูปแบบอินทรีย์ตามธรรมชาติ (Natural organic reduction) เปลี่ยนศพให้เป็นปุ๋ยได้ในปริมาณ 2 คันรถเข็นขนดินภายในเวลา 4-6 สัปดาห์ ศพจะถูกนำไปใส่ในตู้คอนเทนเนอร์เหล็กรูปหกเหลี่ยมที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ พร้อมกับเศษไม้หั่นชิ้นเล็กๆ หญ้า และฟาง ระบบที่ควบคุมความชื้นและสัดส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดหนึ่งช่วยเร็งอัตราการย่อยสลายให้เร็วขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือฟันก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ ส่วนชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่ฝังอยู่ในร่างกาย เช่น สะโพกเทียม เครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจจะถูกคัดออกและนำไปรีไซเคิล ดินที่ได้จะมีแบคทีเรียโคลิฟอร์มในปริมาณต่ำ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความปลอดภัยทางชีวภาพ ญาติของผู้ตายก็สามารถนำดินนี้ที่คล้ายกับเถ้าถ่านหรืออัฐิไปเก็บไว้ หรือใช้ปลูกต้นไม้ได้
กระบวนการนี้ใช้พลังงานเพียง 1 ใน 8 ของการเผา คาร์เพนเตอร์-บอกส์ระบุว่า การเผาศพ 1 ศพในสหรัฐอเมริกาผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับการเผาน้ำมัน 800,000 บาร์เรล หรือเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ใช้ไปกับการเดินทางจากลอนดอนไปยังโรม ส่วนการฝังก็ปล่อยของเหลวที่สามารถปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ส่วนโลงศพก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม้และเหล็ก
ในทางกฎหมาย รัฐวอชิงตันจะเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้กระบวนการนี้ถูกกฎหมาย โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2020 และบริษัทรีคอมโพสก็มีแผนที่จะเปิดให้บริการโดยเริ่มจากรัฐวอชิงตันก่อน ตอนนี้บริษัทมีแผนสร้างอาคารเพื่อรองรับธุรกิจนี้ โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 6.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าว่ากระบวนการทำปุ๋ยจากมนุษย์นี้ ผู้ใช้บริการจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างค่าฝังศพที่ใช้เงิน 1,000-7,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเผาศพที่ใช้เงินอย่างน้อย 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา:
https://www.theguardian.com/society/2020/feb/16/human-composting-could-be-the-future-of-deathcare
https://www.bbc.com/news/science-environment-51389084
https://www.geekwire.com/2020/tech-death-researchers-work-new-ways-handle-remains-flesh-online/
Tags: ศพ, ปุ๋ย